posttoday

ผ้า (ไหม) ไทยใส่เย็นสบาย

19 มีนาคม 2556

อีกไม่นานก็คงจะเห็นคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใส่ผ้าไหมไทยเลื่อมพรายระยิบระยับเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดย...อ.จ.ต. / ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์


อีกไม่นานก็คงจะเห็นคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใส่ผ้าไหมไทยเลื่อมพรายระยิบระยับเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กันพรึ่บ! อันเป็นไปตามมาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาล โดยมีกระทรวงวัฒนธรรม โดยการนำของ สนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นแม่งานในการรวบรวมหาผ้าไทยที่จะมาตัด ตลอดจนการออกแบบชุด และการตัดเย็บเสร็จสรรพ

ทว่า แบบที่ประชุม ครม. (เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2556) เห็นชอบให้ตัด 2 แบบ คือ แบบทางการ และกึ่งทางการหรือแบบลำลอง โดยในส่วนของทางการ คือ คอเสื้อทรงพระราชทาน หรือคอปกทรงแบบเป็นทางการ ส่วนกึ่งทางการสวมใส่สบายๆ ตามสไตล์ของรัฐมนตรีแต่ละคน

สำหรับผ้าที่จะนำมาตัด นายกฯ หญิงของเราได้ให้โจทย์ไว้ว่า...ต้องเป็นผ้าไทย โดยผ้าที่ใช้ต้องเป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่ดูแล้วเป็นตัวแทนประเทศและตัวแทนวัฒนธรรมของไทย...เป็นผ้าไทยที่มีอยู่ตามภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและเป็นการกระจายรายได้ให้กับท้องถิ่น...ชุดที่ตัดเน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทยและทันสมัย เน้นการสวมใส่สบายและเหมาะสมกับการปรับลดพลังงาน

ตอนนี้ทราบว่ากระทรวงวัฒนธรรมได้มีการรวบรวมผ้าไทยจากทุกพื้นที่ของประเทศไทยแล้ว (จริงอ่ะ...งั้นขอให้ได้จากทุกพื้นที่จริงเหอะ อย่าเอาเฉพาะจากแหล่งผลิตใดแหล่งผลิตหนึ่ง เดี๋ยวจะไม่เป็นการกระจายรายได้)


ไหมไทย...ต้องตรานกยูงพระราชทาน

ในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น คนทั่วไปตั้งแต่ไพร่ยันเจ้าก็จะใช้ผ้าฝ้ายในชีวิตประจำวัน เพราะมีความคงทน ดูแลรักษาง่าย ส่วนไหมจะใช้ในวาระโอกาสสำคัญ เช่น เวลาไปวัดวาอาราม มีพิธีกรรมทางศาสนา งานพิธีการต่างๆ ของบ้านเมือง พระราชพิธี เพราะนอกจากสวยแล้วยังคงความสุภาพเหมาะสมกับกาลโอกาส

อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีจะสวมใส่ชุดผ้าไหมในคราวประชุม ครม.ก็เหมาะสม เพราะ ครม.เป็นคณะบุคคลที่เป็นผู้บริหารประเทศชาติ สถานที่ประชุมคือทำเนียบรัฐบาล ก็เป็นสถานที่เป็นที่ทำการบริหารประเทศชาติ แต่ถ้าจะใช้อยากให้ใช้ผ้าไหมของไทยจริงๆ และเส้นไหมที่ใช้ต้องมีที่มา ไม่ใช่ไม่รู้ที่มาว่าจากไหน เพราะทุกวันนี้มีเส้นไหมมากมายมหาศาลนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ลาว

ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวต่อว่า สำหรับในเมืองไทยผ้าไหมที่สามารถรู้ที่มาหรือต้นทางของผ้าได้ จะต้องมีตรานกยูงพระราชทานเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น โดยผู้ผลิตผ้าไหมรายใดจะได้ตรานกยูงพระราชทานนั้น ต้องไปยื่นขอที่กรมหม่อนไหม ซึ่งจะเป็นผู้เข้าไปดูแลการผลิตตั้งแต่ต้น แต่ทว่าทุกวันนี้มีบริษัทมากมายโดยเฉพาะบริษัทที่ผลิตผ้าไหมยักษ์ใหญ่ของประเทศ ไม่ได้ขอตรานกยูงพระราชทาน

“อยากฝากรัฐบาล ถ้าอยากจะช่วยเหลือเกษตรกรจริงๆ ก็อยากให้ใช้ผ้าไหมที่มีตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งทางกรมหม่อนไหมได้กำหนดไว้ 4 สี คือ ตรานกยูงพระราชทานสีทอง ตรานกยูงพระราชทานสีเงิน ตรานกยูงพระราชทานสีฟ้า และตรานกยูงพระราชทานสีเขียว ซึ่งทั้ง 4 ตราไม่ได้หมายถึง 4 เกรด แต่หมายถึงความแตกต่างกันของขั้นตอนการผลิต เช่น ตรานกยูงพระราชทานสีทอง เป็นไหมไทยพื้นบ้านรังเหลือง วิธีการสาวจะสาวด้วยมือลงไปในกระด้งหรือลงตะกร้า ไม่ได้สาวด้วยเครื่อง ย้อมสีธรรมชาติ ตรานี้ถือว่าทำยากที่สุด รองลงมาคือตรานกยูงสีเงิน”

อาจารย์เผ่าทอง ย้ำว่า ตรานกยูงพระราชทานเปรียบเสมือนเครื่องหมาย อย. แต่เป็นเครื่องหมาย อย.ของผ้าไหม ไม่ใช่ อย.ของผลิตภัณฑ์อาหารและยา ที่ทำให้สามารถรู้แหล่งผลิต โดยใครที่ไปยื่นขอตราพระราชทานนี้ ทางกรมหม่อนไหมจะมีแสตมป์ที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถปลอมได้ ส่งมาให้ 1 ดวงต่อผ้า 1 เมตร และในแสตมป์จะมีหมายเลขหรือรหัสกำกับเอาไว้ด้วย

“หากต้องการรู้แหล่งที่มาของผ้าผืนที่เราซื้อนี้ ก็ดูที่ตรานกยูงว่ามีเลขอะไร เบื้องต้นให้กดเลข 1275 (12 หมายถึง 12 สิงหาคม 75 คือ พระชนมพรรษา 75 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) จากนั้นป้อนรหัสลงไปก็จะปรากฏให้เห็นข้อมูลของผ้านั้นๆ ว่าทอโดยนางนั้นๆ นามสกุล บ้านเลขที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด ให้รายละเอียดไว้หมด นี่คือตรานกยูงพระราชทาน ใจจริงแล้วผมอยากให้ผู้ผลิตไหมทุกคนขอตรานกยูงพระราชทาน ให้มี อย.ผู้บริโภคจะได้สบายใจว่าได้ใช้ไหมที่เป็นของไทยแท้ ไม่ใช่นำเข้าเส้นไหมจากจีน จากเวียดนาม แล้วมาทอในไทย”

อ้าว...ไหมไทยแท้ คนไทยทำ อย่างนี้ถ้า ครม.จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทั่วประเทศจริงๆ ท่านคงจะมองข้ามผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานไม่ได้แล้ว เพราะนี่คือสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นไทยและเอกลักษณ์อย่างแท้จริง


ใช้ของศิลปาชีพส่งเสริมพลังงาน

อาจารย์เผ่าทอง กล่าวอีกว่า ถ้าจะส่งเสริมให้มากขึ้นไปอีก อยากให้ ครม.ใช้ผ้าของศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพราะผ้าของศูนย์ศิลปาชีพนั้นผลิตมาจากกระบวนการทอมือของเกษตรกรอย่างแท้จริง ในขณะที่ผ้าที่ได้จากแหล่งอื่นๆ ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องทอเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิต

“เมื่อรัฐบาลต้องการเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการประหยัดพลังงานและอยากช่วยเหลือประชาชน ขอพูดตรงๆ อยากให้ใช้ผ้าของศูนย์ศิลปาชีพ เพราะการได้มาซึ่งเส้นใย การได้มาซึ่งการทอผ้าของศูนย์ฯ ผลิตมาจากกระบวนการทอมือของราษฎร ไม่มีพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้อง แถมมีจำหน่ายมีเป็นหมื่นเป็นแสนพับ ก็แค่เอามาให้ ครม.เลือกกันไป รายได้ก็ไปสู่เกษตรกรโดยตรง แต่ถ้าทอเครื่องเป็นระบบโรงงานก็จะใช้กระแสไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ก็ใช้พลังงานอยู่ดี”

ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวเสริมว่า การประหยัดพลังงานไม่ใช่ประหยัดปลายน้ำที่การสวมใส่ แต่ควรจะมองการประหยัดพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำ คือตั้งแต่กระบวนการผลิต เริ่มที่การได้มาซึ่งเส้นใย จนมาถึงการทอมือ


ใส่ผ้าไทยสบายอุรา...ดูแลไม่ยาก (แล้ว)

อาจารย์เผ่าทอง กล่าวว่า ผ้าไหมและผ้าฝ้ายมาจากเส้นใยจากธรรมชาติ โดยคุณสมบัติของฝ้ายและไหมแท้จะมีความโปร่งในการระบายอากาศและเก็บอากาศได้ดี เนื้อผ้าอ่อนนุ่ม ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายง่าย สวมใส่สบาย ไม่เป็นพิษ ทั้งไหมและฝ้ายถ้าใส่หน้าร้อนก็จะเย็น ถ้าใส่หน้าหนาวก็จะอุ่น ขณะที่ทุกวันนี้ผ้าในท้องตลาดเป็นผ้าใยสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบเส้นไหม ใส่แล้วร้อน

ขณะที่การดูแลรักษา ผ้าไหมเป็นเส้นใยธรรมชาติเหมือนผม สามารถใช้แชมพูซักแทนได้ โดยคุณสมบัติของไหมก็จะมีการยืดหยุ่นตัวได้ เพียงแต่ไหมจะมีข้อเสียในเรื่องของการยับ แต่ว่าการยับสามารถแก้ไขได้ในปัจจุบัน ก็คือเอาเส้นไหมหลายๆ เส้นมาตีเกลียวให้แน่น ยิ่งตีเกลียวแน่นน้ำหนักก็จะเยอะ สามารถใช้เครื่องซักผ้าระบบฝาหน้าได้

“ปกติผ้าไหมยากในการดูแลรักษา ต้องซักแห้งและสิ้นเปลือง แต่ปัจจุบันผ้าไหมสามารถใช้เครื่องซักผ้าฝาหน้าได้ แต่ผ้านั้นต้องขึ้นกับการตีเกลียวให้แน่น 4050 เกลียวกับความยาวของไหม 1 นิ้ว แต่ถ้าตีเกลียวหลวม 15 เกลียว ผ้าจะเนื้อรวนและเละ ไม่สามารถเอาไปซักเครื่องได้”

อาจารย์เผ่าทอง กล่าวว่า การที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเอาผ้าไหมเหล่านั้นไปทำเป็นเทคนิคนาโนเป็นเรื่องดี ถือเป็นการเพิ่มราคาผ้าให้แพงขึ้นไป ซึ่งอีกหน่อยชาวบ้านทั่วไปไม่มีปัญญาใส่แน่นอน ที่จริงแล้วควรจะให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการรักษาผ้าเบื้องต้น ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือจากผู้ผลิตไหมให้ตีเกลียวควบให้แน่นขึ้น ผ้าไหมจะได้ไม่ยับง่าย

เอาล่ะ...หวังว่ามาตรการประหยัดพลังงานที่ให้ ครม.สวมใส่ผ้าไทยนี้ จะไม่ใช่แค่ไฟไหม้ฟาง...เกิดขึ้นนานไปแล้วหายจ้อย ถ้าทำต้องให้ดีตามที่ว่า อย่าให้เสียเอกลักษณ์ไทยเป็นอันขาด โดยชุดที่ใส่ต้องมั่นใจว่าเอกลักษณ์ไทยแท้ มิใช่วัฒนธรรมผสม และรายได้ก็ต้องกระจายสู่เกษตรกรทั่วภูมิภาคของประเทศ ไม่กระจุกที่ใดที่หนึ่ง

ก่อนจบขอฝาก “คำกลอนสวัสดิรักษา” ของสุนทรภู่ สำหรับการเลือกใช้สีที่เป็นมงคลประจำวัน

อนึ่ง ผ้าภูษาทรงณรงค์รบ มีให้ครบเบ็ดเสร็จทั้งเจ็ดสี

วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล

เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว จะยืนยาวชันษาสถาผล

อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน บันดาลดลขัตติยาไม่ราคี

เครื่องวันพุธสุดดีตรงสีแสด กับเหลืองแปดปนประดับระยับสี

วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี

วันศุกร์ศรีเมฆหมอกออกสงคราม

วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม

อันพาทีที่ขี่ขับประดับงาม ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัย