posttoday

การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

07 พฤษภาคม 2556

ในโลกของการทำงานก็เหมือนกับโลกของการปฏิบัติธรรม ท่านพุทธทาสจะพูดเสมอว่า การทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม หลายคนตั้งข้อสังเกตหรือมีทัศนคติว่าจะทำงานไปพร้อมกับการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร เพราะการทำงานจะต้องมีลูกล่อลูกชน จะต้องมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ต้องโกง ต้องรู้จักทวนน้ำ ตามน้ำ และใต้น้ำ ดังนั้นมันจะไปด้วยกันได้อย่างไร จะมามัวปฏิบัติธรรมก็ทำมาค้าขายไม่ได้น่ะสิ อาตมภาพขอบอกว่า ทำไมการทำงานกับการปฏิบัติธรรมจะไปด้วยกันไม่ได้ อย่าลืมว่าคนที่เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากที่สุดสองคน ผู้ชายคือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้หญิงคือ นางวิสาขา ทั้งสองคนคือนักธุรกิจรวยระดับพันล้าน เงินสมัยก่อนเขานับเป็นโกฏิ หนึ่งโกฏิก็ 10 ล้าน แต่มั่งมีมากกว่า 100 โกฏิ แสดงว่ามีเงินมากกว่าพันล้าน

ในโลกของการทำงานก็เหมือนกับโลกของการปฏิบัติธรรม ท่านพุทธทาสจะพูดเสมอว่า การทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม หลายคนตั้งข้อสังเกตหรือมีทัศนคติว่าจะทำงานไปพร้อมกับการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร เพราะการทำงานจะต้องมีลูกล่อลูกชน จะต้องมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ต้องโกง ต้องรู้จักทวนน้ำ ตามน้ำ และใต้น้ำ ดังนั้นมันจะไปด้วยกันได้อย่างไร จะมามัวปฏิบัติธรรมก็ทำมาค้าขายไม่ได้น่ะสิ อาตมภาพขอบอกว่า ทำไมการทำงานกับการปฏิบัติธรรมจะไปด้วยกันไม่ได้ อย่าลืมว่าคนที่เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากที่สุดสองคน ผู้ชายคือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้หญิงคือ นางวิสาขา ทั้งสองคนคือนักธุรกิจรวยระดับพันล้าน เงินสมัยก่อนเขานับเป็นโกฏิ หนึ่งโกฏิก็ 10 ล้าน แต่มั่งมีมากกว่า 100 โกฏิ แสดงว่ามีเงินมากกว่าพันล้าน

ทั้งสองท่านคือนักธุรกิจใหญ่ มีกิจการค้าขายระหว่างประเทศ อิมพอร์ต เอกซ์พอร์ต ทำมาก่อนเราทั้งหมด เจริญรุ่งเรือง แล้วก็อุปถัมภ์พระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่เคยล้มเหลวอะไร อยู่ได้สบายมาก แสดงว่าการทำงานกับการปฏิบัติธรรมไม่ได้แยกกัน แต่ที่เรามาแยกเพราะคนไทยในระยะหลังๆ เน้นความสำเร็จโดยไม่คำนึงถึงที่มามากเกินไป จนเดี๋ยวนี้กล่าวกันมากว่าคนที่ทำงานแล้วทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา ทุจริตแล้วปล่อยให้ถูกจับได้จึงเป็นเรื่องผิดปกติ นี่คือค่านิยมที่ไม่น่านิยมในสังคมไทย

ทำอย่างไรการทำงานจะประสานกับการปฏิบัติธรรม มีคำกล่าวคำหนึ่งที่ต้องอธิบาย คือ การปฏิบัติธรรม บางคนคิดว่าต้องเข้าวัด ต้องถือศีลแปด ต้องนุ่งขาวห่มขาว และต้องไปเดินช้าๆ ทำช้าๆ เป็นหุ่นยนต์ กิริยาอาการทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการปฏิบัติธรรม จะรู้การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ก็ต้องรู้ว่าธรรมนั้นมีสองระดับ

1.สัจธรรม ก็คือธรรมที่คนทั่วไปนำมาปฏิบัติแล้วทำให้เกิดความรู้ ตื่น เบิกบาน ดับความทุกข์ และการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้ ธรรมะระดับนี้ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

2.จริยธรรม ก็คือหลักการที่เมื่อนำมาปฏิบัติแล้วจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ประสบความสำเร็จในวิชาชีพและการดำเนินชีวิต เช่น หลักธรรมสำหรับการเรียน หลักธรรมสำหรับการครองเรือน หลักธรรมสำหรับการทำธุรกิจ หลักธรรมสำหรับการเข้าสังคม หลักธรรมสำหรับนักการเมือง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เวลาที่คนทั่วไปพูดถึงการปฏิบัติธรรม จะนึกถึงสัจธรรม โดยไม่นึกถึงจริยธรรม ทั้งที่ความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมมีสองระดับ เมื่อจับประเด็นการปฏิบัติธรรมว่าเป็นเพียงการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็มักจะนึกค้านว่าการทำงานกับการปฏิบัติธรรมไปด้วยกันไม่ได้

ครูบาอาจารย์ที่นั่งฟังอยู่นี้ถือเป็นกลุ่มคนที่ปฏิบัติธรรมมากกว่าชาวบ้านชาวเมือง เพราะว่าสอนหนังสือ ขอให้ครูทั้งหลายตระหนักรู้ว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก เพราะว่าเป็นอาชีพเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกทำ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเลือกที่จะเป็นผู้บริหาร ไม่ได้ทรงเลือกเป็นนักการเมือง นักการตลาด แต่ทรงเลือกที่จะเป็นครู ขอให้รู้ว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านตรัสไว้คำหนึ่งลึกซึ้งมาก พระองค์บอกว่า คำว่าครูเป็นคำที่สูงส่งและประเสริฐมาก แต่หลังๆ มาเข้าใจผิดกันว่าคำว่าอาจารย์ประเสริฐกว่าครู แท้จริงแล้วคำว่าครูเป็นยอดแห่งคำ คนเป็นครูเป็นยอดแห่งคน เมื่อก่อนคนที่จะเป็นครูได้ต้องเป็นยอดคน แล้วจึงจะเป็นยอดครู

อาจารย์ใครก็เป็นได้ อาจารย์กู้ทุกท่านเห็นไหม มรรคนายกเขาก็เรียกว่าอาจารย์วัด ดูหมอเขาก็เรียกว่าอาจารย์ ดูไพ่ป๊อกเขาก็เรียกว่าอาจารย์ ดูดวงเขาก็เรียกว่าอาจารย์ ดูภาพนู้ดจนเชี่ยวชาญก็เรียกว่าอาจารย์ ยิ่งถ้าไปเดินอยู่ในประเทศอินเดีย ทันทีที่เดินลงจากรถทัวร์ เด็กๆ อินเดียจะเรียกคนไทยว่าอาจารย์ทุกคน เป็นอาจารย์ใครก็เป็นได้ แต่คนที่จะเป็นครูมิใช่จะเป็นได้ง่ายๆ เป็นครูแล้วถอนคืนไม่ได้ ตายไปแล้วถามว่าหลุมศพใคร หลุมศพครู แต่การเป็นอาจารย์ เมื่อออกจากมหาวิทยาลัยไปทำอาชีพอื่นเขาไม่เรียกอาจารย์อีกแล้ว แต่เป็นครู เป็นตั้งแต่เล็กแต่น้อย เป็นจนตาย เหมือนสุนทรภู่แม้ตายไปแล้วเป็นร้อยปี แต่เราก็ยังเรียกท่านว่า สุนทรภู่ครูกวี ไม่เห็นใครเรียก สุนทรภู่อาจารย์กวี สักคน

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติหน้าที่อันถูกต้องของตนเองก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรม ใครทำงานแล้วรับผิดชอบต่องานนี้เรียกว่ามีสัจจะ ขยันมาทำงานตอกบัตรทุกวัน แต่ไม่ใช่ว่าตอกบัตรแล้วหนีนะ ตอกบัตรแล้วต้องอยู่ทำงาน ถือว่ามีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบคือสัจจะ วิริยะคือความเพียร ขยันมาทำงานทุกวัน เหมือนพระมหาชนก

ใครทำงานด้วยความซื่อสัตย์โปร่งใส ไม่มีใครเดือดร้อน ขยันทำงาน พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน ภาษาธรรมะเรียกว่าปิยวาจา ครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์เหมือนสอนลูกตน อันนี้เรียกว่า เมตตา เจ้านายบริหารงานอยู่ด้วยกันก็ดูแลกันดี เวลาลูกน้องทำผลงานดีก็มีรางวัล มีคำชม เขาทำผิดก็ตัดสินไปตามความจริง นี่คือใช้ธรรมที่เรียกว่า พรหมวิหาร 4 อยู่ด้วยกันดูแลกันเหมือนพี่เหมือนน้อง นี้เรียกว่าสังคหวัตถุธรรม

ความจริงทุกคนล้วนทำงานไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วยตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเวลาเราปฏิบัติธรรม เราไม่รู้จักชื่อธรรมที่เราปฏิบัติว่าภาษบาลี เขาเรียกว่าอะไรเท่านั้นเอง เหมือนเราสวมเสื้อผ้าอยู่ทุกวัน แต่เราไม่รู้ว่าเสื้อผ้าที่เราสวมนั้นตัดเย็บมาจากร้านไหน การทำงานกับการปฏิบัติธรรมจึงอยู่ด้วยกัน และไม่มีใครที่ทำงานโดยไม่มีการปฏิบัติธรรม