แชงกรีลา ตอนวัดลามะซงจ้านหลิน
ผมขออนุญาตท่านผู้อ่านก่อนที่จะไปแคชเมียร์ ผมมีโอกาสได้ไปแชงกรีลา ซึ่งเป็นดินแดนแห่งเส้นขอบฟ้าที่มีความงดงามด้วยมหาขุนเขา
โดย...นพพล ชูกลิ่น
ผมขออนุญาตท่านผู้อ่านก่อนที่จะไปแคชเมียร์ ผมมีโอกาสได้ไปแชงกรีลา ซึ่งเป็นดินแดนแห่งเส้นขอบฟ้าที่มีความงดงามด้วยมหาขุนเขา โอบล้อมด้วยวัฒนธรรมความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อศาสนาบนสภาพอากาศที่เบาบาง จึงเป็นเหมือนเครื่องปรุงแต่งให้การดำรงชีวิตในแต่ละวันของผู้คนที่นี่เป็นไปอย่างสงบเชื่องช้าแต่เต็มเปี่ยมด้วยความสุข
ผมมีโอกาสได้ไปนมัสการวัดลามะซงจ้านหลิน (Songzanlin) เป็นวัดใหญ่ที่สำคัญของเมืองแชงกรีลา อยู่ห่างจากตัวเมืองจงเตี้ยนไปทางเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร วัดนี้สร้างในสมัยทะไลลามะองค์ที่ 5 ในช่วงศตวรรษที่ 18 สมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง สร้างจำลองแบบจากพระราชวังโปตาลา (Potala) ในกรุงลาซา (Lhasa) มาไว้ เป็นวัดนิกายลามะแบบทิเบตที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลยูนนานอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี
และในยามเทศกาลชาวทิเบตที่นี่ยังคงรักษาประเพณีที่จะจัดขึ้นตามวัดสำคัญๆ เหล่านี้ด้วยการเต้นระบำหน้ากากและเป่าแตรงอน เทศกาลต่างๆ ของชาวทิเบต สิ่งหนึ่งที่ผมพบเห็นและนิยมชมชอบมากๆ คือ เมื่อถึงเวลาแห่งเทศกาลต่างๆ ชนเผ่าต่างๆ จะเข้ามารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ทั้งๆ ที่อาจจะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาเหล่านี้ก็จะหากิจกรรมมาทำร่วมกัน เช่น เทศกาลการแข่งม้า ในแต่ละเผ่าจะแต่งตัวผู้ขี่กับม้ากันอย่างสวยงามมากจนผมคิดว่าเป็นการประกวดม้าของแต่ละชนเผ่ามากกว่า บรรยากาศในงานเทศกาลต่างๆ จึงเหมือนเป็นการมาพบพาเพื่อนเก่าที่เต็มเปี่ยมด้วยรอยยิ้มและความสุขเอาไว้ แล้วผมจะเก็บตกบรรยากาศอย่างนี้มาให้ท่านผู้อ่านอีกครั้งนะครับ
วัดลามะซงจ้านหลิน ตั้งอยู่บนเขาที่มีความสูงไม่มากนัก รายล้อมไปด้วยบ้านเรือนที่เป็นชุมชนเล็กๆ ไต่ระดับตามความลาดเอียงของเขาจนไปถึงอาณาเขตของวัด มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และพื้นที่ทำเกษตรกรรมอยู่ในแนวพื้นราบเมือง จึงดูช่างสงบและสวยงามมากตลอดเส้นทางเดินขึ้นไปสู่ตัววัด เราจะเดินบนสะพานไม้ที่ยาวทอดผ่านทุ่งนาลัดเลาะไปตามเชิงเขาจนไปบรรจบกับถนนที่ทอดผ่านหมู่บ้าน เมื่อสุดถนนก็จะเป็นบันไดที่นำพาเราขึ้นสู่พื้นที่วัด ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ทั้งภายนอกและภายในมีความสวยงามตามความเชื่อของคนทิเบต วัสดุและสีที่ใช้ถูกทำขึ้นจากธรรมชาติ ยิ่งเข้าไปดูภายในอาคารแล้วสีสันมีความสดใสมากจนผมรู้สึกว่าวัสดุจากธรรมชาติชนิดไหนนะถึงช่างมีสีที่งดงามแบบนี้ได้ ดังนั้นจึงมีกฎห้ามถ่ายภาพภายในอาคาร
ผมยอมรับว่าผมแอบถ่ายภาพเหล่านี้มา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง แต่เท่าที่ผมสอบถามจากไกด์ท้องถิ่น เขาแจ้งกับผมว่าการที่เขาห้ามถ่ายรูปเป็นเพราะนักท่องเที่ยวจะใช้แฟลชในการถ่ายภาพซึ่งมีผลต่อสีที่ทาภายในอาคาร
แต่ที่สำคัญกว่าคือ ผมถามถึงความเชื่อทางศาสนาว่ามีอะไรที่ถือเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ โดยบังคับให้ไปถามลามะก่อน อย่าใช้ความเชื่อส่วนตัว คำตอบที่ได้คือ ไม่มีข้อผิดทางความเชื่อและวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ให้ถ่ายถึงแม้จะใช้เทคนิคการถ่ายแบบไม่ใช้แฟลช เหตุผลเพราะจะควบคุมนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ยาก ผมก็เลยทำได้แค่แอบถ่ายภาพออกมาบ้าง โดยไม่ให้นักท่องเที่ยวอื่นรู้ แต่ผมว่าลามะรู้แต่ไม่ห้าม เพราะผมไม่ได้ยกกล้องขึ้น แต่เสียงชัตเตอร์ไม่ได้ปิดทุกครั้งที่กดชัตเตอร์ ท่านลามะที่เดินตามอยู่ห่างๆ จะอมยิ้มและพยักหน้าให้เหมือนบอกว่าทำได้แค่นี้นะ อย่ามากกว่านี้ ภาพเลยอาจไม่ชัดนัก แต่ก็อยากให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพที่ผมเข้าใจว่าไม่เคยมีใครนำมาเผยแพร่ได้มาก่อนด้วยวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ อยากเชิญชวนให้ท่านที่ยังไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัส ณ ดินแดนแห่งนี้ไปนมัสการมหาวิหารที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับสองของอาณาจักรทิเบต
ขอย้ำสักนิดนะครับว่า สิ่งที่ผมทำเป็นสิ่งผิด ไม่สมควรทำ แต่ผมก็ได้ศึกษาแล้วว่าไม่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อขนบธรรมเนียมและความเชื่อใดๆ และที่สำคัญผมเพียงต้องการให้ท่านผู้อ่านที่ยังไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของสถานที่นี้ให้ไปกันสักครั้งเพื่อซึมซับความเชื่อของศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นแขนงหนึ่งของศาสนาพุทธเราว่าช่างงดงามน่าศรัทธาเพียงใด แล้วพบกันนะครับ