Chindia สองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย
ถ้าจะพูดถึงประเทศยักษ์ใหญ่ของทวีปเอเชีย บางคนร้องอ๋อแล้วบอกว่า “ต้องเป็นประเทศจีนอย่างแน่นอน”
ถ้าจะพูดถึงประเทศยักษ์ใหญ่ของทวีปเอเชีย บางคนร้องอ๋อแล้วบอกว่า “ต้องเป็นประเทศจีนอย่างแน่นอน” แต่บางคนอาจบอกว่า “ต้องเป็นอินเดียสิ” เพราะประเทศนี้ก็มีขนาดใหญ่และมากด้วยประชากรเช่นกัน ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากแต่ว่าการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามของทั้งสองประเทศนี้ ล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคเอเชียแห่งนี้ จนกลายมาเป็นคำว่า “Chindia” ที่ปรากฏอยู่ตามบทความวิชาการต่างๆ นั่นเอง
คำว่า “Chindia” เป็นคำผสมที่มาจากคำว่า “China” ที่หมายถึงประเทศจีน บวกกับคำว่า “India” ที่หมายถึงประเทศอินเดีย เริ่มมีการใช้ครั้งแรกโดยสมาชิกสภาท่านหนึ่งของอินเดีย ทั้งสองประเทศนี้ต่างก็ได้รับการยอมรับว่า มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเอาประชากรของทั้งสองประเทศนี้มารวมกันจะมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลกเลยทีเดียว นั่นก็หมายความว่า ทั้งสองประเทศนี้มีอัตราการอุปโภคบริโภค กำลังผลิต และกำลังซื้อจำนวนมหาศาล จนกระทั่งนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจระดับโลก ต่างให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของทั้งสองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียคู่นี้
ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศนี้เคยถูกมองว่า จะสามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยจีนนั้นได้รับการยอมรับว่า มีความโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรม และระบบโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่อินเดียก็โดดเด่นในด้านการบริการธุรกิจ และด้านไอที ดังนั้นก่อนหน้านี้ จึงมีการมองกันว่าทั้งสองประเทศจะมีโอกาสร่วมมือกันมากกว่าแข่งขันกันเอง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาอินเดียเองก็มีการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จีนก็หันมาพัฒนาด้านการบริการธุรกิจและไอทีอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงเป็นข้อกังขาถึงความเป็นไปได้ ในการผนึกกำลังของทั้งสองประเทศ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีความแตกต่างด้านอื่นๆ ที่อาจจะเป็นข้อจำกัดในความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ซึ่งปัจจุบันความแตกต่างกันเหล่านั้นก็ทำให้รูปแบบในการพัฒนาของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกัน โดยการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนนั้นเกิดขึ้นในรูปแบบของเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยม ในขณะที่อินเดียคือตลาดเสรีบนสังคมแห่งประชาธิปไตย
เมื่อลงลึกในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ทรัพยากรบุคคลของประเทศจีน ถือว่าเป็นต้นทุนหลัก ที่ทำให้ประเทศพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา และส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนทรัพยากรด้านอาหารนั้น จีนพยายามลดการพึ่งพิงการนำเข้าให้น้อยที่สุดและส่งเสริมการผลิตภายในประเทศให้ได้มากขึ้น และด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญ ที่มีผลโดยตรงต่อ “เสถียรภาพทางด้านอุตสาหกรรม” และ “การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค” ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลจีนพยายามเสาะหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ก็มีพัฒนาแหล่งพลังงานเดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานมากที่สุด
ก่อนจะมาถึงทุกวันนี้ อินเดียเคยผ่านยุคที่รัฐบาลควบคุมและแทรกแซงเกือบจะทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการกำหนดใบอนุญาตในการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจต่างๆ ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดในการเติบโตและนำมาซึ่งการคอร์รัปชั่น ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเชื่องช้า จนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น กระทั่งปี ค.ศ. 1991 อินเดียจึงทำการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยอดีตนายกรัฐมนตรี โมมาฮัน ซิงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในตอนนั้น ได้มีการยกเลิกระบบใบอนุญาตและเปิดเสรีทางการค้าขึ้น ประกอบกับในยุคต่อมา มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานควบคู่กันไปด้วย ซึ่งนั่นได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศนี้เติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ ที่กินสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านไอที และการรับจ้างทำกระบวนการธุรกิจ ที่เรียกว่า “business process outsourcing” เนื่องจากอินเดียมีบุคลากรที่ค่าแรงไม่สูง มีทักษะความรู้ และสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
ถึงแม้ว่าจีนและอินเดียจะเคยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ใน ปี ค.ศ. 2009 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียกลับลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนยังคงเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนเริ่มเกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศขึ้น จึงมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่จีนสามารถเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องนั้น เพราะมีความเด็ดขาดด้านการบริหารงาน และมีการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญประเทศนี้มีความชัดเจนกว่า ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานได้ดีกว่าอินเดีย จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่า ในอนาคตข้างหน้าบริบทของคำว่า “Chindia” จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และส่งผลกระทบมากน้อยขนาดไหน เป็นเรื่องที่คนไทยจำเป็นจะต้องติดตามเช่นกัน