ดอกไม้สีเขียวในสวน
เราลืมกันไปแล้วว่ายังมีดอกไม้สีเขียวแสนงามอยู่ในโลก มีหลากหลายชนิดพันธุ์เสียด้วย
โดย....ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม
เราลืมกันไปแล้วว่ายังมีดอกไม้สีเขียวแสนงามอยู่ในโลก มีหลากหลายชนิดพันธุ์เสียด้วย ดอกไม้สีเขียวเริ่มได้รับความนิยมในหมู่นักออกแบบตกแต่งสวนในยุโรป เพราะเขาต้องการอะไรก็แปลกใหม่ ไม่ซ้ำซากชินตา ฉบับนี้เราจึงลองหันมาดูดอกไม้มรกตสีเขียวชนิดใหม่ๆ กันดูบ้าง
การปลูกไม้ดอกให้มีสีสันหลากหลายในสวนเป็นสิ่งที่นักทำสวนทั้งหลายต้องการ แม้หลายคนจะเลือกสีแดง ชมพู ส้ม และสีม่วงเป็นหลัก แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าดอกไม้สีประหลาดกลับทำให้ภาพของสวนดูโดดเด่นขึ้นมา นักจัดสวนส่วนใหญ่ยอมรับว่าพืชที่มีหลากหลายสีสันย่อมให้อารมณ์ที่แปรเปลี่ยน แตกต่างกันไปเฉกเช่นฤดูกาล
แม้ใบไม้ส่วนใหญ่จะออกโทนเขียวและช่วยสร้างสีสันสำหรับพื้นที่สวนส่วนใหญ่ สำหรับลงไม้ดอกหลากสีลงไป และเป็นที่ยอมรับกันว่าไม้ดอกหลายชนิดสามารถสร้างดอกที่มีโทนสีเขียว ทำให้เกิดจุดเด่นขึ้นในสวนได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไม้ดอกสกุล น้ำนมราชสีห์ โป๊ยเซียน หรือพญาไร้ใบ (Family Euphorbiaceae) มีอยู่ชนิดหนึ่งคือ Euphorbia Polychroma ไม้ดอกชนิดนี้ให้ดอกสีเขียวอมเหลืองเด่นชัด (acid yellowgreen flowers) ปลูกง่าย ชอบดินร่วนซุย ไม่ขังน้ำ ชอบแสงแดดจัดตลอดวัน พวกนี้ชูก้านช่อดอกยกตัวสูงแข็งแรงใบประดับกลมซ้อนคู่ ดอกจริงขนาดเล็กกลีบสีเหลืองสด ทุกส่วนมียางขาว เช่นเดียวกับพืชในวงศ์นี้
ไม้ดอกสีเขียวอมเงินอีกสกุลคือ เฮลลิบอรัส (Helleborus) ซึ่งพบในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปบางประเทศ เช่น H.argutifolius และที่คนไทยรู้จักกันดีเช่น พวงหยก (jade vine) (Strongylodon macrobotrys) ซึ่งให้ช่อดอกแบบ racemes และดอกคล้ายดอกถั่วขนาดใหญ่ห้อยย้อยลง ซึ่งต้องการซุ้มที่แข็งแรงสักหน่อย จึงจะรับน้ำหนักเถาของมันได้ ดอกไม้สีเขียวบางชนิดมีดอกใหญ่ ซึ่งความจริงเป็นใบประดับที่ดูราวกลีบดอกที่แท้จริง เช่น พืชสกุลโป๊ยเซียน (Euphorbia) ดังกล่าวมาแล้ว
ไม้ดอกสีเขียวไปกันได้ดีกับดอกไม้โทนสีม่วง เช่น ไม้ดอกสกุลยูโคมิส (Eucomis) ซึ่งบ้านเราไม่คุ้นกันนัก แต่ในต่างประเทศกลับนิยมมากเพราะดูแปลกตามาก เช่น E.bicolor ดอกไม้สีเขียวที่รู้จักกันดี ได้แก่ โสมอเมริกัน (Angelica archangelica) แทงช่อดอกก้านสูงแข็งแรง ปลูกได้ดีบนดอยในระดับสูง 1,200 เมตร
ทิวลิปพันธุ์ซึ่งให้กลีบดอกเหลืองมะนาวคาดแถบสีเขียวตามแนวตั้งดูแปลกตามิใช่น้อย ชื่อทางพฤกษศาสตร์ของมันคือ Tulipa “Spring Green” ทิวลิปนี้อาจปลูกหัว (bulb) แซมลงไปกับพันธุ์ ซึ่งให้ดอกสีเหลืองก็ได้ เพราะจะให้ความรู้สึกอ่อนโยนขึ้น
คนิโฟเนีย (Kniphofia) เป็นไม้ดอกรูปร่างแปลกตาถิ่นเดิมมาจากแอฟริกาใต้ กลีบดอกเป็นหลอดยาว จำนวนหลายร้อยดอกบนก้านช่อชูตั้งขึ้น แม้นจะชอบแสงแดดจัดจ้า แต่ไม้ดอกชนิดนี้ต้องการอากาศเย็น ชื่อพันธุ์ในเชิงการค้า ได้แก่ Kniphofia “Green Jade” หรือหยกสีเขียวเหมาะสมกับรูปลักษณ์ของไม้ดอกชนิดนี้ ช่อดอกอาจสูงได้กว่า 4 ฟุตทีเดียว หากปลูกในพื้นที่สูงภูมิอากาศเหมาะสม
ไม้ดอกสกุลเฮลลี่บอรัสให้ดอกสีเขียว บางชนิดมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น Helleborus foetidus ซึ่งมีใบเป็นแฉกคล้ายฝ่ามือ แต่ช่อดอกห้อยย้อยลงดอกมีปลายกลีบแดงบนพื้นสีเขียว ทำให้ดูโดดเด่นออกมาจากพุ่มใบสีเขียว
ดอกไม้สกุลพิธโธสปอรุม (Pittosporum) ซึ่งหลายชนิดปลูกได้ดีในเขตอากาศหนาวเย็นบนดอยสูงภาคเหนือ เช่น P.tenuifolium “Tom Thumb” และแม้แต่ดอกพริมโรส (Primula vulgaris) พันธุ์ Viridis ให้ดอกสีเขียวจนแยกออกได้ยากในพุ่มใบสีเดียวกัน
ดอกไม้สีเขียวซึ่งปลูกใน จ.เชียงใหม่ อีกชนิด ได้แก่ รุคเบคเกีย (Rudbeckia occidentale “Green Wizard”) มีดอกที่ให้กลีบเลี้ยงสีเขียวแทนที่กลีบดอกและมีใจกลางดอกสีดำ
เบลออฟไอร์แลนด์ (Bells of Ireland) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Molu ccella laevis แทงช่อดอกออกสีขาว แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียว โดดเด่น ดูคล้ายช่อดอกเขียว โดยมีศูนย์กลางดอกสีขาว แม้จะปลูกกันไม่แพร่หลายนัก เว้นแต่จะปลูกตัดดอกประดับแจกันดอกไม้แห้งก็ตาม
ดอกไม้ธรรมดา เช่น แกลดิโอลัสมีพันธุ์กลีบดอกเขียวอ่อนเช่นกัน พันธุ์กรีนสตาร์เป็นตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีแกลดิโอลัสพันธุ์กรีนวูดเปกเกอร์ที่มีดอกเหลืองมะนาวประจุดแดง
บานชื่นดอกสีเขียว ได้แก่ Zinnai “Envy” ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งมีใบออกสีเทาเงิน แม้แต่เบญจมาศก็มีพันธุ์กลีบดอกเขียวเช่นกัน แต่ดูจะเหมาะสมหรับปลูกในโรงเรือนหลังคาพลาสติกกันฝน
ดอกไม้สีเขียวเหล่านี้ แม้จะไม่ให้โทนสีเขียวจัดนักแต่พวกมันเหมาะสมสำหรับสวนที่ต้องการความหลากหลายของสีสันแปลกตาเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลสบายตาแก่ผู้เยี่ยมชม