posttoday

The Walking Backpack อายุ 23...25 ประเทศ

22 สิงหาคม 2558

เกือบแสนไลค์ที่ติดตาม The Walking Backpack ในเฟซบุ๊กแสดงว่าเจ้าของเพจต้องมีอะไร

โดย...รอนแรม ภาพ... จิรภัทร พัวพิพัฒน์

เกือบแสนไลค์ที่ติดตาม The Walking Backpack ในเฟซบุ๊กแสดงว่าเจ้าของเพจต้องมีอะไร จึงต่อสายตรงถึงสิงคโปร์เพื่อคุยกับ ปั้น-จิรภัทร พัวพิพัฒน์ เจ้าของเพจและวิศวกรหมาดๆ ที่ได้ร่ำเรียนด้วยทุนรัฐบาลสิงคโปร์มาตั้งแต่มัธยมปลาย

ตอนนี้เขาอายุ 23 ปี เป็นเด็กเนิร์ด ชอบอ่านหนังสือ ไม่เล่นเกม แต่ชอบทำวิดีโอเล่าการเดินทางของตัวเอง เที่ยวสิงคโปร์มาแล้วเกือบทุกที่ และตะลุยมาแล้ว 25 ประเทศทั่วโลก

ฟังแล้วอาจดูแปลก แต่ความคิดที่ออกมาจากเสียงปลายสายการันตีได้ว่าเขาไม่ได้บ้า

The Walking Backpack อายุ 23...25 ประเทศ

 

คนบันดาลใจ

คำว่า The Walking Backpack เริ่มต้นตอนปั้นเรียนอยู่ปี 2 ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) จุดเริ่มต้นมีแค่ว่า เขาอยากไปเที่ยว แต่ไม่มีใครไปด้วย จึงไปคนเดียว

“ผมไปเจอน้องคนหนึ่งเขาบอกว่าลองไปเที่ยวคนเดียวดูสิ ตอนแรกยังย้อนกลับไปว่าจะบ้าเหรอ ไม่มีใครไปเที่ยวคนเดียวหรอก แต่ในที่สุดผมก็ลองไปคนเดียวโดยเริ่มจากทริปใกล้ๆ ที่มาเลเซีย” ปั้นระลึกความทรงจำ

การเดินทางครั้งนั้นพาเขาไปพบกับคริส นายธนาคารชาวอังกฤษที่โดนไล่ออกมาพร้อมเงินหนึ่งก้อนที่สามารถนำไปซื้อรถสปอร์ตได้ แต่เขาเลือกไปเที่ยวรอบโลก

The Walking Backpack อายุ 23...25 ประเทศ

 

“คริสเหมือนครูสอนวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต” นักแบ็กแพ็กมือใหม่เล่า “พอผมพูดประเทศอะไรไป คริสก็เคยไปมาหมดแล้ว มันเจ๋งมาก ผมสงสัยว่ามันทำได้จริงๆ เหรอแต่คริสทำให้เห็นแล้ว”

ปั้นได้ครูดีตั้งแต่การเดินทางคนเดียวครั้งแรก มันจึงสร้างแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลให้เขาเดินทางต่อไป “พอได้ไปเที่ยวคนเดียวก็ติดใจ มันสบายดีไม่ต้องตามใจใคร อยากหยุดก็หยุด อยากไปก็ไป” เขากล่าว แม้ว่าทุกครั้งเขาจะกลัว

คริสเคยบอกกับเขาว่า การเดินทางแบ็กแพ็กมันไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น แต่เขาทำไม่ได้ “ก่อนออกเดินทางผมไม่ค่อยจองอะไร บางทีขี้เกียจ บางครั้งไม่มีเวลา ทำให้กลัวว่าคราวนี้เราจะรอดไหม มีที่พักไหมจะโดนขโมยของไหม จะเจอคนไม่ดีไหม แต่พอเดินทางเองสัก 2-3 ครั้ง มันจะเริ่มชิน คือรู้ว่าเราจะแก้ไขยังไง ไปทางไหนแต่ความกลัวก็ยังมี”

The Walking Backpack อายุ 23...25 ประเทศ

 

ตั้งแต่เจอคริสคราวนั้น ปั้นได้ท่องโลก 2 ทริปใหญ่ คือ ทริปยุโรป 45 วัน และทริปอินเดีย 39 วัน (โดยประมาณเพราะเขาก็ไม่ได้นับ) จากศิวิไลซ์สุดถึงปฐมบทของการใช้ชีวิต เป็นสองทริปที่ทำให้เขาเข้าใจโลก เข้าใจตัวเอง

ยุโรป 45 วัน 9 ประเทศ 21 เมือง

ทริปใหญ่ครั้งแรกในชีวิตปั้นเลือกไปตะลุยยุโรป ทวีปที่เขามีความสงสัยมาตั้งแต่เด็กว่ามันจะเป็นเหมือนในหนังสือไหม

“เรารับวัฒนธรรมยุโรปเข้ามาเยอะมาก”เขากล่าว “ผมเติบโตมากับวัฒนธรรมตะวันตกจึงอยากไปให้รู้ว่ามันจะเป็นเหมือนอย่างที่คิดไว้ไหม เมืองปารีสจะโรแมนติกเหมือนในหนังหรือเปล่า”

The Walking Backpack อายุ 23...25 ประเทศ

 

ด้วยคำถามที่ค้างในใจ เขาจึงใช้เวลาช่วงปิดเทอมใหญ่ไปเที่ยวยุโรปและใช้ชีวิตอย่างคนยุโรปจริงๆ โดยเริ่มเดินทางจากอัมสเตอร์ดัมไปเป็นวงกลมและกลับมาจบที่เดิม

สิ่งประทับใจที่เขานึกออกเป็นอย่างแรก คือ การนอนกางเต็นท์ที่เมืองชาโมนิกซ์ ประเทศฝรั่งเศส เขาเดินทางแบบประหยัดจึงเลือกการนอนกางเต็นท์แทนโรงแรม ซึ่งวิธีนี้นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ก็ทำกัน เพราะแต่ละเมืองจะมีลานกว้างให้พักได้ โดยที่ชาโมนิกซ์จะมีนักปีนเขามาค้างแรมด้วยเพราะที่ตั้งอยู่ติดกับเขามองบลังค์

“ตื่นเช้ามาก็เห็นเทือกเขาหิมะ ข้างล่างเป็นหมู่บ้าน” หนุ่มไทยคนเดียวเล่า “ทุกคนที่มากางเต็นท์เป็นนักปีนเขา ผมก็กินข้าวกับพวกเขา เขาก็เล่าประสบการณ์ปีนเขาให้ฟัง มันเป็นโลกที่ผมเข้าไม่ถึง” เขายิ้ม

“ทุกคนผ่านเรื่องเฉียดตายมาเป็นร้อย และคนเหล่านี้มีเหตุผลที่อยากเสี่ยงตาย โดยทุกเช้าผมจะนั่งกระเช้าขึ้นไปแล้วเดินเที่ยวข้างบน แต่พวกเขาจะปีนขึ้น แล้วกลับมาเจอกันที่แคมป์ตอนเย็น ผมอยู่แบบนี้มาสามสี่วัน ซึ่งนี่แหละคือการใช้ชีวิตแบบคนยุโรป เพราะกีฬาปีนเขาเป็นกีฬาของคนรวยที่จะทำกันตอนหน้าร้อน เหมือนเป็นอีกโลกที่ผมเข้าไปสัมผัส”

หรืออีกเหตุการณ์ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน เขายกให้เป็นเหตุการณ์ที่ลำบากที่สุดที่พอนึกได้ เพราะโทรศัพท์หายและไม่มีที่ซุกหัวนอน

“ผมเดินเข้าไปในผับตอนเที่ยงคืนกว่าเพื่อขอยืมโทรศัพท์เจ้าของร้าน แต่ปรากฏว่าโฮสเทลที่จองไว้มันผิดพลาดทำให้ผมไม่มีที่พักในคืนนั้น” ปั้นเล่าด้วยน้ำเสียงเหมือนมันเกิดขึ้นเมื่อวาน

“สุดท้ายผมอ้อนวอนเจ้าของร้านให้ผมนอนบนพื้นห้องอาหาร ทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือเงินนิดเดียวกับบัตรเครดิต ซึ่งในตอนนั้นมันไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไรแล้ว ขอแค่ให้มีที่นอนอย่างปลอดภัยก็พอ”

ยุโรปครั้งแรกในชีวิตสอนบทเรียนหลายบท แต่เขาก็ยังอยากหาความหมายของโลกนี้ต่อไปจึงตัดสินใจไปอินเดีย

อินเดีย 39 วัน

เขาหันหลังให้โลกศิวิไลซ์แล้วมุ่งหน้าสู่อินเดียด้วยแผนคร่าวๆว่าจะขึ้นเหนือไปแคชเมียร์ ลงมาที่ราชสถาน และถ้าแถมด้วยพาราณสีได้ก็น่าจะดี

“อินเดียเป็นสุดยอดของประเทศทั้งหมดที่เคยไปมา” ปั้นกล่าว“อินเดียพาเรากลับไปสู่ความหมายของสังคม อินเดียสอนให้รู้ว่าเราไม่สามารถนำบรรทัดฐานของตัวเองไปใช้กับที่อื่นได้” เขาหยุดพักหายใจสักครู่

“วันแรกๆ ผมโมโหมากเลยนะ เพราะที่อินเดียไม่มีการต่อคิวคนไม่ทำตามกฎจราจร ไม่มีใครคิดถึงคนอื่น แต่พออยู่ไปสักพักผมก็รู้ว่ามันเป็นเนเจอร์ของสังคมนั้น เราแค่ต้องทำตาม ไม่เช่นนั้นเราก็จะอยู่ไม่ได้”

นอกจากนี้ เขายังเข้าใจบริบทของสังคมมากขึ้นว่า ประเทศที่มีประชากรกว่าพันล้านคนอาศัยอยู่มันต้องต่อสู้เพื่อตัวเองขนาดไหน “การต่อสู้มันแสดงออกมากลางถนน มันชัดเจนมาก” เขาเห็นแบบนั้น ซึ่งการมองอย่างความเข้าใจทำให้อินเดียกลายเป็นโรงเรียนชีวิตอีกแห่งที่สอนวิชา สปช.

ทริปนี้เขาได้เดินทางไปกับน้องชาย ผู้ไม่เคยออกท่องโลกกว้างมาก่อน ซึ่งแม้น้องชายจะป่วย ท้องเสีย หน้าเละ แต่เขาก็ดีใจที่น้องไปด้วย

“ผมทำให้น้องมาลุยเหมือนผมคงไม่ได้ แต่แค่ให้ออกมาจากคอมฟอร์ตโซนได้ก็พอแล้ว ออกมาให้รู้ว่าโลกที่เราอยู่มันมีทั้งความสบาย มีทั้งคนยากไร้ไม่มีข้าวกิน หรือคนนอนข้างถนน พอน้องกลับมาก็ใจเย็นขึ้น และเมื่อได้เห็นสิ่งที่แย่ที่สุดมาแล้วก็จะบ่นชีวิตตัวเองน้อยลง” ปั้น กล่าว

นอกจากนี้ เขายังเอ่ยปากชวนว่าหากใครพร้อมที่จะไปอดทนกับเขาก็เชิญ แต่ต้องพร้อมที่จะยืนบนจุดเดียวกัน จุดที่จะพาตัวเองเข้าไปเจอสิ่งใหม่ๆ จุดที่คนธรรมดาไม่เข้าไป “เหมือนการทดลอง” เขานิยามแบบนั้น เพื่อหาคำตอบของสมมติฐาน ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะเป็นเช่นไร แต่เขาจะได้พบสิ่งใหม่ๆ แน่นอน

โลกของปั้น

ถ้ามีโลกของตัวเองหนึ่งใบ ปั้นอยากให้โลกใบนั้นเป็นโลกที่“ทุกคนคิดถึงผู้อื่นเป็นหลักก่อนคิดถึงตัวเอง อย่างเวลาสร้างบ้านก็คิดถึงเพื่อนบ้าน หรือเวลาจะตัดต้นไม้ก็คิดถึงธรรมชาติ การคิดถึงผู้อื่นจะทำให้กลไกทุกอย่างดีขึ้น เพราะถ้าคนดี สังคมก็จะดีตามไปด้วย ทุกคนก็จะมีความสุข”

แม้ไม่เห็นหน้าค่าตาก็พอจับเสียงได้ว่า วัยรุ่นอายุ 23 ปี คนนี้เห็นโลกมามากแล้วจริงๆ