posttoday

วิถีจิตวิถีธรรมในสติปัฏฐาน...ตามแนวอานาปานสติ (ตอน ๑๔)

07 พฤศจิกายน 2556

ตรงนี้เป็นกระบวนการละเอียดมาก ที่แยกแยะแจกแจงว่ามี ๔ ขั้นตอน แต่อาตมาสอนภาษาธรรมะเพื่อไม่ติดในบัญญัติ เป็นการสอนในวิถีแห่งธรรมะ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ตรงนี้เป็นกระบวนการละเอียดมาก ที่แยกแยะแจกแจงว่ามี ๔ ขั้นตอน แต่อาตมาสอนภาษาธรรมะเพื่อไม่ติดในบัญญัติ เป็นการสอนในวิถีแห่งธรรมะ ให้เข้าถึงสภาวธรรมแห่งจิตที่ลำดับไปตามขั้นตามตอน จนเกิดขึ้นจากกระบวนการปฏิบัติทั้ง ๔ ขั้นตอน นี่พูดภาษาจิตภาษาธรรม ไม่ได้พูดภาษาบัญญัติ

...เป็นการพูดภาษาปฏิบัติอันเอาผลแห่งการปฏิบัติมาเป็นตัวตั้งในการเรียนรู้ และให้เดินด้วยจิตเข้าสู่ตัวธรรมปฏิบัติว่า กระบวนการนั้นมันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ มันจะเกิดผลอย่างนี้ อย่างนี้ และจิตมันจะได้ความสัมฤทธิ์อันหนึ่งก็คือ ความสงบที่มีอาการธรรมอย่างนี้ อย่างนี้

ถ้าเข้าถึงขั้นนี้ได้ กระบวนการนี้พร้อม... พร้อมที่จะดำเนินต่อไปบนการตั้งสติกำหนดรู้ลงไปในฐานแห่งกาย โดยอาศัยอานาปานสติเป็นที่ตั้งฐานแห่งจิตที่กำหนดรู้นั้น และใช้กายนี้เป็นที่ตั้งของการเรียนรู้ เพื่อรู้แจ้งให้เห็นความจริงว่า... สภาพธรรมนี้มีความเกิดขึ้น มีความดับไป เป็นธรรมดา ดังที่เห็นในกายสังขารที่เกิดขึ้นและกายสังขารที่ระงับไป จนได้อาการหนึ่งของจิตคือความแน่วแน่ที่สงบอยู่กับอำนาจธรรม ให้เกิดปีติและสุขเป็นผลสัมฤทธิ์ และผลสัมฤทธิ์แห่งธรรมนี้ก็จะขยายตัว ส่งต่อให้จิตนั้นเสพอยู่ในอารมณ์นี้ เป็นการเสพอย่างยินดี ยินดีในความสุขที่เกิดขึ้นเพราะไม่ถูกบีบเค้นบีบคั้น แต่ถ้าเราปล่อยให้จิตเสพติดสุขอยู่นั้น มันก็จะได้ความสงบที่ขาดความรู้...การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจึงต้องทำหน้าที่ต่อไป คือ จิตต้องมีฐานอยู่ที่ลม อย่าทิ้งฐานลม ลมคู่นี้เป็นที่ตั้งฐานจิต เพราะฉะนั้นการกำหนดรู้ลมเข้าออก ก็ต้องรู้อยู่ตลอด เพื่อให้จิตมีฐานที่ตั้งอยู่ที่ลมคู่นี้

และขณะที่จิตตั้งลมอยู่ที่ลมคู่เข้าออก คือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ตลอดเวลา ก็จะรู้เข้าไปในสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ที่จิตนั้นกำลังเสวยอยู่ และอาการจิตที่เกิดขึ้น ลักษณะจิตที่เป็นไป ต้องรู้ตลอดเวลา จนที่สุดเราเห็นภาวะที่หยุดยับยั้งระงับไปทางกาย แต่มันส่งผลชัดเจนทางจิตมากขึ้น คือจิตนี่ ณ ขณะนี้นี่ มีคุณภาพการรับรู้อย่างมีความเป็นเอกภาพมากยิ่งกว่าในภาวะโดยทั่วไป มันเป็นความเป็นเอกภาพที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ที่... ไม่ต้องไปติด ไม่ต้องไปยึดถือข้องอยู่กับรูปหรือกายนี้ เพราะมันเข้าถึงอารมณ์ธรรมที่ให้เกิดความสงบ มันอาศัยรูปที่เกิดจากอารมณ์เป็นรูปละเอียดแล้ว ไม่ใช่รูปกายหยาบแล้ว รูปขณะนี้ที่จิตอาศัยคือรูปแห่งสภาพธรรมที่ประณีตที่เกิดจากภาวะธรรมที่จิตมันแน่วแน่ รวมเข้าไปในอารมณ์

อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติในกรรมฐานที่เรียกว่า อานาปานสติ อันใช้สติกำหนดรู้ลงไปในวัตถุแห่งการเป็นที่ตั้งของการกำหนดรู้เพื่อศึกษานี้ ตามที่กล่าวว่า... เราอาศัยสติกำหนดรู้ลงไปในวัตถุแห่งการกำหนดรู้นั้นก็คือกายกับจิตนั่นแหละ และอาศัยกายจิตที่ไปกำหนดรู้นี้ รู้ เป็นที่ตั้งฐานของจิตโดยอาศัยลมหายใจเข้าออก ซึ่งสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตให้มีชีวิตอยู่สืบสัมพันธ์กันสู่ความเป็นหนึ่ง เป็นที่ตั้งฐานของจิต ก็อาศัยอานาปานสติที่เราตั้งชื่อขึ้นมา ก็คือ ลมคู่แห่งชีวิตนี้... ที่แสดงถึงความยังดำรงอยู่

เราตั้งจิตรวมรู้ลงภายใน เพื่อการที่เรียนรู้ชีวิต ให้เห็นแจ้งชีวิตว่า สภาพธรรมทั้งปวง มีความเกิดดับเป็นธรรมดา

ด้วยการเห็นลมคู่นี้ที่ไหลเข้าไหลออก มีความเกิดดับเป็นธรรมดา

...และเห็นว่า ชีวิตที่เกิดขึ้นนั้น เพราะความสัมพันธ์ด้านกายกับจิตยังดำรงอยู่ ด้วยความสืบเนื่องแห่งลมหายใจเข้าออกคู่นี้...

...จนสามารถเห็นแจ้งชัดในเรื่องกายกับจิตว่า มันมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้

...และเห็นแจ้งจริงในสุดท้ายแห่งจิตนี้ว่า มันประณีตละเอียด ด้วยการถือรูปละเอียดรูปประณีตของลม

(อ่านต่อฉบับหน้า)