posttoday

เพลง ‘เย่หลายเซียง’ กับชีวิตที่เลือกไม่ได้

07 มิถุนายน 2558

ช่วงนี้หลายคนคงคุ้นกับเพลงจีนที่ชื่อว่า “เย่หลายเซียง” ซึ่งแปลเป็นชื่อไทยได้ว่าเพลง “ดอกราตรี”

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ช่วงนี้หลายคนคงคุ้นกับเพลงจีนที่ชื่อว่า “เย่หลายเซียง” ซึ่งแปลเป็นชื่อไทยได้ว่าเพลง “ดอกราตรี” และสำหรับคนที่มีอายุ 35 ขึ้นไป และคอเพลงจีนคลาสสิก เพลงนี้คือหนึ่งในไฟต์บังคับ เพลงนี้ถูกขับร้องครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1944 โดย หลี่เซียงหลาน ซึ่งโด่งดังเป็นพลุแตกจนถึงดาวค้างฟ้า ทำนองเพลง “เย่หลายเซียง” ถูกนำมา cover ครั้งแล้วครั้งเล่า ถูกดัดแปลงในหลายภาษา รวมถึงถูกหยิบมาประกอบดัดแปลงใหม่เช่นในเพลง “ผ้าเช็ดหน้า” ของสองสาวดูโอไทรอัมพ์ส คิงดอม

9 ส.ค. 1945 อเมริกาทิ้งนิวเคลียร์ลูกที่สองที่เมืองนางาซากิ อีกฟากทะเลคือเซี่ยงไฮ้ วันเดียวกันนั้นผู้คนในเซี่ยงไฮ้ยังสนใจคอนเสิร์ตที่จะจัดขึ้นที่สนามแข่งม้านานาชาติ ไฟสงครามไม่ได้ทำให้เซี่ยงไฮ้ร้อนระอุแต่อย่างใด ผู้คนเบียดเสียดเข้าชมหนาแน่น ด้านในคือผู้คนมากหน้าหลายเชื้อชาติ จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น ด้านนอกผู้คนล้นทะลัก เสียงเพลงที่ร้องบนเวทีคือเพลง “เย่หลายเซียง” ที่ร้องโดย หลี่เซียงหลาน ชุดกี่เพ้าสไตล์สาวเซี่ยงไฮ้กับเสียงเพลงภาษาจีนเป็นเพียงไม่กี่อย่างที่ทำให้เรารู้ตัวว่า นี่คือเซี่ยงไฮ้ ไม่ใช่ปารีส

6 วันหลังจากนั้น ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม หลี่เซียงหลาน นักร้อง นักแสดงสาวสวยอายุ 25 ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อนยังเป็นที่ใฝ่ฝันของทั้งชายและหญิงในจีน ถูกจับและคาดโทษยิงเป้า ด้วยข้อหาขายชาติ ทั้งเมืองกลับระงมไปด้วยเสียงสนับสนุนให้ประหารชีวิตเธอ ไปพร้อมๆกับคนขายชาติอีกหลายคน

หลักฐานความผิด คือหนังหลายต่อหลายเรื่องที่เธอเคยเล่นให้กับค่ายหนัง Manchurian Film ซึ่งเจ้าของค่ายหนังเป็นชาวญี่ปุ่น (ช่วงสงครามโลกดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจีนอยู่ในปกครองของรัฐบาลแมนจูกั๋ว ซึ่งคือหุ่นเชิดของญี่ปุ่น และบริษัท Manchurian Film ก็อยู่ในร่มเงาของรัฐบาลแมนจูกั๋ว) รัฐบาลจีนกล่าวหาว่าหนังที่เธอเล่น คือโฆษณาชวนเชื่อ มอมเมาชาวจีนและทำให้เกียรติภูมิของชาวจีนหม่นหมอง

เพราะหนังส่วนใหญ่มีพล็อตเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาวชาวจีนที่หลงรักกับชาวญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานแผ่นดินจีน หนึ่งในนั้น พูดถึงสาวชาวจีนที่โกรธเกลียดชาวญี่ปุ่นเข้าไส้เพราะพ่อแม่เธอตายด้วยสงครามระหว่างจีน ญี่ปุ่น แต่แล้ววันหนึ่ง เธอถูกช่วยโดยทหารญี่ปุ่น แต่แล้วเธอแสดงอาการโกรธแค้นโวยวายกับชาวญี่ปุ่นทุกคนที่เข้าใกล้ตัวเธอ จนนายทหารคนนั้นต้องตบเธอเข้าฉาดใหญ่ แล้วเธอก็เริ่มเข้าใจความหวังดีของนายทหารญี่ปุ่นคนนั้น เข้าไปขอโทษเขา จนสุดท้ายก็จบลงด้วยความรัก

เล่าสั้นๆ ว่า พล็อตเรื่องโกโบริและอังศุมาลินก็ว่าได้ (ขณะที่ในไทยเป็นเรื่องน่าปีติยินดีกรี๊ดกร๊าดนำมารีรันหลายต่อหลายรอบ) ท่ามกลางไฟสงครามในจีน บทบาทนี้คือการลดเกียรติของสตรีและชาติจีน เธอคือยาพิษทางวัฒนธรรมที่เลวร้าย ขายชาติ สมคบคิด

และแล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น หลังการสอบสวนคำพิพากษาก็ออกมา ให้เธอไม่ต้องรับโทษประหารชีวิต เพราะเธอไม่ใช่ชาวจีน แต่ที่จริงเธอเป็นชาวญี่ปุ่น ทั่วจีนต่างมึนงง ดาราและนักร้องดังที่ดูเป็นชาวจีนแท้คนนี้ ทำไมจึงกลายเป็นคนญี่ปุ่นไปได้ (ดูกลับตาลปัตรกับวงการบันเทิงบ้านเราอีกครั้ง)

และความจริงเฉลยเหมือนจุดพลิกผันในหนังหักมุม หลี่เซียงหลานเป็นชาวญี่ปุ่น พ่อและแม่ ซึ่งเป็นนักวิชาการญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานที่แผ่นดินจีนเนิ่นนาน ครอบครัวเธอมีความสนใจในวัฒนธรรมจีน จึงถูกเลี้ยงดูและซึมซับวัฒนธรรมจีนอย่างเต็มที่ จนไม่มีใครรู้สึกว่าเธอมีเชื้อชาติญี่ปุ่น

วัยเด็กเธอป่วยเป็นโรคปอด แพทย์แนะนำให้เธอร้องเพลงเพื่อรักษาสุขภาพ เธอปฏิบัติตาม แล้วเธอก็ฉายแววความสามารถโดดเด่น จนเมื่ออายุ 17 ก็ถูกทาบทามให้เป็นนักร้องและนักแสดงในสังกัดของค่ายหนัง Manchurian Film เพราะเธอสื่อสารได้ทั้งภาษาจีนและญี่ปุ่น เป็นจิ๊กซอว์ที่ค่ายหนังหามานาน กับพล็อตชวนเชื่อโรมานซ์สร้างชาติ ติดอยู่นิดเดียว เธอดันเป็นชาวญี่ปุ่นจริงๆ

วงการมายาสมชื่อ นอกจอเธอยังต้องรับบทเป็นดาราสาวชาวจีนที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ ค่ายหนังยกยอปอปั้นให้เธอเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างจีนญี่ปุ่น และเธอก็เชื่อตามนั้นด้วยใจจริง เธอฟรุ้งฟริ้งไปว่ามายาเหล่านี้จะทำให้จีนญี่ปุ่น “รักกัน”

ความอึดอัดของเธอซึ่งเติบโตบนแผ่นดินจีนมีมาตั้งแต่ก่อนเธอเป็นนักแสดงเสียอีก ครั้งหนึ่ง โรงเรียนรณรงค์ต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อทุกคนถูกไล่ถามว่าจะทำอะไรเพื่อชาติบ้างถ้าทหารญี่ปุ่นรุกเข้ามา เพื่อนๆ ต่างลุกขึ้นแสดงวาทะสละชีพเพื่อชาติ สลับเสียงเฮไปทีละคน เมื่อถึงคราวเธอ เธอว่า “ฉันจะขอยืนอยู่บนกำแพงเมืองเป่ยผิง (ปักกิ่ง) เอง!” ตามมาด้วยเสียงเฮและปรบมือชื่นชมซึ่งไม่เคยรู้เลยว่าเธอเป็นชาวญี่ปุ่น

ภายหลังเธออธิบายในอัตชีวประวัติของตัวเองว่า ที่เธอตอบไปเช่นนั้น เธอคิดแค่เพียงว่า ถ้าหากมันเกิดขึ้นจริง การอยู่บนกำแพงเมืองระหว่างห่ากระสุนของทหารจีนและญี่ปุ่น คงจะทำให้เธอตายอย่างรวดเร็วและไม่ต้องลำบากใจกับการเลือกข้าง เพราะหากญี่ปุ่นคือแผ่นดินพ่อ จีนก็คือแผ่นดินแม่ของเธอเช่นกัน เธอเลือกข้างไม่ได้

ครั้งหนึ่งในฐานะนักแสดงของค่าย Manchurian Film เธอได้เดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่น ขณะกำลังจะขึ้นเรือ เมื่อนายเรือชาวญี่ปุ่นตรวจหนังสือเดินทางเธอ แต่แล้วเขาก็ตวาดเสียงดัง ว่าเธอเป็นหญิงชาติญี่ปุ่นแต่กลับมาใส่ชุดกี่เพ้าชั้นต่ำแบบชาวจีนได้อย่างไร ไร้ยางอายสิ้นดี เธอเริ่มเข้าใจแล้วว่าสาวน้อยอายุ 18 ที่ถูกอุปโลกให้เป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์จีนญี่ปุ่นมันเป็นเพียงมายา

เธอก็ทำอะไรไม่ได้นัก ได้แต่ตีตัวออกห่างจากค่าย Manchurian Film แต่โลกของแผ่นฟิล์มที่บันทึกเธอไว้ก็ยังตามหลอกหลอน พอๆ กับคลิปฉาวที่ยากจะลบเลือน เมื่อมีนักข่าวลุกขึ้นถามเธอว่า “คุณเป็นชาวจีน แล้วทำไมถึงรับบทที่ดูถูกคนจีนอย่างนี้ได้” หลี่เซียงหลาน เจ็บปวดและตอบว่า “นั่นเป็นเพราะฉันยังเด็ก ไม่เข้าใจเรื่องอะไรหลายๆ อย่าง มาถึงวันนี้ ฉันสำนึกผิดแล้ว” และก้มหัวขอโทษนิ่งไปเป็นเวลานานต่อหน้านักข่าวทุกๆ คน

ด้วยความที่ทุกคนเข้าใจไปแล้วว่าเธอเป็นชาวจีน และท่ามกลางกระแสต่อต้านญี่ปุ่น เธอไม่กล้าพอที่จะบอกชาติกำเนิดของตัว จนมาถึงนาทีชีวิตที่ถูกซักถามจากศาลอย่างดุดันว่าคนจีนอย่างเธอทำไมจึงมีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจเช่นนี้ เธอจึงบอกว่า “เธอเป็นชาวญี่ปุ่น”

หลังผ่านกระบวนการสอบสวน เธอพ้นโทษยิงเป้า แต่ต้องถูกเนรเทศออกจากจีน ขณะที่กำลังเดินขึ้น เสียงตามสายที่ท่าเรือแว่วมา คือเพลง “เย่หลายเซียง” ของเธอ เธอต้องบอกลาแผ่นดินที่เลี้ยงดูเธอมา และต้องบอกลาสาววัย 25 ที่ชื่อว่า หลี่เซียงหลาน ในวันเดียวกัน

หลี่เซียงหลาน สาวมากเสน่ห์และความสามารถที่กลายเป็นหมากเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อท่ามกลางสงคราม เป็นหมากที่เกือบถูกทำลายทิ้ง และสุดท้ายต้องถูกเขี่ยทิ้งจากกระดานเพราะความโกรธแค้น ลากันที หลี่เซียงหลาน

หนังสือเดินทางของเธอระบุชื่อว่า โยชิโกะ ยะมะกุชิ ชื่อญี่ปุ่นของเธอ หลังจากนั้น โยชิโกะ ยะมะกุชิ ก็ไม่ได้เหยียบย่างเข้าแผ่นดินจีนอีกเลยกว่ายี่สิบปี เธออาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น ในฐานะนักร้องนักแสดง ได้ร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดัง เช่น อากิระ คุโรซาว่า เธอเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาสนับสนุนให้ญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยให้กับบรรดา Comfort woman ชาวจีน เธอโด่งดังอีกครั้งในยุค 80 เมื่อเติ้งลี่จวินนำเพลง “เย่หลายเซียง” มาขับร้องอีกครั้ง และเธอก็ได้เป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์จีนญี่ปุ่นในที่สุด

เธอเสียชีวิตลงเมื่อปีที่แล้ว ในวันที่ 7 ก.ย. 2014 ด้วยวัย 94 ปี

นี่คือชีวิตที่พลิกผันของหลี่เซียงหลานเจ้าของเสียงร้องแรกของเพลง “เย่หลายเซียง”