posttoday

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

23 พฤศจิกายน 2557

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทคอฟฟี่ บีนเนอรี่ฯ และอุปนายกสมาคมกาแฟไทย

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทคอฟฟี่ บีนเนอรี่ฯ และอุปนายกสมาคมกาแฟไทย เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสะสมปั้นชาหรือกาชาจีนดินเผาให้เราฟังด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขบนใบหน้า

“ผมเริ่มเก็บปั้นชาหรือกาชาจีนดินเผา ใบแรกเมื่อ 20 ปีก่อนนู้น จริงๆ แล้วตอนนั้นผมยังไม่ได้คิดจะสะสมเป็นเรื่องเป็นราวหรอก แต่จะชื่นชอบการดื่มชาซะมากกว่า จุดเริ่มต้นที่ชอบสะสมน่าจะมาจากศิลปะและความสวยงามของรูปทรงปั้นชา บวกกับการที่ผมมีโอกาสได้ไปเรียนรู้จากเจ้าของร้านปั้นชาในย่านไชน่าทาวน์ของแคนาดา ก็ยิ่งทำให้ผมชอบและสนใจมากยิ่งขึ้น ผมว่าปั้นชามันมีความซับซ้อนมากกว่า
รูปทรงสวยงามที่เราเห็นกัน อย่างความกว้างของปากฝาปั้นชานั้นต้องกว้างหน่อยถึงจะดี เพราะเวลาใส่ใบชาเพื่อชง หรือเวลานำมาล้างทำความสะอาดก็จะทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น”

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

 

อัคคพันธ์ บอกว่า หลักในการเลือกปั้นชาสำหรับเขา จะเลือกจากการใช้งานเป็นหลัก คือ เลือกขนาดที่ดื่มได้ 2 คน ซึ่งจะไม่ใหญ่มาก ตามด้วยสีของดินเผาซึ่งมีสีหลักๆ คือ สีน้ำตาล สีแดง และสีแดงเข้ม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรูปทรงของปั้นชาจะเป็นสไตล์จีนทั้งหมด ราคาก็มีตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาท จนถึงหลักหมื่น และหลักแสนบาท

“หลักในการเลือกอีกอย่างของผม คือ ต้องดูจากความหนาของดินเผาและความเนี้ยบของฝาปั้นชาว่าต้องบาง พื้นผิวสม่ำเสมอ ไม่ขรุขระ ตัวฝากับบริเวณปากของกาจะต้องปิดสนิท สามารถหมุนได้อย่างราบรื่น ไม่ฝืด ไม่ติดขัด แต่ยิ่งมีความบางมากเท่าไหร่ ตอนล้างก็ยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น เพราะอาจเกิดการแตกบิ่นได้ง่าย ส่วนปั้นชาที่คุณภาพไม่ดีเนื้อดินจะหนาๆ หยาบๆ ซึ่งจะสามารถสังเกตได้ง่ายมากเลยล่ะ

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

 

ปั้นชาชั้นดีนั้นฝาจะต้องปิดสนิท เวลาเคาะเสียงจะใสกังวาน เพราะทำจากดินคุณภาพดีของประเทศจีน ซึ่งเป็นดินสีม่วงที่มีธาตุเหล็กเยอะ แต่พอนำมาเผาแล้วจะกลายเป็นสีน้ำตาลเฉดกลางๆ หรือสีน้ำตาลมาตรฐาน ดังนั้นเวลาซื้อก็ควรหาร้านที่เชื่อใจได้และควรสังเกต รายละเอียดจากเนื้องานเป็นหลัก”

อัคคพันธ์ เสริมว่า อีกวิธีคือการสังเกตจากรูปลักษณ์ซึ่งมีหลากหลายรูปทรงให้เลือก ถ้าจะใช้งานก็ควรเลือกรูปทรงมาตรฐานโดยทั่วไปซึ่งจะเป็นทรงกลมๆ แต่ถ้าซื้อมาเพื่อสะสมหรือไว้โชว์ก็เลือกได้ทั้งทรงเหลี่ยม ทรงกลม ทรงรี หรือรูปทรงที่แปลกตาอื่นๆ ซึ่งก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล อีกจุดสังเกตหนึ่งที่ดูได้ว่าปั้นชาอันไหนเป็นของแท้หรือไม่ก็คือ บริเวณใต้ก้นกาจะมีชื่อของศิลปินผู้ทำประทับอยู่ด้วยเสมอ

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

 

“ปั้นชาใบแรกที่เริ่มเก็บสะสมผมซื้อมาจากไต้หวันในปี 2533 ได้มาตอนที่ยังไม่ค่อยมีความรู้เท่าไหร่ ตัวกาเป็นดินเผาสีเขียว ตรงฝาประดับด้วยดินปั้นรูปธัญพืชประเภทถั่ว เห็ดหอม และอื่นๆ ซึ่งผมว่ามันสวยแปลกตาดี ประทับใจตรงเนื้อดินเผาสีเขียวๆ และรูปทรงของมันก็เลยซื้อมา ราคาไม่แพง แต่พอมาระยะหลังๆ ผมจะไม่ค่อยได้ซื้อปั้นชาแบบนี้แล้ว ปัจจุบันจะเน้นรูปทรงธรรมดาที่มีสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้มซะมากกว่า โดยดูจากคุณภาพของดินและฝีมือที่ประณีตเป็นหลัก”

หลักในการเลือกเก็บอีกอย่างของเขาก็คือ จะเลือกปั้นชาที่เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างปั้นชาทรงสี่เหลี่ยมลูกเต๋าซึ่งเป็นรุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่น ที่ทำมาแค่ 20 ใบนี้ ก็ทำขึ้นมาเนื่องในโอกาสที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีน มันจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองของเหตุการณ์นั้นพอดี

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

 

“ผมถือว่าโชคดีมากๆ เลยที่ได้ซื้อไว้ ราคาเกือบหมื่นบาทนะ แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่แพง ปั้นชาที่ราคาสูงสุดที่ผมเก็บไว้ราคาประมาณ 1.5 หมื่นบาท คือผมไม่ได้เน้นเก็บปั้นชาที่ราคาแพงหรือเน้นที่ศิลปินดังๆ เป็นคนทำ แต่ผมจะเน้นในเรื่องความสวยงามแปลกตาของรูปทรงมากกว่า ถ้าถูกใจผมก็จะซื้อมาเก็บไว้เลย ใบโปรดที่สุดของผมตอนนี้ก็คือใบสี่เหลี่ยมลูกเต๋านี่แหละครับ

อย่างใบที่ดูคล้ายรังนกนี้ก็คือ ปั้นชารูปสนามกีฬารังนกซึ่งทำขึ้นในปีที่จีนได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2008 ซึ่งผมก็ซื้อเก็บไว้เพราะรูปทรงที่สวยแปลกตาอีกเช่นกัน ใบนี้ผมซื้อจากร้านขายปั้นชานี่แหละ ราคาประมาณ 7,000 บาท ซึ่งช่วงหลังๆ นี้ความถี่ในการซื้อของผมจะน้อยลง เพราะจะเน้นที่รูปทรงแปลกๆ มากขึ้น อีกอย่างคือที่เก็บปั้นชาเริ่มเต็มแล้วครับ (หัวเราะ) เรียกว่ามีทุกรูปทรงเลยตอนนี้ ทั้งหมดน่าจะมีประมาณเกือบ 100 ใบได้”

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

 

อัคคพันธ์ ทิ้งท้ายว่า เวลาซื้อก็อาจต้องระวังหน่อย เพราะสมัยนี้มีการเอาปั้นชาที่ทำใบใหม่แช่ทิ้งไว้ในน้ำชานานๆ เพื่อให้มันดูเก่าๆ เรียกว่าของเก๊สมัยนี้มีทุกรูปแบบ จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการสะสมพอสมควร เพราะตอนนี้มีพ่อค้าหัวใสบางรายเอายาขัดรองเท้าสีน้ำตาลมาขัดปั้นชาให้เงาและดูเก่า แต่เราสามารถสังเกตได้ว่าปั้นชานั้นไม่ได้เงาจากดินที่นำมาปั้น ถ้าลองดมดูก็จะรู้ได้ว่าเป็นกลิ่นของยาขัดรองเท้า

“หลังจากนี้ผมก็คงจะเก็บเพิ่มอีกเรื่อยๆ แต่ค่อยๆ เก็บแบบไม่รีบร้อน พูดได้ว่าการที่ได้เก็บปั้นชาหรือกาชาจีนนี้นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะถือว่าเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่งซึ่งใครจะคิดว่าภาชนะในการชงชามันจะมีดีไซน์ที่หลากหลายได้ขนาดนี้ ทั้งในเชิงของศิลปะของรูปลักษณ์และศิลปะของการชงชาด้วย ผมจึงคิดว่าปั้นชาหรือกาชาจีนดินเผานี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่าเก็บสะสมไว้เป็นอย่างยิ่งครับ”

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

 

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

 

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

 

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน

 

อัคคพันธ์ ลีวุฒินันท์ หลงใหลในศิลปะของปั้นชาจีน