เจาะใจ กนต์ธร เตโชฬาร แอบดูหน้ากากโขนที่หวงแหน
นักแสดงและผู้กำกับละครเวทีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์/ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล
ม และละครของกลุ่มละครอิสระ อาจารย์และวิทยากรพิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้กลายมาเป็นพิธีกรรายการเจาะใจคนล่าสุด กนต์ธร เตโชฬาร หรือ ฮ่องเต้ ที่หลายคนรู้จักดีแล้ว วันนี้ขอเจาะใจฮ่องเต้บ้าง ถึงของรักของหวงที่คนในแวดวงอาจจะคาดไม่ถึง นั่นก็คือหัวโขนเก่าจำนวนมาก ที่เจ้าตัวบอกว่า รักชอบมาตั้งแต่เด็กๆ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร คงต้องให้ฮ่องเต้เล่าเอง
“ผมไม่เที่ยว ผมไม่ดื่ม ความสนใจของผมมีอย่างเดียวคือการสะสมของเก่า” ฮ่องเต้เล่า
ความสนใจในการสะสมหัวโขนของพิธีกรคนดัง คือ การสะสมหัวโขนจากวรรณคดีอันยิ่งใหญ่ รามเกียรติ์ ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากคุณตา มงคล ศรีตระกูล ผู้ปลูกฝังและกล่อมเกลา เล่าเรื่องราวในวรรณคดีและวรรณกรรมหลายเรื่องให้หลานตัวน้อยฟังก่อนนอนมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่เฉพาะรามเกียรติ์ แต่ยังรวมถึงอิเหนา สามก๊ก ราชาธิราช และอีกมากมาย
หลานตัวน้อยจดจำได้ถึงเดี๋ยวนี้ ได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่ได้รับการบ่มเพาะความเป็นไทยจากคุณตาที่เชื่อว่าจะต้องเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอด วรรณคดีไทยโบราณหลายเรื่องราวถูกคุณตามงคลนำมาย่อยและเล่าอย่างมีอรรถรส สนุกสนาน โดยเล่าต่อเป็นตอนๆ ให้เด็กน้อยฮ่องเต้นั่งฟังตาแป๋วก่อนจะหลับไปในทุกคืนๆ
“คุณตาเล่านิทานก่อนนอนเป็นงานวรรณคดีและวรรณกรรมโบราณมากมาย บางเรื่องก็เล่าแล้วเล่าอีก เล่าซ้ำๆ เพราะหลานชอบ (ฮา) คุณตาเล่าอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ผมอายุ 34 ขวบ กระทั่งผมอายุ 89 ขวบ จำได้หมดทุกเรื่องที่คุณตาเล่า”
ชอบทุกเรื่องที่คุณตาเล่า โดยเฉพาะรามเกียรติ์ที่สนุกนัก ด้วยมียักษ์ มีลิง สมวัยเด็กเล็กๆ ที่นึกภาพกองทัพยักษ์ กองทัพลิงโรมรันพันตู อิทธิฤทธิ์อิทธิเดชและเรื่องราวพันลึกเหนือจริงที่คุณตาเล่า ได้กลายเป็นมนต์ขลังผูกพันความรักความชอบในเรื่องราวของลิงสู้ยักษ์มาตั้งแต่นั้น
ไม่แปลกที่เมื่อโตขึ้น ฮ่องเต้ก็ยังผูกพันกับรามเกียรติ์ โดยเริ่มเก็บสะสมหัวโขนตัวละครต่างๆ ตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นนิสิตปีสอง อยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานหัวโขนเก็บจากหลายแหล่ง แหล่งสำคัญคือจากคณะละครหุ่นโจหลุยส์ของนายโจหลุยส์ หรือศิลปินแห่งชาติ สาคร ยังเขียวสด
“ผมชอบหัวโขน เพราะรวมศาสตร์งานช่างของไทยไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานปั้น งานกระดาษ งานหล่อ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยช่างปั้น ช่างหล่อ ช่างเย็บ ช่างทองและอีกมากช่าง หัวโขนหัวหนึ่งต้องอาศัยน้ำหนึ่งใจเดียวของช่างศิลป์หลากหลายสาขา เป็นงานละเอียดอ่อนชั้นสูงที่รวมทุกอย่างไว้” ฮ่องเต้เล่า
เขาบอกว่า หัวโขนสำหรับเขาไม่ใช่เพื่อการสักการบูชา แต่เพราะชื่นชมในศิลปะ ชื่นชมในความอุตสาหะและเชิดชูในฝีมือช่าง ปัจจุบันเก็บสะสมงานหัวโขนไว้ทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 70 หัวแล้ว ราคาในปัจจุบันหัวโขนหัวหนึ่งมีราคาประมาณ 2.53 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับฝีมือและน้ำหนักทองที่ลงรักปิดทองไว้
เก็บเพราะชอบจริงๆ เนื่องจากโดยส่วนตัวมิได้เล่นโขน แต่ให้หยิบยืมสำหรับเพื่อนร่วมวงการสำหรับใช้ในพิธีครอบครู เป็นต้น อีกคนที่เห็นคุณค่าในงานศิลปะ สำหรับใช้ในงานพิธีกรรมหรือแม้แต่ยืมเพื่อชื่นชมก็ตาม หัวโขนที่ชอบมากที่สุด เป็นหัวพาลี ที่เรื่องราวสนุก ถ้าใครจำไม่ได้ พาลีก็คือจุลจักรเจ้าเมืองลิง ผู้ต่อกรกับทรพี ควายอกตัญญูที่ฆ่าพ่อทรพานั่นเอง
“พาลีเป็น 1 ใน 2 ลิงผู้ยิ่งใหญ่ ในรามเกียรติ์ลิงจะครอง 2 เมือง คือ ขีดขิน กับเมืองชมพู ขณะที่ท้าวมหาชมพูครองเมืองชมพู พาลีก็ครองเมืองขีดขิน”
ฮ่องเต้เล่าต่อถึงหัวโขนที่โปรดปราน พาลีนั้นได้พรจากพระอิศวรว่า เมื่อสู้รบกับใครก็ให้พลังของคู่ต่อสู้ลดลงกึ่งหนึ่งมาอยู่กับเรา พาลีเมื่อสู้กับใคร จึงได้พลังจากคู่ต่อสู้มาเสริมพลังตัวเองกึ่งหนึ่งเสมอ ชนะแม้แต่ทศกัณฐ์ที่อุ้มนางสีดาบินข้ามเมืองขีดขิน พาลีไม่พอใจ บินขึ้นมาสู้กับราชายักษ์ พาลีชนะและได้นางสีดาเป็นเมียอยู่ช่วงหนึ่ง
ชอบตัวละครตัวนี้ ไม่ใช่เพราะจะมีพรเท่ๆ จากพระอิศวรเพียงอย่างเดียว หากพาลียังได้ชื่อว่าเป็นตัวละครที่สร้างสีสันให้แก่รามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจนจบชีวิตของตน ครั้งหนึ่งของชีวิต พาลีทำผิดเพราะเสียสัตย์วาจา บอกจะไม่แย่งเมียน้องคือสุครีพ หากพาลีก็แย่ง ไม่แย่งก็เหมือนแย่ง
“นางอัปสรที่ถูกประทานมาให้เป็นรางวัลแก่สุครีพ พาลีบินไปรับรางวัลแทน ฝากเมียมาให้น้องแต่พี่รับ รับแล้วรับไปเลย พาลีเสียสัตย์ เรื่องนี้เป็นหนึ่งตอนที่ตรงกับรามายณะของอินเดีย ผมชอบเรื่องที่สอดคล้องกับชีวิตคนจริงๆ เป็นเรื่องของพี่น้องที่ทำผิดต่อกัน ผู้ครองนครที่พลาดพลั้ง จนวาระสุดท้ายของชีวิตต้องตายเพราะพระราม หรือพระนารายณ์อวตาร”
พาลีด้วยอิทธิเดชพรพระอิศวร ได้พลังพระรามกึ่งหนึ่ง พระรามยิงศรมาแต่พาลีก็จับศรพระรามไว้ได้ ถามพระรามว่า ฆ่าเราทำไม พระรามย้อนถามว่า ก็ท่านได้ทำสิ่งใดไว้ แค่นี้พาลีก็สะเทือนใจในกรรมก่อของตน ศรที่จับไว้ได้จึงคว้าแทงเข้าตัวเองจนเสียชีวิต ก่อนตายได้มอบเมืองให้น้องคือสุครีพ สั่งเสียว่าอย่าทำผิดเหมือนตน ชีวิตของเราทำให้ทุกคนเดือดร้อน ตายแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตรพาลี มีบทบาทอีกครั้งเมื่อพระรามยกทัพทำสงครามกับทศกัณฐ์
“ผมชอบพาลีเพราะเขามีวงจรของบทบาทอยู่ในรามเกียรติ์อย่างยาวนาน เป็นชีวิตของตัวละครที่มีสีสัน ไม่มากนักที่ตัวละครตัวหนึ่งจะโลดแล่นไปจนถึงที่สุดของความเลวและความดีของตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็ตระหนักรู้ คงไม่ต้องบอกว่า หัวโขนที่ผมโปรดปรานที่สุด ก็คือหัวโขนสีเขียวของพาลีหัวนี้ครับ” ฮ่องเต้เล่า
นอกจากหัวโขนจากรามเกียรติ์แล้ว หน้ากากบาหลีก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ฮ่องเต้เก็บสะสม แม้จำนวนจะยังไม่มากนัก แต่เพราะเรื่องราวของบารอง(สิงโต)ก็เชื่อว่าคงจะทยอยเก็บสะสมต่อไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฮ่องเต้เล่าว่า บารองเป็นตัวแทนความดีของบาหลี โดยกระบวนทัศน์ต่อความดีของบาหลีนี้เองที่จับใจฮ่องเต้ไว้ได้
“ผมชอบหลักการของบาหลีที่ว่า ไม่มีอะไรดีชั่วถาวร ความดีความชั่วสำหรับเขาแล้วมันอยู่ด้วยกัน เป็นสถานะที่อยู่ชั่วเวลาใดเวลาหนึ่ง คนดี คนชั่วไม่มี มีแต่คนเคยทำดี คนเคยทำชั่ว สถานะเปลี่ยนตลอดเวลา” ฮ่องเต้บอก
แม้แต่รังดาซึ่งเป็นยักษ์กึ่งแม่มดในความเชื่อของชาวบาหลี แม่มดกึ่งยักษ์ตัวนี้ หรือนัยหนึ่งคืออสุรีกึ่งปีศาจก็เป็นผู้ทำทั้งความดีและความชั่ว แม้แต่จะฆ่าให้ตายไปแล้วก็ไม่ตายไปจริงๆ แต่พร้อมที่จะโอเวอร์คัมหรือกลับมาเพื่อชัยชนะตลอดเวลา มีการแทนที่กันของตัวที่ตายและความมีชีวิตที่ยังอยู่ตลอดเวลา
ฮ่องเต้ยังเก็บสะสมของเล่นไม้เก่าๆ จากเยอรมันด้วย เนื่องจากหลงใหลในศาสตร์แห่งการลดทอนอัตราส่วน และความละเอียดของสิ่งมีชีวิต ในงานของเล่นไม้เก่าๆ เหล่านี้ ต้องบอกว่าทำได้ละเอียดมากๆ และเนียนมากๆ อีกอย่างคือสัตว์สตัฟฟ์ โดยเฉพาะงานสตัฟฟ์นก
“ผมชอบงานนก เพราะนกโดยธรรมชาติมีความบอบบาง สีสันสวย เมื่อได้เห็นใกล้ๆ ก็ให้ความรู้สึกที่ดี ส่วนใหญ่ซื้อจากอีเบย์ ตอนนี้มีกว่า 20 ตัวแล้ว เยอะหน่อยคือนกเหยี่ยวกับดอลลาร์เบิร์ด บางคนเรียกนกตะขาบดง”
อย่างที่บอกแล้วว่า พิธีกรหนุ่มรายนี้ ไม่เที่ยว ไม่ดื่ม ความสนใจจึงพุ่งไปที่การสะสมของเก่าที่รักชอบและหวงแหน ปัจจุบันนอกจากหัวโขน หน้ากากบาหลี ของเล่นไม้เยอรมัน สัตว์สตัฟฟ์และรูปปั้นมังกรที่เก็บสะสมไว้รวมทั้งหมดกว่า 1,000 ชิ้น ส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่บ้านซอยศาลาแดง อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่โกดังเก็บของย่านบางนา
“ไม่ขายครับ ไม่คิดจะขาย ไม่เคยคิดว่าจะเก็บสะสมเพื่อการลงทุน แต่เป็นการสะสมเพราะความรักชอบ ความผูกพัน ความสุข ความอบอุ่นที่ให้ผลตอบแทนทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาชื่นชม” ฮ่องเต้เล่าด้วยรอยยิ้ม
การดูแลหัวโขน
หัวโขนเป็นประดิษฐกรรมที่ประณีตวิจิตร ควรทะนุถนอมเก็บรักษาให้คงสภาพ หัวโขนนอกเวลานำออกใช้ ควรเก็บรักษาไว้ในลุ้ง หรือฝาครอบหัวโขน มักทำเป็นกระบอกเตี้ยๆ ตรงกลาง ตั้งทวน หรือหลักเตี้ยมีแป้นกลมสำหรับรองรับหัวโขนและชฎา กรณีเป็นลุ้งสำหรับเก็บหัวโขนอย่างหัวกลม เช่น ศีรษะลิงโล้น ศีรษะยักษ์โล้น มักทำฝาหลังตัดตรง
กรณีเป็นลุ้งสำหรับเก็บหัวโขนอย่างมีเครื่องยอดทรงมงกุฎหรือชฎา มักทำฝาเป็นรูปกรวยกลม ทรงสูงบ้างเตี้ยบ้าง เพื่อให้มีที่ว่างพอเหมาะแก่ขนาดสูงของเครื่องยอดชนิดนั้นๆ แต่ก่อนลุ้งทำด้วยเครื่องจักสานลงรัก ต่อมานิยมทำด้วยสังกะสี
ถ้าไม่เก็บไว้ในลุ้ง แต่ประสงค์จะตั้งแต่งไว้สำหรับดูชม จะต้องมีทวนตั้งขึ้น เทินหัวโขนให้สูงจากพื้น ทำด้วยไม้ท่อนกลึงเป็นหลักทวน กับมีแป้นกลมตรงปลายทวนสำหรับรองรับหัวโขน ทวนคันหนึ่งสูง 1012 นิ้ว
อนึ่ง หัวโขนที่ใช้สวมในการแสดงโขน สมควรได้รับความนับถือ ไม่วางไว้ในที่ต่ำ ไม่ทำตกลงบนพื้น ไม่ข้ามกราย เนื่องด้วยถือเป็นของสูง ยึดโยงถึงประเพณีอันดีงามของไทย
ขอบคุณข้อมูล http://school.obec.go.th หัวโขนสมบัติของไทย โดย น.ส.ชนิตา ชัยศุภวัฒน์