‘สังคายนา’ วิชาชีพหนังสือและสิ่งพิมพ์
“นักเขียนไส้แห้ง” เป็นคำกล่าวที่สุดแสนจะคลาสสิกในความหมายของอาชีพ
โดย...พริบพันดาว
“นักเขียนไส้แห้ง” เป็นคำกล่าวที่สุดแสนจะคลาสสิกในความหมายของอาชีพ หรือวิชาชีพที่สุดแสนจะลำบากยากจน อดๆ อยากๆ น้อยรายนักที่ยึดอาชีพนี้แล้วจะโด่งดังร่ำรวยมีเงินมากมายมหาศาล บางคนเต็มไปด้วยชื่อเสียงเกียรติยศ แต่ก็ไร้เงิน บางเสียงก็บอกว่าไม่มีอาชีพนักเขียนในเมืองไทย
ว่าไปแล้วก็น่าจะจริง เพราะทางราชการไม่มีอาชีพนี้ในสารบบ มีแต่คำว่า ลูกจ้างหรือรับจ้างทำของ เป็นคำที่เรียกแบบเหมารวมแทน แต่วงการหนังสือก็ใช่จะมีแค่นักเขียน ในห่วงโซ่นี้ยังมีกลุ่มร่วมอาชีพที่เกาะเกี่ยวกันอย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็น นักแปล นักวาดภาพประกอบ บรรณาธิการ พิสูจน์อักษร และนักออกแบบกราฟฟิก อีก 5 วิชาชีพที่แยกจากกันไม่ได้
อาชีพและนักวิชาชีพเหล่านี้ แม้จะถูกยอมรับโดยพฤตินัย แต่ทางนิตินัยถือว่าไม่มีการยอมรับตามกฎหมายแต่อย่างใด ถูกผลักและจัดให้อยู่ในส่วนของอาชีพอื่นๆ อย่างเสียไม่ได้ เรียกตามศัพท์คนรุ่นใหม่ก็เป็น “พวกติ่ง” นั่นเอง
โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ โดยความร่วมมือของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นมา จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีกับบรรดาอาชีพที่อยู่ในวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์เป็นอย่างสูง
หากการสังคายนา หมายถึง การประชุมตรวจชำระ สอบทาน และจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ ก็น่าจะหมายถึงการสังคายนาอาชีพและนักวิชาชีพให้เป็นระเบียบแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นกัน
วงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ตื่นตัว
การจัดทำมาตรฐานอาชีพแลคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ โดยให้บุคลากรในอาชีพได้รับการยอมรับในความสามารถและได้รับคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับสมรรถนะและประสบการณ์ สามารถใช้คุณวุฒิวิชาชีพเพื่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพของตนเองได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ จำนวน 6 อาชีพ 1.นักเขียน 2.นักแปล 3.นักวาดภาพประกอบ 4.บรรณาธิการ 5.นักพิสูจน์อักษร และ 6.นักออกแบบกราฟฟิก เพื่อสร้างเครือข่ายการจัดทำ พัฒนา และเผยแพร่มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้และยอมรับในทุกภาคส่วน
ผศ.ร.อ.หญิง จุฑามาศ สุคนธา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และเลขาธิการสมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในสายของนักวิจัยทางด้านการอ่าน มองภาพรวมของบุคลากร 6 อาชีพนี้ในวงการหนังสือ ซึ่งต้องมีการอ่านเยอะกว่าคนปกติ ต้องมีการอัพเดทตัวเอง ค้นคว้าศึกษาข้อมูลเยอะมาก
“เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะได้รู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว ซึ่งต้องมีการอ่านและการฟังที่เยอะ เพื่อนำมาปรับใช้กับอาชีพของตัวเองได้ อาชีพในวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ทั้งหมดก็เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย การยกระดับก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะได้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง อะไรที่ถูกพัฒนาขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น คนไทยเรามีปัญหามากเรื่องเหล่านี้ เห็นด้วยกับการทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ แต่ควรหาข้อมูลกันเยอะๆ เพื่อความสมบูรณ์”
นักเขียน บรรณาธิการ เจ้าของสำนักพิมพ์ พรชัย แสนยะมูล เป็นคนที่สวมหมวกหลายใบมากในงานที่ตัวเองทำอยู่ เขาคลุกคลีอยู่กับทั้ง 6 อาชีพในวงการธุรกิจหนังสือนี้มากว่า 20 ปีแล้ว บอกว่า ส่วนมากคนที่อยู่ในวงการนี้ก็ทำงานออกมาจากหัวใจตนให้ได้ตามใจตัวที่สุด พึ่งตัวเองและดูแลตัวเอง
“ผมกำลังคิดว่าอาชีพนักเขียน กวี บรรณาธิการ พนักงานตรวจปรู๊ฟ นักวาดภาพ และผู้ที่หากินกับหนังสือ ได้เวลาที่จะถูกระบุลงในเอกสารสำคัญได้แล้ว ว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้สำรวจประชากรไทยต้องให้เกียรติและยอมรับกัน ให้เกียรติอย่างเดียวไม่ได้ อาจต้องให้สวัสดิการด้วยตามความเหมาะสม แต่ถึงที่สุดอย่าไปหวังอะไรมากครับจากคนอื่น แต่จงหวังจากตัวเองดีกว่า พึ่งตัวเองดีกว่าครับ เขียนเพื่อเลี้ยงตัวเอง และเลี้ยงจิตวิญญาณแห่งความสุนทรีย์ดีงามของสังคม”
ทั้งนี้ทั้งนั้น พรชัย ก็เห็นด้วยกับโครงการมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ และพร้อมที่จะเข้าร่วมระดมสมองในการประชาพิเคราะห์ที่จะเกิดขึ้นด้วย
เสียงจากผู้คร่ำประสบการณ์
อาชีพบรรณาธิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาชีพที่อยู่ในโครงการนี้ เรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ซึ่งทำงานในสายทางนี้มายาวนาน เขียนในเฟซบุ๊กของตัวเองที่ชื่อว่า “นายเรืองเดช จันทรคีรี” บอกว่า จากกรอบของงบประมาณในโครงการนี้ที่ใช้ระยะเวลาในการทำงาน 1 ปี ประมาณ 5 ล้านบาท จะบรรลุผลสำเร็จแน่นอน แต่เขาติดขัดในแง่มุมของการ “เร่งรัด” เพราะสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2554 โดยมีหน้าที่อย่างหนึ่งคือ “เร่งรัด” จัดทำระบบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ทำงานเน้นความรวบรัดและรวดเร็วเกินไป
เพราะกำหนดการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะให้เกิดขึ้นภายในปี 2563 หรือ ค.ศ. 2020
แต่ผู้นำอาเซียนได้ลงนามใน “ปฏิญญาเซบู” ว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เร็วขึ้นอีก 5 ปี เป็นภายในปี 2558 หรือ ค.ศ. 2015 โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ จึงต้องเร่งรัดตาม
ทุกอย่างที่ดำเนินการของโครงการนี้ เรืองเดช เขียนในเฟซบุ๊กของเขาว่า เห็นด้วยในความมุ่งมั่น เจตนาดี และตั้งใจ แต่ท้วงติงไปในเรื่องขั้นตอนและวิธีการทำงาน เพราะมุมมองของเขาต้องการให้มีสมาพันธ์สมาคมที่เกี่ยวกับวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ อาทิ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย สมาคมการ์ตูนไทย มารวมตัวกันในฐานะองค์กรวิชาชีพคู่ขนานกันไปด้วย และยืนยันว่าคณะทำงานในโครงการนี้ต้องเป็นตัวแทนที่ได้รับการรับรองและมาจากองค์กรวิชาชีพของตัวเองจริงๆ ไม่ใช่มาจากองค์กรอื่น
แน่นอน เรืองเดช ก็เขียนบอกว่า เป้าหมายของโครงการนี้ดีมาก ทำสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ และเป็นสิ่งที่สมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมนักเขียนฯ และ/หรือสมาคมนักแปลฯ ก็ใฝ่ฝันอยากจะได้มานาน
ทำเพื่อคนรุ่นใหม่
เสียงจากผู้ผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มองว่า โครงการนี้เดินไปได้ด้วยดี แม้มีข้อขัดแย้งติดขัดก็ตรงอาชีพนักเขียนและบรรณาธิการอยู่บ้างก็ตาม
“บุคลากรที่เป็นนักเขียนกับบรรณาธิการ จริงๆ แล้วถ้าพูดอย่างไม่เกรงใจกันในการทำงานครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่อยากขอร้องก็คือ อัตตา ช่วยเอาออก แล้วเรามาเริ่มต้นกัน บางครั้งนักเขียนและบรรณาธิการไม่เคยถูกคนมาเขียนกรอบให้ ซึ่งในการวางมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพตรงนี้ เราไม่ได้บังคับให้คุณทำ แต่เรามาต่อยอดร่วมกัน แล้วนักเขียนก็ไม่ได้จำเพาะแค่คนเขียนนวนิยายหรือคนเขียนเรื่องสั้น เราต้องมานิยามกันว่าคนเขียนหนังสือเป็นใครบ้าง มากำหนดกรอบวิชาชีพนักเขียนกัน อะไรที่เป็นนามธรรมสำหรับคนในวงการหนังสือ บางที ณ วันนี้คุณต้องหยุด และเริ่มต้นนับหนึ่งว่าอาชีพเราจะเป็นอย่างไรต่อไป จะอยู่อย่างนี้ต่อไปหรือเริ่มหลักหมายใหม่ ง่ายๆ แค่นั้นเอง”
จรัญ ชี้ว่า ในการทำงานตรงนี้ อาจไม่ได้ทำเพื่อคนรุ่นนี้ แต่คิดถึงคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในอาชีพนี้ ทุกอย่างที่เราทำได้มองไปข้างหน้าเพื่อคนรุ่นใหม่
“อย่างน้อยๆ ให้พวกเขาที่มีประสบการณ์น้อยได้รับรู้อะไรบางสิ่งบางอย่างบ้าง คุณให้คนไปเดินหาประสบการณ์เอง กับให้อ่านจากคนอื่นแล้วเดินไปข้างหน้าไม่ดีกว่าหรือ เราแลหน้าเพื่อก่อความหวังให้กับเขา แล้วให้เขาแลข้างหลังเพื่อให้เขาแก้ความผิดที่เคยมีมา เพราะฉะนั้นอยากจะเน้นว่าเราเห็นคนรุ่นใหม่เพราะประเทศชาติฝากอนาคตไว้กับคนรุ่นหน้า คนรุ่นเราถ้าแน่แล้วก็ไม่ต้องมาทำ เพราะเขาไม่ได้บังคับ คุณไม่ได้ใบนี้คุณก็ทำงานได้เหมือนเดิม แต่เราคิดถึงคนรุ่นใหม่ว่าเขาต้องมีใบวุฒิบัตรของเขา”
จากการใช้กรอบแนวคิดในการศึกษา ศึกษาการจัดทำมาตรฐานอาชีพของประเทศมาเลเซีย แคนาดา และออสเตรเลีย แล้วนำผลการศึกษาข้อมูลสาขาวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์มาจัดประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงาน เพื่อจัดทำแผนภาพหน้าที่งานและจัดทำมาตรฐานอาชีพจำนวน 6 อาชีพ แล้วจัดทำวิธีการและสร้างเครื่องมือในการประเมินตามแนวทางในมาตรฐานอาชีพ พร้อมจัดทำสรุปกระบวนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ประชุมพิเคราะห์เพื่อรับฟังความคิดเห็น มาสู่ขั้นตอนสุดท้ายได้มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ จรัญ ขยายความว่า
“การสร้างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพนั้น มันไม่จำเพาะในไทยเท่านั้น แต่มองไปไกลถึงเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี มาตรฐานของแต่ละประเทศ เวลาที่เขาไปขายงานในเออีซี ประโยชน์ก็คือพวกเขาสามารถออกไปพร้อมใบรับรองวิชาชีพ ย่อมดีกว่าออกไปแล้วมีเพียงวุฒิการศึกษาอย่างเดียว ตรงนี้ก็เปิดให้คนที่มีทักษะฝีมือแต่ไม่มีวุฒิการศึกษาได้รับการรับรองด้วย”
ทิ้งท้าย จรัญ บอกว่า เขาไม่หนักใจในการดำเนินการต่างๆ ของโครงการนี้ เพราะความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับคนในวิชาชีพนั้นๆ อยู่แล้ว
“ก็ใช้เวลากัน 1 ปีเต็ม คิดว่าปัญหาที่เข้ามาต่างๆ เป็นโอกาสให้เราทำงานได้ดีขึ้น รอบคอบและรัดกุมขึ้น คือสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการหนังสือย่อมมีการต่อต้านไม่เห็นด้วย หลายคนบอกว่าไม่เห็นจำเป็นต้องมี แต่ในห่วงโซ่วงการหนังสือมีหลายอาชีพ ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าที่จะทำการประชาพิเคราะห์อยากให้บุคลากรทั้งหมดในวงการหนังสือมาร่วมกำหนดอนาคตกับเรา โอกาสอยู่ในมือของพวกคุณแล้ว มาช่วยกันคิด ถ้าคุณไม่มา เมื่อวันหนึ่งเกิดมีสิ่งที่คุณไม่ชอบขึ้นมาก็โทษใครไม่ได้ เพราะเราเปิดโอกาสให้คุณเข้ามาทำแล้ว”
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ในอนาคต 1.ได้รายงานการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสาขาอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ
2.ได้มาตรฐานอาชีพ คุณวุฒิวิชาชีพ และคู่มือการใช้ (Operation Manual) ของสาขาอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ มีความเป็นสากล เหมาะสมกับประเทศ และเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
3.ได้คู่มือการประเมินและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเพื่อรองรับสาขาอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ในระดับต้นและระดับที่สูงขึ้น อย่างน้อยมาตรฐานอาชีพละ 3 ระดับ
4.เกิดการรับรู้และการยอมรับจากทุกภาคส่วนในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่อไป
ปี 2558 เมืองไทยจะมีมาตรฐานอาชีพแลคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์
ผู้ที่เกี่ยวข้องและอยากมีส่วนร่วมในโครงการ ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย โทร.02-954-9560-4 หรือเว็บไซต์www.pubat.or.thหรือfacebook.com/bookthai