posttoday

หนวดปลาหมึก หนุมานประสานกายและคันชักหามเสือ

14 กันยายน 2557

ชื่อทั้งหมดซึ่งฟังดูแปลกหู ล้วนแต่เป็นไม้ใบประดับซึ่งรู้จักกันดีในหมู่นักปลูกเลี้ยงไม้ประดับ

โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

ชื่อทั้งหมดซึ่งฟังดูแปลกหู ล้วนแต่เป็นไม้ใบประดับซึ่งรู้จักกันดีในหมู่นักปลูกเลี้ยงไม้ประดับ แต่อย่างน้อยชื่อท้ายสุดอาจไม่คุ้นหูผู้คนในโลกยุคใหม่มากนัก ไม้ใบประดับในกลุ่มนี้อยู่ในวงศ์อาราลิเอซิอี้ (Araliaceae) ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่ ประกอบด้วยหลายสกุล ที่รู้จักกันดีได้แก่เล็บครุฑ (Polyscias) ไอวี่ (Hedera) ต้างหลวง (Trevesia) แฟสเซีย (Fatsia) อาราเลีย (Aralia) และแม้แต่โสมเกาหลี (Ginseng) ก็อยู่ในวงศ์นี้เช่นกัน

หากจำกัดพืชในวงศ์นี้ให้แคบเข้ามาอีก จะเห็นได้ว่าหนวดปลาหมึกหนุมานประสานกายและคันชักหามเสือ คือพันธุ์ไม้ในสกุล (Genus) เดียวกันคือ Schefflera ซึ่งสกุลนี้มีอยู่มากมายหลายสิบชนิด (Species) อาจถึง 100 ชนิดก็เป็นได้

การกระจายพันธุ์ของพืชในกลุ่ม Schefflera

พืชสกุล Schefflera เป็นพืชเขตร้อนชื้นถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี พบได้ตั้งแต่ป่าดิบเขาในอินเดีย ภูฏาน พม่า อินโดจีน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นับว่ามันกระจายพันธุ์ได้กว้างขวางเกินกว่าที่เราคิด เราพบหนวดปลาหมึกขึ้นอยู่ได้ตั้งแต่ตามผาหินริมชายฝั่งทะเลเขตร้อนไปจนถึงบนป่าดิบเขาระดับสูงเกือบ 2,000 ม. ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นชื้นจัด

หนวดปลาหมึก หนุมานประสานกายและคันชักหามเสือ

 

หนวดปลาหมึกแสนสวยบนเขาเขียวเขาใหญ่

หลายสิบปีมาแล้ว ขณะที่สำรวจพันธุ์หอยทากบกและหอยทากต้นไม้ (Land snails and tree snails) โดยได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาจากสมาคมเพื่อนเขาใหญ่ (Friend’s of Khow Yai Association) ซึ่งปัจจุบันไม่ทราบว่ายังดำเนินงานอยู่หรือไม่ ผู้เขียนและทีมงานจากภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามคนตะลุยป่าตอนบนของอุทยาน เก็บรวบรวมถ่ายภาพตัวอย่างหอยทากซึ่งเป็นอาหารโปรดของสัตว์ป่าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นลิงป่า นกเงือก ชะมด อีเห็น ทั้งนี้เพราะหอยทากเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีนั่นเอง ระหว่างการเข้าป่าเราสังเกตเห็นต้นหนวดปลาหมึกบางชนิดมีใบใหญ่สีเขียวสดเป็นมัน เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวอย่างดีของเจ้าแกสโทรพอดส์ (Gastropods) เช่น หอยทาก เราจึงเก็บตัวอย่างพืชอาหารและพืชอาศัยมาด้วย โดยเก็บเมล็ดแก่สีส้มแดงม่วง รวมเรียกว่าเบอร์รี่ (Berries) เหล่านั้นมาด้วย และทดลองเพาะเลี้ยงดูในสวนนอกของภาควิชาพืชสวน หนวดปลาหมึกซึ่งพบบนอุทยานเขาใหญ่มีหลายชนิด แต่เท่าที่จำได้ หลังจากเวลาผ่านไปแล้วกว่ายี่สิบปีสามสิบปีมีรายนามดังต่อไปนี้

1.หนวดปลาหมึกเบงกอล (Schefflera benghalensis) เป็นชนิดที่ดกดื่นที่สุด พบทั่วไปตามหน้าผาหินใกล้แนวน้ำตก ลำห้วย บางครั้งพบว่าไต่ขึ้นลำต้นไม้ใหญ่ แผ่สาขาเป็นพุ่ม ใบประกอบแบบนิ้วมือ (palmate) ใบกลมรีหนาเหนียว ด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง ขยี้ดูมีกลิ่นหอม มีรากอากาศออกตามลำต้นที่ทอดเลื้อย (scandent) หรืออาจเป็นพุ่ม (shrub) ก็ได้

2.หนวดปลาหมึก (S.oblonga) มีใบประกอบขนาดใหญ่ ใบย่อยสีเขียวสดจำนวน 8-12 ใบ ลำต้นเล็กและมีรากอากาศงอกออกมาตามผิวลำต้น ส่วนโคนมักพบใกล้ลำธารในพื้นที่ร่มรำไร มีชุกชุมในป่าดิบเขาระดับสูง 800-1,200 ม. เขตอุทยานเขาใหญ่

3.หนวดปลาหมึกใบจัก (S.incissa) ระหว่างการสำรวจพื้นที่บนเขาเขียว ได้พบหนวดปลาหมึกชนิดนี้เข้าโดยบังเอิญ เมล็ดของมันตกลงในซอกพื้นริมถนนและงอกขึ้นมาเป็นต้นกล้าขนาด 1-2 ฟุต ใบของมันยาวรี และมีขอบหยักเป็นพูลึกดูสวยงามมาก อาจพบได้ตามร้านค้าไม้ประดับทั่วไป แต่หาไม่ง่ายนัก หนวดปลาหมึกชนิดนี้ดำรงชีวิตเป็นพืชอิงอาศัยอยู่บนคาคบต้นไม้ขนาดใหญ่บนป่าดิบเขาระดับสูง 800 ม.ขึ้นไป จนถึง 1,200 ม. ของอุทยานเขาใหญ่

4.หนวดปลาหมึก “ไทเกอร์” (Tiger’ Schefflera : Tupidanthus calyptrus) หนวดปลาหมึกสกุลทูปิแดนทัส พบในเขตป่าดิบเขาระดับ 1,100 ม.ขึ้นไป และพบเป็นครั้งแรกที่บ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์ ในปี พ.ศ. 2528 ต่อมาได้พบต้นขนาดใหญ่เกิดแบบพืชอิงอาศัยบนต้นก่อยักษ์ (Quercus sp.) หลังสถานีวิจัยดอยปุย เหนือดอยสุเทพ เขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย พืชชนิดนี้มีความสวยงามโดดเด่น เนื่องจากมีใบประกอบหนาผิวสีเขียวสดเป็นมัน ทนทานต่อความหนาวเย็น ใช้ในห้องปรับอากาศของประเทศในเขตอบอุ่นได้ดี

หนวดปลาหมึกบนเขาใหญ่มีมากมายกว่าที่บรรยาย แต่คิดว่านำเสนอพอรู้จักในตอนนี้ก็พอเพียงแล้ว แต่สำหรับหนวดปลาหมึกซึ่งพบเห็นในตลาดไม้ประดับที่สวนจตุจักรและทั่วไปในเมืองไทยนั้นคงได้แก่หนวดปลาหมึกออสเตรเลีย (Octopus plant : Schefflera actinophylla)

ถิ่นต่างประเทศ พบในปาปัวนิวกินี ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลียขนาดใหญ่ ชูลำต้นสูงเป็นไม้ยืนต้นที่สง่างามมาก แม้ปลูกในกรุงเทพฯ ก็ตาม ต้นขนาดเล็กไม่เกิน 2 เมตร ปลูกเป็นไม้ประดับอาคารได้อย่างเยี่ยม นับเป็นไม้ใบประดับในอาคาร (ปรับอากาศ) ที่หาไม่ง่ายนักในปัจจุบัน เพราะหลงลืมและละทิ้งของดีๆ กันไปหมด หนวดปลาหมึกชนิดนี้นิยมปลูกกันทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป

หนวดปลาหมึกไต้หวัน (Schefflera arbolicola) หนวดปลาหมึกกลุ่มนี้มีหลายพันธุ์ (Cultivars) ที่มีใบด่างเหลือง ด่างขาว ก็มี นับว่าเป็นชนิดที่มีความหลากหลายมากพอสมควร แต่ลักษณะทั่วไปคือ มีทรงต้นเตี้ย กะทัดรัดเป็นพุ่มใบขนาดเล็กกว่าหนวดปลาหมึกออสเตรเลีย บางชนิดพบบนเกาะไต้หวัน และจีนตอนใต้ (ยูนนาน) นับว่ามีประโยชน์แก่การปลูกเป็นไม้ใบประดับบ้าน และสำนักงาน เพราะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมทั้งร้อน หนาว และความชื้นในอากาศที่เปลี่ยนแปลง

หนวดปลาหมึกหลายชนิดมีผลเป็นแบบเบอร์รี่ ลูกสุกนกชอบกิน นับว่าเป็นยาบางอย่าง นกขับถ่ายเมล็ดออกมาติดกับเปลือกไม้บนคาคบไม้ใหญ่ ซึ่งอากาศบนยอดไม้มีความชื้นสูง เมล็ดงอกได้เร็วและดำรงชีวิตเป็นไม้อิงอาศัยต่อไป