posttoday

In My Bag

30 สิงหาคม 2556

ไม่เน้นเลือกว่าต้องซื้อที่ร้านไหน ขอให้เดินหรือขี่จักรยานไปได้ภายใน 10 นาที ที่สำคัญกว่านั้นคือพยายาม “ไม่ซื้อ” แต่ออกไป “หา”

โดย...เรือนแก้ว บำรุง – สัมภาษณ์ / เรียบเรียง

ชุติมา ศิริสมรรถการ

อายุ 42 ปี

อาชีพ : พยาบาลและทำงานเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในพื้นที่ห่างไกล

อยู่ที่ : หมู่บ้านบนเกาะเล็กๆ ชื่อ เบลลา เบลล่า สลับกับเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา / ตั้งแต่ปี 1992

&<2288;

แหล่งหาซื้ออาหาร

“ไม่เน้นเลือกว่าต้องซื้อที่ร้านไหน ขอให้เดินหรือขี่จักรยานไปได้ภายใน 10 นาที ที่สำคัญกว่านั้นคือพยายาม “ไม่ซื้อ” แต่ออกไป “หา” อาหารตามธรรมชาติ แหล่งหาอาหารของครอบครัว มีตั้งแต่ข้างถนน ที่ดินรกร้าง บึงและทะเลแถวบ้าน

เวลาอยู่ในเมือง (แวนคูเวอร์) ชอบไปเดินดูอาหารที่มีขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปและออร์แกนิก แต่จะไม่ค่อยซื้ออะไรมาก เวลาไม่ได้อยู่ที่แวนคูเวอร์จะไปอยู่ที่หมู่บ้านบนเกาะเล็กๆ มีคนประมาณ 1,000 เศษๆ ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง มีร้านขายของชำอยู่ร้านเดียว เรียกกันว่า แบนด์สตอร์Band Store (คำว่า “Band” แปลว่า กลุ่มชนพื้นเมืองพื้นถิ่น)

อาหารส่วนใหญ่ในร้านเป็นของสำเร็จรูป ไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าไร อาหารออร์แกนิกแทบจะไม่มีหลงมาร้านนี้เลย เราจะไปแบนด์สตอร์อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ซื้อของจุกจิก เช่น ชีส โยเกิร์ต ไข่ ผัก ที่สำคัญคือได้ไปเจอหน้า ทักทาย และซุบซิบกับชาวบ้าน บางทีชาวบ้านใจดีจะแบ่งอาหารตามฤดูกาลให้เราชิมอยู่เสมอ”

การเลือกอาหาร หีบห่อ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์

“ที่บ้านทำอาหารง่ายๆ เน้นรสชาติตามธรรมชาติของอาหาร กินผัก ไข่ ชีส โยเกิร์ต ถั่วต่างๆ เนื้อสัตว์และอาหารทะเลตามฤดูกาล ไม่กินข้าวหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลีบ่อยนัก บ้านเราเป็นบ้านปลอดน้ำตาล คือจะไม่มีน้ำตาล ขนม หรืออาหารใส่น้ำตาลมาเก็บไว้ในบ้าน จะกินของเจือน้ำตาลเฉพาะเทศกาลพิเศษเท่านั้น เช่น เวลามีเพื่อนมาบ้าน ได้รับเชิญไปบ้านอื่น หรือเวลาเดินทางไปต่างถิ่น

ของที่ขาดไม่ได้ในบ้าน คือ กาแฟ ที่บ้านซื้อเมล็ดกาแฟสดจากโรงกาแฟแถวบ้านในแวนคูเวอร์ ชื่อ JJ Bean Coffee Roaster โรงกาแฟนี้ซื้อกาแฟจากผู้ปลูกโดยตรง และจ่ายผู้ผลิตเมล็ดกาแฟอย่างเป็นธรรม ที่แวนคูเวอร์มีโรงกาแฟอย่างนี้หลายแห่งมาก เลือกซื้อที่นี่เพราะอยู่ใกล้บ้าน

หลักการซื้ออาหารในบ้าน คือ เลือกอาหารที่เรารู้ที่มาที่ไป เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ คือ ซื้อตรงจากชาวสวนและชาวประมง กินอาหารตามฤดูกาล และอาหารที่ใช้พลังงานในการผลิตและขนส่งน้อย แต่ในบ้านก็มีอาหารที่เดินทางมาไกลไม่น้อย คือ เครื่องเทศ ซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำกะทิ ถั่วลิสง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก กาแฟ ชา และเมล็ดโกโก้ดิบ

หีบห่ออาหารก็เลือกให้น้อยที่สุด อย่างพวกผักก็จะพยายามซื้อผักตามน้ำหนัก ไม่ซื้อแบบที่แพ็กมาแล้ว ถ้าไปร้านค้าจะรับถุงพลาสติกหนึ่งใบ เพราะใช้เป็นถุงขยะที่บ้าน อาหารกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง มะเขือเทศกระป๋อง จะมีเก็บไว้เป็นของก้นครัว ใช้ตอนไม่มีเวลา

ต้นฤดูใบไม้ผลิปีนี้ เมื่อเดือน เม.ย. บังเอิญได้ไปรู้จักคนเลี้ยงหมูรายย่อย เลยสั่งซื้อไว้หมูครึ่งตัว ตอนนี้ได้แต่ภาวนาให้มันโตวันโตคืน พอถึงเดือน ต.ค. หมูโตพร้อมกิน เจ้าของหมูจะเชือดให้ แต่เราต้องชำแหละเนื้อและแบ่งแช่แข็งเอง การสั่งหมูอย่างนี้มีข้อดี คือ ได้หนังหมูมาเจียวทำน้ำมันหมูและแคบหมู ได้หางหมูกับหูหมูมาย่าง หัวหมูมาทำ Head Cheese และเครื่องในมาทำอาหารอร่อยๆ ได้หลายอย่าง การกินเนื้อสัตว์ตั้งแต่หัวจรดหางเป็นเรื่องปกติที่เมืองไทย แต่ไม่ใช่เรื่องปกติที่นี่ แต่เดี๋ยวนี้คนที่นี่สนใจมากินแบบนี้กันมากขึ้น และเรียกตัวเองว่า Nose to Tail eaters

การหาอาหารทะเลคุณภาพดีเป็นเรื่องง่าย เพราะอยู่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก มีชาวประมงมาขายของสดตามท่าเรือในเมือง ถ้ามีเวลาว่างก็จะพยายามออกไปตกปลา ปู กุ้ง และเก็บหอยมากิน สองสามปีที่ผ่านมา เริ่มทำเกลือ ปลาร้า และน้ำบูดูใช้เอง เกลือทะเลทำได้ง่าย คือเอาน้ำทะเลใส่หม้อใหญ่ๆ ต้มฟืนจนดอกเกลือขึ้น ถ้าไม่อยากเปลืองฟืนก็ต้มแค่เป็นน้ำเกลือเข้มข้นก็ใช้ได้ น้ำบูดูใช้ไส้ปลาแซลมอนหมัก 2 เดือนก็ใช้ได้แล้ว ส่วนปลาร้าใช้ปลาตัวเล็กที่จับได้ในทะเลข้างบ้านหมัก อันนี้ต้องใช้เวลาหมักนานหน่อย

ฤดูร้อนที่นี่มีลูกเบอร์รีชนิดต่างๆ ทยอยกันออกตามข้างถนนตลอดฤดู ในช่วงที่ลูกแบล็กเบอร์รีป่าออกดก จะไปเก็บมาคั้นน้ำทำไวน์แบล็กเบอร์รี แต่ก่อนจะหมักไวน์จะแบ่ง 1 ลิตร ออกมาใส่ขวดแก้วปากกว้าง คลุมผ้าขาวบางเก็บไว้ในที่มืดๆ 6 เดือนก็จะได้น้ำส้มสายชูหมักกินทุกปี”

ในถุงกับข้าวบนเกาะวันนี้

“วันนี้มีกุ้งซื้อจากชาวประมง 1 ปอนด์ ชีสบรี (Brie) 1 วง ชีสเชดดาร์ 1 แท่ง ไข่ไก่ 1 โหล มะนาวเหี่ยวๆ 1 ลูก (ร้านให้มาฟรี) กระเทียม 1 หัว หัวหอม 3 หัว แตง Spaghetti Squash 1 ลูก ฟักทอง 1 ลูก โยเกิร์ตไม่พร่องมันเนย 1 กระปุก ของที่ไม่ได้มาจากร้านค้าคือ ลูกซาลัล (Salal เพิ่งเข้าฤดู) และลูกแบล็กเบอร์รี (กำลังหมดฤดู) เก็บมาจากข้างทาง หอยรมควัน 1 ขวด (เจอหน้าชาวบ้านเขาเลยให้มา) และผักกับโหระพาฝรั่งจากกระถางของตัวเอง

กุ้งวันนี้เป็นกุ้งไร้เศียร ชาวประมงที่นี่จะเอาหัวกุ้งออกและแช่แข็งกุ้งบนเรือก่อนขึ้นบก เที่ยงวันนี้จะกินกุ้งเป็นซาชิมิ ส่วนผักจะเอาไปทำสลัดง่ายๆ เติมน้ำมันมะกอก เสริมรสด้วยน้ำมะนาว เกลือ และพริกไทย

กุ้งที่เหลือจะทำพาสตากุ้งเป็นอาหารเย็น ใช้แตงที่เรียกว่า Spaghetti Squash แทนเส้นพาสตาแป้งสาลี เนื้อในแตงชนิดนี้เป็นเส้นๆ ตามธรรมชาติ เวลาเตรียมก็ง่ายมาก หั่นครึ่ง ขูดเมล็ดตรงกลางออก เอาไปนึ่ง 15 นาที แล้วก็ใช้ช้อนขุดเนื้อออกมา ก็จะได้เส้นเหมือนสปาเกตตี ราดซอสกุ้งผัดเนย หัวหอม และโหระพาฝรั่ง แล้วขูดชีสเชดดาร์โปะหน้า เอาไปใส่เตาอบใช้ไฟแรงละลายหน้าชีส กินแล้วฝันหวานเลยทีเดียว

ชีสบรีวงนี้กินได้หลายวันเลย ฉลากเขียนว่า Double Cream คือเป็นชีสที่ทำจากนมไม่พร่องไขมัน แถมยังใส่ครีมเพิ่มด้วย รสชาติเข้มข้นมาก ที่บ้านไม่นิยมอาหารพร่องไขมันเนย รู้สึกว่าไม่อร่อย และเชื่อว่าไขมันเนยเป็นของดีตามธรรมชาติ เพียงแต่ขอให้บริโภคพอเหมาะพอควรเท่านั้นเอง วันนี้จะทำชีสบรีเป็นอาหารหวาน หั่นชิ้นสามเหลี่ยมเล็กๆ ผ่าขวางแล้วยัดไส้ลูกซาลัลตรงกลางในแน่น เอาไปอบ 10 นาที ก็จะได้ขนมกินเล่นเนื้อนุ่มๆ รสหวานอ่อนๆ

อาหารเช้าพรุ่งนี้เป็นไข่ลวก ชีสบรี ลูกแบล็กเบอร์รี ลูกซาลัลกับโยเกิร์ต พร้อมกาแฟคั่วจากเมล็ดกาแฟสด เวลาคั่วกาแฟที่บ้านจะใช้ที่คั่วป๊อปคอร์นไฟฟ้า คั่วครั้งละร้อยกรัม ชงกินได้สี่ห้าวัน

อาหารเที่ยงวันพรุ่งจะเป็นฟักทองผัดไข่ หอยรมควันในขวดจะเอาไว้ทำ Clam Chowder พรุ่งนี้เย็น?

สำหรับอาหารตามฤดูกาล วันที่ไม่ต้องไปทำงาน จะชอบออกไปหาอาหารมาเก็บไว้ทำกับข้าว ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ได้อาหารพอกินไปสอง-สามวัน?