ตัวเรือด แวมไพร์ใต้เตียง
ไม่ได้มีเพียงแมลงสาบเท่านั้นที่อยู่คงกระพันมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ รอบตัวเรายังมี “ตัวเรือด” ที่อยู่เคียงคู่มนุษย์มาตั้งแต่ยุคหิน มันมีวิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับคนและ “นอน”
โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย
ไม่ได้มีเพียงแมลงสาบเท่านั้นที่อยู่คงกระพันมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ รอบตัวเรายังมี “ตัวเรือด” ที่อยู่เคียงคู่มนุษย์มาตั้งแต่ยุคหิน มันมีวิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับคนและ “นอน” บนเตียงเดียวกับเราคืนแล้วคืนเล่า คอยดูดเลือดยามนอนหลับแล้วหายลับไป ทิ้งไว้แต่เพียงอาการแพ้ที่อาจเป็นฝันร้ายของใครหลายคน
ตัวเรือดในประเทศไทยพบมากในโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ โฮสเทล หรือที่พักที่มีคนหลายชาติผลัดเปลี่ยนเข้าพักอยู่เป็นประจำ มันคือตัวปัญหาที่บานปลาย จนเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการด้านที่พักต้องหันมาสนใจเจ้าแมลงล้านปีชนิดนี้
มันคือผีดูดเลือด
เรือด หรือ เบด บั๊ก (Bed Bug) เป็นแมลงดูดกินเลือดสัตว์เลือดอุ่นในเวลากลางคืนหรือตอนกลางวันบ้างหากมันต้องการเลือด ในอดีตประเทศไทยพบตัวเรือดเพียง 1 ชนิด คือ ไซเม็ก เฮมิพเทอรัส หรือตัวเรือดเขตร้อน แต่เมื่อไทยมีการเปิดประเทศเป็นเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น ตัวเรือดอีกชนิดก็เข้ามาพร้อมนักท่องเที่ยวต่างชาติคือ ไซเม็ก เลคทูลาเรียส หรือตัวเรือดในเขตหนาว พบได้ในออสเตรเลีย อเมริกา ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป มันจะเกาะมาตามเสื้อผ้าหรือกระเป๋าเดินทางซึ่งสามารถแพร่พันธุ์และเติบโตได้ดีในเมืองร้อน ต่างจากตัวเรือดเขตร้อนที่ไม่สามารถระบาดในเขตเมืองหนาวได้
ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ตัวเรือดในประเทศไทยลดจำนวนอย่างรวดเร็วเกือบจะสาบสูญไปหลังการกำจัดด้วยดีดีที (ยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่ง) แต่หลังจากนั้นไม่นานตัวเรือดก็เริ่มดื้อสารเคมีและกลับมาระบาดอีกครั้ง ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงต้องพัฒนาสารเคมีให้ทันกับวิวัฒนาการของมัน
ตัวปัญหาในบ้านไฮโซ
ดร.อุษาวดี ถาวระ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกีฏวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้ยกตัวอย่างกรณีการตรวจพบตัวเรือดในเบาะรถไฟสปินเตอร์สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ที่ออกมากัดผู้โดยสารจนทำให้ต้องระงับการเดินรถชั่วคราว แสดงถึงผลกระทบทำให้การขนส่งและการท่องเที่ยวหยุดชะงัก
“ตัวเรือดเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะตามที่สาธารณะ เช่น โรงแรม โรงหนัง โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ ค่ายอพยพ รถไฟ รถยนต์ หรือแม้แต่เครื่องบิน” ดร.อุษาวดี กล่าว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงมีการตรวจเจอตัวเรือดในโรงแรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มักติดมากับเสื้อผ้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนในต่างประเทศมีรายงานว่าพบตัวเรือดมากขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และออสเตรเลีย
ด้านชีววิทยาของตัวเรือดนั้นยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าตัวเรือดสามารถส่งต่อเชื้อโรคได้ แต่มันสามารถเป็นแหล่งอาศัยของไวรัสอันตรายอย่าง เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และเชื้อไวรัสเอชไอวี หากมันดูดเลือดคน น้ำลายของมันจะทำให้เกิดอาการแพ้และอักเสบที่ผิวหนัง จากจุดเล็กๆ ก็จะกว้างขึ้นและยิ่งเกาก็ยิ่งใหญ่ขึ้น
ด้าน ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญการกำจัดตัวเรือดในประเทศไทย กล่าวด้วยว่า “ตัวเรือดมักอยู่ในโรงแรมห้าดาว” โดยไม่เกี่ยวกับว่าโรงแรมนั้นจะสกปรกหรือสะอาด เพราะมันจะอาศัยอยู่ตามซอกหลืบ โดยพบในโรงแรมที่กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ กระบี่ และภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งสิ้น
จุดที่พบมากที่สุดในห้องพัก คือ เตียงและชั้นวางกระเป๋าเดินทาง รองลงมา คือ ตู้เสื้อผ้าและโซฟา และพบบ้างในห้องน้ำและบนผ้าม่าน ซึ่งมีสิ่งบ่งชี้อยู่ 4 อย่าง ได้แก่ ตัวเรือด ทั้งที่มีชีวิตและรอยเลือดคนที่อาจพบ เพราะหลังจากที่มันดูดเลือดจนอิ่มแล้ว ขนาดตัวมันจะใหญ่ขึ้น เดินอุ้ยอ้าย และไม่สามารถกลับเข้าไปในหลืบเล็กๆ ได้อีก ซึ่งในขณะที่นอนหลับมีโอกาสที่คนจะไปนอนทับมันได้ รอยเปื้อนมูลดำของเรือด เป็นจุดเล็กๆ สีดำที่มันชอบทิ้งไว้ คราบของเรือดที่ลอก และไข่ของเรือดเป็นลักษณะวงรีสีขาวขนาดเล็กที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
หากพบสิ่งบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่งทางโรงแรมต้องจัดการกำจัดให้หมดสิ้น ห้ามแก้ปัญหาโดยการปิดห้องไม่ให้แขกเข้าพักแล้วหวังให้ตัวเรือดอดอาหารตาย ความจริงคือตัวเรือดสามารถอดอาหารได้ถึง 5 เดือน และมันสามารถเดินได้ไกล 6 ม. เพื่อออกมาหาอาหารแล้วกลับไปยังที่ซ่อนเดิม
แม่บ้าน นักฆ่าคนสำคัญ
แม่บ้าน คือคนแรกที่จะรู้ว่ามีตัวเรือดในห้องหรือไม่ ดังนั้นต้องให้ความรู้เรื่องวิธีการสังเกตและการกำจัดพวกมัน ตัวเรือดสามารถตายด้วย 2 สาเหตุหลัก คือ ความร้อน และสารเคมี แม่บ้านสามารถใช้เครื่องดูดฝุ่นจัดการกับตัวเรือดได้ แต่เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้วให้กำจัดตัวเรือดในถุงเก็บฝุ่นทันที โดยการแช่ในน้ำละลายผงซักฟอกเข้มข้น 1 ชม. หรือต้มถุงด้วยน้ำเดือดนานอย่างน้อย 10 นาที หรืออบถุงที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที พวกผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ม่าน และสิ่งที่สามารถถอดได้ควรนำไปซักแห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที จะฆ่าได้ทุกระยะรวมระยะไข่ด้วย หรือใช้ความร้อนอบห้องที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เวลา 1 ชม. จะฆ่าตัวเรือดและไข่ได้ทุกซอกทุกมุม
สำหรับสารเคมี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขได้ศึกษา พบว่า อิมิดาคลอพริด (Imidacloprid) เป็นสารเคมีที่กำจัดแมลงได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รองลงมา คือ คลอร์เฟนาเพอร์ (Chlorfenapyr) และฟิโปรนิล (Fipronil) ซึ่งทั้งสามชนิดเป็นสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มใหม่ที่ยังไม่เคยใช้กำจัดตัวเรือดมาก่อน นำมาใช้ทดแทนสารเคมีเดิมอย่างดีดีทีที่ดื้อยาแล้ว ล่าสุด บริษัท ไบเออร์ไทย ได้นำเข้าผลิตภัณฑ์กำจัดตัวเรือดทึ่ใช้สารเคมีอิมิดาคลอพริด และร่วมมือกับ คิงส์ เซอร์วิส เซ็นเตอร์ ทำผลิตภัณฑ์เทมพริด ที่ใช้สารเคมีและความร้อนฉีดพ่นกำจัดตัวเรือด
นอกจากแม่บ้านแล้ว นักท่องเที่ยวเองก็ต้องสังเกต หากพบสิ่งบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่งให้แจ้งพนักงานและขอเปลี่ยนห้องทันที เพราะเราไม่สามารถป้องกันตัวเรือดได้โดยการทาโลชั่นกันยุงหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัส เนื่องจากร่างกายมนุษย์คือสิ่งดึงดูดตัวเรือดที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากร่างกาย ความร้อนโดยเฉพาะขณะห่มผ้าความร้อนจะสะสมได้ดี รวมถึงเวลาพลิกตัวไปมาระหว่างนอนหลับ ตัวเรือดจะตรวจจับความเคลื่อนไหวได้ด้วย และเมื่อมีตัวหนึ่งเจอเหยื่อ มันจะปล่อยฟีโรโมนชนิดหนึ่ง (Aggregation Pheromone) เรียกเพื่อนมากินพร้อมกัน ทำให้ผิวหนังที่ถูกกัดมีลักษณะเป็นผื่นเพราะถูกเรือดรุมกินโต๊ะนั่นเอง
วิธีแก้ปัญหาตัวเรือดดูเป็นการเดินตามหลังมันไปหนึ่งก้าว เพราะต้องรู้ว่ามันอยู่ ถึงจะฆ่ามันได้ ดังนั้นแม่บ้านคือปัจจัยสำคัญที่จะควบคุมปัญหาการระบาด หากมีการสำรวจห้องพักอย่างละเอียดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ก็จะมีโอกาสป้องกันได้มาก
กวาดล้างปัญหาใต้เตียง
ทั้งนี้ สถานประกอบการรวมถึงขนส่งมวลชนทั้งหลายก็ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับตัวเรือด ยิ่งในยุคที่การสื่อสารเผยแพร่ไปได้รวดเร็ว หากมีคนถูกตัวเรือดกัด เกิดอาการแพ้ แล้วแชร์ภาพลงสังคมออนไลน์ จะทำให้ภาพลักษณ์ของสถานที่นั้นดูสกปรกขึ้นมาทันที แม้ว่าแห่งนั้นจะดูแลความสะอาดอย่างดีเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้ามีคนนำตัวเรือดติดมาด้วย จากตัวเมีย 1 ตัวที่ได้รับการผสมพันธุ์มาแล้วจะสามารถวางไข่ได้ถึง 200 ตัว และลูกๆ ของมันก็จะกินเลือดตั้งแต่วันแรกที่เกิดมา
สำหรับในประเทศไทย ตัวเรือด ถือว่าเป็นภัยเงียบที่ทำลายความรู้สึกของนักท่องเที่ยวและทำลายภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งแตกต่างจากเมืองนอกที่เป็นปัญหาโจษจันมานานแล้ว อย่างเช่น อเมริกา ที่มีโรงแรมถูกฟ้องเพราะลูกค้าถูกตัวเรือดกัดเป็นเงินถึง 300 ล้านบาท โดยในปี 2553 มีผู้เสียหายแจ้งว่าถูกตัวเรือดกัดมากถึง 4,000 ราย มากจนเกิดสำนักว่าความกรณีถูกตัวเรือดกัดโดยเฉพาะ แต่ก่อนที่ประเทศไทยจะรุนแรงถึงขั้นนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่ปัญหาใต้เตียงจะต้องถูกปัดกวาดให้สะอาด ก่อนจะเป็นปัญหาบานปลายจนตามแก้ไขไม่ทัน