posttoday

6 ทศวรรษ ของรองเท้าผ้าใบนันยาง

01 กันยายน 2556

เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกันดีกับรองเท้าผ้าใบยี่ห้อ “นันยาง” พื้นเขียวที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 60 ปี ของการผ่านร้อนผ่านหนาว

โดย...มีนา

เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกันดีกับรองเท้าผ้าใบยี่ห้อ “นันยาง” พื้นเขียวที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 60 ปี ของการผ่านร้อนผ่านหนาว จนกลายเป็นรองเท้าคุณภาพคู่นักเรียนไทย ยี่ห้อ “นันยาง” คือ ผู้ผลิตรองเท้าคุณภาพจากยางธรรมชาติ ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นด้านความทนทาน กันลื่น ติดถนน โดยมีพื้นสีเขียวเป็นดั่งเอกลักษณ์ของแบรนด์ภายใต้สัญลักษณ์ตรา “ช้างดาว” ปัจจุบันนอกจากรองเท้านันยางจะเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศแล้ว ยังส่งออกไปต่างประเทศมากมาย เช่น จีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า บังกลาเทศ ปากีสถาน อินโดนิเซีย เป็นต้น ลองไปดูเส้นทางการก้าวเดินกว่าจะเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งจนถึงทุกวันนี้


ปี พ.ศ. 2450 สมัยตอนต้นรัชกาลที่ 6 หนุ่มน้อยจากมณฑลฮกเกี้ยน ชื่อ ซู ถิง ฟาง หรือ วิชัย ซอโสตถิกุล เดินทางเข้ามายังแผ่นดินไทยครั้งแรกพร้อมบิดา เมื่ออายุ 15 ปี โดยอาชีพแรกของเขาเมื่อถึงแผ่นดินไทย คือ ขายเหล็กในโรงงานของผู้เป็นน้องของบิดา

ปี พ.ศ. 2463 ก่อร่างสร้างตัว หลังจากวิชัยสั่งสมประสบการณ์ในหน้าที่การงาน จนถึงระดับได้ทำหน้าที่ “หลงจู๊” ในโรงไม้จินเส็ง เขาพบรักกับสาวไทยเชื้อสายจีนที่เป็นคนอยุธยา บุญสม บุญยนิตย์ หลังจากแต่งงานเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ อาชีพในโรงไม้ก็ยังมั่นคง เขาได้บุตรธิดาเป็นทายาทสืบทอดตระกูลซอโสตถิกุล รวมทั้งสิ้น 9 คน

ปี พ.ศ. 2478 บริษัท ฮั่วเซ่งจั่น ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 วิชัยตัดสินใจลาออกจากการเป็นหลงจู๊ในโรงไม้แห่งเดิม เพื่อก่อตั้งบริษัท ฮั่วเซ่งจั่น โดยเช่าอาคารสำนักงาน 2 ชั้น บริเวณหัวโค้งเชิงสะพานพุทธฯ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะผันตัวเองขึ้นมาเป็น “เถ้าแก่” บุกเบิกธุรกิจของตัวเอง โดยธุรกิจของเขาเริ่มต้นในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลก

ปี พ.ศ. 2489 แรกเริ่มทำรองเท้าฟองน้ำเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งทางบริษัท วัฒนสินพาณิชย์ เป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี จากนั้นนายห้างวิชัย ซอโสตถิกุล ขอซื้อกรรมวิธีการผลิตจากสิงคโปร์

ปี พ.ศ. 2491 เมื่อควันของสงครามยุติลง สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ วิชัย ซอโสตถิกุล และครอบครัว ย้ายกลับมาเข้าในกรุงเทพฯ หลังหลบภัยสงคราม และตั้งบริษัท วัฒนสินพาณิชย์ โดยย้ายสำนักงานไปอยู่บริเวณย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ช่วงนี้เองที่ธุรกิจของวิชัย ซอโสตถิกุล เริ่มมั่นคงและขยายตัวรุดหน้าไปเรื่อยๆ รวมถึงนำรองเท้าจากประเทศสิงค์โปร์ยี่ห้อ หนำเอี๊ย (แปลว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มาจำหน่ายในไทยเฉพาะรองเท้าผ้าใบรุ่น 500 สีน้ำตาล พื้นยางสีน้ำตาล บรรจุถุงกระดาษสีน้ำตาล ในราคาคู่ละ 12 บาท

ปี พ.ศ. 2492 เมื่อรองเท้าผ้าใบรุ่น 500 เป็นที่นิยมอย่างมากในเวลาต่อมา ทำให้บริษัทลดการนำเข้าสินค้าประเภทอื่นๆ และเน้นการขายรองเท้าเพียงอย่างเดียว ขณะนั้นเองเป็นได้เปลี่ยนจากชื่อยี่ห้อจากหนำเอี๊ย ซึ่งเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว เป็นภาษาจีนกลางที่ออกเสียงว่า “หนันหยาง” แต่เพื่อให้เรียกสินค้าได้ง่ายและดูเป็นคำไทยขึ้น จึงใช้ชื่อว่า “นันยาง ตราช้างดาว” และได้จดทะเบียนการค้า

ปี พ.ศ. 2496 นายห้างวิชัยก่อตั้งบริษัท นันยางอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อ นันยาง “ตราช้างดาว” โดยใช้เป็นชื่อแบรนด์ว่า “นันยาง” เพื่อให้เรียกชื่อสินค้าได้ง่าย มีคำที่มีความหมายไทยอยู่ด้วย คือ “ยาง” เพราะเป็นรองเท้าเจ้าแรกและเจ้าเดียวในทวีปเอเชีย ที่ผลิตจากยางพาราธรรมชาติแท้ 100%

ปี พ.ศ. 24962510 ก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่ของรองเท้านันยาง จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีนโยบายเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ บริษัทจึงมีแนวคิดจะผลิตสินค้าเอง โดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในประเทศ นายห้างวิชัยจึงร่วมทุนกับ Soh Koon Choo และกลุ่มนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ก่อตั้งบริษัท ผลิตยางนันยาง (ไทย)

ปี พ.ศ. 2511 รองเท้าผ้าใบนันยางได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน โดยรองเท้าผ้าใบรุ่น 500 ยังคงเป็นที่นิยมของวัยรุ่น และเริ่มต้นผลิตรองเท้าแตะฟองน้ำ รุ่น 200 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ซึ่งในช่วงแรกมีสองสี คือ สีน้ำตาลและสีน้ำเงิน บรรจุในถุงพลาสติกใส จำหน่ายในราคาคู่ละ 15 บาท

ปี พ.ศ. 2512 เพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล บุตรชายคนโตของวิชัย ซอโสตถิกุล กลับมาจากประเทศอังกฤษพร้อมกับความรักกีฬา โดยเฉพาะแบดมินตัน จึงต้องการออกแบบและผลิตรองเท้านันยางรุ่นใหม่ ให้เหมาะกับการเล่นแบดมินตัน คือ รองเท้าผ้าใบรุ่นใหม่ รุ่น 205 S ซึ่งพัฒนามาจากรุ่น 205 แต่มีพื้นสีเขียว ซึ่งได้รับความนิยมมากๆ จนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2522 ด้วยการเติบโตทางธุรกิจ บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง และย้ายสำนักงานขายจากแยกตลาดน้อยมาบริเวณถนนสี่พระยา เขตบางรัก และเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2527 “นันยาง พื้นเขียว” เป็นที่นิยมเฉพาะในหมู่คนเล่นแบดมินตัน จนกระทั่งขยายตัวไปยังกลุ่มนักเรียนประถมและมัธยม ทำให้นักเรียนในยุคนั้นรู้จักรองเท้านักเรียนนันยาง และใส่กันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ปี พ.ศ. 2542 ปรับปรุงระบบกระจายสินค้า โดยพัฒนาโรงงานแห่งแรกที่ได้ย้ายฐานการผลิตไปแล้ว บริเวณแขวงบางหว้า มาเป็นการศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบคลังสินค้ามากขึ้น

ปี พ.ศ. 2545 นันยางกระจายสินค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดและห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เริ่มตั้งแต่เทสโก้ โลตัส รวมไปถึงเซ็นทรัล โรบินสัน เดอะ มอลล์ และบิ๊กซี