posttoday

@Work

18 กุมภาพันธ์ 2556

ปีใหม่มาพร้อมกับหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ๆ อาจทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในสิ่งที่ไม่เคยทำ

โดย...อณุศรา ทองอุไร ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

กลัวได้แต่จงลงมือทำ

ปีใหม่มาพร้อมกับหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ๆ อาจทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่อย่าให้สิ่งนั้นมาเป็นอุปสรรคฉุดรั้งให้ย่ำอยู่กับที่ ความไม่มั่นใจเกิดขึ้นได้กับทุกคน จึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง ดังนี้

1.เตรียมตัวและฝึกซ้อม – ก่อนที่นักแสดงจะขึ้นเวที ต้องมีการเตรียมตัวและฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น การเตรียมตัวและฝึกซ้อม ฝึกหลายๆ ครั้ง การทำซ้ำบ่อยๆ จะทำให้เกิดความชำนาญ เราไม่ได้เก่งมาแต่เกิด

2. ออกจากความเคยชินเดิมๆ เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ – การสร้างความมั่นใจ ไม่ใช่แค่เตรียมตัวและฝึกซ้อมเท่านั้น แต่ต้องเปิดใจรับฟังสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยทำมาก่อน หลายคนเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ เพราะคิดและบอกตัวเองตลอดเวลาว่า “ฉันเป็นแบบนี้เอง” ต้องปรับทัศนคติให้เป็นคนกล้าลองสิ่งใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับวิธีการแบบเดิมๆ

3.เปิดรับฟังข้อมูลป้อนกลับ – เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือยัง การเปิดใจรับฟังข้อมูลป้อนกลับจากคนรอบข้างจะทำให้เรามีพัฒนาการที่ดีและเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจได้เป็นอย่างดี เปิดใจและทำใจไว้เวลาได้รับข้อมูลป้อนกลับจะได้ไม่เสียเซลฟ์

4.ผิดเป็นครู – ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ บางคนเก่งบางอย่าง แต่หลายคนรู้สึกว่าตนเองไม่เก่งสักอย่าง หากเราปรับทัศนคติใหม่ ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ มีแต่สิ่งที่ยังไม่เคยทำ หากลองทำแล้วผิดพลาดก็เก็บกลับมาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตนเองต่อไป

คนหลายนายรับมือให้ดี

มีคนจำนวนมากที่ตอนนี้มีเจ้านายหลายคน โดยเฉพาะองค์กรครอบครัวด้วยแล้ว มีพ่อเป็นเจ้านายใหญ่ มีแม่เป็นเจ้านายรอง และมีลูกๆ เป็นเจ้านายน้อย คนทำงานก็ต้องทำตามที่เจ้านายทั้งหลายสั่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ไม่รู้จะฟังใคร! นี่เป็นปัญหาหนึ่งในการทำงาน! จะมีวิธีการรับมืออย่างไร

ค้นให้เจอ...ใครคือเจ้านายตัวจริง – ต้องมีคนหนึ่งแน่นอนที่มีหน้าที่รับผิดชอบการทำงานของคุณ คือดูว่าใครเป็นคนประเมินผลปลายปี เวลาคุณป่วยสายลาขาด ส่งใบลาที่ใคร คนนั้นแหละเจ้านายตัวจริง เชื่อเขาคนนี้ ฟังเขาคนนี้แหละ

แจ้งข่าวสารให้นายทราบเสมอๆ – วิธีหนึ่งในการรับมือกับเจ้านายหลายคนให้ได้ผล คือหมั่นสื่อสารและแจ้งความคืบหน้าในการทำงานให้พวกนายๆ ทราบอยู่เสมอ ไม่ต้องรอให้ทวงถาม บอกไปว่าในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ คุณกำลังทำงานอะไรให้ใครอยู่ ติดปัญหาอะไรและได้พยายามแก้ไขอย่างไรไปบ้างแล้ว

พยายามทำให้เจ้านายสื่อสารกันเอง – เจ้านายส่วนมากชอบพนักงานที่เข้ามาพร้อมคำตอบมากกว่ามาพร้อมปัญหา หากคุณเข้าไปพร้อมกับปัญหา คุณอาจไม่เป็นที่รักของพวกเขาเท่าไรนัก วิธีการที่ดีที่สุดคือ การให้พวกเขาได้คุยกันเอง ส่งอีเมลไปให้เจ้านายที่มีคำสั่งขัดแย้งกันได้รับทราบเพื่อให้เขาได้หาปรับแนวทางให้ตรงกัน

อย่าคิดมาก – บางครั้งเมื่อเจอปัญหามาก เจ้านายมากคำสั่งหรืองานล้นมือ ก็มักจะทำให้เกิดความเครียดขึ้น เอาเป็นว่าทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ หากทำเต็มที่จนสุดความสามารถแล้ว ได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น

งานล้นมือ ทำไงดี

เวลาทำงานที่น้อยลงแต่ปริมาณงานเท่าเดิมหรือมากขึ้น แล้วจะทำกันทันไหม พอกังวลก็ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะทำอะไรก่อนดี หลังจากรวบรวมสติได้ คือใช้เวลาสองสามนาที เขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องทำออกมา แนะนำให้เขียนลงไปบนกระดาษดีกว่าใช้เทคโนโลยีมาช่วย เพราะมันจะให้อรรถรสที่ดีกว่า เวลาที่คุณต้อง “กา” ทิ้งสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว

จากนั้นใช้เวลา 15 นาทีในการทำงานที่อยู่ในรายการที่เขียนมา เลือกงานที่ง่ายๆ และเสร็จเร็วก่อน เช่น ส่งอีเมลหรือติดต่องานทางโทรศัพท์ ไม่ต้องสนใจว่างานที่ทำนี้เป็นงานที่สำคัญที่สุดในสิ่งที่เขียนมาหรือไม่ ใช้เวลาแค่ 15 นาทีในการทำงานเหล่านี้ ทำได้เท่าไรเมื่อหมดเวลาให้หยุดทันที จากนั้นขีดกาสิ่งที่ทำแล้วออกไปจากรายการ เป้าหมายของเวลา 15 นาทีนี้ เพื่อให้คุณสามารถกำจัดรายการที่ต้องทำออกไปให้ได้มากที่สุด

หลังจากหมดเวลา 15 นาที ปิดโทรศัพท์มือถือหรือเปิดเป็นระบบเงียบ จากนั้นเลือกงานที่สำคัญและเครียดที่สุดขึ้นมาทำ แน่นอนว่าในการทำงานนี้ ต้องรวมพลังและสมาธิทั้งหมดมาที่งานชิ้นนี้เท่านั้น อย่าวอกแวกคิดเรื่องอื่น ใช้เวลาทำประมาณ 35 นาทีสำหรับงานนี้

หลังจากหมดเวลา 35 นาที ควรไปพักสมองและร่างกาย 5 นาที จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่ตั้งแต่ต้น แล้วคุณจะพบว่าสิ่งที่คุณต้องทำซึ่งเขียนไว้ก่อนหน้านี้จะลดลงไปได้อย่างชัดเจน

ความสำเร็จที่ยั่งยืน

องค์กรต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก พบว่าความสำเร็จขององค์กรต่างๆ ในโลกปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1.เป็นความสำเร็จที่ไม่ยั่งยืน เป็นความสำเร็จระยะสั้น เป็นความสำเร็จบนความทุกข์ของพนักงาน เป็นความสำเร็จบนความล้มเหลวของสังคมและสภาพแวดล้อม พวกเขาเรียกความสำเร็จแบบนี้ว่า “ความสำเร็จแบบตั๊กแตน” เพราะฝูงตั๊กแตนไปที่ไหนก็ราบพนาสูรไปหมด

2.ยั่งยืนกว่า เป็นความสำเร็จที่สร้างความสุขให้กับสรรพสิ่งรอบข้างด้วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ชุมชน สังคม สภาพแวดล้อม พวกเขาเรียกความสำเร็จแบบนี้ว่า “ความสำเร็จแบบผึ้ง” เพราะผึ้งไปที่ไหนก็ช่วยผสมเกสร เมื่อจากไปยังทิ้งรังและน้ำหวานไว้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนนั้นๆ

ทุกวันนี้องค์กรหลายๆ แห่งกำลังสร้างความสำเร็จแบบตั๊กแตน องค์กรเหล่านั้นประสบความสำเร็จในทางธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่คนในองค์กรกลับไม่มีความสุข อัตราการลาออกสูงมากแบบไม่น่าเชื่อ สังคมและชุมชนรอบด้านต่างก็ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร เป็น “ความสำเร็จของตัวเอง” บน “ความไม่สำเร็จของผู้อื่น” เป็นความสำเร็จระยะสั้นอย่างไม่ยั่งยืนเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เน้นการเติบโตด้านกำไร ทำให้คนกลายเป็นเครื่องจักรที่ต้องทำงานโดยขาดคุณภาพชีวิต ความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง และความเอื้ออาทรที่เคยมีมาแต่เก่าก่อน ก็จางหายไปจากองค์กรจนหมดสิ้น