ไปไหน ไปกาญจน์
จากกรุงเทพฯ ไปกาญจนบุรีใช้เวลาพอๆ กับไปหัวหิน แต่กรีนซีซั่นแบบนี้หันทิศไปตะวันตกสู่เมืองแม่น้ำแคว
โดย...กาญจน์ อายุ
จากกรุงเทพฯ ไปกาญจนบุรีใช้เวลาพอๆ กับไปหัวหิน แต่กรีนซีซั่นแบบนี้หันทิศไปตะวันตกสู่เมืองแม่น้ำแควน่าจะเหมาะกว่า เพราะป่าเขียวยังไงก็ดีกว่าทะเลครึ้ม แต่ปัญหาอยู่ที่หลายคนเก็บครบหมดแล้วทุกแลนด์มาร์คทั้งสะพานข้ามแม่น้ำแคว น้ำตกเอราวัณ สุสานสงครามกาญจนบุรี พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด สถานที่เหล่านี้เป็นที่ที่คนไปกาญจนบุรีครั้งแรกต้องไป แต่ยังไม่พอ! เพราะบางแห่งที่กล่าวไปมีอะไรมากกว่านั้น
การเดินทางของเหล่าฮิปสเตอร์มักเลือกรถไฟ โดยนั่งจากสถานีธนบุรี-สถานีน้ำตก จ.กาญจนบุรี แต่ช่วงเดือน ก.ค.นี้จำเป็นต้องหยุดฮิป เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยปิดซ่อมแซมช่วงสถานีหนองปลาดุก-สถานีกาญจนบุรี ดังนั้นเส้นทางจากธนบุรีจะไปสิ้นสุดที่หนองปลาดุกเท่านั้น แต่ช่วงไฮไลต์จากสถานีกาญจนบุรี-สะพานข้ามแม่น้ำแคว-เลาะผ่านถ้ำกระแซ-สิ้นสุดที่สถานีน้ำตก ยังเปิดให้บริการปกติ ดังนั้นโดยสารรถยนต์ไปกาญจนบุรีแล้วค่อยไปนั่งรถไฟที่สถานีกาญจนบุรีก็ยังไม่ทำให้พลาด 5 อย่างนี้ไป
พระพุทธรูปปากถ้ำละว้า
ทางรถไฟสายลึกลับ
A life for every sleeper หนึ่งไม้หมอนเท่ากับหนึ่งชีวิต คนที่เคยไปพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดต้องเคยอ่านและรู้สึกร่วมไปกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนั้น
ทางรถไฟสายมรณะคือโศกนาฏกรรมสงคราม เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นต้องการสร้างทางรถไฟจากไทย ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ไปยังเมืองทันบูซายัต ประเทศเมียนมา เพื่อขนส่งกำลังคน เสบียง อาวุธ ผ่านพม่าไปโจมตีอินเดียแทนที่การขนส่งทางเรือซึ่งเสี่ยงต่อการโจมตี
ทางเดินภายในโถงถ้ำ
เส้นทางรถไฟยาว 415 กม. แต่ใช้เวลาสร้างเพียง 1 ปีโดยไม่มีเทคโนโลยีช่วย นั่นเพราะกองทัพญี่ปุ่นใช้แรงงานคนมหาศาลเป็นต่างชาติชาวอเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา ราว 61,700 คน และชาวเอเชียรวมถึงคนไทยอีกนับแสนคนความโหดร้ายขั้นสุดอยู่ในช่วงปี 1943 ที่เรียกว่า สปีโด้ (Speedo) ภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่นที่สั่งให้เชลยศึกและแรงงานทำงานหนักตลอด 24 ชม. ในฤดูฝนทำให้อหิวาตกโรคระบาด ผู้คนล้มตาย ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จและหัวรถจักรวิ่งเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน ปรากฏว่ามีคนตายถึง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด
ถ้าได้เดินจากพิพิธภัณฑ์ไปช่องเขาขาด สถานที่เกิดเหตุจริงจะเข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงล้มตาย เพราะภูเขาทั้งลูกถูกเจาะให้เป็นทางรถไฟโดยปราศจากเครื่องจักร มีเพียงสองมือและเครื่องมือโลหะสำหรับกระเทาะหินเท่านั้นในการก่อสร้าง นักท่องเที่ยวทั่วไปจะเดินจากพิพิธภัณฑ์ไปสิ้นสุดที่ปลายทางช่องเขาขาดแล้วเดินกลับระยะทางเพียง 250 ม. แต่ถัดจากนั้นยังมีทางให้เดินต่อซึ่งเป็นทางรถไฟสายมรณะที่น้อยคนนักจะไป
หินย้อยเกิดใหม่
ระยะทาง 4.5 กม. ที่สามารถเดินตามรอยรางรถไฟไปได้ซึ่งหลังจากผ่านช่องเขาขาดไปแล้วจะเป็นช่องทุบและตอก มีลักษณะคล้ายกันคือตัดผ่านเขา ยังมีร่องรอยการตอกชั้นหินครั้งแล้วครั้งเล่าราวกับว่าก้อนหินเหล่านั้นส่งเสียงได้ จากนั้นเดินผ่านป่าไผ่ไปยังเขื่อนหินเจ็ดเมตร เรื่อยไปสู่สะพานสามระดับ (Site of three tier bridge) และสุดที่ช่องหินตกจุดเจาะเขาที่ยาวและลึกมากไม่ต่างจากช่องเขาขาด เมื่อพ้นไปแล้วจะเจอถนนลูกรังที่ออกไปถนนใหญ่ได้
เส้นทางนี้เกือบดูไม่รู้ว่าคือทางรถไฟ เพราะแทบไม่มีรางที่เห็นตลอดทางมีเพียงไม้หมอนเก่าจมอยู่ในดิน และดอกป๊อปปี้กรังฝุ่นที่ใครสักคนนำมาวางไว้เพื่อระลึกถึงชีวิตที่เคยอยู่ที่นั่น
ค้างคาวกิตติในถ้ำละว้า
ผาสปีโด้
ช่วงสปีโด้หรือการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำเกิดขึ้นในช่วงที่สร้างทางรถไฟผ่านถ้ำกระแซ ลักษณะเป็นผาสูงอันตราย ซึ่งมีคนตายกว่า 1,000 คนในบริเวณนั้น
ปัจจุบันทางรถไฟยังเปิดใช้งานอยู่คือสายธนบุรี-สถานีน้ำตก ที่มาจากกรุงเทพฯ เป็นขบวนรถไฟฟรีแต่ต่างชาติต้องจ่ายเงินคนละ 100 บาทเหมือนเป็นรถไฟท่องเที่ยว
ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวมักไปรอถ่ายภาพรถไฟที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว เพราะมีระเบียงให้หลบกลางสะพานและถ่ายภาพใกล้ชิด แต่ที่สถานีถ้ำกระแซไม่เป็นเช่นนั้น เพราะด้านหนึ่งเป็นผา อีกด้านเป็นเหว มองลงไปเห็นแม่น้ำแควน้อย ถ้าไม่อยู่บนพื้นดินก็ต้องอยู่บนรถไฟแล้วยื่นหน้าออกไปถ่ายภาพ
ระบำมอญ
ภาพที่ทำให้นึกถึงคำว่ามรณะขึ้นมาจับใจ เพราะรางไม้ที่เลียบหน้าผาและโค้งไปตามแนวเขายาว 400 ม. ขนาดสร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังยากแล้วนับประสาอะไรกับเมื่อ 72 ปีก่อนที่สร้างโดยฝีมือแรงงานผู้เหนื่อยล้าและไร้กำลังใจ
ช่วงถ้ำกระแซเป็นทางผ่านทั้งจากกรุงเทพฯ ไปสถานีน้ำตก และจากสถานีน้ำตกกลับไป แต่ที่ได้กล่าวไปว่าตอนนี้มีการซ่อมแซมทางรถไฟจึงสามารถขึ้นได้ที่สถานีกาญจนบุรีไปจรดสถานีน้ำตกระยะทาง 77 กม.
ทางรถไฟสายมรณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศได้ซื้อมาจากอังกฤษ อังกฤษกลายเป็นเจ้าของทางรถไฟสายไทย-พม่าหลังจากญี่ปุ่นยกธงขาวพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่
2 โดยไทยเป็นเจ้าของเฉพาะในเขตประเทศไทยตั้งแต่ปี1947 และฟื้นฟูบางช่วงให้สามารถวิ่งได้เหมือนเดิมส่วนในเมียนมายังไม่มีการปรับปรุงรางรถไฟสายมรณะ
วันดีและน้อย ช้างในหมู่บ้านมอญ
ตามคุณกิตติ
ถ้าพักอยู่ที่ริเวอร์แคว รีโซเทล ก็ไม่จำเป็นต้องหายานพาหนะ เพราะถ้ำละว้าอยู่หลังบ้านแค่นั้นเอง แต่ถ้าเดินทางจากในเมืองสามารถไปทางรถยนต์หรือเหมาเรือหางยาวล่องแม่น้ำแควน้อยก็ได้ ซึ่งทางน้ำจะเร็วกว่าและจะเห็นทัศนียภาพแม่น้ำสวยกว่า
ถ้ำละว้าถูกค้นพบเมื่อ 62 ปีที่แล้ว พบโครงกระดูกมนุษย์จึงสันนิษฐานได้ว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันถ้ำละว้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค มีการสำรวจถ้ำไปแล้วประมาณ 450 ม. และเปิดเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติโดยภายในได้ติดตั้งระบบไฟฟ้าตามจุดต่างๆ
ไม้หมอนเก่าในช่องเขาขาด
แบ่งเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้องหนุมาน หินย้อยรูปทรงเหมือนหนุมานอ้าปากอยู่บนเพดานถ้ำ ห้องจระเข้ ธรรมชาติทำให้เหมือนจระเข้จนน่าตกใจ เป็นจระเข้ตัวใหญ่นอนพาดอยู่เพดาน ห้องดนตรี ดูเผินๆ อาจไม่เข้าใจแต่พอถ้าได้เคาะหินดูแล้วจะได้ยินเป็นโทนเสียงต่างกัน ห้องค้างคาว แต่ไม่มีค้างคาว เป็นหินย้อยรูปค้างคาวและหินงอกรูปแมวที่กำลังจ้องจับมัน และห้องม่านบรรทม โถงสุดท้ายขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยที่มาบรรจบกันเป็นม่านหิน เมื่อต้องไฟจะมีแสงแวววับอย่างคริสตัล
เส้นทางเดินเข้าและออกเป็นทางเดียวกัน ซึ่งตรงปากถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ไปมาลาไหว้ไว้ไม่เสียหาย
ถ้ำละว้าถือเป็นถ้ำที่ยังมีชีวิตเพราะยังมีน้ำปูนหยดสร้างหินย้อยและทับถมกันเป็นหินงอกรุ่นใหม่ ดังนั้นนักท่องเที่ยวต้องระมัดระวังอย่าจับ อย่าชน เพราะแค่การเข้าไปชม ความร้อนจากร่างกายมนุษย์ก็มีผลต่อการเติบโตของหินปูนแล้ว นอกจากนี้ภายในถ้ำยังเป็นที่อาศัยของค้างคาวกิตติ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สุดในโลก ถูกพบครั้งแรกในถ้ำไทรโยคและพบได้เฉพาะในประเทศไทยและเมียนมาเท่านั้น
ทางเดินหินบริเวณเขื่อนหินเจ็ดเมตร
นักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวสักเล็กน้อย เพราะภายในถ้ำอากาศร้อนชื้นทำให้เสียเหงื่อมาก และควรเตรียมไฟฉายติดตัวไปไว้ใช้ยามฉุกเฉินเมื่อไฟฟ้าในถ้ำขัดข้อง ส่วนค่าธรรมเนียมเข้าชมภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามปกติผู้ใหญ่คนละ 100 บาท แต่ด้วยนโยบายจากรัฐบาลบิ๊กตู่ที่ประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ
จึงลดค่าธรรมเนียมลงครึ่งหนึ่งเหลือคนละ 50 บาท เด็ก 25 บาท จนถึงสิ้นปี
ใกล้กับถ้ำละว้ามีหมู่บ้านมอญตั้งอยู่ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในริเวอร์แคว รีโซเทล มีโรงเรียนสอนภาษามอญ เมียนมาและอังกฤษ แต่หากต้องการชมวิถีชาวมอญแนะนำให้นั่งเรือไปที่จังเกิ้ล ลาฟต์ แล้วเดินไปหมู่บ้านมอญที่มีอยู่กว่า 20 ครัวเรือน
รามัญน้ำแคว
ชาวมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานตลอดแนวตะเข็บชายแดนภาคตะวันตก ซึ่งมีประวัติอพยพเข้าไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมา แหล่งใหญ่อยู่ใน อ.สังขละบุรี เรียกว่าหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง มีชาวมอญอาศัยอยู่กว่า 1,000 ครอบครัว และอยู่กระจัดกระจายในกาญจนบุรี
จากที่ได้พูดคุยกับ สุพจน์ ลูกครึ่งมอญ-ไทยที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้กับแพจังเกิ้ล ลาฟต์ เขาเล่าให้ฟังว่าในหมู่บ้านมีชาวมอญอยู่ประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรประชาชน ถามเขาว่าคนที่นี่ทำงานอะไร ทำเกษตรกรรมไหมสุพจน์ตอบ “ปลูกดอกไม้” ปลูกไว้ใช้ในแพที่คนส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่นั่น
โพรงไม้มองทะลุเห็นช่องเขาขาด
ภายในชุมชนมีวัด โรงเรียน ร้านค้า และช้าง 2 เชือก ซึ่งเลี้ยงไว้เพื่อการท่องเที่ยว สุพจน์พาไปชมโรงเรียน วันนั้นมีนักเรียนแค่ 3 คน หลักสูตรการเรียนเป็นแบบ “เรียนๆ เล่นๆ”
ตามใจนักเรียนและครูว่าอยากเรียนกันตอนไหน และพาเดินไปถ้ำพระมอญ ที่อดีตเคยมีพระสงฆ์แต่ตอนนี้ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดในหมู่บ้านแล้ว
เมื่อถึงถ้ำ สุพจน์หาไม้ยาวๆ ให้ 1 อันบอกให้ไปค้ำ ตอนแรกงง แต่พอเห็นผนังถ้ำถึงเข้าใจ กิ่งไม้จำนวนนับไม่ถ้วนถูกนำไปค้ำผนังหินทั้งที่มันไม่มีวันร่วง สุพจน์บอกไม้ที่เห็นมากมายมาจากชาวต่างชาติทั้งนั้น เลยคิดถามตัวเองฉันไปอยู่ไหนมา ถึงมาช้ากว่าฝรั่งเหล่านี้
ลอยคอ
ไปกาญจนบุรีต้องไปนอนแพ ตลอดสายน้ำแควน้อยมีให้เลือกหลายแห่งตั้งแต่แบบบ้านๆ ไปจนถึงแพ 5 ดาว ซึ่งทุกแห่งจะมีสระว่ายน้ำส่วนตัวเป็นแม่น้ำแควน้อยที่อยากเล่นตอนไหนก็กระโดด ไหลลอยคอไปกับกระแสน้ำโดยที่ไม่ต้องออกแรง ซึ่งช่วงนี้หน้าฝน แต่ฝนไม่ค่อยตก ทำให้น้ำยังมากแต่ไหลไม่เชี่ยวกรากเหมือนหน้าฝนปีอื่น แต่ไม่ว่าอย่างไรทุกครั้งที่เล่นต้องสวมเสื้อชูชีพ และเวลาลอยคอต้องรู้ตัวเองว่าจะขึ้นจุดไหนและคว้าให้ทัน ไม่เช่นนั้นกระแสน้ำจะพาไปเที่ยวไกล คิดจะว่ายทวนน้ำกลับมาก็ไม่เกิดผลเพราะคุณจะว่ายอยู่กับที่จนหมดแรง
อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนุกว่าคือ ล่องแพเปียก เป็นแพไม้ไผ่มีตั่งให้นั่งที่รับประกันได้ว่าไม่เปียกแน่นอน ถ้าใครอยากลงน้ำก็ลอยคอไปพร้อมๆ กับแพ แพเปียกมีให้บริการตามแพรีสอร์ททั่วไป ซึ่งป็นวิธีการชมธรรมชาติที่คลีน ไม่มีเสียง ไม่มีมลพิษ และอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ
5 อย่างที่กล่าวมานี้ใช้เวลา 2 วัน 1 คืนก็เก็บครบ แต่ถ้าอยากให้มีเวลาชิล นอนดูฝนโปรยเบาๆ สลับกับแดดจางๆใช้เวลา 3 วัน 2 คืนกำลังเหมาะ ซึ่งเป็นทริปสั้นๆ ที่ใช้เวลาไม่นานแต่อินไซด์เมืองกาญจน์และรับพลังงานจากธรรมชาติกลับไป