ดริฟต์ ความท้าทายของนักซิ่งรุ่นใหม่
ผู้ชายกับการแข่งรถอาจจะเรียกได้ว่าเป็นของคู่กัน แต่การแข่งรถบนท้องถนนจริงๆ นั้น
โดย...โยโมทาโร่
ผู้ชายกับการแข่งรถอาจจะเรียกได้ว่าเป็นของคู่กัน แต่การแข่งรถบนท้องถนนจริงๆ นั้น เป็นเรื่องที่อันตรายเกินไปสำหรับตัวเราและเพื่อนร่วมท้องถนน วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับการแข่งรถอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจและมีความท้าทาย ก็คือการดริฟต์นั่นเอง
การดริฟต์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยเชื่อว่ากำเนิดมาจากการแข่งรถของนักซิ่งรถในต่างจังหวัด จนเริ่มมีการพัฒนาเป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยนิตยสารแต่งรถของญี่ปุ่นอย่าง ออปชั่น เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้การแข่งดริฟต์เริ่มเป็นที่นิยมในระดับสากล รายการแข่งดริฟต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดทางฝั่งญี่ปุ่น คือรายการ D1 กรังด์ปรีซ์ ซึ่งเป็นรายการหลักที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รวมทั้งมีกติกาที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับ อีกรายการที่เปิดตามมาไม่นานนักคือรายการฟอร์มูลา ดริฟต์ ของอเมริกา
สรานนท์ พรพัฒนารักษ์ นักแข่งรถดริฟต์ ทีมโอเวอร์ไดรฟ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กติกาหลักๆ ของการแข่งดริฟต์ในสนามแข่งก็คือ แข่งกัน 2 คัน คันหนึ่งนำอีกคันตาม โดยคันนำจะต้องนำให้ไกลที่สุด คันหลังก็ต้องตามให้ใกล้ที่สุด โดยรถของทั้งคู่ต้องอยู่ในอาการดริฟต์
อาการดริฟต์คือ การที่นักขับทำให้รถเกิดอาการโอเวอร์สเตียร์ เหมือนจะเสียสมดุลแต่อยู่ในการบังคับของผู้ขับ โดยด้านท้ายของรถจะกวาดออกตลอดโค้ง คันที่ตามหลังก็ต้องตามให้ถึงขนาดเฉียดใกล้แตะได้นิดหน่อยได้ แต่ห้ามชนคันหน้าจนเกิดอาการเสียหลัก
ในรายการดีวัน กรังด์ปรีซ์ กำแพงจะใช้ฟองน้ำหนาเพื่อให้รถเสียหายน้อยที่สุด และเปิดให้นักแข่งเลือกการเข้าโค้งด้วยตัวเอง แต่ในขณะที่รายการฟอร์มูลาดริฟต์ กำแพงจะแข็งหนาและมีกำหนดจุดให้ดริฟต์ตามที่รายการกำหนด
ในประเทศไทยมีหลายสนามหลายทีมที่เปิดสอนหลักสูตรการดริฟต์ ซึ่งผู้ที่สนใจสามาถเข้าไปติดต่อกับทีมแข่งรถต่างๆ เพื่อสอบถามถึงการเปิดสอน ซึ่งในแต่ละปีจะมีช่วงเวลาเปิดสอนการขับดริฟต์ที่แตกต่างกันออกไป
คนที่สนใจการขับดริฟต์จะต้องมีเงินทุนพอสมควร เพราะเป็นกีฬาที่มีต้นทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่ายางและน้ำมันที่ใช้ในการขับแต่ละสนาม ส่วนรถที่ใช้ในการดริฟต์ได้นั้นจำเป็นต้องเป็นรถที่สมรรถนะสูงตั้งแต่มากกว่า 200 แรงม้า เป็นรถที่ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือ 2 ล้อหลังจะทำการดริฟต์ได้ง่าย รถขับเคลื่อนล้อหน้า ดังนั้น ใครที่คิดจะนำรถบ้านไปใช้ดริฟต์เล่นคงต้องใช้ความพยายามกันพอสมควร เพราะด้วยกำลังเครื่องยนต์ รวมไปถึงธรรมชาติของรถที่ขับเคลื่อนล้อหน้าจะไม่เหมาะกับการขับดริฟต์
สรานนท์ทิ้งท้ายให้กับคนที่หัวใจของความสำเร็จในการเป็นนักแข่งดริฟต์ คือการตั้งเป้าหมายและพยายามไปให้ถึง นักแข่งรถนอกจากพัฒนารถแล้วก็ควรพัฒนาร่างกายตัวเอง ซุ่มฝึกซ้อมจนร่างกายแข็งแรง เพราะการดริฟต์เป็นการที่เราสู้กับอาการของรถ ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา หาจุดอ่อนและพัฒนาด้วยการลงแข่ง หาแนวคิดใหม่ๆ มาพัฒนาตัวเอง จะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้รวดเร็วขึ้น