posttoday

‘โรคหลายบุคลิก’ จำไม่ได้ว่าตัวเองทำอะไรลงไป

09 พฤศจิกายน 2556

ตัวละครในภาพยนตร์หลายเรื่องต้องเผชิญชะตากรรมความกดดันอย่างแสนสาหัส

โดย.....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ตัวละครในภาพยนตร์หลายเรื่องต้องเผชิญชะตากรรมความกดดันอย่างแสนสาหัส บางเรื่องเล่าเหตุการณ์เงื่อนปมในวัยเด็ก บาดแผลในจิตใจที่ฝังรากลงลึกไปในระดับสามัญสำนึก ผลพวงจากความคับแค้นเหล่านั้นสะท้อนให้พฤติกรรมของตัวละครมีความผิดแผกไปจากความปกติในช่วงวัยรุ่นและลามไปถึงวัยผู้ใหญ่ วัยกลางคน

พฤติกรรมหนึ่งที่ภาพยนตร์มักสะท้อนให้เห็น คือพฤติกรรมของตัวละคร ที่ห้วงเวลาหนึ่งมีบุคลิกหนึ่ง ห้วงเวลาต่อมากลับกลายเป็นบุคคลอีกคนหนึ่ง ในกรณีนี้ทางจิตเวชสะท้อนถึงอาการป่วย

โรคหลายบุคลิก Dissociative Identity Disorder (DID) หรือ Multiple Personality Disorder (MPD) เป็นโรคที่ถูกจัดอยู่ในประเภท Dissociative Disorder ซึ่งโรคในกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับสติสัมปชัญญะ ความทรงจำ เอกลักษณ์ และการรับรู้สภาวะแวดล้อม

ลักษณะของผู้ป่วย คือ จะมีบุคลิกที่เป็นนิสัยตั้งแต่ 2 บุคลิกขึ้นไป โดยแต่ละบุคลิกจะมีการ “ผลัดกันออกมา” และบุคลิกแต่ละบุคลิกจะมีลักษณะเฉพาะ มีชื่อ ประวัติความเป็นมา รวมไปถึงนิสัยที่ต่างกันไปในแต่ละคน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในยามที่อยู่ในบุคลิกเดิม จะ “จำไม่ได้” ว่ามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างที่บุคลิกอื่นออกมา ในขณะที่บุคลิกอื่นที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่มักจะรู้และจำได้ว่ามีบุคลิกเดิมอยู่

โรคหลายบุคลิกมักพบในเพศหญิงและจะพบบ่อยครั้งในผู้ที่มีประวัติถูกทารุณกรรมทางเพศในช่วงวัยเด็ก ส่งผลให้บุคลิกหลักหรือบุคลิกเดิมของผู้ป่วยที่เป็นคนอ่อนแอ ซึมเศร้า และขี้หวาดระแวง ถูกคลุมทับด้วยบุคคลใหม่ที่ผู้ป่วยอยากเป็นและอยากทำ (ซึ่งเป็นและทำไม่ได้ในบุคลิกเดิม) ขึ้นมา โดยบุคลิกเหล่านั้นจะแสดงออกมาเมื่อบุคลิกเดิมเกิดความกังวล หรืออยู่ในสถานการณ์ที่บุคลิกเดิมไม่สามารถรับมือได้

โรคหลายบุคลิกเป็นโรคเรื้อรังและอาการจะกำเริบเป็นช่วงๆ เมื่อผู้ป่วยอยู่ในสภาวะกดดันและจะทุเลาลงเมื่ออายุเลย 40 ปีไปแล้ว

สำหรับอาการของโรคหลายบุคลิกสังเกตได้โดยง่าย อาทิ 1.ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น เรียกร้องให้ผู้อื่นปรับตัว 2.เอาแต่ใจตัวเอง 3.ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาคิดว่าคนอื่นมีปัญหา 4.ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม 5.มีปัญหาทางอารมณ์ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวไม่ดี

บุคลิกภาพผิดปกติประเภทต่างๆ แสดงออกอย่างมากมาย โดยทั้งหมดมีชื่อเฉพาะและอาการจำเพาะ ตัวอย่างเช่น 1.บุคลิกภาพผิดปกติแบบหวาดระแวง 2.บุคลิกภาพผิดปกติแบบแยกตัว 3.บุคลิกภาพผิดปกติแบบแปลกแยก 4.บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (แบบอันธพาล)

5.บุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย 6.บุคลิกภาพผิดปกติแบบหลงตัวเอง 7.บุคลิกภาพผิดปกติแบบพึ่งพิงผู้อื่น 8.บุคลิกภาพผิดปกติแบบย้ำคิดย้ำทำ 9.บุคลิกภาพผิดปกติแบบหลบเลี่ยงปัญหา 10.บุคลิกภาพผิดปกติแบบไม่มีวุฒิภาวะ (เด็กไม่โต) 11.บุคลิกภาพผิดปกติแบบผสม 12.บุคลิกภาพผิดปกติแบบไม่อาจจัดกลุ่มได้

สาเหตุของโรคบุคลิกภาพผิดปกติ ประกอบด้วย การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกต้อง การเผชิญปัญหาในชีวิตที่ทำให้การเรียนรู้ผิดไปจากเด็กทั่วไป ปัจจัยทางพันธุกรรม การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม โรงเรียน และเพื่อน การรักษา

โรคหลายบุคลิกสามารถรักษาได้โดยใช้วิธีจิตบำบัด หรือสะกดจิต โดยให้ผู้ป่วยได้ระบายในสิ่งที่ไม่สามารถบอกใครได้จนเป็นสาเหตุให้เกิดการเบี่ยงเบนพฤติกรรมจนกลายเป็นสร้างบุคลิกต่างๆ ขึ้นมา