เฟิน ลิ้นกุรัม (ไพโรเซีย)
เฟินอิงอาศัยที่ดูไม่ใช่เฟินสกุลไพโรเซีย (Pyrrosia) นี้ บรรดานักสะสมเฟินและคนรักเฟินทุกคนรู้จักดี
โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม
เฟินอิงอาศัยที่ดูไม่ใช่เฟินสกุลไพโรเซีย (Pyrrosia) นี้ บรรดานักสะสมเฟินและคนรักเฟินทุกคนรู้จักดี คำว่า ไพรอส (Pyrros) มาจากรากศัพท์ของกรีก หมายความถึง สีแดง ไพโรเซียนี้ฝรั่งชาติตะวันตกเรียกชื่อสามัญว่า Felt ferns หมายถึงเฟินที่มีลักษณะเป็นขนนุ่มใต้ใบ ขนเหล่านี้บางชนิดมีสีน้ำตาล สีสนิมเหล็ก สีแดงอมส้ม และบางชนิดสีขาวขาวอมเหลือง ขนซึ่งขึ้นอยู่หลังใบเฟินสกุลนี้ บางครั้งจะยังติดอยู่จนถึงใบแก่ แต่ผิวใบบนของเฟินสกุลนี้อาจทิ้งขนเหลือแต่ผิวใบด้านหรือเป็นมันเงาก็เป็นได้
เนื้อใบเฟินไพโรเซียมักหนาและอวบน้ำ ซึ่งบอกให้เรารู้ว่ามันมีความทนแล้งได้ดีระดับหนึ่ง ไพโรเซียมีใบสองรูป (dimorphic fronds) นั่นคือใบที่ไม่สร้างอวัยวะเพศ หรือใบที่เป็นหมัน มีลักษณะต่างจากใบที่สร้างสปอร์ได้อย่างชัดเจน ใบที่เป็นหมันบางชนิดมีรูปทรงกลม ในขณะที่ใบสร้างสปอร์อาจมีรูปร่างยาวและกว้างกว่าก็เป็นได้ สปอร์จะเห็นได้ชัดเจนในไพโรเซียหลายชนิด โดยมีขนสีอ่อน แต่สำหรับ Pyrrosia splendens ซึ่งสปอร์จะปะปนกับขนสีสนิมเหล็กจนแยกแยะได้ยาก ใบของไพโรเซียส่วนมากจะหนาเหนียวคล้ายหนัง ในขณะที่ชนิดอื่นมีลักษณะคล้ายหนังและบางชนิดสีเขียวอมน้ำเงินคล้ายสีปีกแมลงทับ
เหง้าของไพโรเซียหลายชนิดอาจมีขน แต่บางชนิดกลับมีผิวเรียบและผิวอาจสาก มีเกล็ดหุ้มก็เป็นได้ เฟินสกุลนี้มีอยู่ทั่วโลกในเขตร้อนราว 74 ชนิด โดยอยู่ในวงศ์โพลีโพเดียม (Polypodiaceae) เฟินสกุลนี้ส่วนมากพบในเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย และกระจายไปอยู่ตามประเทศที่เป็นเกาะแก่งในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนมากจะเป็นเฟินอิงอาศัย ในขณะที่บางชนิดขึ้นเกาะตามผาหิน ซึ่งอาศัยอยู่ปะปนกับมอสและไลเคนส์ในกรณีที่มีความชื้น แสงสว่าง และอุณหภูมิเหมาะสม คือ หนาวเย็นเวลากลางคืน
แม้ไพโรเซียจะไม่แพร่หลายเป็นการค้าเหมือนกับเฟินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟินใบมะขาม นาคราช ข้าหลวง หรือชายผ้าสีดา แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความนิยมในเฟินไพโรเซีย หรือที่เรียกว่า Felt ferns กลับเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะไพโรเซียลินกัว (Pyrrosia lingua) หรือ Japanese felt fern เฟินชนิดนี้ชาวญี่ปุ่นชอบปลูกเลี้ยงกันมาก เพราะให้ความงามที่เรียบง่ายตามแบบฉบับคนตะวันออก และแม้แต่เกาหลีและไต้หวันก็ชอบปลูกเลี้ยง felt fern นี้เช่นกัน น่าแปลกที่เฟินไพโรเซียหลายชนิดมักกลายพันธุ์ โดย somatic mutation จากตาที่พักตัวอยู่ตามเหง้าเล็กๆ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ที่มีความผิดเพี้ยนของโครโมโซม ทำให้ได้หน่อใหม่ที่มีอาการใบด่างเหลือง ใบบิดเป็นเกลียว ปลายใบแตกแขนงเป็นแฉก ต้นเตี้ยแคระ ต้นขอบใบจัก ขอบใบหยักเป็นพูลึก ใบย่นหยักเป็นคลื่น ใบแตกแขนงรูปทรงต่างๆ
ไพโรเซียจึงกลายเป็นเฟินกระถางแขวนที่มีผู้เสาะแสวงหามาสะสมขยายพันธุ์ปลูกเลี้ยงกันในหมู่นักสะสมทั่วโลก ในหลายประเทศอาจพบป้ายบอกราคาสูงถึงต้นละร้อยเหรียญดอลลาร์ก็เป็นเรื่องปกติ เราอาจหาซื้อเฟินไพโรเซียได้ไม่ยากนักในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟินป่า เช่น P.lanceolata (ซึ่งมีใบออกสีแววแมลงทับ) เฟินงูเขียว (P.longifolia) มีใบยาวแข็ง ผิวเป็นมันดูคล้ายงูเขียวดังชื่อ เฟินชนิดนี้มีการกลายพันธุ์ที่ส่วนปลายใบ เกิดอาการใบแฉก แตกกิ่งคล้ายระแง้เขากวาง เป็นที่ชื่นชอบของบรรดานักจัดสวน ซึ่งนำมันไปแขวนไว้ในระดับสูงกว่าศีรษะ และใช้หัวฉีดพ่นละอองปุ๋ยใบให้เฟินเหล่านี้จะตอบสนองต่อปุ๋ยหมักทางชีวภาพและปุ๋ยน้ำที่สกัดจากปลาและสาหร่ายทะเล ทำให้การเจริญเติบโตของส่วนที่กลายยิ่งทวีความรุนแรงและสวยงามจับตายิ่งขึ้น
ตามคาคบไม้ในสวนผลไม้เก่าและชายป่าโปร่งในภาคอีสาน เรามักพบเกล็ดนาคราช (P.piloselloides) มีใบหนา สีเขียวอ่อนอมเทา ปลูกเลี้ยงให้เกาะติดตอไม้แก่นหรือรากชายผ้าชิ้นเล็กๆ และผูกลวดแกนในสายโทรศัพท์ จะดูเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้นหากใช้มอส (สแปกนัมมอส) มัดคลุมผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น
ในประเทศไทยมีเฟินอิงอาศัยสกุลนี้หลายชนิด เช่น ผักปีกไก่ ซึ่งชาวบ้านใน จ.เชียงราย เรียกกัน (Pyrrosia adnascens) ส่วนคำว่าลิ้นกุรัมนั้น ชาวโคราชเรียก Pyrrosia eberhardtii สะโมง เป็นชื่อที่ชาวยะลา นราธิวาส และแม้แต่ชาวมาเลเซียก็ใช้เรียก เฟินงูเขียว (P.longifolia) ตามลักษณะใบที่ยาวและผิวเป็นมันสมชื่อ สำหรับเฟินอิงอาศัยซึ่งเรียกกันว่าเบี้ยไม้ หมายถึง P.nummularifolia และเรียกกันทางภาคใต้ เช่น นราธิวาส ส่วนชาวภาคกลางเรียก P.piloselloides ว่าเกล็ดนาคราช ตามรูปร่างของใบ ซึ่งมีลักษณะกลมรีคล้ายเกล็ดงู ทั้งหมดนี้อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์ Polypodiaceae ดังกล่าวไปแล้วในตอนต้น