posttoday

HMA Film Talk

16 พฤศจิกายน 2558

ช่วงที่ผ่านมาได้เกิดกระแสสังคมในการต่อต้านภาพยนตร์เรื่อง “อาปัติ”

โดย...[email protected]

ช่วงที่ผ่านมาได้เกิดกระแสสังคมในการต่อต้านภาพยนตร์เรื่อง “อาปัติ” เพราะเกิดเป็นกรณีถึงความไม่เหมาะสมของเนื้อหาในบางช่วงบางตอน จึงต้องมีการนำไปปรับเพื่อให้เนื้อหามีความเหมาะสม เรื่องนี้จึงอยู่ในความสนใจของสังคมที่มีการจับตามองว่าหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีการแก้ไขอย่างไร นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการนำมาสร้างเสริมประสบการณ์ความรู้เพิ่มเติมให้กับนักศึกษานอกเหนือจากตำราเรียนได้

ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล็งเห็นว่ากรณีกระแสวิพากษ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงมีแนวคิดในการจัดโครงการ “HMA Film Talk” ขึ้น โดยให้นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ ร่วมรับชมภาพยนตร์และเสนอมุมมองแนวคิดวิเคราะห์ผ่านการเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ในหัวข้อ “อาปัติ : บาปกรรมปลงอาบัติได้?” นักศึกษาที่เขียนได้ดีที่สุดจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 5,000 บาท

หนึ่งในนักศึกษาที่ได้รับชมภาพยนตร์ คือ ศิริพร เรือนสุวรรณ นักศึกษาปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ได้แสดงความคิดเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้กล้าออกมาตีแผ่เรื่องราวในมุมๆ หนึ่งของศาสนาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา “ทุกอย่างบนโลกมีทั้งดีและไม่ดี สถานที่ดีแต่อาจมีคนไม่ดีรวมอยู่ก็เป็นได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่เราจะมอง และด้วยความที่ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างห่างไกลจากพุทธศาสนาเกินไปซึ่งทำให้รู้สึกว่าเราต้องใช้ความคิดเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการทำสิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้น และต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งยั่วยุที่ไม่ดีจากรอบตัวให้มากๆ”

ด้าน ขวัญชัย ไชยสุนันท์ นักศึกษาปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบิน กล่าวว่าอาปัติเป็นภาพยนตร์ที่น่าสนใจ เพราะจัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาของศาสนาพุทธได้อย่างชัดเจน “เนื้อหาสื่อถึงเรื่องของบาปบุญคุณโทษและเวรกรรมของแต่ละคนที่ทำ สิ่งนั้นย่อมส่งผลกลับมาถึงตัวเอง ซึ่งศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากหรือแม้แต่ผู้ที่เข้าบรรพชาบางคนอาจจะไม่ได้มีความลึกซึ้งถึงพระธรรมคำสอนจึงปฏิบัติตนไม่เหมาะสม ทำให้ผู้ที่ศรัทธาต่อพุทธศาสนาน้อยลง”

“คำสอนในพระพุทธศาสนาเรื่องของบาปบุญที่ว่าไม่มีใครหรือสิ่งใดสามารถลบล้างความผิดของตนเองที่ก่อไว้ได้ แม้กระทั่งผู้สืบทอดศาสนาก็ตาม ทำให้เราตระหนักถึงเรื่องการทำความดีความเลวมากขึ้น ผมมองว่าสิ่งที่เป็นความจริง สังคมควรได้รับรู้และร่วมกันหาหนทางแก้ไข ต้องช่วยกันทำนุบำรุงศาสนาในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ดี” อัศราวุฒิ หอมพฤติภาพ นักศึกษาปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ สาขาวิชาศิลปะการแสดง กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้

นอกจากนี้ ผู้กำกับภาพยนตร์ ขนิษฐา ขวัญอยู่ ยังได้ร่วมเล่าประสบการณ์ แง่คิด และแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ เพื่อมอบความรู้ให้กับนักศึกษาในโครงการได้นำไปพัฒนาการเรียนของตัวเองให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย