posttoday

คนด่านเกวียน

29 มิถุนายน 2556

คนด่านเกวียน ทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้ ผมจะนึกถึงศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่ห่างหายไปนานจนคงต้องเป็นคนรุ่นผมเท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟัง

โดย...นพพล ชูกลิ่น

คนด่านเกวียน ทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้ ผมจะนึกถึงศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่ห่างหายไปนานจนคงต้องเป็นคนรุ่นผมเท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟัง ผมมีโอกาสได้ไปชมการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ด่านเกวียน โดยไปกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีโอกาสได้เข้าไปถ่ายภาพการปั้นเครื่องปั้นดินเผาอย่างใกล้ชิด สิ่งที่ผมได้เห็นคือร้านค้ามากมายที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ แต่ถ้าลองสังเกตดูจะพบว่ารูปแบบโดยส่วนใหญ่ยังเป็นของแบบที่จับกลุ่มลูกค้าคนไทย ซึ่งแตกต่างจากแถว จ.ราชบุรี หรือเชียงใหม่ ที่มีการพัฒนารูปแบบให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศมากขึ้น เท่าที่ผมทราบมีการพัฒนาไปจนถึงเทคนิคการผลิตจนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก แต่ถ้าหากเราลองสืบค้นประวัติศาสตร์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ จะพบว่าแหล่งกำเนิดของเครื่องปั้นดินเผาในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยอยู่ที่ด่านเกวียนนี้เอง สาเหตุเพราะด่านเกวียนมีแหล่งวัตถุดิบที่ดีที่สุดในประเทศอยู่ ณ ที่แห่งนี้ วัตถุดิบที่ใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนที่สำคัญ คือ ดินที่ใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนจะนำมาจากฟากมูล ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านด่านเกวียนทางทิศตะวันออก ระยะทางราว 23 กิโลเมตร เป็นที่ราบริมฝั่งมูล ชาวบ้านจะเลือกขุดบริเวณที่มีดินเหมาะแก่การปั้นเป็นแห่งๆ เรียกว่า กุด บริเวณแหล่งดินแต่เดิมมีดังต่อไปนี้ 1.กุดลอนตาล 2.กุดสองคืน 3.กุดเสือตาย (กุดสายตาย) 4.กุดหนองโชติ 5.กุดเวียน 6.กุดตะเกียด 7.คลองตำแย 8.วังใหญ่ 9.หนองงูเขียว 10.ทุ่งดินมูลหลง

ปัจจุบันใช้ดินทั่วไปในบริเวณฟากมูล เพราะกุดบางกุดที่ใช้มาแต่โบราณได้มีคนจับจองเป็นเจ้าของ เช่น กุดเวียน จึงไม่สามารถที่จะนำดินมาใช้ได้อีก ที่ดินบางส่วนของกุดตะเกียดและกุดอื่นๆ ก็มีพ่อค้าคนกลางในตลาดกว้านซื้อเป็นเจ้าของ ชาวบ้านที่มีอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาจะต้องซื้อต่อจากคนกลาง ดังนั้นอาจจะแบ่งแหล่งดินที่นำมาใช้ในปัจจุบันเป็น 2 บริเวณด้วยกัน คือ 1.บริเวณทุ่งด่านเกวียน 2.บริเวณทุ่งดินมูลหลงบริเวณทุ่งด่านเกวียน หมายถึงดินเหนียวในทุ่งนา บริเวณฟากมูลทั่วๆ ไป ดินพวกนี้จะเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียด ส่วนบริเวณทุ่งดินมูลหลงจะอยู่ติดกับลำมูล เนื้อดินบางแห่งจะเป็นทรายละเอียด ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ดินขาว ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อให้ดินปั้นง่าย ผึ่งและเผาไม่แตกมาก นอกจากนั้นยังเพิ่มความแข็งให้กับเนื้อดินเผาด้วยลักษณะของดิน ดินที่เหมาะแก่การปั้นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนจะเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียด ไม่มีกรวดหิน รากไม้ หรือสิ่งอื่นๆ เจือปน มีสีแดงหรือน้ำตาลดำ (แดง) ดินที่มีคุณลักษณะดี คือดินที่ปั้นแล้วนำมาเผาจะได้สีแดง เรียกว่า สีเลือดปลาไหล ปัจจุบันค่อนข้างหายาก เหตุที่ดินมีสีแดงเป็นเพราะว่ามีออกไซด์ของโลหะผสมอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นสนิมของเหล็กก็ได้ เมื่อเผาแล้วจึงกลายเป็นน้ำเคลือบในตัว (ขอขอบคุณข้อมูลจากด่านเกวียนดอตคอมครับ)

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตคือ ผู้ปั้นจะเป็นคนท้องถิ่นและเป็นคนหนุ่มสาวมากขึ้น ต่างจากที่ผมพบที่เชียงใหม่หรือแถวราชบุรีที่ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อันนี้น่ากังวลนะครับ ผลงานศิลปะประจำถิ่นเป็นผลงานที่ทรงคุณค่ามากๆ และต้องถูกถ่ายทอดให้อนุชนคนรุ่นหลังต่อไป ผมเห็นสถานที่ปั้นที่เป็นอาคารปลูกอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่พื้นเป็นทรายหยาบมีความสะอาดเงียบสงบมีแสงสว่างที่ไม่มาก มีอากาศที่เย็นสบาย แต่สิ่งที่ผมรู้สึกคือมนต์ขลังแห่งบรรยากาศการทำงานศิลปะที่มีความสงบร่มเย็นเป็นอย่างมาก งานปั้นดินเผา งานปั้นเซรามิก เป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลน่าจะเข้ามาพัฒนา เพราะงานฝีมือที่ทำจากมือของคนไทยจะมีความประณีตมากที่สุด การให้ความช่วยเหลือต้องทำทั้งกระบวนการตั้งแต่หาตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคนิคการผลิต การสร้างแบรนด์สินค้า เป็นต้น ผมเก็บบรรยากาศการปั้นเครื่องปั้นดินเผามาฝากนะครับ อยากเก็บความภูมิใจของผลิตภัณฑ์นี้ไว้คู่คนไทยตลอดไปนะครับ