เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสชะลอตัวลงมากกว่าตลาดคาด
ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากปี 2567 และอาจต่ำกว่าระดับศักยภาพ (Potential Growth Rate) ที่ 3.0% เพราะยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ในด้านปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ, ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้ารอบใหม่ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
ในแง่ของสงครามการค้าที่อาจสร้างความไม่แน่นอนต่อการส่งออกไทยนั้น หากย้อนไปในช่วงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ครั้งที่ 1 ในปี 2562 จะเห็นได้ว่า มูลค่าการค้าโลกหดตัวประมาณ 2.9% YoY จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ของโลกหดตัวลง 1.7% YoY จากการนำเข้าสินค้าจากจีนที่หดตัวมากถึง 16.3% YoY สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 หดตัว 2.6%YoY จากแรงกดดันของการส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในช่วงเวลานั้นหดตัว
อย่างไรก็ดี ในปี 2568 เราคาดว่าผลกระทบจากสงครามการค้าอาจไม่มากเท่ากับปี 2562 เนื่่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ 1. ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ โดยตรง และ 2. จีนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ จึงสามารถลดทอนผลกระทบจากการส่งออกสินค้าในห่วงโซอุปทานของสินค้าจีนโดยตรงได้ อีกทั้งหากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ อยู่ในกรอบที่สามารถเจรจาได้ก็จะบรรเทาความรุนแรงลง อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เกิดสงครามการค้าระลอกใหม่
ทีมวิจัยหลักทรัพย์ของหลักทรัพย์บัวหลวง มองว่า สินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจะอยู่ใน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. กลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซอุปทานของสินค้าจีน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นต้นและขั้นกลาง (อาทิ คาร์บอนอิเล็กโทรด ชิ้นส่วนของแผงวงจรไฟฟ้า) รวมถึงสินค้าเกษตรขั้นต้น อาทิ น้ำยางพารา ยางแผ่น หรือยางแท่ง เนื่องจากไทยส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราอื่น ๆ อย่างไรก็ดีเรามองว่าผลกระทบสำหรับกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นต้นและขั้นกลางในรอบนี้จะมีจำกัดกว่ารอบปี 2562 จากการที่ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังสหรัฐฯ โดยตรง รวมถึงส่งไปยังประเทศอื่น ๆ ที่เป็นฐานการผลิตของจีน
2. กลุ่มสินค้าที่ไทยมีความอ่อนไหวด้านราคาสูง (Price sensitive products) เช่น สินค้าเกษตร (อาทิ ข้าว) และสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีคู่แข่งมากในตลาดสหรัฐฯ และไทยมีข้อเสียเปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่สูงกว่าคู่แข่ง
อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทย
ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็ง, การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังไม่ทั่วถึง โดยกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงระดับ Micro SMEs ที่ต้องพึ่งพากำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวช้า ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยยังต้องเร่งยกระดับการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตามแม้จะเผชิญความไม่แน่นอนสูงเศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนในปี 2568 มีปัจจัยกดดันจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ไม่ทั่วถึง โดยกลุ่มที่ฟื้นแข็งแกร่งจะกระจุกตัวที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าและบริการที่สำคัญจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น พลังงาน, ยา, อุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มีความต้องการสูง สอดคล้องไปกับเทรนด์โลก
ขณะที่ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มักพึ่งพิงกำลงซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศเป็นหลักยังไม่ฟื้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านอุตสาหกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการโดยรวมยังอยู่ในภาพที่ชะลอลง เพราะมีแรงกดดันจากการฟื้นตัวของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดีข้อมูลที่นำมาให้ได้อ่านกันวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์ Economics Outlook เท่านั้น นักลงทุนสามารถติดตามอ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ผ่านเว็บไซด์หลักทรัพย์บัวหลวง
Santa Rally คึกคักทั่วโลก เปิดโพย 4 หุ้นสหรัฐฯราศีเด่น
อ่านเกมลงทุนหุ้นไทยปี 2025 ยามเศรษฐกิจโลก-ไทยไร้เรี่ยวแรง
ส่องเทรนด์ “ทองคำ” ปี 2568 ลุ้นทะลุ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ?
DW เครื่องมือสร้างกำไรช่วงตลาดขาขึ้นและลง
CEO ใหม่ Brian กับภารกิจ พลิก Starbucks สู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง