ยลเสน่ห์สองตลาดร้อยปี หัวตะเข้คลองหลวงแพ่ง มรดกแห่งลาดกระบัง
“ปั่นจักรยานไปเที่ยวลาดกระบังกันไหม” แวบแรกที่ได้ยินย่านชานเมืองที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคย
โดย...พาแลง
“ปั่นจักรยานไปเที่ยวลาดกระบังกันไหม” แวบแรกที่ได้ยินย่านชานเมืองที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคย ก็เกิดความอยากรู้อยากไปดูสักครั้ง ดังนั้นเมื่อมีคนเอ่ยชวน คนอย่างพาแลงจึงรีบตกปากรับคำอย่างรวดเร็ว โดยนัดหมายของกลุ่มจักรยานอยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อนำจักรยานขึ้นโบกี้รถไฟตั้งแต่เช้าตรู่ โดยจุดหมายปลายทางของทริปนี้อยู่ที่สถานีหัวตะเข้
เมื่อถึงสถานีรถไฟหัวตะเข้ พวกเราก็เริ่มปั่น ไกลออกไปพอเหงื่อซึมเราก็ถึงจุดหมายแรก ชื่อเดียวกับสถานีรถไฟ...
ตลาดหัวตะเข้
ภาพแรกที่เห็นเมื่อไปถึง คือ เรือนไม้เก่าที่ทอดตัวยาวริมคลองประเวศบุรีรมย์ หลังคาสังกะสีมีสนิมกร่อน บ้างผุ บ้างก็ปล่อยให้มีรูโหว่จนแดดส่องถึง ความเก่าที่แฝงด้วยเสน่ห์ และเป็นความทรุดโทรมที่บ่งบอกว่าที่แห่งนี้ยืนหยัดผ่านแดด ลม และฝน มาไม่น้อยกว่าร้อยปี
ก่อนที่ใครๆ จะเรียกตลาดหัวตะเข้อย่างทุกวันนี้ ที่นี่มีชื่อเรียกว่า “ตลาดเก่าเรือนไม้ หลวงพรตท่านเลี่ยม” มาก่อน โดยตั้งชื่อตามหลวงพรตและท่านเลี่ยม ผู้บริจาคที่ดินให้สร้างตลาดเรือนไม้ริมน้ำแห่งนี้ และเมื่อย้อนไปกว่า 100 ปี ที่แห่งนี้คึกคักด้วยพ่อค้าแม่ขายที่พายเรือมาขายของ แต่ภาพเก่าๆ นั้นในปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็น บรรยากาศร้านรวงที่หัวตะเข้ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด เหลือเพียงร้านค้าริมน้ำไม่กี่ร้าน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2541 จึงทำให้บรรยากาศตลาดค่อยๆ เลือนหายไป อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนคนหัวตะเข้ก็ยังมีให้เห็น แม้จะมีนักท่องเที่ยวมากหรือน้อย พวกเขาก็ยังดำเนินวิถีริมคลองอยู่เช่นเดิม
ถ้าไปเยือนตลาดหัวตะเข้ คุณจะได้กินและชมของที่เป็นพื้นถิ่น เป็นอาหารที่ชาวบ้านกิน ไม่ใช่ตลาดริมน้ำที่มีสินค้าเหมือนกับที่อื่นๆ โดยจะมีทั้งร้านอาหารปรุงสด และขนมนมเนยฝีมือชาวชุมชน ตลาดจะมีบรรยากาศเก่าๆ ร้านรวงต่างๆ จึงเป็นแบบโบราณซึ่งยังมีเปิดกิจการอยู่บ้างประปราย ทั้งร้านโชห่วย ร้านตัดผมโบราณ โรงไม้ และโรงเจฮะเฮงตั้ว ซึ่งมีองค์เซียนแป๊ะโค้ว ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อนท่านเดินทางมาจากเมืองจีน และมาพำนักอยู่ในแถบลาดกระบัง ด้วยความที่ท่านยึดมั่นในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และถือศีลกินเจสวดมนต์ภาวนาอยู่ในโรงเจจนได้ฌานสมาบัติ และละสังขารไปในขณะกำลังนั่งสมาธิอยู่
นอกจากนี้ ที่นี่ยังเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมด้านศิลปะทุกแขนง โดยเปิดบ้านให้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการ มีทั้งที่เป็นแบบหมุนเวียน และแคมป์ศิลปะ โดยความร่วมมือระหว่างชาวชุมชนหัวตะเข้ และสถานศึกษาหลายแห่ง อาทิ วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น
ออกจากตลาดหัวตะเข้ สองล้อของเราหมุนลัดเลาะทุ่งลาดกระบัง เห็นทุ่งข้าวเขียวบ้าง รวงแก่ใกล้เกี่ยวบ้าง ผ่านทั้งมัสยิด วัด หลายแห่ง ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร จนมาถึง...
ตลาดคลองหลวงแพ่ง
“คลองหลวงแพ่ง” เป็นเส้นแบ่งระหว่างกรุงเทพฯ และ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นชื่อคลองขุดที่ตัดขวางมาบรรจบเป็นสามแยกที่คลองประเวศบุรีรมย์ และเนื่องจากตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณสามแยกปากคลองหลวงแพ่ง จึงได้ชื่อว่า “ตลาดหลวงแพ่ง” แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดว่าใครเป็นผู้ขุดคลองแห่งนี้ แต่จากการสันนิษฐานคาดว่าหลวงแพ่งจะเป็นผู้ขุดคลองสายนี้
ตลาดหลวงแพ่งจะเรียกตลาดห้องแถวทั้งสองฝั่งคลองทั้งฝั่งใต้และฝั่งเหนือ ในอดีตตลาดแห่งนี้รุ่งเรืองมาก เรียกได้ว่ามีร้านค้า 100 ห้องก็เต็มทุกห้อง ค้าขายของกินของใช้ ร้านทองในย่านนี้มีมากกว่า 10 ร้าน มีเรือมาจอดเทียบฝั่งคึกคักทั้งกลางวันและกลางคืน ทว่า เมื่อถนนตัดผ่าน การคมนาคมทางเรือจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม ความเฟื่องฟูจึงกลายเป็นอดีต ความคึกครื้นจึงเหลือเพียงเสียงเพลงเก่าที่ยังคงเปิดอยู่ในบางคูหาเท่านั้น
ปัจจุบันตลาดหลวงแพ่งก็ยังคงบรรยากาศเป็นเรือนไม้ห้องแถวริมน้ำเช่นเดียวกันกับตลาดหัวตะเข้ เพียงแต่ความคึกคักอาจจะน้อยกว่า เพราะเพิ่งจะเริ่มฟื้นฟูได้ไม่นาน แต่ความน่ารักที่ซ่อนอยู่ในความเก่ายังเฉิดฉายให้เห็นอยู่ไม่จางไปเลย
หากคุณเป็นคนชอบถ่ายภาพ หลงรัก หรือคิดถึงวิถีริมน้ำ ชอบสีของบ้านไม้ และชอบฟังเสียงแผ่นไม้ดังแอดอาดเมื่อเท้าเหยียบย่ำลงไป คุณจะได้พบความสุขและสงบเงียบจากที่แห่งนี้ ลองแวะไปเยือนตลาดน้ำหลวงแพ่ง เพื่อซึมซับบรรยากาศอดีตที่ไม่มีการปรุงแต่งเพื่อเข้าถึงการพักผ่อนอย่างแท้จริง
เราออกจากตลาดหลวงแพ่งก่อนค่ำ เพื่อให้ทันขบวนรถไฟเที่ยวห้าโมงเย็น น่าเสียดายที่ยังพลาดเมนูอีกหลายอย่าง แต่ยังแอบหวังไว้ว่า จะได้ไปเยือนตลาดเก่าทั้งสองแห่งนี้อีกครั้ง...
ลาดกระบังร้อยปีก่อน...ข้อมูลจากสภาองค์กรชุมชนเขตลาดกระบัง ระบุประวัติความเป็นมาของลาดกระบังไว้ว่า เดิมเขตลาดกระบังเป็นพื้นที่การปกครองของ จ.มีนบุรีซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลกรุงเทพฯ มีชื่อเรียกว่า อ.แสนแสบ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ลาดกระบัง และในปี พ.ศ. 2474 จ. มีนบุรี ได้ถูกยุบมาขึ้นกับ จ.พระนคร อ.ลาดกระบังจึงได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ จ.พระนครด้วย ครั้นในปี พ.ศ. 2481 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบอำเภอนี้ลงเป็นกิ่งอำเภอลาดกระบัง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2500 จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น อ.ลาดกระบังอีกครั้ง โดยได้โอน ต.แสนแสบไปขึ้นกับ อ.มีนบุรี และได้แบ่งพื้นที่บางส่วนของ ต.ทับยาวมาจัดตั้งเป็น ต.ขุมทองในปี พ.ศ. 2504
ต่อมามีประกาศคณะปฏิวัติรวม จ.พระนครกับ จ.ธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และมีฐานะเป็นกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2515 หลังจากนั้น อ.ลาดกระบังจึงได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน