posttoday

เส้นทางนักวาดการ์ตูน ของ ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร

10 กุมภาพันธ์ 2556

ผมเชื่อแน่ว่าการเป็น “นักวาดการ์ตูน” คงเป็นความฝันหนึ่งของใครหลายคน

ผมเชื่อแน่ว่าการเป็น “นักวาดการ์ตูน” คงเป็นความฝันหนึ่งของใครหลายคน

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร

ผมเชื่อแน่ว่าการเป็น “นักวาดการ์ตูน” คงเป็นความฝันหนึ่งของใครหลายคน แต่น้อยคนนักจะเติบโตจนประกอบอาชีพเป็นนักวาดการ์ตูนได้อย่างที่ตัวเองฝันไว้ แต่ผู้ชายคนนี้ ตั้มวิศุทธิ์ พรนิมิตร คือคนที่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับหนังสือการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก เริ่มหัดวาด จนกระทั่งก้าวมาสู่การเป็นนักวาดการ์ตูนชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศได้มาจนถึงทุกวันนี้

วันนี้จะพาทุกท่านไปพบกับ ตั้ม วิศุทธิ์ ถึงห้องทำงานของเขาเลยครับ

จุดเริ่มต้นการวาดการ์ตูน

“ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดการ์ตูนให้เพื่อนอ่าน วาดเลียนแบบการ์ตูนญี่ปุ่นที่ผมชื่นชอบ อย่าง กัปตันสึบาซะ คินิคุแมน หรือหมัดดาวเหนือ พอโตมาจนถึงเรียนมหาวิทยาลัย ก็ยังวาดให้เพื่อนอ่าน แต่เรื่องราวที่วาด ก็จะวาดจากชีวิตของตัวเอง”

พัฒนาการการวาดการ์ตูนของเขา เริ่มมาจากเรื่องแคบๆ จนขยายวงกว้างตามวันและวัย

“ตอนเด็กๆ ผมจะรู้สึกแค่เรื่องแคบๆ เช่น เรื่องที่สนใจคือการ์ตูน ก็จะวาดจากการ์ตูน โตมาก็สนใจชีวิตของคนอื่นมากขึ้น สนใจความรัก อาจารย์ เพื่อน สิ่งที่วาดออกมาก็จะมาจากสิ่งที่เราเรียนรู้และได้พบเจอ พบเจออะไรมากขึ้น ก็มีเรื่องราวให้วาดมากขึ้น”

หลังจากที่เขาวาดการ์ตูนสะสมเก็บไว้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เขาเริ่มเห็นช่องทางการส่งผลงานลงตีพิมพ์ และหนึ่งในช่องทางที่เขาเห็นว่าน่าสนใจ ณ ขณะนั้น ก็คือนิตยสาร Katch ที่ดำเนินงานโดยศิลปินในดวงใจของเขา บอยด์ โกสิยพงษ์

“ความที่ต่างจากเด็กคนอื่น ที่วาดการ์ตูนเก็บไว้เฉยๆ แต่ผมกล้าที่จะส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา ซึ่งผมส่งไปที่นิตยสาร Kacth ของพี่บอยด์ ซึ่งพี่บอยด์ก็ได้ให้ความสนใจ จนกระทั่งได้จัดพิมพ์ลงในนิตยสาร ซึ่งนั่นก็คือที่มาของการวาดการ์ตูนเป็นอาชีพครั้งแรกของชีวิต หลังจากนั้นก็ได้รวมเล่มกับสำนักพิมพ์อมรินทร์ พอดีพี่บอยด์ไปคุยกับอมรินทร์ ก็เลยได้รวมเล่มกับที่นี่ วาด 5 ปี มี 9 เล่ม โดยเล่มแรกที่ทำกับอมรินทร์คือ Hesheit ซึ่งออกทีเดียว 8 เล่ม ผมขอเขาออก 8 เล่มพร้อมกัน เขาก็ยอมนะ หลังจากนั้นก็เริ่มทำงานกับอะเดย์ มีผลงานรวมเล่มกับที่นี่ อย่างเช่น ควันใต้หมวก”

จุดเปลี่ยนของชีวิต

หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีนักวิจารณ์การ์ตูนที่เป็นคนญี่ปุ่น ชื่อ มูราคามิ โทโมฮิโกะ กำลังจะจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับการ์ตูนของเอเชีย โดยจัดที่ญี่ปุ่น เขาก็ไล่ดูทีละประเทศว่าการ์ตูนของแต่ประเทศเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเขาก็มาไทย โดยเขาเดินไปตามร้านหนังสือการ์ตูน แล้วก็ไปเจอหนังสือของ ตั้ม วิศุทธิ์ เข้า นั่นจึงเป็นที่มาของการได้ไปเรียนภาษาและไปทำงานที่ญี่ปุ่น

“เขาเห็นการ์ตูนของผม เขาก็ติดต่อผม และถามผมว่าสนใจอยากไปสัมมนาที่ญี่ปุ่นไหม ผมเห็นว่าน่าสนใจดี ก็เลยตัดสินใจไป พอไปถึง ผมก็ได้พบกับนักวาดการ์ตูนจากเกาหลี มาเลเซีย และอีกหลายประเทศ ซึ่งตอนสัมมนาก็มีคนสนใจผลงานของผมเยอะ มีผลตอบรับที่ดี ผมก็เลยเกิดความคิดที่ว่า เราน่าจะไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นได้ การ์ตูนของเรา หรือสิ่งที่เราบอก มันคุยกับคนที่ญี่ปุ่นรู้เรื่อง ผมก็เลยคิดว่า ลองไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นดูสิ ก็เลยตัดสินใจไปเรียนภาษาญี่ปุ่น ในขณะที่เสนองานที่ญี่ปุ่นด้วย”

ตั้ม วิศุทธิ์ เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองโกเบ เมืองเล็กๆ ที่เขาเดินทางไหนมาไหนโดยการปั่นจักรยาน

“อยู่ที่โกเบ ผมได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เลยพอมีเวลาทำงานด้านการ์ตูน มีการวาดการ์ตูนใหม่ๆ บ้าง มีการนำเอาการ์ตูนเก่าๆ มาให้แฟนที่เป็นลูกครึ่งไทยญี่ปุ่น และเพื่อนญี่ปุ่นที่รู้ภาษาไทยแปลให้ และเอาไปเสนอเป็นนิทรรศการตามที่ต่างๆ”

วิศุทธิ์ เล่าว่า ที่ญี่ปุ่นมีคัลเจอร์แบบเมนสตรีม และไม่เมนสตรีม ที่เรียกว่า ซับคัลเจอร์ แบบไม่เมนสตรีมมีลักษณะที่ว่าทำอาชีพอื่นด้วย แต่ก็ทำสิ่งที่รักไปด้วย

“พอผมไปที่นั่น มันก็ง่ายในการนำเสนอผลงาน ที่นั่นมีสถานที่จัดแสดง มีกลุ่มคนที่เสาะหาอะไรใหม่ๆ เราก็ไปอยู่ในกระแสนั้น แล้วก็เช่าพื้นที่เล็กๆ หรือแชร์พื้นที่กับคนอื่นๆ เพื่อจัดแสดง มันก็ประสบความสำเร็จ คนก็รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ มีสำนักพิมพ์มาติดต่อ จากสำนักพิมพ์เล็กๆ เช่น แมกกาซีน ไฟฟ์ ต่อมาก็เป็น ชินโจชะ ที่พิมพ์แต่นิยาย แต่เขาบอกว่าพิมพ์การ์ตูนของเราเป็นเล่มแรก หลังจากนั้นก็เป็น โจกักคัง ที่พิมพ์โดราเอมอน เขาก็พิมพ์งานให้เรา ใช้ชื่อว่า ชิงช้า ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า บลังโกะ ที่สำนักพิมพ์นี้จ้างให้เขียนเดือนละตอน ก็ใช้เวลาเขียน 5 ปี รวมเล่มเป็น 6 เล่ม ทิ้งช่วงไปพักนึง ทางอะเดย์ก็เอามาแปลเป็นไทย”

จากนักวาดการ์ตูน วิศุทธิ์ก็ได้ก้าวข้ามจากนักวาดการ์ตูน จนกลายเป็นศิลปินที่สามารถทำงานหลากหลาย โดยใช้ตัวการ์ตูนเป็นสื่อกลางในการทำงาน

“อยู่ญี่ปุ่น ผมได้ทำงานหลายประเภท โดยเอาตัวการ์ตูนไปอยู่หลากหลายช่องทาง เป็นภาพประกอบแฟชั่นบ้าง ภาพยนตร์บ้าง มีดนตรีด้วย ด้วยความไม่มีชื่อเสียง เราก็ต้องจัดเอกซิบิชันด้วย ที่นั่นไม่มีนักเขียนการ์ตูนทำอย่างนี้ นักเขียนการ์ตูนก็จะเขียนแต่การ์ตูน อยู่ในโลกของการ์ตูนเพียงอย่างเดียว ตอนจัดเอกซิบิชัน เราก็ทำเป็นเขาวงกตที่เอาการ์ตูนของเรามาแปะไว้ตลอดทาง คนเข้ามาในเขาวงกตนี้ ก็จะได้ดูไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะหาทางออกเจอ เวลาแสดงงาน เราก็ทำแอนิเมชันด้วยนะ ซึ่งนักเขียนการ์ตูนไม่ทำกันอย่างนี้ เล่นดนตรีในงานด้วยนะ เล่นไปเล่นมา มันเวิร์ก จนไปโดนหูสายนักดนตรีญี่ปุ่นเข้า เขาก็เลยขอมาร่วมแจม มีทั้งนักดนตรี นักกวี นักวาดรูป ก็มาร่วมแจมกัน”

ชีวิต ณ ปัจจุบัน

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 ปี เขาก็เดินทางกลับเมืองไทย เริ่มวาดอะไรสั้นๆ ไม่วาดยาว รวมทั้งไม่พยายามสร้างเรื่องราวที่ต้องใช้จินตนาการ แต่จะหยิบจากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาเขียน เพื่อให้คนอ่านจับต้องและมีส่วนร่วมได้

“เสน่ห์ของการ์ตูนหรือลายเส้นของผมที่ได้รับการยอมรับ ทั้งที่ไทยและที่ญี่ปุ่น ผมคิดว่า เป็นเพราะผมวาดออกมาแบบสบายๆ ไม่ไปแข่งขันกับใคร อีกทั้งความรู้สึกที่ได้จากการอ่านของผู้อ่าน ก็รู้สึกเบาสบาย อ่านแล้วไม่เครียด ส่วนเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจวาดการ์ตูน อยากแนะนำว่า ให้เริ่มต้นวาดจากชีวิตของตัวเอง วาดในสิ่งที่เรากำลังคิด เรากำลังเห็น อย่าวาดอะไรที่ไกลตัว หรือต้องใช้จินตนาการสูงมากจนเกินไป ส่วนใครอยากเอาผมเป็นแบบอย่าง ผมคิดว่าเอาเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของตัวเองดีกว่าครับ”