posttoday

ปาล์มและคล้า-ไม้ใบประดับบ้าน

04 มกราคม 2558

ปาล์มมีคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แม้สภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ จะดูไม่เอื้ออำนวยให้ปาล์มหลายชนิด

ปาล์มมีคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แม้สภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ จะดูไม่เอื้ออำนวยให้ปาล์มหลายชนิดได้แสดงความงามของมันออกมาได้เต็มที่นักก็ตาม แต่ความสง่างามของปาล์มแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของไม้ยืนต้นที่ช่วยรักษาจิตใจและสองให้เกิดความผ่อนคลาย เรียกว่าเป็น Emotional Theraphy เพื่อนหลายคนปลูกปาล์มรายรอบตัวทั้งนอกบ้าน ในบ้าน ลานบ้าน ในสวน และแม้แปลงปลูกกลางแจ้ง แดดร้อนจัด ปาล์มหลายสกุลหลายชนิดยังขึ้นงอกงามได้ ขอเพียงโอกาสให้มันได้ปรับตัวเท่านั้นก็พอ

สำหรับปาล์มนั้นโดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่ และหลายชนิดมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี คนไทยเริ่มรู้จักนำปาล์มมาปลูกประดับสวนกันจริงๆ ก็สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 นั่นแหละ พระองค์โปรดปาล์มและเมื่อครั้งประพาสเกาะชวา อินโดนีเซีย ทรงนำปาล์มมาเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

ปาล์มและคล้า-ไม้ใบประดับบ้าน

 

ปาล์มส่วนมากเมื่อเติบโตเต็มที่มักมีขนาดใหญ่ลำต้นอาจสูง ดังนั้นจึงต้องปลูกด้วยความระมัดระวัง และควรมีการวางแผนเสียเล็กน้อย เพราะปาล์มไม่เหมือนไม้ใบประดับเช่นโกสน เข็ม ซึ่งมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ปาล์มจะดูดีมากหากปลูกเป็นหมู่หรือเป็นกอ จำนวนต้นอาจ 3-5 ต้นต่อกอ โดยใช้ระยะปลูกห่างกันเพียงหนึ่งเมตรจะทำให้เกิดภูมิทัศน์ที่สวยงาม ต้นปาล์มนี้เมื่อนำมาปลูกเป็นหมู่เป็นกอควรจะเลือกหาต้นที่ขนาดต่างกันมาปลูก ต้นหนึ่งสูง ต้นหนึ่งปานกลาง สองต้นเตี้ยหรือขนาดเล็ก

สำหรับสวนที่ออกแบบเรขาคณิตหรือแบบสมมาตร (Formal Gardens) ควรปลูกปาล์มเข้าแถวคู่ขนานตามแนวยาวสองฟากถนนจะดูโดดเด่น ปากทางเข้าควรปลูกปาล์มให้เป็นคู่จึงดูสง่างามเช่นนี้เป็นต้น

ปาล์มซึ่งมีขนาดใหญ่อายุมากนี้เมื่อปลูกเข้าแถวคู่ขนานตามสองฟากถนนสายใหญ่ที่ฝรั่งเรียกว่า อะเวนิว (Avenue) ทำให้ดูสง่าเด่นขึ้นมาทันที และเรามักได้เห็นการปลูกปาล์มต้นเดี่ยวสูงใหญ่แบบนี้เสมอตามเกาะกลางถนนหลายสายในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ โดยสมัยก่อนมักนิยมใช้ปาล์มขวด (Cuban Royal Palm) เป็นหลัก ต่อมาก็มีปาล์มขนนก และสมัยนี้นิยมใช้ต้นแก่ หรือต้นตัวผู้ของปาล์มน้ำมัน (Oil Palm) มาปลูกกันจนเป็นแฟชั่น ปาล์มขนาดใหญ่อีกกลุ่มซึ่งนิยมนำมาปลูกประดับบ้านจัดสรรและบ้านที่มีอาณาเขตกว้างขวางก็คือ กลุ่มของอินทผลัม (Date Palm) ไม่ว่าจะเป็นปาล์มอินทผลัม (Phoenix Dactylifera) หรือปาล์มอินทผลัมใบเงิน (Phoenix Sylvestris) หรือปาล์มสิบสองปันนา (Phoenix Roebelinii) ที่เรียกว่า Dwarf Date Palm เพราะความที่ต้นขนาดเล็ก เตี้ยกว่าอินทผลัมชนิดอื่นนั่นเอง

ปาล์มและคล้า-ไม้ใบประดับบ้าน

 

ปาล์มที่ทำให้ผู้ที่อยู่ติดบ้านหลงใหลน่าจะได้แก่ การนำเอาปาล์มที่หาง่ายแต่ใช้ปลูกประดับสระว่ายน้ำได้ผลดี เช่น มะพร้าว (Cocos Nucifera) โดยคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวที่มีขนาดเล็กแต่งดงาม เช่น มะพร้าวเตี้ยน้ำหอม มะพร้าวไฟผลสีเหลือง-ส้ม มะพร้าวพวงร้อย นำมาปลูกในหลุมเดียวกันหลุมละ 3 ต้น ก็จะกลายเป็นกลุ่มที่ดูสวยงามแปลกตา แต่ถ้าหากเอามะพร้าวใหญ่ธรรมดามาปลูกเป็นต้นเดี่ยว ก็จะกลายเป็นหาเสาโทรเลขมาปลูก เพราะมันอาจเติบโตสูงใหญ่ได้ถึง 15-20 เมตร (กว่า 60 ฟุต) ไปก็มี และควบคุมลูกมะพร้าวแก่ที่จะร่วงลงมาทำอันตรายแก่คนในบ้านได้ยาก

ปาล์มน้ำมันหากนำมาปลูกประดับบ้านก็ควรหาเพื่อนให้มันเหมาะสมกันด้วย ไม้ดอกไม้ประดับที่เข้ากันได้กับปาล์มน่าจะได้แก่ ขิงแดง กล้วยพัด ปักษาสวรรค์ดอกขาว ฟิโลเดนดรอน มอนสเตรา โกสน ลั่นทม หนวดปลาหมึก เฟินข้าหลวง ชายผ้าสีดา กล้วยไม้จำพวกแวนด้าบางชนิด รวมทั้งคล้า

เรื่องของคล้า

“คล้า” เป็นชื่อของไม้ใบประดับบ้านที่ไม่คุ้นหูหลายคน แต่สำหรับนักสะสมไม้ประดับแล้วเกือบทุกคนมักจะมีคล้าหลายชนิดไว้ครอบครอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะจะหาไม้ใบชนิดไหนมาเทียบกับคล้าได้ยากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของลวดลายสีสันบนผิวใบ

คล้ามีชื่อสกุลว่า Calathea ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมน่าจะมาจากอเมริกากลาง เม็กซิโก ละตินอเมริกา คล้าเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Marantaceae นับเป็นญาติใกล้ชิดกับสาคู (Maranta) ซึ่งเรียกว่า Arrowroot ซึ่งมาจากอเมริกาใต้ แต่มาในเมืองไทยนมนานจนแทบจะกลายเป็นพืชบ้านไปเสียแล้ว

คล้ามีมากมายถึง 130 ชนิด ก็ว่าได้ แต่ที่เข้ามาปลูกเลี้ยงกันเป็นไม้ใบประดับบ้านนั้นมีอยู่สัก 20-30 ชนิด เห็นจะได้ ไม่นับรวมลูกผสมอีกมากมาย ล้วนแต่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ป่าดิบชื้นเขตร้อนแห่งทวีปอเมริกาเลยทีเดียว

นักพฤกษศาสตร์และนักล่าพันธุ์พืชจากยุโรปเดินทางเข้าไปในป่าอเมริกาใต้และเก็บรวบรวมพันธุ์คล้าชนิดต่างๆ ออกมาให้ชาวโลกได้เห็นกันในช่วงกลางศตวรรษที่ 19

การปลูกเลี้ยงคล้าในบ้านเรานั้นแสนจะง่าย เพราะสภาพภูมิอากาศดูใกล้เคียงกันมากระหว่างบราซิลและไทย คล้านั้นขึ้นได้ดีในป่าฝนเขตร้อน ซึ่งมีความชุ่มชื้นสูง อุณหภูมิสูง และมีความเข้มแสงต่ำ ดังนั้นหากจะปลูกเลี้ยงในบ้านให้ได้งามเต็มที่แล้ว นับว่ายากมาก แต่จะให้ดีแล้ว ควรปลูกคล้าในเรือนโรงพรางแสง ชุ่มชื้น เมื่อสวยงามเต็มที่แล้วจึงยกกระถาง (พร้อมจานรอง) ไปตั้งประดับในบ้านจะสะดวกสบายกว่า พอครบสองสัปดาห์จึงจะยกกระถางออกเปลี่ยนต้นใหม่เข้าไปแทน นี่เป็นวิธีซึ่งขอแนะนำให้ปฏิบัติ

ปาล์มและคล้า-ไม้ใบประดับบ้าน

 

คล้าในวงศ์ Arrowroot (Marantaceae) นี้จัดเป็นพืชล้มลุก (ไม้เนื้ออ่อน) อายุหลายปี หรือที่เรียกว่าเป็นพืชถาวร เห็นลำต้นตั้งขึ้นหรืออาจทอดเอนไปกับพื้นก็ได้ มีลักษณะเป็นเหง้าสั้นๆ แผ่นใบกว้าง ใบหนา ผิวใบบนเป็นมัน ประกอบด้วยลวดลายสีสันต่างๆ งดงามนัก ก้านใบแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนก้านและส่วนที่เป็นกาบหุ้มต้นที่แผ่ออก ช่อดอกแบบ Spike หรือแบบ Panicle ปกติมักมีกาบประดับห่อหุ้มอยู่ ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ พืชในวงศ์นี้ประกอบด้วยสกุลต่างๆ ถึง 26 สกุล 350 ชนิด ส่วนใหญ่ (19 สกุล) อยู่ในอเมริกาเขตร้อน แต่มี 7 สกุลอยู่ในแอฟริกา และ 6 สกุลพบในทวีปเอเชีย

ใบคล้าจริงๆ แล้วประกอบขึ้นจาก 3 ส่วน คือ ส่วนกาบใบ ส่วนก้านใบ และแผ่นใบ คล้าเป็นญาติใกล้ชิดกับพุทธรักษา (วงศ์ Cannaceae)

คล้าที่สวยงามและพบเห็นในตลาดไม้ประดับเมืองไทยอยู่เสมอ ได้แก่ Calathea Makoyana ที่มีชื่อสามัญว่าต้นนกยูง (Peacock Plant), C. leopordina, C.veitchiana, C.setosa, C.vittata, C.X insingnis (C.lancifolia), C.picturata “Argentea”, C.bachemiana, C.zebrina

เครื่องปลูกคล้าที่ดี ได้แก่ ดินผิวหรือดินตะกอน 3 ส่วน (อาจใช้ดินผสมการค้าที่ขายสำเร็จเป็นถุงก็ได้) ผสมทรายหยาบครึ่งส่วน เติมใบไม้ผุ (ใบก้ามปู) 1 ส่วน และผสมกาบมะพร้าวชิ้นขนาดนิ้วก้อยลงไปอีกครึ่งส่วน ผสมให้คลุกเคล้ากันดี ก่อนปลูกกาบมะพร้าวชิ้นเล็กนี้อาจใช้รองก้นกระถางก็ได้ เพื่อป้องกันมิให้รากแห้งหากขาดน้ำ

หลังจากรดน้ำแล้วให้ตั้งกระถางคล้าไว้ในเรือนโรงที่พรางแสงให้ประมาณ 60-70% รักษาสภาพเรือนโรงให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ คล้าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว