posttoday

เบคแฮม...ซุป’ตาร์นักธุรกิจ

31 ตุลาคม 2558

จับอะไรเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด สำหรับ เดวิด เบคแฮม ซุป’ตาร์ลูกหนัง ก่อนหน้านี้ซื้อแฟรนไชส์ทีมฟุตบอลไมอามี

โดย...ราชันเบอร์23

จับอะไรเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด สำหรับ เดวิด เบคแฮม ซุป’ตาร์ลูกหนัง ก่อนหน้านี้ซื้อแฟรนไชส์ทีมฟุตบอลไมอามี ล่าสุด อดีตแข้ง “ผีแดง” หันมาจับธุรกิจการศึกษา ซื้อโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง แถวลิตเติล ฮาวานา ในไมอามี ประเทศสหรัฐ บนพื้นที่ 10.5 เอเคอร์

ถือเป็นการทำธุรกิจเต็มตัวสำหรับยอดกองกลางเท้าชั่งทองรายนี้

ธุรกิจบริหารจัดการโรงเรียนมัธยม ไม่ใช่ใครมีเงินจะสามารถทำได้ เบคแฮมได้ศึกษาหาข้อมูลนานนับปี รวมถึงพยายามปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา ทั้งบรรดาคณาจารย์และผู้ชำนาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับผลกระทบ และเขาอยากให้ธุรกิจการศึกษาสามารถผสมผสานเข้ากับธุรกิจกีฬาด้วย

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. เบคแฮมตัดสินใจซื้อโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เมื่ออดีตแข่ง “สิงโตคำราม” ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินจากสภาเทศบาลเมือง เนื่องจาก มิดฟิลด์วัย 40 ปี ได้ซื้อแฟรนไชส์สโมสรฟุตบอล ทำให้ได้สิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียเงิน 8.5 แสนเหรียญสหรัฐ/ปี (ราว 25.5 ล้านบาท) หรือคิดเป็นเงิน 51 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,530 ล้านบาท) ตลอดครบสัญญา 60 ปี

นอกจากนี้ ระบบโรงเรียนที่ไมอามี ยังให้สิทธิ์นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมเข้าไปใช้สนามกีฬา ในกิจกรรมต่างๆได้ เช่น พิธีรับประกาศนียบัตรเมื่อจบการศึกษา รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ มากมาย

อย่างไรก็ตาม พิธีการต่างๆ ของโรงเรียนมัธยมดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เคร่งครัดหรือมีระเบียบแบบแผนสักเท่าไหร่ เพราะเป็นวัฒนธรรมของชุมชนที่เน้นความเรียบง่าย ดังเช่นถ้อยคำของ อัลแบร์โต คาร์วัลโญ ผู้อำนวยการของโรงเรียนแห่งนี้ กล่าวไว้ว่า “ผมสามารถพูดได้ว่า แนวคิดของเบคแฮมเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอด เขาเข้าใจเรื่องการศึกษาและกีฬา มันต้องผสมผสานและควบคู่กันได้อย่างลงตัว ผมยอมรับในความคิดของเขา”

เบคแฮมยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่เน้นธุรกิจจนเกินไป เขาพยายามที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมของอเมริกันชน ซึ่งค่อนข้างคล้ายคลึงกับวิถีของคนอังกฤษในเรื่องของสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของคนในชุมชนเป็นประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญ ทำให้คุณพ่อลูก 4 สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐได้อย่างกลมกลืน เสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง

“ความคิดของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างไมอามี เบคแฮม ยูไนเต็ด (ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ) เมือง สภาเทศบาล และชุมชนเมืองในไมอามี เป็นเรื่องแปลกใหม่และตื่นเต้นสำหรับเบคแฮม ทุกอย่างต้องตอบสนองและสอดคล้องซึ่งกันและกัน และต้องได้รับประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาและบรรลุข้อตกลง” ทาดด์ ชวาร์ตซ์ โฆษกส่วนตัวของเบคแฮม กล่าว

สุดท้าย เบคแฮมประกาศความตั้งใจที่จะทำงานบริหารธุรกิจโรงเรียนและสโมสรฟุตบอล ให้เป็นเช่นเดียวกับสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

“แน่นอนผมจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการเลือกผู้เล่น หรือตัดสินใจอะไรในทีม เพราะสมัยผมเป็นผู้เล่น ผมก็ไม่ชอบเวลาที่เจ้าของทีมลงมาล้วงลูก ผมไม่อยากให้นักเตะในทีมของผมต้องโดนแทรกแซง” เบคแฮม กล่าว

ต้องดูกันว่า การผันตัวมาเป็นนักธุรกิจของ เดวิด  เบคแฮม จะประสบความสำเร็จ เหมือนตอนสมัยเป็นนักเตะหรือไม่