ภาพถ่าย บนผืนผ้าป่าน สิริมา ไชยปรีชาวิทย์
ค้นพบความหมายของชีวิตผ่านภาพถ่ายฝีมือ ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ และทำความรู้จักสาวน้อยคนนี้ให้มากขึ้น
โดย...รอนแรม
ค้นพบความหมายของชีวิตผ่านภาพถ่ายฝีมือ ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ และทำความรู้จักสาวน้อยคนนี้ให้มากขึ้น เธอเขียนไดอารี่ด้วยการถ่ายภาพ เธอเรียนรู้ชีวิตจากผู้คนที่เดินผ่านมา ทุกภาพเป็นสีขาว-ดำ ผิดกับทัศนคติของเธอที่ช่างมีความสดใสและน่าแต่งแต้มลงบนโลกใบนี้
จุดประกาย
ผ้าป่านเคยเป็นพิธีกรในรายการสตรอเบอร์รี่ชีสเค้ก ความน่ารักใสๆ ของเธอทำให้คนรู้จักเธอในฐานะวัยรุ่นยุคใหม่ที่กล้าแสดงออก แต่ตอนนี้เธอกลายมาเป็นช่างภาพแนวสตรีทโฟโต้หลังฝากผลงาน NO[W]HERE MAN
“จุดเปลี่ยนจริงๆ น่าจะเป็นทริปที่ไปถ่ายรูปที่นิวยอร์กมา แล้วนำกลับมาแสดงงานเป็นโซโล เอ็กซิบิชั่นครั้งแรก งานนี้เป็นงานแรกสุดเลยที่คนได้เห็นภาพถ่ายแบบจริงจังของเรา” เธอเล่าว่าตั้งใจจะไปเที่ยว ไม่ได้ตั้งใจจะไปถ่ายภาพเพราะตอนนั้นยังไม่ได้จับกล้องจริงจัง พอกลับมาดูรูปก็เกิดไอเดียจะทำเป็นโปสต์การ์ดเพื่อนำเงินไปช่วยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ได้รับคำแนะนำกลับมาว่าไม่น่าหยุดแค่โปสต์การ์ด เพราะงานนี้มีคุณภาพที่จะจัดแสดงงานได้
หลังจากจุดเริ่มต้นครั้งนั้น เธอได้เข้าสู่วงการช่างภาพจนตอนนี้ได้รับตำแหน่งเป็นแกลเลอรี่ ไดเรกเตอร์ ที่แจม แฟคตอรี่ “ก่อนที่จะมาทำงานนี้เคยคุยกับพี่ด้วง ดวงฤทธิ์ แล้วเขาชอบงาน ชอบมุมมองของเรา จึงชักชวนมาทำอะไรสนุกๆ ในสเปซนี้” อาร์ต สเปซ ถูกสร้างขึ้นให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่สนุกและเกิดสิ่งใหม่ๆ ซึ่งการทำงานและการถ่ายภาพค่อนข้างแยกส่วนกัน เพราะตัวงานเธอจะดูแลศิลปะหลายแขนงที่ไม่ได้จำกัดแค่ภาพถ่ายเพียงอย่างเดียวและทำเป็นงานประจำ ส่วนการถ่ายภาพเป็นความชอบส่วนตัว (Passion) ที่ทำด้วยใจรัก”
ภาพถ่ายบนถนน
คำว่าสตรีทโฟโต้หาคำนิยามยากมาก เพราะมันมีความหมายที่กว้างมาก แต่สำหรับเธอมันคือการถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเห็นในพื้นที่ที่เป็นสาธารณะในมุมมองของตัวเอง
“การถ่ายสตรีทโฟโต้ของแต่ละคนจะมีวิธีการทำงานต่างกันไปแล้วแต่มุมมองของช่างภาพ แต่ภาพทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ” สำหรับภาพของเธอทำให้คนที่เห็นรู้สึกต่างกัน บ้างก็รู้สึกถึงความแข็งแรงเหมือนผู้ชาย บ้างก็รู้สึกเหงา บ้างก็รู้สึกว่าแก่กว่าตัวจริง
“ป่านรู้สึกว่างานศิลปะมันทำหน้าที่ตรงนั้น” เธอกล่าว“คือเราไม่รู้หรอกว่าตัวเองเป็นคนยังไง แต่งานศิลปะมันจะสะท้อนตัวตนจริงๆ ข้างในว่าเราเป็นคนยังไง”
“ถามว่าป่านเป็นคนเหงาไหม ป่านว่าไม่ แต่ป่านเสพติดอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้นมากกว่า เพราะเวลาเราถ่ายรูปเราอยู่คนเดียว อย่างภาพชุดนิวยอร์ก ภาพจะสื่ออารมณ์เหงามาก เพราะมันคือการเดินทางคนเดียว”
ถนนถ่ายภาพ
“ป่านชอบเดินทางคนเดียว” แต่ไม่ได้อยู่คนเดียวอาจมีน้องชายตามไปเป็นเพื่อน หรือตอนที่ไปนิวยอร์กก็มีเพื่อนสนิทอยู่ที่นั่น แต่เวลาถ่ายภาพเมื่อไร เธอจะออกไปคนเดียว
นอกจากนิวยอร์ก อีกไม่นานเธอจะมีการแสดงภาพชุดญี่ปุ่นและเนปาล “ทริปญี่ปุ่นไปกับที่บ้านแต่ก็หาเวลาถ่ายภาพของตัวเอง” เธอไล่เรียงเมืองที่ไปเยือนทั้งโอซากา เกียวโต โตเกียว นาราทาคายามา นาโกยา และอีกหลายเมือง รวมทั้งสิ้น 21 วัน “เวลาป่านเดินทาง ป่านจะใช้เวลากับมันมาก เพราะอยากรู้สึกกับที่ตรงนั้นจริงๆ” ส่วนเนปาลไป 22 วัน โดยปักหลักอยู่ที่เมืองปาทาน เพราะเป็นเมืองเก่า สงบ และเดินถ่ายรูปสนุกกว่า
นอกจากนี้ เธอยังเคยจัดแสดงงานลองล่องยะลา เป็นโปรเจกต์พิเศษลงไปถ่ายภาพยะลาในมุมมองของเธอ 4 วัน 3 คืน “ตอนที่ลงไปยะลา ป่านเข้าไปในโรงเรียน ไปใช้เวลากับตรงนั้นซึ่งสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้มาก”
เธอกล่าวว่า ภาพสตรีทคือการบันทึกช่วงเวลา มันเกาะติดอยู่กับความเป็นจริงบนท้องถนน “ทั้งสถาปัตยกรรม โมเดลของรถที่เปลี่ยนไป หรือวิถีชีวิตของคนบนท้องถนนก็ตาม มันไม่ใช่ชีวิตประดิษฐ์แต่มันคือไลฟ์จริงๆ พอกลับมาดูในอีก 50 ปีข้างหน้าก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไป”
การเดินทางมันไม่ได้ให้แค่ภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว แต่มันคือ “มวลโดยรวมที่ทำงานกับเรา” เธอยกตัวอย่างตอนไปเนปาล เธอเห็นผู้คนนั่งอยู่นอกบ้านแล้วส่งยิ้มให้ มันทำให้เธอรู้สึกร่วมไปด้วยง่าย
“ป่านคิดว่ามันคือกระบวนการรับเข้าไป ก่อนที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ เพราะเมื่อเรารู้สึกร่วมกับสิ่งนั้น เราก็จะถ่ายทอดมันออกมา”
โลกของผ้าป่าน
ถามถึงช่างภาพในดวงใจเธอยกให้ อองรีการ์ตีเย-แบรซง ผู้สร้างสรรค์ภาพที่มีรูปทรงเรขาคณิต “เขาเป็นคนสร้างคำว่า ช่วงเวลาในเสี้ยววินาที (The Decisive Moment) ขึ้นมาซึ่งเป็นสิ่งที่คนถ่ายภาพสตรีทในยุคนี้กำลังเวิร์กกิ้งกับเรื่องนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสนุก ความตลก และสิ่งที่เกิดขึ้นในเสี้ยววินาที” ผ้าป่านกล่าวนอกจากนี้ภาพถ่ายของแบรซงยังมีความงามของภาพถ่ายผ่านองค์ประกอบศิลป์และสุนทรียะภายในภาพ
ถามต่อไปถึงอาชีพในฝัน เธอตอบอย่างเร็วว่าตอนเด็กฝันอยากเป็นนักบินอวกาศเพราะเธอชอบเรื่องดวงดาวมากๆๆๆ (เธอย้ำอย่างนั้น) ส่วนความฝันว่าอยากเป็นช่างภาพ ไม่ใช่สิ่งที่เธอคิดไว้เลย แต่มันคือจังหวะที่เธอ “อินกับเรื่องนี้” และก็จะเดินหน้าไปกับมัน
เธอจับกล้องมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงตอนนี้ภาพที่เธอถ่ายกำลังพัฒนาไปเรื่อยๆ “ป่านยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด” เธอยอมรับ เพราะผ้าป่านยังต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ภาพที่ออกมามันอาจไม่ดีขึ้นก็ได้ แต่อย่างไรมันก็คือมุมมองของเธอในช่วงวัยนั้น
คำถามส่งท้ายว่าหากเธอมีโลกของตัวเองหนึ่งใบ อยากให้โลกใบนั้นเป็นอย่างไร “ป่านเป็นคนรักต้นไม้มาก” ดังนั้นเธออยากให้มีธรรมชาติที่ไม่สามารถทำลายได้ “ถ้าวันหนึ่งฟันต้นไม้ไม่เข้า
ป่านว่าน่าจะเจ๋งดี” เธอยิ้ม