In My Bag
สวิตเซอร์แลนด์มีซูเปอร์มาร์เก็ตดังๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ คือ Migros และ Coop ของในนั้นก็คุณภาพดีราคาใกล้กัน
โดย...เรือนแก้ว บำรุง – สัมภาษณ์ / เรียบเรียง
วันวิสาข์ เดบรุนเน่อร์
อาชีพ เจ้าของบ้านพัก B&B
ที่อยู่ Bannwil, Switzerland / ตั้งแต่ปี 2003
แหล่งซื้ออาหาร
“สวิตเซอร์แลนด์มีซูเปอร์มาร์เก็ตดังๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ คือ Migros และ Coop ของในนั้นก็คุณภาพดีราคาใกล้กัน ซึ่งเป็นแหล่งที่เราเลือกจะไปจับจ่ายซื้อหาอาหารอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ย้ายมาอยู่บ้านนอก (นอกเขตตัวเมือง ไม่ไกลมาก) ได้สัมผัสรู้ว่าชีวิตคนสวิสยังคงมีวิถีการเลือกจับจ่ายที่น่าทึ่ง น่ารักอีกหลากหลาย เช่น เราสามารถไปซื้อผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยตรงจากร้าน (สร้างเป็นลักษณะเพิง) ในฟาร์มที่เปิด 24 ชั่วโมงก็ได้ด้วย ร้านแบบนี้ไม่มีคนขาย ผู้ซื้อต้องจัดการเองทั้งหมด ไม่ว่าเลือกของที่ต้องการ ชั่งน้ำหนัก หยิบใส่ถุงเอง คิดราคา จ่ายเองทอนเอง โดยร้านเพิงลักษณะนี้จะมีกระป๋องเงินวางไว้อย่างไว้เนื้อเชื่อใจ
นอกจากร้านขายผักผลไม้เท่านั้น ยังมีฟาร์มอื่นๆ ที่มีร้านขายสินค้าในลักษณะนี้อีก อาทิ ขายผลิตภัณฑ์นม ผลิตเบียร์ออร์แกนิก หรือฟาร์มวัวนมที่มีนมสดแบบตู้กดให้เราไปกดนมสดจากตู้ครั้งละลิตรครึ่งลิตรได้ บ้านที่เราอาศัยอยู่ใกล้ๆ ฟาร์มวัวนมที่ว่านี้ ทุกๆ เช้าเราก็เดินหิ้วถังนมไปกดนมสดๆ ที่รีดมาจากเต้าโดยไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หากใครกังวลสามารถนำมาต้มฆ่าเชื้อก่อนดื่มได้ แต่บ้านเราไม่ได้ต้ม เพราะนมรีดสดๆ นี้อร่อย มัน เข้มข้นมาก ใครแวะมาเที่ยวที่บ้านได้ชิม เป็นต้องติดใจทุกราย ขนาดเพื่อนบางคนที่อยู่ตามเมืองใหญ่ แวะมาเยี่ยมหายังถือภาชนะใส่นมติดมือมาด้วย เพื่อจะได้กดนมสดๆ กลับไปดื่มบ้าง คนในเมืองใหญ่ หากต้องการดื่มนมสดๆ จากฟาร์มแบบนี้ ต้องสั่งซื้อจากฟาร์มที่ใกล้ที่สุด ซึ่งจะจ่ายแพงกว่าราคานมบรรจุกล่องที่มีขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต (ซึ่งหลายๆ คนพร้อมยอมจ่าย เพื่อรสชาตินมที่สดอร่อยกว่า)
นอกจากฟาร์มขายของกินแบบบริการตัวเองแล้ว ยังมีพวกแปลงดอกไม้ ที่ปลูกดอกไม้ตามฤดูกาล ก็มีปลูกไว้ให้เราไปเลือกตัดได้เองตามใจชอบ แล้วก็มาหยอดเงินใส่กระปุกตามราคาที่แปะป้ายไว้ จริงๆ แล้วราคาสินค้าจากฟาร์มในลักษณะนี้จะแพงกว่าที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตนิดหน่อย แต่คนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้ฟาร์มจะชอบอุดหนุนกันเองมากกว่า เพราะรู้ว่าราคาที่ถูกกว่าเป็นผลมาจากการกดราคาของพ่อค้าคนกลางอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ชอบซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ถ้ามีอะไรขายที่ฟาร์ม เราก็จะไม่ค่อยซื้อที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ช่วงฤดูร้อนเราก็ปลูกผักกินเองที่สวนหลังบ้าน ก็จะเลือกซื้อหาแค่เนื้อสัตว์หรือเครื่องปรุงที่จำเป็น
พูดถึงเนื้อสัตว์ ถ้าหากรู้จักผูกมิตรกับฟาร์มที่เลี้ยงหมูเลี้ยงวัว เวลาที่ฟาร์มจะล้มหมูเอง ล้มวัวเองแบบถูกกฎหมาย (มีคนที่มีบัตรอนุญาตฆ่าสัตว์มาดำเนินการให้) เราสามารถขอแบ่งซื้อครึ่งตัว (หมู) หรือหนึ่งส่วนสี่ (วัว) จ่ายราคาเหมา แล้วทางฟาร์มจะคัดแยกส่วนต่างๆ หั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ จัดใส่ถุงซีล แปะป้ายบอกประเภทของเนื้อและน้ำหนักมาให้ ถ้าสนิทกันจริงๆ เราจะไปวันที่เขาล้มหมู แล้วรอชำแหละจากนั้นขอใส่ถุงเองได้ เพื่อจะย่อยให้ถุงเล็กลงตามที่เราต้องการ ส่วนที่เป็นมันเป็นเนื้อชิ้นเล็ก เขาก็มีบริการบดให้เสร็จสรรพ หรือส่วนที่เป็นเบคอน เราทิ้งให้เขารมควันไว้ได้ พอถึงเวลาก็ไปรับเอามามากิน ที่บ้านทำ B&B (ที่พักสไตล์ Bed & Breakfast) ต้องใช้เนื้อหมูเยอะ เคยสั่งหมูครึ่งตัวแล้วไปนั่งแยกใส่ถุงชั่งน้ำหนักเอง ลองคำนวณดูแล้ว ประหยัดกว่าเยอะ เพียงแต่ต้องมีตู้แช่ขนาดใหญ่ไว้ที่บ้าน”
การเลือกซื้อ บรรจุภัณฑ์ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์
“โดยปกติเราเป็นคนกินง่าย ไม่เรื่องมาก เน้นของสด สะอาด อร่อย สามีก็เหมือนกัน ตอนนี้มีลูกอ่อนก็พยายามฝึกให้ลูกเป็นเด็กกินง่าย มีอะไรก็กินอย่างนั้น ไม่ได้เน้นยี่ห้อ หรือ หีบห่อ ยกเว้นว่าของใช้บางอย่างที่เราอ่านในนิตยสารที่ทำการวิจัยมาแล้วว่ายี่ห้อไหนดีกว่า ของบางอย่างราคาแพงแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีกว่า ของบางอย่างที่ถูกกว่า เช่น ยี่ห้อของซูเปอร์มาร์เก็ตเอง หลายอย่างมีคุณภาพดีกว่ายี่ห้อดังๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสามีที่จะเป็นคนคอยอ่านคอยเช็ก คนสวิสไปซื้อกับข้าวด้วยการเตรียมตะกร้า รถเข็น ถุงจ่ายกับข้าวไปเอง มาอยู่แรกๆ ก็ไม่ชิน แต่เดี๋ยวนี้เรามีถุงกับข้าวใบเล็กๆ พับไว้ติดกระเป๋าเสมอ ไม่ใช่แค่เวลาซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น บางทีไปซื้อเสื้อผ้า ไปร้านขายยา ร้านหนังสือ คนขายจะถามว่าเอาถุงไหม? ขนาดตามฟาร์มไปซื้อผัก ซื้อไข่เราก็เอากล่องไข่ไปใส่เอง ถ้าที่บ้านมีถุงพลาสติกเยอะเกินก็จะเอาไปทิ้งไว้ที่ฟาร์ม ให้คนอื่นๆ ใช้หมุนเวียนต่อไป”
การเดินทาง
“ถ้าไปซื้อของที่ฟาร์ม เราจะขี่จักรยานไป ใช้เวลาแค่ห้านาที แต่ถ้าวันไหนมีเวลามาก ก็เดินเรียบริมแม่น้ำ (ครึ่งชั่วโมง) หรือเดินตัดป่าไป (15 นาที) ถือว่าเป็นข้อดีของการอยู่นอกเมือง นาฬิกาบ้านเราเหมือนว่าจะเดินช้ากว่าในเมือง ใช้ชีวิตกันช้าๆ เดินเข็นรถลูกไปซื้อผักได้ถ้าไปตอนเวลาใกล้ลูกนอน ก็กล่อมลูกไปในตัว ได้ออกกำลังกาย ได้ความสดชื่นของธรรมชาติ แต่ถ้าไปในเมืองก็ขึ้นรถไฟไป นี่คือใจความสำคัญของเมืองที่เจริญแล้ว การคมนาคมสะดวกสบายมาก แม้ว่าบ้านเราจะอยู่นอกเมือง แต่รถไฟแทบจะจอดเทียบหน้าบ้าน เดินทางไปในเมืองได้แค่ 10 นาที ส่วนฟาร์มนมสดก็อยู่ใกล้บ้านเดินหิ้วถังใส่นมไปกดได้สบายๆ”
ในถุงกับข้าววันนี้
“เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูทำสวน กับข้าววันนี้จึงใช้ผักที่ปลูกในสวนหลังบ้านเป็นหลัก ปีนี้แครอตงามดี หอมหัวใหญ่เยอะมาก มันฝรั่งก็ขึ้นมาไม่หยุด เลยวางแผนจะทำซุปเนื้อลูกวัว เป็นอาหารที่กินได้ทั้งพ่อแม่และลูก เนื่องจากทั้งเนื้อและผักเปื่อยๆ กินง่าย แถมด้วยมันฝรั่งบดอบชีส เป็นอาหารง่ายๆ แต่ต้องวางแผนในการทำเพราะต้องตุ๋นนานกว่าเนื้อจะเปื่อยนุ่ม โดยปกติอาหารประเภทนี้เราจะไม่ค่อยปรุงรสอะไรมาก แค่หมักเนื้อกับเกลือ พริกไทย เครื่องเทศนิดหน่อย จากนั้นก็ใส่ผักเรียงลงไปทั้งแครอต หอมใหญ่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ เทน้ำซุปให้ท่วม แล้วตุ๋นไฟอ่อนสองสามชั่วโมง เพียงเท่านี้ความหวานของเนื้อและผักชนิดต่างๆ ก็ผสมรวมรสกันอร่อยได้แบบไม่ต้องปรุงรสให้มาก
ตั้งแต่มีลูกก็ใส่ใจในเรื่องอาหารมากขึ้น ให้ความสำคัญกับคุณภาพและสารอาหารที่จะได้รับ จึงไม่เน้นปรุงรสมาก อยากให้อาหารมีรสชาติธรรมชาติ รสหวานจากผัก จากเนื้อ รสเค็มจากเกลือนิดหน่อยเท่านั้น ทุกมื้อเน้นให้ลูกได้กินอาหารครบทั้ง 5 หมู่ บางทีจะวางแผนทำทีเดียวกินได้หลายมื้อ แต่จะดัดแปลงไม่ให้น่าเบื่อ อย่างซุปใสที่จะทำในวันนี้ กินกับข้าวสวยหรือขนมปังก็ได้ มื้อหน้าน้ำซุปจะข้นขึ้น เอามาทำเป็น “รากูท์” (Ragout) กินกับพาสตาหรือมันบด หากมื้อต่อไปยังเหลือ ก็จะเคี่ยวจนน้ำแห้งแล้วเอาไปทำไส้พายแทน ถือเป็นการคิดหาทาง “ด้นกับข้าว” สร้างสีสันบนโต๊ะอาหาร จะได้ไม่เบื่อทั้งคนทำและคนกิน