posttoday

จอหงวน ‘ใครๆก็สอบได้’

12 กรกฎาคม 2558

ชาวจีนให้ความสำคัญกับการศึกษามาตลอดหลายพันปี ชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพจากจีนต่างมีคตินี้ติดตัวมา

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ชาวจีนให้ความสำคัญกับการศึกษามาตลอดหลายพันปี ชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพจากจีนต่างมีคตินี้ติดตัวมา ลูกหลานต้องได้เรียนสูงๆ ทั้งหมดเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มากกว่าวิสัยทัศน์ส่วนบุคคล

วิสัยทัศน์จะไปทางไหนได้ เมื่อแผ่นดินที่อพยพข้ามน้ำจากมา สามัญชนในยามบ้านเมืองปกติจะสูงส่งมียศศักดิ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้สอบเข้าเป็นขุนนาง หรือที่ไทยเรามักเรียกว่าสอบ “จอหงวน” (จ้วงหยวน-สำเนียงจีนกลาง)

อันที่จริง “จอหงวน” คือชื่อตำแหน่งของคนที่ได้อันดับหนึ่งในการสอบข้าราชการ ซึ่งปกติจะจัดประมาณ 3 ปีครั้ง และแต่ละครั้งจะมีเพียงคนเดียวที่ได้ตำแหน่งนี้

ใช่แล้วครับ คนเดียวใน 3 ปี กับประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกตลอดมา

แต่ระบบขุนนางจีนคงเป็นองค์กรกะทัดรัดไปหน่อยถ้า 3 ปีจะมีขุนนางมาใช้แค่ 1 คน สอบข้าราชการแต่ละครั้งทางการจึงคัดคนเข้าเป็นขุนนางอีกหลายสิบถึงหลายร้อยคน แล้วแต่ยุคและสถานการณ์บ้านเมือง

คำว่า “สอบจอหงวน” จึงเป็นผ่องถ่ายความเข้าใจในจีนแบบไทยๆ ที่ยังลักลั่นนิดๆ เพราะที่จริงจีนเรียกระบบการสอบคัดเลือกขุนนางว่า ระบบสอบ “เคอจวี่” หรือไม่ก็เรียกว่าการสอบ “จิ้นซื่อ” “เคอจวี่” เป็นชื่อระบบ “จิ้นซื่อ” เป็นชื่อตำแหน่งผู้ผ่านการสอบจนถึงขั้นสุดท้าย และได้สิทธิเป็นขุนนาง

กว่าจะผ่านเกณฑ์ได้เป็น “จิ้นซื่อ” ก็ต้องสอบ “เคอจวี่” ระดับอำเภอ มณฑล และสอบไฟนอลที่เมืองหลวง หากผ่านทั้งหมดจะได้เข้าสอบขั้นสุดท้ายอีกครั้ง ซึ่งจัดขึ้นในพระราชวัง โดยมีฮ่องเต้เป็นผู้ออกข้อสอบ และควบคุมการสอบเอง

สอบรอบสุดท้ายในพระราชวังนี้ไม่คัดคนตก แต่เพื่อจัดอันดับเท่านั้น นี่แหละครับที่จะวัดว่าใครคืออันดับ 1 ของแผ่นดิน ซึ่งก็คือตำแหน่ง “จอหงวน” (จ้วงหยวน) สำหรับอันดับ 2 3 จะได้ตำแหน่ง “ป๋างเหยี่ยน” และ “ทั่นฮัว”

ถ้าเป็นเรียลิตี้เข้าบ้านเก็บตัวร้องเพลงก็คือ บัณฑิตทั้งหมดที่ได้เข้าบ้าน (ฮ่องเต้) ถือว่าได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงเรียบร้อยแล้ว ได้เป็น “จิ้นซื่อ” แน่ๆ เหลือก็แต่การคัดเลือกอันดับ 1 2 3 ที่จะตัดสินว่าใครจะได้บ้านได้รถได้ชาเขียวดื่มตลอดชีวิตเป็นเกียรติเป็นศรี โดยมีกติกาว่า ฮ่องเต้เท่านั้นที่มีสิทธิกด vote

อันที่จริงไม่ต้องถึงขนาดจอหงวน หรอกครับ แค่ได้เป็น “จิ้นซื่อ” ก็สามารถกรี๊ดกร๊าดกันทั้งมณฑลแล้ว หนังจีนหลายเรื่องบัณฑิตหนุ่มฉลองกันแค่ระดับ “จิ้นซื่อ” ยังไม่ถึง “จอหงวน” แต่ค่ายหนังบางค่ายก็แปลว่าสอบได้จอหงวนเพื่อความเข้าใจง่าย

เอาเป็นว่าระบบสอบ “เคอจวี่” มีขึ้นเพื่อเฟ้นหา “จิ้นซื่อ” ซึ่งก็คือขุนนางมาทำงานภายใต้รัฐจีน มีระบบที่ชัดเจน มีจำนวนตามที่รัฐต้องการ เป็นกรรมวิธีที่จริงจัง

จริงจังขนาดที่ว่า ระบบนี้อาจจัดเป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญของโลกอันดับที่ 5 จากวัฒนธรรมจีน (สิ่งมหัศจรรย์ทั้ง 4 ได้แก่ เข็มทิศ กระดาษ การพิมพ์ และดินปืน)

ในขณะที่ระบบการคัดเลือกขุนนางทั่วทุกอารยธรรมใช้ระบบสืบสายเลือด หรือเลือกคนเก่งกาจกล้าหาญเป็นกรณีๆ ไป จีนเป็นอารยธรรมแรกที่ใช้การสอบคัดเลือก ขนาดยุโรปยังเพิ่งเอาระบบการสอบขุนนางจากจีนไปใช้เมื่อศตวรรษที่ 18 นี้เอง แต่ที่จีนเริ่มต้นมาเมื่อกว่า 1,400 ปีที่แล้ว ในช่วงสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618)

ก่อนหน้ายุคที่จีนจะเริ่มผุดไอเดียระบบสอบแบบนี้ การหาคนมาใช้งานราชการมีทั้งการใช้ระบบสืบสายเลือด ปู่มีตำแหน่งอะไร ก็ให้พ่อให้ลูกรับตำแหน่งแบบนั้น ผลคือ ยิ่งสืบต่อยิ่งอ่อนหัดก็มี ยิ่งกร่างก็มีมาก

จากนั้นพอเริ่มสมัยราชวงศ์ฮั่น (ก่อน ค.ศ. 206-220) ยกขงจื๊อยอดคุณธรรม เป็นไอดอลแห่งชาติ ใช้ระบบให้ขุนนางท้องถิ่นเสาะหาคนที่ทั้งเก่งและดีเข้ามาให้ศูนย์กลางช่วงใช้ โดยเฉพาะต้องเน้นความ “ซื่อสัตย์” และ “กตัญญู” แต่นานไปกลับกลายเป็นผู้ดีจอมปลอมเต็มบ้านเต็มเมือง ที่ได้ชื่อว่ามีความรู้สูงส่งแต่กลับอ่านหนังสือไม่ออก ที่ได้ชื่อว่ากตัญญูแต่กลับไม่เคยเหลียวแลพ่อแม่

เมื่อซื่อสัตย์กตัญญู วัดกันไม่ได้ เส้นสายและการตลาดประชาสัมพันธ์จึงบังภูเขา รายชื่อแนะนำของขุนนางท้องถิ่นจึงมีแต่เรื่องโป้ปด

ปลายยุคฮั่น คือยุคสามก๊ก โจโฉ เห็นปัญหาผู้ดีจอมปลอม จึงจัดระเบียบการคัดสรรคนใหม่ ชูนโยบาย เลวก็ดี อกตัญญูก็ได้ ขอมีเพียงความสามารถก็มาร่วมงานกัน ผลของนโยบายแก้ขัดปัญหาผู้ดีจอมปลอม คือโจโฉโดนประณามมาข้ามพันปี

และถึงนโยบายนี้จะใช้ได้ในช่วงสั้นๆ แต่ต้องอาศัยสายตาผู้นำอย่างโจโฉเป็นคนเลือกเอง ความมโหฬารของระบบราชการหลังจากประเทศปักหลักได้ ต้องการความเป็นระบบมากกว่านี้

โจผีลูกชายโจโฉ สมยอมกับระบบใหม่ ให้ตระกูลขุนนางเดิมเสนอคนดีมีความสามารถขึ้นมา แล้วจัดสรรตำแหน่งตามระดับชาติกำเนิด ผลคือที่ชาติกำเนิดต่ำต้อยก็ต่ำต้อยต่อไป ที่สูงศักดิ์ก็สูงศักดิ์ต่อไป แยกชั้นกันชัดเจน แถมเริ่มเกิดสภาพการสะสมอำนาจจากพรรคพวกกันในตระกูลชนชั้นสูง เริ่มมีมุ้งและเด็กในสังกัด หลังจากใช้ระบบนี้ จึงเต็มไปด้วยการปฏิวัติยึดอำนาจจากตระกูลใหญ่กันไปมา เรียกว่า ฮ่องเต้จัดระบบคัดสรรผิด คิดจนล้มหายตายจากไปหลายราชวงศ์

จนมาถึงเมื่อกว่า 1,400 ปีที่แล้วในยุคราชวงศ์สุย ฮ่องเต้สุยหยางตี้ จึงได้ใช้ระบบการสอบ “เคอจวี่” ขึ้นมา ซึ่งก็คือการสอบคัดเลือกโดยเสรีนี่แหละครับ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ขุนนางใหม่ก็คือเด็กในสังกัดของฮ่องเต้โดยตรง เพราะฮ่องเต้ออกข้อสอบขั้นสุดท้ายและดำเนินการเลือกด้วยพระองค์เอง ขุนนางใหม่จึงถือเป็นศิษย์ของฮ่องเต้โดยปริยาย ปัญหาเป็นเด็กเส้นกางมุ้งคลุมหอกข้างแคร่ แม้แก้ไม่ได้หมด แต่ก็บรรเทาเบาบางลงมาก

ในสมัยแรกเริ่มระบบนี้ผู้เข้าสอบจำกัดในวงแคบๆ อยู่แค่ลูกผู้ดีทั้งหลาย ใครอยากสอบก็มาสอบ ไม่ต้องแกล้งเป็นคนซื่อคนดี ไม่ต้องฝากตัวผ่าน connection ใดๆ ต่อมาสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) จึงถึงยุค Low Cost จอหงวน “ใครๆ ก็สอบได้” ขอเพียงไม่ใช่นักโทษกับโสเภณี หรือเป็นลูกหลานในช่วง 3 รุ่นของนักโทษและโสเภณีเท่านั้น

ในหนังเปาบุ้นจิ้น สมัยราชวงศ์ซ่ง จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของคนยากคนจนดิ้นรนเข้ามาสอบขุนนางในเมืองหลวง แล้วโดนโกงโดนแกล้ง หรือได้ตำแหน่งแล้วไปแกล้งไปโกงเขา พล็อตในหนังเหล่านี้บอกบรรยากาศสังคมในช่วงนั้นได้อย่างดี

หลังจากนั้น ถ้าไม่นับช่วงชาวมองโกลเข้าปกครองในราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368) ระบบการสอบ “เคอจวี่” นับว่าปักหลักมั่นคง จนในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) สถาบันติวและเก็งข้อสอบก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

จนถึงปลายราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1611-1911) จีนรู้สึกตัวเองอ่อนแอและล้าหลัง เลือกรับระบบการศึกษาและการเมืองจากตะวันตก ปัญญาชน ยุคใหม่จึงโจมตีการสอบ “เคอจวี่” และยกเลิกเสียสิ้น ปัญหาความล้าหลังจากระบบการสอบก็เป็นเรื่องจริงครับ แต่อยู่ที่ข้อสอบที่โบราณคร่ำครึ มากกว่าระบบการสอบ

บทบาทส่วนหนึ่งของการสอบ “เคอจวี่” ต่อสังคมจีน คือการลดแรงกดดันระหว่างชนชั้น เพราะผู้คนมีความหวังที่จะยกระดับชีวิตตัวเองเข้าใกล้ชิดอำนาจปกครอง บ้านเมืองจึงมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก่อนจะตั้งตัวเป็นศัตรูของรัฐก็ยังมีทางเลือกในการหนีชะตาชีวิตแร้นแค้น เข้าสู่ระบบร่วมพัฒนาชาติ พร้อมกับได้ยกระดับตัวเอง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเข้มข้นของการกุมอำนาจในตระกูลใหญ่ เปิดโอกาสให้ระบบราชการมีหน้าใหม่จากหลากหลายชนชั้นเข้ามาแจมได้เสมอ ฮ่องเต้และราชสำนักยังมีโอกาสได้รับรู้เสียงและมุมมองจากทุกท้องถิ่นทุกชนชั้นมากขึ้น

ก่อนคำว่าความรู้คืออำนาจจะมีความหมายซับซ้อน ความรู้กับอำนาจแบบจีนเชื่อมกันดิบๆ ด้วยการสอบ “เคอจวี่” สอบติดชีวิตเปลี่ยน อำนาจ ยศศักดิ์ ไต่เต้าได้ด้วยความรู้ ไม่ว่าฐานะชนชั้นใด “ต่อหน้าข้อสอบ ทุกคนเท่าเทียม”

และเมื่อใดที่ความรู้ความสามารถไม่อาจเชื่อมต่อกับความกินดีอยู่ดี การมีสิทธิมีเสียงในสังคม จะเข้าถึงการศึกษาได้ต้องเป็นเด็กเส้น หรือต้องมีพ่อแม่เป็นศิษย์เก่าฐานะดี จะเข้าทำงานหรือเลื่อนขั้นก็ไม่พ้นระบบกีดกันคนนอกและพรรคพวก เมื่อนั้นกลุ่มก้อนผู้กุมอำนาจก็จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่วนผู้คนในสังคมก็จะเกิดแรงกดดันในความไม่พอใจในชีวิตอีกครั้งเพราะหาทางยกระดับชีวิตตัวเองไม่ได้ และหาทางระบายออกมาเป็นความไม่เสถียรต่างๆ นานาของสังคม