posttoday

มองสยาม เมื่อ 150 ปี

14 มกราคม 2558

นับเป็นอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย กับภาพถ่ายสยามเมื่อ 150 ปีก่อน ของช่างภาพชาวอังกฤษ นามว่า “จอห์น ทอมสัน”

โดย...นกขุนทอง

นับเป็นอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย กับภาพถ่ายสยามเมื่อ 150 ปีก่อน ของช่างภาพชาวอังกฤษ นามว่า “จอห์น ทอมสัน” และเป็นช่างภาพชาวต่างชาติคนแรกที่ได้ถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 4)

ผลงานของเขาได้ถูกนำมาจัดแสดงในประเทศไทยครั้งแรก ในชื่อนิทรรศการภาพถ่ายโบราณ “สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน2408-2409” และนับเป็นการครบรอบ 150 ปี แห่งการมาเยือนสยามของจอห์น ทอมสัน

ภาพที่สำคัญที่สุดในนิทรรศการนี้ คือ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 หลายภาพที่ยังมีความคมชัดมาก แม้จะผ่านกาลเวลามาแล้ว 150 ปี นับเป็นภาพที่สำคัญมากที่สุด เพราะว่าพระองค์โปรดให้จอห์น ทอมสัน เข้าเฝ้าฯ เพื่อฉายภาพของพระองค์โดยเฉพาะในพระบรมมหาราชวังอีกภาพหนึ่งคือ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ตอนทรงพระเยาว์และยังไม่ได้โสกันต์นอกจากนี้ ยังมีภาพพาโนรามาของสยาม ที่ถ่ายจากปรางค์วัดอรุณก็เป็นภาพสำคัญที่สุดของจอห์น ทอมสัน ที่ต้องใช้ภาพ 3 ภาพมาต่อกัน

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ มาจาก “หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์” บิดาของท่าน คือนักประวัติศาสตร์ลือชื่อ “พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์” และยังเป็นหลานของ“สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ” พระราชโอรสองค์สำคัญในรัชกาลที่ 5 เพราะฉะนั้นหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ จึงนับเป็นสายเลือดที่สืบจากรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยตรง และท่านก็เป็นผู้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาพถ่ายสยามในยุคนั้น

มองสยาม เมื่อ 150 ปี

หม่อมราชวงศ์นริศราได้มีโอกาสเดินทางไปเห็นต้นฉบับผลงานการถ่ายภาพของจอห์นทอมสัน ซึ่งเป็น “ฟิล์มกระจก” ถือว่าเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่สูงที่สุดแล้วในสมัยนั้น ตอนนี้เก็บรักษาอยู่ที่ “สถาบันเวลคัม ในกรุงลอนดอน” และท่านรู้สึกทึ่งในผลงานของจอห์น ทอมสัน มากโดยเฉพาะในข้อที่ว่าภาพเหล่านี้มีอายุถึง 150 ปี แล้ว แต่ยังคงความคมชัดเจนดีมากอีกอย่างท่านทราบว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรมาแล้วไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ประจวบกับเพื่อนของท่าน คือ “เบ็ตตี้ เยา” ชาวฮ่องกงที่พำนักในอังกฤษ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจอห์น ทอมสัน และเป็นภัณฑารักษ์ของนิทรรศการภาพถ่ายของจอห์น ทอมสันที่ไดมี้การจัดแสดง ณ เมืองตา่ งๆ ทั่วโลกมาแล้ว13 แห่ง ในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เหตุทั้งหมดจึงเป็นการดีที่จะนำผลงานภาพถ่ายโบราณของจอห์น ทอมสันมาจัดแสดงที่ประเทศไทย

ในการคัดเลือกภาพมาจัดแสดง หม่อมราชวงศ์นริศรา ในฐานะประธานจัดงาน ได้คัดเลือกร่วมกับภัณฑารักษ์ไทยหลายท่าน รวมทั้ง เบ็ตตี้ เยา ภาพที่จัดแสดงครั้งนี้มี 60 ภาพเพื่อให้สอดคล้องกับปีมหามงคลในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงมีพระชนม์ 60 พรรษา โดยมีภาพเมืองไทย 43 ภาพ ภาพนครวัด 6 ภาพ และภาพเมืองชายฝั่งประเทศจีนและฮ่องกงอีก 11ภาพ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันเวลคัมแห่งกรุงลอนดอน

ภาพต้นฉบับเป็นลิขสิทธิ์ของสถาบันเวลคัมกรุงลอนดอน เนื่องเพราะจอห์น ทอมสัน ได้ขายให้ “เฮนรี่ เวลคัม” นักสะสมศิลปะและของโบราณ และยังเป็นเจ้าของบริษัทเคมีและยาที่ใหญ่ในอังกฤษ เขาได้ซื้อต้นฉบับเหล่านี้ไว้ก่อนที่จอห์น ทอมสัน จะเสียชีวิตในปีต่อมา เพราะฉะนั้นลิขสิทธิ์ภาพเหล่านี้จึงเป็นของสถาบันเวลคัมซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะให้การศึกษาต่อสาธารณชนจึงสนับสนุนนิทรรศการที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย โดยทำการสแกนภาพบางส่วนจากฟิล์มกระจกใหม่ และพิมพ์ภาพเหล่านี้ในขนาดใหญ่กว่า 1 เมตร เพื่อส่งมาแสดงในงานนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

มองสยาม เมื่อ 150 ปี

 

ภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว เคยตีพิมพ์ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยทั่วๆ ไป ชาวต่างประเทศก็เอาไปตีพิมพ์บ่อย บางทีก็เอาภาพเหล่านี้ไปวาดเป็นลายเส้น ตีพิมพ์ในหนังสือหรือนิตยสาร แต่ภาพที่จัดแสดงครั้งนี้ เมื่อขยายขึ้นมาแล้ว ภาพบางภาพแสดงรายละเอียดบางอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพเดียวกันนี้เลย เพราะฉะนั้นภาพเดียวกันอาจจะแสดงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยทราบมาก่อนก็ได้

“คงไม่สามารถประเมินมูลค่าของภาพแต่ละภาพเป็นตัวเงินได้ เพราะต้นฉบับกระจกเหล่านี้มีเพียงภาพละ 1 ชิ้น แต่มูลค่าทางประวัติศาสตร์ของภาพถ่ายเหล่านี้นับว่าสูงมาก และถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุด ดีกว่าการบันทึกด้วยตัวหนังสือเสียอีก เพราะสุภาษิตที่ว่า 1 ภาพถ่ายบรรยายได้ดีกว่า 1,000 ตัวอักษร” หม่อมราชวงศ์นริศรา กล่าว

“ถ้าพูดถึงในแง่จิตใจ แน่นอนย่อมมีสูงมากๆโดยประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจากการมาดูนิทรรศการนี้ คือ ได้เห็นสภาพบ้านเมือง ความเป็นอยู่ การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณีพระราชพิธี สถาปัตยกรรม ศาสนา นาฏศิลป์เราสามารถสรุปได้เลยว่า ประชาชนที่เข้าชมจะได้เห็นสภาพบ้านเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ในแบบครบถ้วนเลยทีเดียวในทุกแง่มุม เพราะภาพที่ขยายใหญ่ขนาดนี้ ไม่เคยทำที่ใดมาก่อน ไม่เคยจัดแสดงแบบนี้มาก่อน ในรูปแบบที่ภาพมีความคมชัดสูงระดับนี้”

ภาพเด็กผู้ชายชาวสยามที่ถูกเลือกนำมาเป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน คือภาพที่หม่อมราชวงศ์นริศราโปรด “ภาพเด็กชายชาวสยาม ที่หน้าตาไร้เดียงสา แต่งกายแบบคนไทยสมัยนั้น เรียบง่าย หน้าตาดูดี นับว่าเป็นภาพถ่ายบุคคลที่ดีที่สุดภาพหนึ่งของจอห์น ทอมสัน เพราะเขาถนัดถ่ายภาพบุคคลมาก”

มองสยาม เมื่อ 150 ปี

 

“ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์” ภัณฑารักษ์ได้กล่าวถึงจอห์น ทอมสัน ว่า “จอห์น ทอมสันถือเป็นช่างภาพคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เปน็ นักผจญภัย เป็นช่างภาพที่เดินทางไปทั่วเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ ภาพเกี่ยวกับเมืองจีนของเขามีชื่อเสียงระดับโลก เขามาเมืองไทยเพราะว่าอ่านเรื่องราวจากหนังสือต่างๆ และเห็นว่าน่าสนใจ มีวัดวาอารามที่สวยงาม เขาได้ถ่ายภาพวัดวาอารามคนไทยไว้พอสมควร”

จอห์น ทอมสัน ถ่ายภาพโดยใช้ระบบกระจกเปียกซึ่งถูกค้นพบโดยประติมากรชาวอังกฤษ“เฟเดอริค สก็อต อาร์เชอร์” ใน พ.ศ. 2394ที่ต้องมีการปฏิบัติการเตรียมกระจก น้ำยา ห้องมืดเคลื่อนที่ ซึ่งต้องมีการเตรียมการมากและไม่ชักช้าด้วย เนื่องจากกระจกเปียกที่อาบน้ำยา มีอายุเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นก็เสื่อมสภาพ ส่วนกล้องที่จอห์น ทอมสัน ใช้ในการเดินทางคือ กล้องไม้ที่มีเบลโล่ ที่สามารถยืดหดได้เพื่อสะดวกในการเดินทางซึ่งต้องมีสัมภาระมากมาย การเดินทางไปในที่ทุรกันดาร สภาวะอากาศก็เป็นปัญหาใหญ่บางทีอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือ ในสมัยนั้นกล้องถ่ายรูปมีขนาดใหญ่มาก ไม่เหมือนปัจจุบัน ไม่มีฟิล์มสำเร็จรูป ต้องใช้กระจกที่เคลือบน้ำยาแทนฟิล์ม

“จุดเด่นของงานในครั้งนี้ที่แตกต่างจากงานนิทรรศการภาพอื่นๆ คือ เป็นภาพถ่ายโบราณอายุ 150 ปี คือ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2408-2409 หรือ ประมาณปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคที่เพิ่งกำเนิดการถ่ายภาพขึ้นในโลกก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี เป็นนวัตกรรมใหม่ของมนุษยชาติที่สามารถถ่ายภาพหรือบันทึกภาพนิ่งของทุกสิ่งที่เห็นได้บนแผ่นกระจกและอัดขยายเก็บไว้บนแผ่นกระดาษไม่มีเทคนิคด้านคอมพิวเตอร์หรือดิจิทัลมาช่วยเลย ทำให้เราได้เห็นความงดงามของภาพถ่ายแบบดิบๆ ที่ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ ด้วยดิจิทัล”

นิทรรศการภาพถ่ายโบราณ “สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน 2408-2409” เปิดให้ชมถึงวันที่ 28 ก.พ. 2558 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ในเวลา08.30-16.00 น. ปิดวันจันทร์และอังคาร

มองสยาม เมื่อ 150 ปี

 

มองสยาม เมื่อ 150 ปี

 

มองสยาม เมื่อ 150 ปี

 

มองสยาม เมื่อ 150 ปี