posttoday

คุณธรรมนำธุรกิจ

27 ธันวาคม 2557

“คุณธรรมนำธุรกิจ เป็นสโลแกนที่บริษัทของเราใช้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เราเน้นการทำธุรกิจบนหลักธรรมาภิบาล ทำธุรกิจที่ไม่ให้ร้ายคนอื่น ไม่ทำลายคนอื่น อยู่บนพื้นฐานของหลักสัมมาอาชีวะ”

โดย...สมหทัย โมสิกะ / กิจจา อภิชนจรเรข

“คุณธรรมนำธุรกิจ เป็นสโลแกนที่บริษัทของเราใช้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เราเน้นการทำธุรกิจบนหลักธรรมาภิบาล ทำธุรกิจที่ไม่ให้ร้ายคนอื่น ไม่ทำลายคนอื่น อยู่บนพื้นฐานของหลักสัมมาอาชีวะ”

นี่คือคำบอกเล่าถึงแนวทางการทำธุรกิจในสไตล์ของ สุภชัย วีระภุชงค์ ผู้บริหารบริษัท ไทยนครพัฒนา ผู้ผลิตยา “ทิฟฟี่”ซึ่งปัจจุบันแตกแขนงธุรกิจออกไปหลากหลาย ทั้งธุรกิจยาโรงแรม สนามกอล์ฟ น้ำดื่ม และสถานีโทรทัศน์ และถือเป็นบริษัทไทยรายแรก ที่ออกไปขยายธุรกิจในประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี โดยปัจจุบัน ฐานธุรกิจสำคัญนอกเหนือจากเมืองไทยคือ กัมพูชา และเวียดนาม

ในฐานะที่คร่ำหวอดในวงการธุรกิจระหว่างประเทศมานานต้องรับหน้าที่บริหารงานที่มีความหลากหลาย ทำให้อยากรู้ว่าสุภชัยมีเคล็ดลับการบริหารธุรกิจอย่างไรบ้าง

ผู้บริหารทิฟฟี่นิ่งคิดเพียงชั่วครู่ก่อนตอบว่า เขาใช้หลักสัปปุริสธรรม 7 คือ หลักสัตบุรุษ คุณสมบัติคนดี และเชื่อว่านี่คือหลักการที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจ สามารถใช้บริหารธุรกิจได้ทุกประเภท พร้อมแจกแจงหลัก 7 ข้อที่ว่าอย่างคล่องแคล่วว่า รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้ชุมชน และรู้คนอื่น ก่อนที่จะอธิบายให้ฟังเป็นข้อๆ ว่า

รู้เหตุ รู้ผล คือ การที่คนทำธุรกิจจะต้องรู้ว่าตลาดมีความต้องการอะไรบ้าง ยังขาดแคลนสิ่งไหน และบริษัทจะไปทำอะไร ขายอะไรได้บ้าง

รู้ตน หมายถึง ต้องเข้าใจตัวเอง รู้ว่ามีความสามารถระดับใด รู้ประมาณ เหมือนกับหลักความพอเพียง โดยการทำธุรกิจทุกอย่างล้วนต้องมีการลงทุน ดังนั้นนักธุรกิจต้องรู้ว่าควรจะลงทุนแค่ไหน ทำธุรกิจขนาดไหน และต้องคิดเผื่อไปด้วยว่า ถ้าลงทุนล้มเหลวต้องไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนแต่ก็ต้องยอมรับว่าความพอเพียงของแต่ละคนไม่เหมือนกันเพราะมีปัจจัยเกื้อหนุนต่างกัน

ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจก็ต้อง รู้เวลา เช่น ถ้าอยากจะวางตลาดโลชั่นบำรุงผิว ต้องรู้ว่าควรจะวางตลาดในฤดูไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด ส่วน รู้ชุมชน คือ ต้องรู้ว่าชุมชนที่เข้าไปทำธุรกิจเป็นอย่างไร รู้จักวิถีชีวิตของคนในชุมชน ถ้าไปทำธุรกิจแล้ว จะกระทบใครบ้างหรือเปล่า เช่น ถ้าไปทำธุรกิจในประเทศที่คนนับถือศาสนาฮินดู แต่ไปขายเนื้อวัว ต้องคิดด้วยว่าจะขายได้ไหม

ส่วนข้อสุดท้ายคือ รู้จักคนอื่น คือ รู้ว่าคู่แข่งในตลาดมีใครบ้าง จะต้องแข่งขันกับใคร จะสู้ได้หรือไม่ หากคิดว่าตนเองเก่ง คู่แข่งก็อาจจะเก่งเหมือนกัน และอาจมีปัจจัยเกื้อหนุนมากกว่าอีกต่างหาก

สุภชัย ย้ำว่า “ผมเรียนเศรษฐศาสตร์มา ผมว่าหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเหนือกว่าหลักการตลาด 4P เราสามารถใช้หลักของความเป็นคนดีมาใช้ในการบริหารธุรกิจได้การทำธุรกิจก็คือการประพฤติตนเป็นคนดี”

คุณธรรมนำธุรกิจ

ปฏิบัติธรรมทุกวัน

เห็นการใช้หลักธรรมมาบริหารธุรกิจแบบนี้แล้ว หลายคนอาจจินตนาการว่า ไทยนครพัฒนาจะต้องจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษ หรืออาจเป็นเหมือนบางบริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานไปปฏิบัติธรรมที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรมต่างๆ แต่คำตอบของสุภชัยกลับผิดจากที่คาดคิดไว้ เพราะไทยนครพัฒนาไม่มีโครงการพาพนักงานไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัด แต่ผู้บริหารจะเน้นการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักธรรมแทน

“กรรมฐาน คือ การให้มีสติระลึกรู้ ว่าเราทำอะไรอยู่ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญคนที่ทำกรรมฐานทุกอิริยาบถ เดิน นั่งยืน นอน การปฏิบัติไม่จำเป็นต้องไปที่วัดก็ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ควรไปนะครับ เราพยายามสอนให้พนักงานปฏิบัติกรรมฐานบนความเคลื่อนไหว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและคนอื่น”

นอกจากนี้ เขายังชี้ด้วยว่า นักบริหารที่ดีควรปฏิบัติกรรมฐานได้ในทุกอิริยาบถ

“คนเราต้องมีสติระลึกรู้ตลอดเวลาว่าทำอะไรอยู่ ถ้าเราทำงานแต่ไม่อยู่ในอารมณ์ระลึกรู้ ใช้อารมณ์เพียงอย่างเดียว การตัดสินก็อาจจะผิดพลาดได้ อาจทำให้เกิดการบิดเบือน ผู้บริหารที่ทำอะไรผิดพลาดเยอะ เพราะปล่อยให้ความรู้สึกส่วนตัวมาครอบงำในการทำงาน”

ใช้ “เป้าหมาย” คุมธุรกิจ

สุภชัยยังได้เล่าวิธีการทำธุรกิจสไตล์ไทยนครพัฒนาว่าจะมองที่ “เป้าหมาย” เป็นหลัก จะไม่ใช่ “กรอบเวลา” มาเป็นปัจจัยกดดัน เขาเล่าว่า คุณพ่อของเขาที่เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเคยบอกว่า หากพ่อไม่สามารถทำธุรกิจได้สำเร็จในรุ่นของตัวเอง ก็หวังว่ารุ่นของสุภชัยจะทำสำเร็จ แต่หากยังทำไม่ได้ ก็หวังว่ารุ่นของหลานจะทำได้

เขาได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของการสนใจเป้าหมายมากกว่ากรอบเวลาว่า สมมติว่า บริษัทแห่งหนึ่งจะวางตลาดผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิว วางเป้าหมายไว้ว่าจะกวาดยอดขายให้ได้ 8,000 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งการตลาด 10% ภายใน 2 ปี แต่หากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายตามกำหนด ก็อาจจะถอดใจและถอนตัวออกจากวงการ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง หากยืดเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง ก็อาจสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวก็ได้

“เงื่อนเวลาเป็นทั้งคุณและโทษ อย่าลืมว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับตัวแปรหลากหลาย นอกจากตัวเราเองแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับคนอื่น ขึ้นอยู่กับคู่แข่งของเราด้วย พยายามมองที่เป้าหมาย อย่าใช้กรอบเวลามาบีบบังคับตัวเอง หลายคนยอมแพ้เพราะทำไม่ได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้”

คุณธรรมนำธุรกิจ

 

ผู้นำ...นำสู่ทางที่ถูกต้อง

ธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน คือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่นักบริหารยุคใหม่ต้องการจะเห็น ซึ่งการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ “ผู้นำ” คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง สุภชัยชี้ว่าผู้นำจะต้องแสดงออก ต้องนำผู้ตามเดินไปในทิศทางที่ถูกทาง การสร้างวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ ล้วนเกิดจากผู้นำทั้งสิ้นในการกำหนดแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้พนักงานรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อร่วมกันนำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ

“สิ่งสำคัญก็คือการคิด พูด และทำ ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน การที่เราเผชิญกับปัญหาในปัจจุบัน ก็เพราะผู้นำคิดอย่าง พูดอย่าง และทำอย่าง”

รู้จักแบ่งปัน

นอกจากความสำเร็จขององค์กรแล้ว นักธุรกิจควรรู้จัก“แบ่งปัน” ให้กับสังคมด้วย

สุภชัยตั้งคำถามว่า “ถ้าองค์กรธุรกิจเฝ้าแต่แสวงหาประโยชน์ของตัวเอง มองแต่การก้าวขึ้นเป็นบริษัทแถวหน้าของโลก อยากติดอันดับท็อป 100 แต่ไม่สนใจสังคม โลกจะอยู่ได้หรือไม่”

เขาชี้ว่า ตอนนี้คนในสังคมส่วนใหญ่ที่มักจะมองแต่ “วันนี้”มุ่งแต่แสวงหาเงินทอง อำนาจ แต่ลืมคิดไปว่า ชีวิตยังมีความหมาย และมีเป้าหมายอื่นๆ ด้วย เวลาที่มองความเจริญของประเทศ ก็จะสนใจแต่เรื่องของเศรษฐกิจ ดูว่าจีดีพีเติบโตเท่าไหร่ แต่ไม่ได้สนใจจิตใจของคนในสังคม ไม่ดูว่าอยู่กันอย่างมีความสุขหรือไม่ การอยู่อย่างสันติสุข ไม่ได้อยู่ที่จีดีพีของประเทศ

“อย่าเดินอยู่ในความมืด การใช้ชีวิตต้องเดินอย่างมีทิศทาง เราสนใจตัวเลขเศรษฐกิจได้ แต่ต้องรู้จักบาลานซ์กับด้านอื่นๆ เพื่อให้สังคมมีความสุข ต้องรู้จักแบ่งปันให้กับสังคมรอบข้าม ผมพูดเสมอว่า การออกไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน อย่าเอาแต่ตักตวง หาประโยชน์เพื่อตัวเอง ต้องคิดว่าประเทศที่เราไปลงทุนเป็นบ้านของเราอีกแห่งหนึ่ง ต้องรู้สึกอยากมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเมืองของเขาให้ดีขึ้นด้วย” สุภชัย ทิ้งท้าย