เรื่องเล่าจากในป่า (ชีวิต) ดรุณี บุตรส
บางเรื่องที่ได้รับฟังจากผู้หญิงร่างเล็ก ผิวขาว นามว่า “ดรุณี บุตรส” เคยมีภาพให้เห็นในสารคดี ภาพยนตร์ มากเสียกว่าที่เราจะประสบได้เองในชีวิตจริง
โดย...นกขุนทอง
บางเรื่องที่ได้รับฟังจากผู้หญิงร่างเล็ก ผิวขาว นามว่า “ดรุณี บุตรส” เคยมีภาพให้เห็นในสารคดี ภาพยนตร์ มากเสียกว่าที่เราจะประสบได้เองในชีวิตจริง ทว่าผู้หญิงร่างบอบบางแค่นี้เผชิญและฝ่าฟันมันมาแล้ว ด้วยเส้นทางชีวิตที่เธอเลือกเข้าไปทำงานในป่า หันหลังให้ห้องแอร์เย็นสบายในเมืองใหญ่ แต่อย่างว่าสิ่งที่เธอได้พบพานในป่านั้น เป็นรางวัลชีวิตให้เธอ ถึงจะเจอเรื่องให้ต้องทนต่อสู้กับความรู้สึกเหนื่อย หนัก หวาดกลัว ขยะแขยง แต่เมื่อมาถึงวันนี้ เธอนึกย้อนไปก็มีเรื่องเล่าที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ประสบมา และใช่ว่าทุกคนจะได้เจอเยี่ยงเธอ หรือจะมีสักกี่คนที่เลือกใช้ชีวิตแบบนั้น นี่ยังไม่นับรวมถึงการประสบอุบัติเหตุรถตกเหวที่เฉียดตายมาแล้ว
วันวัดใจกับตัวดูดเลือด
ดรุณีกับเพื่อนร่วมงาน (สามสาวกับอีกหนึ่งหนุ่ม) ผู้ที่ไม่ได้ร่ำเรียนทางด้านป่าหรือสัตว์มาก่อน (ดรุณีจบปริญญาตรีสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโทด้าน Natural Resources and Environmental Management, University of Hawaii at Manoa) และไม่เคยได้สัมผัสงานในป่ามาก่อน แต่แล้วเส้นทางชีวิตก็ปูทอดยาวเข้าไปในดงไพร เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2547 วันแรกของการเริ่มงานในป่า หรือน่าจะเรียกว่า “วันวัดใจ” ในบทบาทและหน้าที่ของผู้ช่วยวิจัย โครงการศึกษาความหลากหลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ถ้าอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็เก็บกระเป๋ากลับบ้านไป
บททดสอบแรกก็คือการเดินท่อมๆ ขึ้นเขาลงห้วยไปเรื่อย ตามแต่ที่พี่เลี้ยง (คณะเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนของเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าภูเขียว) จะพาไป ฝนก็ตกจนตัวเปียกชุ่มโชก แต่ที่เลวร้ายที่สุดบนพื้นดินเต็มไปด้วยทากดูดเลือด ซึ่งหลายต่อหลายตัวกำลังไต่ขึ้นบนตัว และพยายามชอนไชหาผิวเนื้อที่ไร้การปกปิด
“ฉันเกลียด กลัว และขยะแขยงทากที่สุด อยากร้องลั่นป่าและวิ่งหนีไปจากตรงนั้น แต่เด็กฝึกงานที่มาก่อนเตือนไว้ก่อนหน้านี้ว่า อย่าแสดงออกว่ากลัวทากเชียว เดี๋ยวจะโดนจับไปปล่อยดงทาก ฉันจึงได้แต่ก้มหน้าก้มตาเดินงุดๆ ตาก็มองสำรวจแต่เท้ากับขาตัวเอง คอยระวังไม่ให้ทากไต่ขึ้นมาบนตัวได้ตลอดทาง อาการหนักกระทั่งเครียดจัด กินไม่ลง นอนก็ไม่หลับ ทั้งๆ ที่ร่างกายเหนื่อยล้าจากการเดินป่าตลอดทั้งวัน อาจเป็นสภาวะช็อกของตัวเอง หนักเข้าก็ล้มป่วยแบบอ้วกเขียว อ้วกเหลือง ที่มีแต่น้ำกับกรดในกระเพาะไหลออกมา น้ำหนักลดฮวบฮาบภายในเวลาแค่หนึ่งสัปดาห์ แต่ฉันก็ยังไปต่อ ไปแบบกล้าๆ กลัวๆ”
เชื่อเถอะว่า ไม่มีกำแพงใดที่เราจะก้าวข้ามไปไม่ได้ ถ้าเราตั้งใจจริง ดรุณีบอกกับตัวเองอย่างมุ่งมั่น เมื่อเลือกที่จะทำงานตามอุดมการณ์ และแล้วความแกร่งทั้งกายและใจก็สะสมพอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา เมื่อได้รับการฝึกฝนทักษะต่างๆ ในการทำงานในป่าพอสมควรแล้ว การทำงานในป่าจริงก็เริ่มต้น เป็นงานที่หนักหนาเหลือแสนสำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้ชีวิตเยี่ยงนี้
“ระยะเวลาในการเข้าป่าแต่ละครั้ง อยู่ที่ประมาณ 4 วัน 3 คืน หรือ 5 วัน 4 คืน คณะทำงาน มีพวกเรา 4 คน กับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง เป็นผู้นำทาง ทุกคนต้องช่วยกันแบกของส่วนรวม (อาหารและยารักษาโรค) เท่าๆ กัน และต้องรับผิดชอบแบกสัมภาระส่วนตัวเอง รวมๆ แล้วต้องแบกคนละประมาณสิบกว่ากิโลกรัม ฉันยังมีเครื่องยังชีพส่วนตัวที่ขาดไม่ได้ คือ ขวดยาเส้นผสมน้ำเกลือเข้มข้น สำหรับป้องกันและกำจัดทาก”
ดรุณี สูง 147 ซม. หนัก 42 กก. น้ำหนักที่แบกแต่ละครั้งประมาณ 12-13 กก. แต่ละวันเดินทางในป่าไม่ต่ำกว่า 10 กม. ซึ่งระยะทางที่ว่าให้คูณสองเข้าไป ด้วยความที่ต้องขึ้นเขาลงห้วยนั่นเอง เดินไปหาร่องรอยสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นรอยตีน รอยมือ ร่องรอยที่อยู่ ร่องรอยการกิน ฯลฯ บ่า ไหล่ และหลัง ที่รู้สึกหนักหน่วง ตาก็ต้องดู หูก็ต้องฟัง ก้มๆ เงยๆ ตามร่องรอยไป หลายครั้งที่ใจตวัดคิดไปว่า งานเอยมันช่างหนักหนา หนักมาก มากจนบางครั้งแทบจะร้องไห้ ยอมแพ้ และม้วนเสื่อกลับบ้านไป แต่เมื่อถึงที่หมาย ความคิด ความรู้สึก กลับเปลี่ยนทุกครั้งไป
สำหรับที่ค้างอ้างแรมในแต่ละคืน ต้องใกล้ลำห้วย สะดวกต่อการอาบและดื่มกิน โดยเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนจะตรวจดูความเรียบร้อยอีกทีว่า ปลอดภัยจากช้างหรือเปล่า แล้วก็จัดแจงเตรียมที่หลับที่นอน (ผูกเปล) ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อความปลอดภัย
“พออาบน้ำสบายเนื้อตัวแล้ว ก็ช่วยกันหุงหาอาหาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ไข่ต้ม ปลาแห้ง และผัก ตามที่เราพอจะหาได้ในป่า เมื่อถึงเวลานอน ก่อนที่จะซุกตัวลงนอนในถุงนอนในเปลมุ้งที่ผูกไว้ตั้งแต่หัวค่ำ เราก็ต้องสำรวจตรวจตราตามขาและง่ามเท้าให้ดี เพราะอาจเจอทากซ่อนตัวดูดเลือดตามง่ามนิ้วเท้าอยู่ เคยมีที่ไม่ดูให้ดี ตื่นเช้ามาเลือดแดงทั่วทั้งถุงนอน”
ผ่านร้อน ฝ่าฝน ห่มหนาว
ช่วงเวลาทรมานของการกินนอนใช้ชีวิตในป่า คือช่วงหน้าฝน ตัวเปียกไม่สบายตัว เป้เปียกทำให้หนักขึ้นด้วย ทากเยอะยั้วเยี้ย และการทำงานก็ยากยิ่งกว่าเพราะฝนชะร่องรอยสัตว์ เครื่องมือเครื่องไม้ (แผนที่ เข็มทิศ จีพีเอส ตลับเมตร และสมุดบันทึก) ก็ใช้ลำบาก น้ำอาบ น้ำกิน ก็ได้มาจากลำห้วยที่มีสีคล้ายกับชาเย็นสีส้มขุ่น กรองเอาตะกอนขุ่นออกแบบลวกๆ โดยใช้หน้ากากกันฝุ่นซ้อนกัน 3-4 อัน เป็นตัวกรอง ส่วนหน้าหนาวก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มันช่างแสนหนาว ถุงนอนที่มีกลับกลายเป็นถุงกักเก็บความเย็นไว้ซะนี่ บางครั้งต้องอาศัยถุงดำที่ใช้ใส่ขยะมาตัดเป็นเสื้อผ้าใส่ทับอีกที ช่วยให้ตัวอุ่นขึ้นบ้างแต่ก็ยังเย็นยะเยือกจับขั้วหัวใจอยู่ดี พอไม่ไหวก็ต้องลุกมานั่งหลับกันรอบกองไฟแทน
แม้ว่าหน้าหนาวจะปลอดภัยจากทากดูดเลือด แต่ก็ต้องผจญกับ “แมงแดง” ตัวเล็กจิ๋วเท่าผงฝุ่นสีแดง ด้วยขนาดตัวที่เล็กนี่เองมันสามารถชอนไชเข้าไปในเสื้อผ้า (ซึ่งทากทำไม่ได้) เข้าไปกัดดูดเลือดได้ทั้งตัว ทิ้งไว้แต่อาการคัน
“เกาแล้วเกาอีก เกาจนเลือดซิบ น้ำเหลืองไหลก็ยังไม่หยุดเกา มีอาการปวดศีรษะที่ขมับและหน้าผาก และจับไข้หนาวสั่น ไข้สูงตลอดเวลา (ไข้อาจเป็นอยู่นาน 2-3 สัปดาห์) พอแผลตกสะเก็ดดีก็ทิ้งรอยไหม้ดำเป็นจุดๆ ไว้ทั่วตัว ดังนั้นหน้าหนาวเราจะต้องเอาเสื้อผ้ามาลนไฟก่อนสวมใส่ทุกครั้งเพื่อฆ่าแมงแดง และเครื่องมือจัดการกับแมงแดง คือ ไฟ ทุกคนจึงต้องพกไฟแช็กติดตัว”
สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าไม่มีอยู่จริง
งานในป่า หนัก ลำบาก และเหนื่อยยาก แถมอันตราย ไม่ว่าจะจากสัตว์ (งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ช้างสีดออารมณ์เกรี้ยว กระทิงโทนผู้ดุดัน งูจงอางตัวยาวดำมะเมื่อม ฯลฯ) หรือจากคน ทั้งพรานล่าสัตว์ ผู้ลักลอบตัดไม้หอม เคยเห็นแบบบู๊หยด ปานหนังระเบิดภูเขาเผากระท่อมก็มี รวมไปถึงความน่ากลัวจากสิ่งเร้นลับกลางป่า
“ชีวิตที่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ต้องขอขอบคุณพี่ๆ ลาดตระเวนทุกคนที่เคยร่วมเดินทางไปด้วยกัน นอกจากการเสี่ยงภัยที่ว่าแล้ว หลายต่อหลายครั้งที่เรายังสัมผัสได้ถึงอะไรๆ ที่ชวนขนหัวลุก เช่น มีครั้งหนึ่งพื้นที่ป่าเขตรอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก เราตั้งแคมป์ค้างคืนกันที่ริมแม่น้ำพรหม ฉันสะดุ้งตื่นมาประมาณตีสองเพราะฝันแปลกๆ ปนหลอน พอพี่น้องทุกคนตื่นหน้าตาเหนื่อยล้าอย่างกับคนไม่ได้นอน น่าแปลกมากว่าเราฝันถึงคนคนเดียวกัน ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงผมยาวประบ่าพูดอะไรกับเราสักอย่างในเชิงที่ไม่พอใจ จับใจความได้ว่า เรามานอนในบ้านของเขา เราบุกรุกที่ของเขา ส่วนหัวหน้าผู้ที่ไม่เชื่อในเรื่องผีสางก็เล่าให้ฟังว่า แกฝันว่ามีคนเอาเหล็กไหลมาให้จากนั้นก็นอนไม่หลับเลยลุกมานั่งลับมีด จากนั้นเราทุกคนก็เงียบ รีบเก็บข้าวของ แล้วออกไปจากที่นี่โดยเร็ว ด้วยเหตุผลที่อธิบายไม่ได้”
และอีกหลายต่อหลายครั้ง ที่บ้านพัก สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง ต้องอาศัยปั่นไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ ในช่วงเวลา 18.00-22.00 น. หลังจากนั้น ความเงียบสงัดและมืดมิดสนิทแบบป่าจริงๆ ก็เข้าปกคลุมทั่วพื้นที่
“ฉันรู้สึกได้ว่า ฉันไม่ได้นอนอยู่คนเดียว มีอะไรสักอย่างเดินอยู่ในห้องด้วยฝีเท้าที่กดลงหนักๆ บ้างก็ล้มตัวนอนบนฟูกข้างๆ อีก น้องผู้ชายหนึ่งในทีมงานเจอไม่ต่างกัน หนักกว่าฉันตรงที่ถึงขั้นมาพูดคุยด้วยเลย หนักเข้าน้องมันถึงกับต้องซื้อเหล้าขาวมากินก่อนนอนทุกคืนเพื่อให้หลับสนิท แย่สุดน้องมันทนไม่ไหว ถึงกับยอมขี่มอเตอร์ไซค์ลงเขา ไปขอนอนกับเพื่อนในหมู่บ้าน ส่วนฉันก็นอนอยู่บ้านนั้นคนเดียวด้วยความกลัว
มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันเก็บดอกเสี้ยว (ชงโคป่าดอกสีขาวมีกลิ่นหอม) ข้างทางมาประดับแจกันบนหัวที่นอน ฉันถามลาดตระเวนแล้วว่าเก็บได้ใช่มั้ย ต้องขอใครก่อนหรือเปล่า เขาก็บอกว่าเก็บได้เลย ตกดึกคืนนั้น ฉันได้ยินเสียงเหมือนมีลมพายุฝน บนหลังคามีเสียงเหมือนอะไรสักอย่างต่อสู้กัน ขณะที่ตัวบ้าน (บ้านปูนแข็งแรง ทนทาน) เหมือนกำลังสั่น ความรู้สึกตอนนั้นคือกลัวมากๆ ได้แต่สวดมนต์และแผ่เมตตาไป จากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมงทุกอย่างก็สงบเงียบ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อนเลย รอจนสว่างเดินไปสอบถามเพื่อนบ้าน และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อคืนให้ฟัง แต่คำตอบที่ได้รับคือ ไม่เห็นมีอะไรเลย ได้ยินเท่านั้นรู้เลยว่าโดนอะไรเข้าแล้ว ก็รีบเอาดอกเสี้ยวไปคืนไว้ที่โคนต้น แล้วขอขมาสิ่งที่มองไม่เห็นไป หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก”
นอกจากมีเรื่องเร้นลับมาเขย่าประสาทแล้ว ยังมีสิ่งที่เธอเรียกว่าปาฏิหาริย์ ที่ทำให้เธอรอดชีวิตจากภัยต่างๆ ในป่า
“ฉันเชื่อว่า สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าเขาจะมาทำร้ายอะไร บางทีเราอาจทำอะไรล่วงเกินไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เขาเลยมาเตือน นอกจากเขาจะไม่ได้คิดทำร้ายแล้ว เขายังช่วยปกปักรักษาอีกด้วย ฉันเคยเจอกับตัว 2 ครั้งที่ป่าภูเขียว ฉันเข้าป่าไปตามลิง อ้ายเงี๊ยะ (ลิงวอกภูเขา) คนเดียว ไปเจอกับฝูงหมูป่า อาจเป็นเพราะความหวงลูก อยู่ดีๆ หมูป่าตัวใหญ่ สูงน่าจะเมตรนิดๆ มีเขี้ยวด้วย วิ่งมาด้วยความเร็วมาก ตรงมาที่ฉัน ฉันเองทำอะไรไม่ถูกได้แต่ยืนนิ่งจนกระทั่งหมูจะถึงตัวอยู่แล้ว อยู่ดีๆ ตัวฉันก็เบี่ยงหลบได้อย่างหวุดหวิด ได้ยินแต่เสียงลมพัดหวือผ่านตัวไปพร้อมกับตัวหมู บอกเลยว่าตอนนั้นฉันไม่มีสติ สมองไม่ได้สั่งการใดๆ ทั้งนั้น แต่ปฏิกิริยานั้นมันมาของมันเอง
อีกครั้ง ฉันขับมอเตอร์ไซค์ซ้อนเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งกลับบ้าน ขับรถไปด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. ขณะเดียวกับที่กระทิงโทนตัวใหญ่หนักเป็นตันเขาแหลมวิ่งอยู่ข้างทางด้วยความเร็ว อยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนจากวิ่งข้างทางข้ามถนนมาในถนน ฉันทำอะไรไม่ถูก มือบิดเร่งความเร็วรถจนสุดไปโดยอัตโนมัติ วินาทีนั้นภาพที่เห็นคือสีขาว ทุกอย่างรอบตัวเงียบ รู้สึกอย่างนั้นเพียงแวบเดียว แล้วทุกอย่างก็กลับมาเป็นภาพปกติ รถกำลังไต่ขึ้นเนินสูงด้วยความเร็ว ได้ยินเสียงเพื่อนตะโกนว่า He’s gone, he’s gone! You have a good reflection me! สติฉันกลับคืนมา ฉันหยุดรถหันไปมองถนนเบื้องหลัง ก็ไม่เห็นแม้แต่เงาของกระทิง พอกลับถึงที่พัก เพื่อนฝรั่งตรงไปหาขวดเบียร์ย้อมใจดับความกลัว ส่วนฉันทันทีที่จอดรถก็หาธูปจุดบอกกล่าวขอบคุณเจ้าป่าเจ้าเขา มีคนเคยบอกฉันว่า ไม่ว่าจะไปอยู่ไหน ถ้าเรามาดี ผีสางเทวดาจะคุ้มครอง ฉันก็เชื่ออย่างนั้น”
***เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
รอดตาย รถตกเหว
อุบัติเหตุแบบสาหัสครั้งแรกในชีวิตของดรุณี แต่มันยังเป็นฝันร้ายอยู่ในใจ เมื่อคืนวันที่ 8 เม.ย. 2556 เธอนั่งรถทัวร์ บริษัท จักรพงษ์ทัวร์ ต้นทางอุดรธานี ปลายทางเชียงใหม่ เพื่อกลับไปทำงาน หลังจากลางานกลับมาทำบุญร้อยวันให้แม่ คืนนั้นเธอรู้สึกมีอาการไม่ค่อยดีนัก ท้องเสียร่วมกับอาการง่วงเพลีย จึงกินยาแก้เมารถแบบง่วงเพื่อให้หลับได้เต็มที่ตลอดการเดินทาง
เธอนั่งในตำแหน่ง 3A (แถว 3 ติดกระจก) ซึ่งเป็นที่นั่งย้ายมาจาก 1C ภาพสุดท้ายที่เธอเห็นก่อนผ็อยหลับไปเพราะฤทธิ์ยา คือเห็นเพื่อนร่วมทางที่นั่งอยู่อีกฝั่ง เป็นคุณแม่กำลังหยอกเย้ากับเด็กแบเบาะที่กำลังหัวเราะร่วน ติดกันเป็นชายชาวญี่ปุ่นท่าทางใจดี
มารู้สึกตัวอีกที ประมาณตีสองกว่าๆ ได้ยินเสียงคนคุยกันเซ็งแซ่อื้ออึง พร้อมๆ กับได้กลิ่นอะไรไหม้ พอลืมตาขึ้นเต็มตาก็เห็นว่ารถจอดลงข้างทาง คนบนรถก็กำลังทยอยลงจากรถกันด้วยความตื่นกลัว ต่อมาคนขับรถแจ้งให้เราทราบว่า เบรกรถไหม้ ซ่อมเสร็จก็เรียกผู้โดยสารขึ้นรถแล้วก็ออกรถขับต่อไป ซึ่งเธอก็หลับทันทีที่รถเคลื่อน
รถขับไปได้ไม่นานประมาณสิบกว่านาที ดรุณีต้องสะดุ้งลืมตาตื่นขึ้นมาอีกครั้งเพราะอำนาจเสียงกรีดร้องของผู้คนบนรถ และภาพที่เห็นตรงหน้า คือ รถเสียหลักพลิกคว่ำตกเหว (ถนนสายนครไทย-ด่านซ้าย หลัก กม.60 เขตรอยต่อ อ.ด่านซ้าย จ.เลย กับ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก) หน้ารถที่กำลังพุ่งลงไปข้างหน้า ข้าวของกระจุยกระจาย คนที่เหมือนถูกเหวี่ยงกันไปคนละทิศละทาง และรู้สึกได้ว่า ตัวเธอเองเบาหวิวกำลังลอยขึ้นไปที่หลังคารถ จากนั้นทุกอย่างก็มืดมิด พร้อมสติที่ดับวูบไป
“สลบไปนานแค่ไหนไม่รู้ มารู้ตัวอีกทีคือ เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง (เจ้าหน้าที่กู้ภัย) กำลังช่วยพยุงฉันออกจากซากรถ ตอนนั้นไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดใดๆ รู้แค่ว่าตัวร้อนๆ และเปียกโชกไปด้วยน้ำมัน ฉันถูกนำส่งขึ้นรถไปพร้อมๆ กับชายชาวเบลเยียมที่ใส่เฝือกที่คอ เขายังมีสติสอบถามถึงภรรยาว่าอยู่ไหน ส่วนฉันตอนนั้น (ประมาณตีห้า) มีสติครบถ้วน จนสามารถช่วยแปลให้คุณพยาบาลในรถฟังว่าชายชาวเบลเยียมคนนี้พูดอะไรบ้าง”
จากนั้นไม่นานรถก็ถึงโรงพยาบาลด่านซ้าย เสื้อผ้าเปียกชุ่มโชกไปด้วยน้ำมันถูกกรรไกรตัดผ่ากลางลำตัวทิ้งไป ผลัดเปลี่ยนเป็นชุดของโรงพยาบาล ดรุณีถูกนำไปเข้าเครื่องสแกนทั้งตัว พบว่าข้อศอกซ้ายแตก และกระเพาะปัสสาวะฉีกเล็กน้อย อาการถือว่าหนักจึงถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเมืองเลย
“ก่อนจะไม่มีสติฉันพยายามกดรับโทรศัพท์พี่สาวที่โทรเข้ามา โทรศัพท์หน้าจอแตก จวนเจียนจะใช้การไม่ได้ พยายามกดรับสายอยู่นานมากจนรับได้ในที่สุด ซึ่งฉันพูดได้แค่ว่ารถตกเหวตอนนี้อยู่โรงพยาบาลเมืองเลย จากนั้นโทรศัพท์ก็เจ๊ง พี่พยาบาลท่านหนึ่งใจดีมาก เสนอให้ความช่วยเหลืออย่างมีเมตตาว่าให้พี่โทรหาที่บ้านให้มั้ย หน้ากากออกซิเจนแบบนี้พูดถนัดมั้ย เปลี่ยนเป็นอีกแบบมั้ย คำพูดเอื้ออาทรช่วยบรรเทาอาการเสียขวัญจากประสบการณ์เฉียดตายที่ผ่านมาได้”
เริ่มรู้สึกตัวอีกครั้งด้วยอาการรู้สึกเจ็บปวดตามแผลและตัว ปวดแบบหนึบๆ และร้อนผ่าวๆ ไปทั้งตัว หูก็ได้ยินเสียงเพื่อนร่วมชะตากรรมร้องโอดครวญด้วยเจ็บปวด แต่หมอบอกว่ายังให้ยาลดปวดไม่ได้ ต้องรอดูอาการก่อน ญาติที่มาออกันเต็มฉุนและตำหนิหมอที่เห็นว่าหมอไม่ทำอะไรสักอย่าง จนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างญาติกับหมอและพยาบาล
“อันนี้ต้องขอโทษคุณหมอกับทางโรงพยาบาลด้วยที่ญาติผู้ป่วยแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม นั่นก็เพราะความร้อนใจในชีวิตของลูกหลาน และความไม่เข้าใจในกระบวนการรักษาของหมอ ฉันได้รับการผ่าตัดเมื่อประมาณ 4 ทุ่มของวันที่ 9 เม.ย. เช้าวันต่อมาญาติฉันขอย้ายโรงพยาบาลให้ฉันไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ฉันทำประกันสังคมไว้ หมอบอกว่าทำไมไม่อยู่ต่ออีกสักวันเพราะคนไข้เพิ่งผ่าตัด ถ้าย้ายออกตอนนี้ ถ้าเกิดอะไรขึ้น หมอและทางโรงพยาบาลจะไม่รับผิดชอบ ญาติฉันก็ยังยืนยันจะย้ายโรงพยาบาลเพราะเห็นว่าที่นี่มีหมอน้อย และคนไข้เยอะ (เยอะจนฉันถูกย้ายไปที่ตึกผู้ป่วยเด็ก) พยาบาลนางหนึ่งเดินมาบอกฉันที่เตียงผู้ป่วยว่า ถ้าจะออกก็ให้ย้ายออกเดี๋ยวนี้เลย เพราะมีผู้ป่วยจะใช้เตียงต่อ ตอนนั้นฉันยังมีสายเสียบผ่านจมูกไปถึงลำคอ และสายปัสสาวะคาตัว ฉันจึงบอกหลานชายที่มาเฝ้าไข้ว่า ช่วยไปบอกนางพยาบาลคนนั้นทีว่าช่วยมาเอาสายเหล่านี้ออกให้หน่อย เธอตะคอกกลับมาว่า รู้แล้ว พอมาถอดสายต่างๆ ออกจากตัว ฉันก็รีบจะลุกออกจากเตียงให้ตามที่พยาบาลผู้นั้นบอก แต่ฉันไม่ไหวจริงๆ เวียนหัวจะอาเจียน ลุกนั่งแทบไม่ได้ ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน บอกกับฉันว่า นอนต่อก่อนก็ได้ ยังไม่มีใครใช้เตียงหรอก รู้สึกขอบคุณทั้งสองท่านนี้ และไม่เข้าใจพยาบาลผู้นี้จริงๆ ว่า คนไข้ที่กำลังนอนพะงาบๆ อยู่นี้ เป็นเหยื่ออารมณ์ของคุณหรือยังไง”
อุบัติเหตุครั้งนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 คน และเสียชีวิต 5 คน “ผู้บาดเจ็บมีทั้งที่เจ็บหนักและเบากว่าฉัน แต่บอกเลยว่าร่างกายที่มันได้หักพังไปแล้วมันไม่มีวันจะกลับมาเต็มร้อย เราทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด สุขภาพเสื่อมลงจากการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง และขวัญเสียจากเหตุการณ์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่ผู้ขับและเจ้าของบริษัทไม่เคยมาถามไถ่ เยี่ยมเยียนอาการ ส่งเพียงแค่เจ้าหน้าที่บริษัทประกันมารับหน้า และต่อรองให้ราคาค่าดูแลรักษาต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บอกตามตรงว่าทุกวันนี้ฉันขยาดการขึ้นรถโดยสาร ยอมจ่ายแพงเดินทางโดยเครื่องบิน บอกตัวเองว่าถ้าเครื่องบินตกก็แค่ตาย ฉันเกลียดบริษัทประกันที่ไม่ได้เป็นมิตรกับคู่กรณีเลยยย (เธอขอใส่ ย.ยักษ์ล้านตัว) และเข็ดกับการรักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ จนต้องยอมซื้อประกันเพื่อที่จะสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้”
ท่ามกลางเหตุการณ์เลวร้าย ใช่ว่าจะหมดสิ้นความดี ดรุณียังระลึกถึงความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยทุกท่านที่เข้ามาช่วยเหลือชีวิตได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่หญิงที่ช่วยเธอออกมาจากซากรถ และเป็นผู้เก็บสมบัติทุกสิ่งอัน ทั้งเงิน เอกสาร และเครื่องประดับ ที่ตกหล่นในที่เกิดเหตุมาอย่างครบถ้วน และยังแวะเวียนมาถามไถ่อาการจากพี่สาวของเธอ
“ขอบคุณสิ่งที่มองไม่เห็น ฉันเชื่อว่ามีอยู่จริง ที่ช่วยปกปักรักษา ฉันเจ็บเพียงแค่นี้ราวกับปาฏิหาริย์ ศอกข้างซ้ายแตก ซึ่งฉันถนัดมือขวา ไม่อย่างนั้นคงทำมาหากินลำบาก ฉันเจ็บเพียงเท่านี้ ทั้งๆ ที่ฉันสลบไปไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลย ในขณะที่คนที่มีสติครบถ้วนขณะที่เกิดอุบัติเหตุเจ็บหนักกว่าฉัน ผู้บาดเจ็บคนหนึ่งที่นั่งใกล้ๆ กันเล่าให้ฟังว่า หนูเห็นพี่ลอยขึ้นไป แล้วเหมือนมีอะไรมาผลักพี่ไปด้านหลังรถ แทนที่จะเป็นข้างหน้าทั้งๆ ที่รถพุ่งไปข้างหน้า (เบื้องล่างจุดที่รถพุ่งไปเป็นหิน ถ้าตกลงไปคงกระแทกเข้ากับหินเต็มๆ บดทับด้วยตัวรถที่พุ่งตามมา) และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันยังนั่งอยู่ที่ 1C ไม่ใช่ 3A ฉันอาจเจ็บหนักกว่านี้ หรือไม่ก็ตายไปแล้ว”
ดรุณีผ่านการทำงานหนักใช้ชีวิตอยู่ในป่า ที่เหนื่อย เสี่ยง และหลอนแค่ไหนก็ตาม ถึงอย่างนั้นพอเธอได้ปลดเป้ออกจากบ่า เอนตัวนอนฟังเสียงน้ำไหล เสียงกวาง ท่ามกลางความเงียบสงัด อากาศสะอาดๆ ชุ่มปอด เธอรับได้ถึงสัมผัสของ “ความสุขสงบ” แบบที่หาจากที่ไหนไม่ได้ นี่เองช่วยให้ 4 ปี เธอทนอยู่กับทากได้อย่างไม่สติแตกไปก่อน ถึงตอนนี้ชีวิตของเธออยู่ห่างไกลจากป่ามากแล้ว และคงกลับไปเป็นคนใช้ชีวิตในป่าแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ด้วยสภาพร่างกายหลังจากเกิดอุบัติเหตุ แต่เธอยังไปเยือนป่าเขียวๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อเติมความสุขสงบให้ชีวิต แม้จะไม่ได้ผจญภัยแบบเดิมอีกแล้ว