เปิดใจสาวขาจิ้น ทำไมต้อง ‘วาย’
กลางปีนี้ภาพยนตร์แนวชายรักชายเข้าฉายชนโรงกันหลายเรื่อง เรียกว่าออกมาถี่เป็นพิเศษ
โดย...กองทรัพย์-กาญจนา
กลางปีนี้ภาพยนตร์แนวชายรักชายเข้าฉายชนโรงกันหลายเรื่อง เรียกว่าออกมาถี่เป็นพิเศษ คนที่ชอบแนววายอาจจะดี๊ด๊ากับการเลือกชม เริ่มจากภาพยนตร์เรื่องคืนนั้น (Red Wine in the dark Night) กำกับโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ตามมาด้วยภาพยนตร์ชายรักชายสะเทือนอารมณ์เรื่องพี่ชาย (My Hero) กำกับโดย Josh Kim ชาวเกาหลี ส่วนภาพยนตร์เวอร์ชั่นสมบูรณ์ของ “คืนนั้นสีน้ำเงิน” จากซีรี่ส์เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอนเรื่อง The Blue Hour อนธการ ก็เปิดตัวอย่างน่าสนใจ หรือล่าสุดที่กำลังจะเข้าโรงฉายในสัปดาห์หน้า คือเรื่องอยากบอกให้รู้ว่ารัก (Love Love You) กำกับโดย นภัทร ใจเที่ยงธรรม ที่นำเสนอความรักของชายกับชายได้อย่างน่ารักสดใส ดูแล้วเฮฮา ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง Water Boyy กำกับภาพยนตร์โดย ราชิต กุศลคูณสิริ แม้เนื้อหาจะไม่ใช่ชายรักชายเต็มๆ แต่ก็ทำให้หนุ่มวายสาววายจิ้นได้ไม่แพ้กัน
เมื่อหนังเอาใจหนุ่มวายสาววายมีมากขึ้น จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่าแท้จริงแล้ว พื้นที่ของบรรดาสาววายกำลังจะขยายตัวใช่หรือไม่ เมื่อเราไปถามสาววายตัวจริง พวกเธอจะบอกว่า ไม่ใช่สาววายทุกคนจะชอบหนังแนวชายรักชายที่มีเนื้อหาเปิดเผย แต่สาววายจะจิ้น (Imagine) ได้สนุกและมีความสุขก็ต่อเมื่อนิยาย การ์ตูน หนัง หรือสื่อที่พวกเธอเสพมีพื้นที่ให้จินตนาการของพวกเธอทำงานมากกว่าการจงใจทำให้เห็นโต้งๆ
คิดจะวายต้องจิ้นได้ทุกวงการ
กุ๊งกิ๊ง เลขานุการ วัย 34 ปี อธิบายความหมายของสาววายว่า “วายมาจากคำว่า ยาโอย (Yaoi) เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่าชายรักชาย สาววายจึงมาจากคำนี้ แต่ก็มีเหมือนกันที่คนชอบคู่หญิง-หญิง ก็เรียกว่าสาววายเพราะมาจากคำว่ายูริ (Yuri) ที่แปลว่าหญิงรักหญิง”
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับกุ๊งกิ๊งคือ การ์ตูนที่เปิดโลกสาววายของเธอไม่ใช่การ์ตูนชายรักชาย แต่เป็นการ์ตูนที่ใครๆ ก็อ่าน “ตอนเด็กๆ อ่านกัปตันซึบาสะ (Captain Tsubasa) ซึ่งถือว่าเป็นการ์ตูนที่เปิดโลกวายของเรา คือพออ่านไปเรื่อยๆ จะสัมผัสได้ถึงความน่ารักของตัวละครหลัก อย่างซึบาสะกับเพื่อนสนิทที่เล่นฟุตบอลด้วยกัน เห็นความเป็นห่วงเป็นใย มิตรภาพลูกผู้ชาย แต่มันมีความมุ้งมิ้งกันอยู่ อธิบายไม่ถูก แต่สาววายจะรู้สึกและคลิกกับอาการนี้ได้ง่ายมาก จากนั้นเราก็รู้สึกถึงความน่ารักของตัวละครหลักที่เป็นชายกับชายอีกหลายเรื่อง เช่น โคนัน ที่เคมีระหว่างชินอิจิกับเฮย์จิ”
จากนั้นกุ๊งกิ๊งจริงจังกับการ์ตูนสาววายเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เธอมีสังคมของคนที่ชอบเรื่องเดียวกัน ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่วงเอ็กซ์เจแปน (X-Japan) วงร็อกญี่ปุ่นกำลังบูม พื้นที่จิ้นของเธอก็กว้างขวางมากขึ้น จากอ่านการ์ตูน ก็ขยับมาติดตามไอดอล และเมื่อกระแสเกาหลีเข้ามาเธอก็ติดตามไอดอลเกาหลี ทั้งดงบังชินกิ XOX แต่ระหว่างนี้เธอก็ยังคงอ่านนิยายฟิกวายไปด้วย “สาววายจะเปลี่ยนไปตามบริบท เราอ่านนิยามฟิกของต่างประเทศมากขึ้น อ่านเนื้อเรื่องที่หนักขึ้น เพื่อนบางคนชอบดูฟุตบอลก็หันไปจิ้นนักฟุตบอลได้อีก (หัวเราะ) แต่เราดูฟุตบอลเป็นกีฬา ไม่สามารถจิ้นได้แบบเขาถือว่ามีลิมิตอยู่ (หัวเราะ)”
แหล่งชุมนุมสาววาย
กุ๊งกิ๊ง บอกว่า ก่อนที่โซเชียลเน็ตเวิร์กจะครองพื้นที่ เว็บไซต์นิยายฟิกทั้งของนักเขียนชาวไทย และนักเขียนต่างประเทศเป็นแหล่งชุมนุมสาววายชั้นยอด นอกจากนี้ยังมีงานอีเวนต์ที่มีการแต่งคอสเพลย์ตัวการ์ตูน หรืองานแข่งเต้นคัฟเวอร์ (Cover) ไอดอลญี่ปุ่น งานคอนเสิร์ต งานแฟนมีตติ้ง และงานสัปดาห์หนังสือ จะเป็นสถานที่ยอดฮิตที่บรรดาสาววายจะรวมตัวกัน พูดคุยในเรื่องเดียวกัน แลกหนังสือกันอ่าน บางคนต่อยอดจนกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันก็มี
ขณะที่ปัจจุบันพื้นที่สนทนาของสาววายทางหนึ่งคือ ทวิตเตอร์ อยากรู้ความนิยมซีรี่ส์สุดฮิตและการจิ้นสุดฮอตให้ลองติดตามแฮชแท็ก deathnote2015 ก็จะเห็นสาวๆ พูดคุยถึงตัวละครหลักอย่าง แอล และไลต์ กันอย่างออกรสออกชาติ
ด้านเจ้าของชื่อ @carrot_nj หรือแคล เธอเป็นสาววายที่เริ่มชอบ (จิ้น) คู่ชาย-ชายมาตั้งแต่ชั้นประถมในช่วงที่กระแสนักร้องญี่ปุ่นกำลังดัง เริ่มจากการเป็นแฟนคลับวงคัทตุน (Kat-Tun) โดยชอบคู่จิ้นและ
คาเมะมากเป็นพิเศษ
ถ้านับปีจนถึงวันนี้แคลเป็นสาววายราว 12 ปี ติดตามคู่ศิลปินมาหลายคู่ทั้งญี่ปุ่น ไทย เกาหลี ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคู่ชาย-ชาย
ศิลปินไทยที่เธอชื่นชอบคือ เต๋า-เศรษฐพงศ์ เพียงพอ และคชา-นนทนันท์ อัญชุลีประดิษฐ์ เธอจะมีความสุขเวลาเห็นทั้งสองคนทำงานร่วมกัน อยู่ด้วยกัน ไม่ต่างจากคู่ณเดชน์-ญาญ่า ที่สร้างกระแสคู่จิ้นให้วงการบันเทิงไทย
แคล บอกว่า สำหรับเธอนอกจากในทวิตเตอร์แล้ว ยังมีการรวมตัวกันจัดกิจกรรม เช่น บ้านเต๋า-คชาจะทำบุญทุกปีในวันที่ 23 เดือน 3 ที่ถูกกำหนดให้วันครบรอบของบ้าน มีที่มาจากหมายเลขตอนแข่งขันอะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ซีซั่น 8 เต๋า V23 และคชา V3 ซึ่งเป็นการรวมตัวทำกิจกรรมกันเอง โดยที่ไม่มีศิลปินเข้าร่วม แต่ทุกวันนี้บางค่ายเพลงก็มีการจัดงานมีตติ้งคู่จิ้น เพื่อเรียกความนิยมจากแฟนคลับ
กลุ่มสาววายไม่ได้เสพสื่อจากศิลปินเพียงอย่างเดียว มีจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบอ่านนิยายหรือที่เรียกว่า ฟิก (มาจากคำว่าฟิกชั่น) เรื่องราว ที่แต่งขึ้นโดยมีตัวเอกเป็นศิลปิน เป็นตัวการ์ตูน หรือตัวเอกในนวนิยาย แคล เล่าว่า ฟิกไม่ได้มีแค่คู่ชาย-ชายอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงคู่หญิง-หญิง และหญิง-ชายด้วย โดยสามารถหาอ่านได้ตามเว็บไซต์ เช่น Dek-D.com เว็บไซต์นี้จะมีพื้นที่ให้คนทั่วไปเขียนนิยาย ซึ่งมีนิยายคู่ชาย-ชาย สำหรับสาววายอยู่ในนั้น
กฎของสาววาย จิ้นอย่างมีขอบเขต
ถ้าสรุปให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าสาววายคือแฟนคลับ แต่แฟนคลับอาจไม่ใช่สาววายทั้งหมด ทำให้บางครั้งเกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน ระหว่างกลุ่มสาววายกับแฟนคลับที่ชอบศิลปินเป็นรายบุคคล “บางครั้งสาววายจะถูกมองว่าเป็นพวกมโน” แคล กล่าว “แต่เราจิ้นในพื้นที่ของเรา ไม่ได้ไปพาดพิง ไม่ได้ล้ำเส้นในพื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน ไม่ได้ทำให้ใครเสียหายเดือดร้อน เราแค่มีความสุขในมุมของเรา”
ขณะที่ กุ๊งกิ๊ง บอกว่า การติดตามศิลปินญี่ปุ่น ซึ่งมีกฎชัดเจนว่าต้องไม่ล้ำเส้นศิลปิน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของไอดอล ดังนั้น การจิ้นของสาววายรุ่นบุกเบิกจึงอยู่ในขอบเขต “เราไม่ได้ต้องการให้เขาเป็นแฟนกัน แต่เรามีความสุขเวลาเห็นเขาอยู่ด้วยกัน มันเป็นโมเมนต์ที่น่ารัก คนที่เราจิ้นเขาอาจจะมีแฟน มีครอบครัว แต่เราไม่ได้เอาเงื่อนไขเหล่านี้มาจำกัดว่าไอดอลต้องห้ามมีแฟนเป็นผู้หญิง
เพราะจริงๆ สาววายหลายคนก็ชอบผู้ชายแท้ๆ และอยากมีแฟน บางคนมีครอบครัว แต่เรื่องการจิ้นการวายมันเป็นอีกหนึ่งความสุขเท่านั้น”
“มันเป็นรสนิยม” แคลให้ความเห็น “สาววายไม่ใช่ว่าเดินผ่านคู่ชายที่ไหนแล้วจะกรี๊ด แต่มันเริ่มจากความชอบศิลปินแล้วรู้สึกว่าอยากจับคู่ให้ เหมือนกับเราเชียร์พระเอกให้คู่กับนางเอก แต่เปลี่ยนจากคู่หญิง-ชาย มาเป็นชาย-ชายเท่านั้นเอง”
ด้าน ชมพู่ วัย 28 ปี เธอก็เป็นแฟนคลับวงซูเปอร์จูเนียร์มาร่วม 10 ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ซีรี่ส์เกาหลีเข้ามาใหม่ๆ และนักร้องเกาหลีก็ดังตามมาติดๆ เธอเล่าว่าสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นเคยตามศิลปินไปถึงเกาหลี คู่ศิลปินที่เธอชอบคือ คิเฮ (KiHae) หรือคิบอมและทงเฮ แห่งวงซูเปอร์จูเนียร์ ในความคิดของเธอ ขอเรียกตัวเองว่าแฟนคลับน่าจะถูกต้องกว่าสาววาย เพราะหากให้เธอไปอ่านฟิกวายที่ไม่ใช่คู่นี้ ก็จะรู้สึกไม่สนุกและไม่อยากอ่านไปโดยปริยาย
“เป็นคนที่อ่านฟิกวายมานานกว่า 5 ปี จะเลือกอ่านเฉพาะคู่ศิลปินที่สนใจเท่านั้น และเรื่องราวมันไม่ได้เกี่ยวกับความรักไปเสียทั้งหมด บางเรื่องมีพล็อตที่น่าสนใจ มีการหาข้อมูลในการเขียน วางเงื่อนงำสร้างความน่าตื่นเต้นให้น่าติดตาม และเราก็รู้อยู่ว่าศิลปินต้องมีแฟนของตัวเอง เราต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง แต่สำหรับในโลกจินตนาการอย่างฟิกวายมันถูกแต่งขึ้น เพื่อคนที่ชอบเรื่องราวแบบนี้โดยเฉพาะ” ชมพู่ กล่าว
ฟิกวายผ่อนคลายให้สุข
โดยสรุปแล้ว ฟิกวายคือพล็อตที่ไม่ต่างจากนิยายบนแผงหนังสือที่จะพาผู้อ่านเข้าไปสู่โลกของนักเขียน เพียงแต่ตัวละครหลักจะเป็นผู้ชายทั้งหมดเท่านั้น ชมพู่แนะนำให้รู้จักกับคนแต่งฟิกวายที่เธอติดตาม นักเขียนขอใช้ชื่อว่า ไรเตอร์ฟิกคิเฮ เธออายุ 27 ปี เป็นสาววายที่เขียนฟิกวายระหว่างคิบอมกับทงเฮมานาน 8 ปี เขียนมาแล้วหลายสิบเรื่องจนมีแฟนคลับติดตามผลงานมากมาย (ชมพู่ก็เป็นหนึ่งในนั้น) “เราชอบศิลปินเลยเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนหนังสือ ทำให้เราได้รู้ว่า เรามีความสามารถด้านนี้”
ไรเตอร์คนนี้เริ่มเขียนมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเธอสามารถหารายได้พิเศษจากการรวมเล่มขายในเว็บไซต์ “การแต่งฟิกวายมันไม่ได้ทำให้เสียการเรียนถ้าเราแบ่งเวลาเป็น แต่ยังทำรายได้ เราไม่ต้องรบกวนเงินพ่อแม่ เวลาอยากได้อะไรก็เก็บเงินซื้อเอง” เธอยังกล่าวด้วยว่า แม้ตอนนี้กระแสซูเปอร์จูเนียร์จะลดลงกว่าแต่ก่อน เพราะมีวงน้องใหม่ออกมาเรื่อยๆ แต่เธอก็ยังจะเขียนเรื่องคิเฮต่อไปจนกว่าจะไม่มีใครอ่านเรื่องของเธอ
เธอไม่ได้ปิดบังตัวตนที่เป็นไรเตอร์ฟิกคิเฮต่อคนในครอบครัวและเพื่อนสนิท ทำให้เธอไม่ได้มีความสุขแค่ในโลกฟิกวายเท่านั้น แต่ยังสุขได้ในโลกของความเป็นจริง...
อย่างที่พวกเธอบอก มันคือรสนิยม