เส้นทางสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว พระจอมเกล้าธนบุรี
โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน
โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับที่ 17 ของโลก อันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับ 3 ของเอเชียแปซิฟิก ล่าสุดเจ้าของแนวคิดการจัดการพลังงานคนสำคัญ ดร.โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดี มจธ. (บางขุนเทียน) ก็คว้ารางวัลผู้บริหารอาคารควบคุมดีเด่น ไทยแลนด์ เอนเนอร์ยี อวอร์ด 2012 กระทรวงพลังงาน
อะไรที่ทำให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเดินมาสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว
มหาวิทยาลัยสีเขียวระดับโลก
ไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ความยั่งยืนที่พิสูจน์ได้ด้วยรางวัลด้านการอนุรักษ์พลังงานมากมาย ก่อนหน้านี้ มจธ.ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับที่ 17 ของโลกในปี 2010 จากการจัดอันดับของ UI Green Metric Ranking of World Universities โดย Universitas Indonesia หรือ UI ซึ่งเชิญมหาวิทยาลัยทั่วโลกส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด มีมหาวิทยาลัยทั่วโลกกว่า 1,000 แห่ง ส่งข้อมูลเพื่อขอรับการจัดอันดับ
ในปี 2005, 2008 และ 2011 ได้รับรางวัลไทยแลนด์ เอนเนอร์ยี อวอร์ด ประเภทสถาบันการศึกษา ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ล่าสุด (12 ก.ย.ที่ผ่านมา) ดร.โสฬส รองอธิการบดี (บางขุนเทียน) และผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมชีวเคมีและโรงงานต้นแบบ มจธ. ได้รับรางวัลผู้บริหารควบคุมอาคารดีเด่น
ดร.โสฬส เล่าว่า การอนุรักษ์พลังงานของ มจธ. ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จัดทำโรดแมปหรือแผนหลักด้านการจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งผลักดันระบบผู้จัดการอาคาร (Facility Management) อนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมควบคู่ไปกับการจัดตั้งเครือข่ายคณะทำงานด้านพลังงาน
เครือข่ายคณะทำงานด้านพลังงานดังกล่าว อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของความสำเร็จ โดยมหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและชีวอนามัย (Energy Environment Safety and HealthEESH) ขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ต่อมาได้รับสนับสนุนงบประมาณแบบแมตชิงฟันด์ (Matching Fund) จากคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น รวม 110 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบต้นแบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยขึ้น จัดทำกลไกเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติรูปแบบเดียวกันทั้งมหาวิทยาลัย
EESH เป็นผู้รับผิดชอบโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) มีหน้าที่พัฒนาระบบการทำงานและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือภายในมหาวิทยาลัย ภายใต้รูปแบบไตรภาคีร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่า และคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นภาคเอกชน
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนโครงการสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์พลังงานแก่บุคลากรและนักศึกษา ขยายผลผ่านกิจกรรม KMUTT Green School Network และ University –Community Network ซึ่งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้กว่า 200 ล้านบาทต่อปี ลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดการขยะ 50 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีก 500 ตันต่อปี
“มจธ.มีบุคลากรและนักศึกษารวมกว่า 2 หมื่นคน มีการใช้พลังงาน ใช้ทรัพยากรและปลดปล่อยของเสียมหาศาล โดยการเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการทำวิจัยทดลองสารเคมีและพลังงานด้านต่างๆ ยังทำให้มีของเสียอันตรายจำนวนมาก หากไม่สร้างระบบที่ดีขึ้นมารองรับก็แย่”
ระบบที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน สามารถจัดการของเสียและของเสียอันตรายได้ 100% (Zero Watse) คิดเป็นผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 480 ล้านบาทต่อปี ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 240 ล้านบาท (ไม่นับมูลค่าของการลดค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 72 ล้านบาทต่อปี) และพัฒนาบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม (ระดับวิศวกร) อีกกว่า 60 คน
EESH สร้างบรรยากาศที่ดี มีความปลอดภัย และส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปัจจุบันระบบจัดการพลังงาน การจัดการขยะ การจัดการสารเคมีอันตรายและการจัดการของเสียอันตรายของ มจธ. ถือเป็นระบบต้นแบบของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานอุตสาหกรรมอีกมากมาย
“มจธ.เป็นองค์กรรัฐ มีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบต่อความเป็นไปด้านสิ่งแวดล้อม เราต้องเป็นตัวอย่าง เราต้องทำก่อน เมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ขยายผล และขยายผลต่อไปเรื่อยๆ”ดร.โสฬส เล่า
เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานของมหาวิทยาลัยในระยะยาว
1.มุ่งมั่นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน
2.ให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์พลังงาน
3.รักษามาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมใน 4 ด้านหลัก คือ ระบบการจัดการขยะ การจัดการสารเคมีของเสียอันตราย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการพัฒนาพื้นที่ในมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับการเป็นสังคมจักรยานและการเดินเท้า
4.มุ่งจัดการพลังงานใน 3 ด้านสำคัญ คือ การจัดการพลังงานแบบมีส่วนร่วมในรูปของเครือข่ายคณะทำงานอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนภายในมหาวิทยาลัย และการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด การใช้คาร์พูลและส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อลดโลกร้อน
5.มาตรการประหยัดพลังงานสูงสุด
มจธ.มีเป้าหมายลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลง 30% ภายในปี 2017 เมื่อเทียบกับปี 2003 โดยในปี 2012 มีการใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น 23,601,868 กิโลวัตต์ เทียบเป็นการใช้ไฟฟ้าต่อคนต่อปี 1,060 กิโลวัตต์/คน/ปี โดยลดลงจากปี 2011 จำนวน 2.7% และลดลง 23.12% เมื่อเทียบกับปี 2003
มจธ.มีเป้าหมายลดการใช้น้ำประปาลง 45% ภายในปี 2017 เมื่อเทียบกับปี 2003 โดยในปี 2012 มีการใช้น้ำทั้งสิ้น 293,964 ลูกบาศก์เมตร เทียบเป็นการใช้น้ำต่อคนต่อปี 13.21 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี โดยลดลงจากปี 2011 จำนวน 4.49% และลดลง 44.49% เมื่อเทียบกับปี 2003
“เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของ มจธ. สอดล้อไปกับเป้าหมายของการเป็นมหาวิทยาลัย ที่ผลิตบัณฑิตคุณภาพ ผลิตคนดีของสังคมโลก ผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้และเข้าใจในวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยน โลกอนาคตกำลังเปลี่ยนแปลง เราสร้างคนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างคนเพื่อรองรับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ดร.โสฬส กล่าว