ความรู้สึกดีๆที่บ้านอนุรักษ์แมวไทย
ม้จะเป็นยามบ่ายอันหงอยเหงาเศร้าซึม ควรเป็นเวลางีบกลางวันด้วยซ้ำ แต่ที่บ้านอนุรักษ์แมวไทย
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
แม้จะเป็นยามบ่ายอันหงอยเหงาเศร้าซึม ควรเป็นเวลางีบกลางวันด้วยซ้ำ แต่ที่บ้านอนุรักษ์แมวไทย หรือที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ยังครึกครื้นด้วยเสียงหง่าวของเหล่าแมวเหมียว ผสานเสียงหัวร่ออย่างเบิกบานของคน
ช่างมีความสุขกันจริงจริ๊ง
“ตอนนี้ 76 แล้วครับ ยังฟิตปึ๋งปั๋ง แขกมาก็ยังพูดได้น้ำไหลไฟดับ แต่นั่งคุยกันมากกว่า จะทำตัวเป็นไกด์เดินพาชมรอบบ้านเหมือนเดิมคงไม่ไหวแล้ว”
ปรีชา พุคคะบุตร เจ้าของบ้านใจดี หัวเราะหึหึ ขณะนั่งพักผ่อนหย่อนใจอยู่ที่โต๊ะรับแขกกลางบ้าน ที่นี่เปิดให้บริการมานานกว่า 12 ปีแล้ว แต่ละเดือนแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศแวะเวียนเข้ามามากมายจนนับไม่ไหว เหตุผลเดียวมาจากชื่อเสียงบารมีของชายชราผู้นี้ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วทุกสารทิศว่าคือตัวจริงเรื่องแมวไทย
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่านานาประเทศต่างยอมรับกันแล้วว่าแมวไทยสวยที่สุด งามสง่าที่สุด เฉลียวฉลาดที่สุดในโลก เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ทำให้ต่างชาติได้รู้จักประเทศไทยในนาม ไซมีส แคท (Siamese Cat)
จากหลักฐานการค้นพบในสมุดข่อยโบราณของวัดอนงคาราม (ชื่อเดิมคือวัดน้อยขำแถม) เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ได้บันทึกเรื่องแมวไทยไว้อย่างละเอียด พบว่าสมัยก่อนแมวไทยมีมากถึง 23 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็นแมวมงคล 17 ชนิด ได้แก่ นิลรัตน์ วิลาศ ศุภลักษณ์ (ทองแดง) เก้าแต้ม มาเลศ แซมเศวต รัตนกัมพล วิเชียรมาศ นิลจักร มุลิลา กรอบแว่น (อานม้า) ปัดเสวตร (ปัดตลอด) กระจอก สิงหเสพย์ (โสงหเสพย์) การเวก จตุบท โกนจา (ดำปลอด) อีก 6 ชนิด คือ แมวร้ายให้โทษ เชื่อกันว่าเลี้ยงไว้จะเป็นกาลกิณี ได้แก่ ทุพลเพศ พรรณพยัคฆ์ (ลายเสือ) ปีศาจ หิณโทษ กอบเพลิง เหน็บเสนียด
ทว่าปัจจุบันเหลือเพียง 4 สายพันธุ์เท่านั้นที่ยังมีการเลี้ยง เพาะพันธุ์ขายกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ วิเชียรมาศ ศุภลักษณ์ (ทองแดง) สีสวาด (โคราช) โกนจา (ดำปลอด)
“ยุคโน้นแมวมงคลเขาเลี้ยงในวัง สามัญชนไม่มีโอกาสได้เลี้ยง แมวไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นทรัพย์สินมีค่าสามารถซื้อขายได้ถึง 1 แสนตำลึงทอง ส่วนแมวร้ายนั้นคนก็เอาไปปล่อยป่า จนสูญพันธุ์ไป
เดี๋ยวนี้ราคาแมวไทยอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท ชาวต่างชาติสนใจกันมาก โดยเฉพาะแถบยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนคนไทยนั้นนิยมกันน้อย หันไปเลี้ยงแมวฝรั่งกันหมด” ลุงบอกเสียงซึม
เกร็ดอันน่าพิศวงตกตะลึงของแมวไทยทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้ฟังทีไรก็ประทับใจ เช่นว่า สีนัยน์ตาของแมวโกนจาเป็นสีเหลืองดอกบวบแรกแย้ม หมายถึงสีเหลืองอมเขียวของดอกบวบที่กำลังบานในยามอรุณรุ่ง แมวโคราช หรือแมวสีสวาด ซึ่งหายสาบสูญไปนับตั้งแต่ พ.ศ. 2310 วันดีคืนดีคนหาของป่าในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เกิดไปเจอแมวลึกลับขนสีดอกเลาตัวนี้ จึงไปดักจับมาให้คนได้เห็นกัน
แมววิเชียรมาศ มีเรื่องเล่าว่าสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 ข้าศึกพม่าหอบเอาไปหมดทั้งสมบัติพัสถาน เชลย ยันแมว ก่อนเผาทุกอย่างราพณาสูร ต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) ได้ไปเที่ยวกรุงศรีอยุธยาร้าง แล้วเจอสมุดข่อยที่ไม่ถูกเผา จึงนำกลับมาแล้วให้คนไปไล่ต้อนจับแมววิเชียรมาศกลับมาสู่เมืองไทยอีกครั้ง เช่นเดียวกับแมวศุภลักษณ์ แมวสีแดงเข้มตลอดตัว ที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า จนถูกเรียกกันว่า เบอร์มีส แคท (Burmese Cat) แต่เป็นที่รู้กันว่าต้นกำเนิดอยู่ที่บ้านเรา
ชายชราเจ้าของฉายาราชาแมวไทย เล่าให้ฟังอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พลางเดินไปตามกรงต่างๆ ที่เลี้ยงแมวพันธุ์ไทยแท้กว่า 113 ตัว ซึ่งถูกออกแบบอย่างดี เสียงแมวร้องระงม ลุงยิ้มทักทาย มือก็ลูบตามหัวตามหาง
“ที่เลี้ยงในกรง เพราะแมวปล่อยไม่ได้ เลี้ยงแบบปล่อยอิสระจะตามตัวยาก งูเหลือม หมาไล่กัดไล่กินหมด (หัวเราะ) ผมเลี้ยงเหมือนลูกเหมือนหลานครับ กินดีอยู่ดี ประคบประหงมเต็มที่
ค่าอาหารตกเดือนละ 3 หมื่นกว่าๆ ก็ลำบากนะ ผมไม่ได้เก็บสตางค์ เพราะคิดว่าไม่ได้ทำธุรกิจ ที่ทำก็เพื่อการเผยแพร่เพื่ออนุรักษ์มรดกของชาติ ก็อาศัยกล่องบริจาคผู้ใจบุญที่มีน้ำใจช่วยเหลือกันไป” ผู้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณยิ้มขรึม
ทุกวันนี้หากไม่ถูกเชิญไปบรรยายตามมหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทย์ หรือหน่วยงานด้านปศุสัตว์ ปรีชาก็จะนั่งรอรับแขกอยู่ที่เดิมทุกวัน ด้วยรอยยิ้มแจ่มใส เขาจะรู้สึกกระตือรือร้นเป็นพิเศษ ถ้าได้คุยถูกคอกับบรรดาคนรักแมว
“เสาร์อาทิตย์คนเยอะ นั่งคุยทั้งวันก็สบาย (ทำเสียงสูง) วันธรรมดาไม่ค่อยมีคน ก็เดินดูแมวไปเรื่อย ถ้าไม่มีแมว ผมอยู่ไม่ได้หรอกครับ ... มันเหงา” เขาย้ำท้ายประโยคด้วยน้ำเสียงออดอ้อนน่ารัก
คนรักแมว หรือคนไม่รักแมวแต่สนใจอยากศึกษา อยากชื่นชมแมวไทยสายพันธุ์แท้ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ ที่นี่มีตั้งแต่โซนนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องของแมวไทยชนิดต่างๆ พร้อมภาพแมวไทยโบราณทั้ง 23 สายพันธุ์ ตลอดจนแมวตัวจริงเสียงจริงจับต้องได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่เกี่ยวกับแมว เช่น ตุ๊กตาแมว เสื้อบ้านแมวไทย
จะมาเที่ยว จะมาศึกษา ก็มาได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ ตั้งอยู่ที่ 2/1 หมู่ 7 ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. ไม่เสียค่าเข้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 034-733-284, 034-752-628, 084-003-4194