Team Adam
ศูนย์ติดตามเด็กหายของอเมริกา หรือชื่อทางการว่า National Center for Missing & Exploited Children (NCMEC)
โดย...เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข [email protected]
ศูนย์ติดตามเด็กหายของอเมริกา หรือชื่อทางการว่า National Center for Missing & Exploited Children (NCMEC) เป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐเกือบทุกหน่วยในการติดตามหาเด็กหายในประเทศสหรัฐอเมริกา
ผมเคยเดินทางไปอบรมการสืบสวนติดตามหาเด็กหายที่ NCMEC ซึ่งตั้งอยู่ที่เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของเอฟบีไอ
การได้เดินทางไปฝึกอบรมครั้งนั้น เป็นการเปิดประสบการณ์ชีวิตครั้งสำคัญ และทำให้รู้ว่ากระบวนการในการติดตามเด็กหายของประเทศที่เจริญแล้ว ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ขนาดไหน และมีความเป็นมืออาชีพมากๆ
จริงๆ หน่วยงานนี้ควรเป็นหน่วยงานรัฐ แต่เหตุผลที่เป็นภาคเอกชนเพราะสามารถทำการระดมทุนได้ง่ายกว่า และมีความคล่องตัวกว่าในการประสานงานกับทุกหน่วย
ผมเห็นป้ายสนับสนุนจากบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่จำนวนมาก ติดอยู่ที่ NCMEC นั่นแสดงให้เห็นว่าการสนับสนุนการติดตามหาเด็กหาย เป็นเรื่องที่มีคนมาช่วยกันจำนวนมาก และใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง
NCMEC ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง หรือคอลเซ็นเตอร์ในการรับแจ้ง ประสานเหตุ และลงพื้นที่ในการติดตามหาเด็กที่สูญหาย
แม้ว่าในสหรัฐอเมริกาจะพบว่าการหายตัวไปของเด็กส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มเป็นลักษณะเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้านก็ตาม กระนั้น NCMEC จะตั้งสมมติฐานเมื่อมีการรับแจ้งเหตุเด็กหายไว้ก่อนเสมอว่า เด็กคนนั้นถูกลักพาตัว ดังนั้นกระบวนการในการติดตามหาเด็กหาย จึงทำอย่างเต็มที่ทุกเคสเพราะมองว่าเด็กหายทุกคนกำลังตกอยู่ในอันตราย แม้ว่าต่อมาภายหลังจะปรากฏว่าเด็กหายคนดังกล่าวอาจสมัครใจหนีออกจากบ้านด้วยตนเอง
การติดตามหาเด็กหายในพื้นที่เป็นช่วงเวลาแห่งความสำคัญเร่งด่วน จากสถิติในอเมริกา พบว่า เด็กถูกลักพาตัวอาจถูกฆาตกรรมเสียชีวิตภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ดังนั้นการติดตามหาเด็กหายในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องทำด้วยความเร่งด่วน ด้วยความรู้และประสบการณ์
นอกจากการประสานงานตำรวจในท้องที่ที่มีเหตุการณ์หายตัวไปของเด็กแล้ว NCMEC ยังส่งทีมสืบสวนลงพื้นที่ในการติดตามหาเด็กหายอีกด้วย
NCMEC จะส่งทีมสืบสวนติดตามเด็กหายลงพื้นที่ในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาจะประจำการ กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทีมสืบสวนติดตามเด็กหายของ NCMEC ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบัน แต่เป็นอดีตตำรวจหรือเอฟบีไอที่เกษียณอายุราชการ แล้วมาเป็นอาสาสมัครในการลงพื้นที่
NCMEC จะคัดเลือกคนเก่ง ที่มีประสบการณ์และมีประวัติที่ดี เพื่อให้สามารถลงไปทำงานในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเครือข่ายเดิมเป็นต้นทุนในการทำงานประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ทีมสืบสวนติดตามเด็กหาย ถูกเรียกว่า “ทีมอดัม” (Team Adam)
คำว่า ทีมอดัม เป็นคำที่ระลึกถึงเหตุการณ์ “อดัมส์ วอล์ช” เด็กชายวัย 6 ขวบ ถูกลักพาตัวไปบริเวณห้างฮอลลีวู้ด มอลล์ ในรัฐฟลอริดาในปี 1981 โดยหลังจากนั้นพบศพอดัมส์ วอล์ช ถูกฆาตกรรมในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ จอห์น วอล์ช ผู้เป็นพ่อเกิดความเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก จนเป็นแรงผลักดันให้เขาทำรายการโทรทัศน์ในการตามล่าหาคนร้ายที่ลักพาตัวเด็กรายอื่นๆ
ในรายการที่ชื่อว่า “AMERICA MOST WANTED”
รายการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และสามารถจับกุมคนร้ายได้หลายรายในเวลาต่อมา
ในสหรัฐอเมริกา มักนำชื่อของบุคคลในเหตุการณ์สำคัญๆ มาเป็นชื่อเรียก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ
ทีมอดัมจะทำหน้าที่ลงไปประสานงานติดตามคดีในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้รับความไว้วางใจจากตำรวจ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นอดีตตำรวจหรือเอฟบีไอที่มีประสบการณ์สูง
ทีมอดัมเป็นอาสาสมัครที่มีทักษะสูง เนื่องจากงานด้านการสืบสวนไม่สามารถใช้จินตนาการจากการดูหนังอย่างเดียวได้ เพราะประสบการณ์จริงไม่เหมือนในหนังแน่นอน ดังนั้น ทีมอดัมจึงต้องมีความเชี่ยวชาญ แม้ว่าจะเป็นงานในรูปแบบอาสาสมัครก็ตาม
สำหรับในประเทศไทย มีคนจำนวนมากติดต่อมาหาผม อยากร่วมงานเป็นทีมสืบสวน ลงพื้นที่ในการติดตามหาเด็กหาย
หลายคนมีพลังใจและความคาดหวังสูงในการลงพื้นที่ติดตามหาเด็กหาย เรียกง่ายๆ ว่า อยากลงไปลุยแบบในหนัง สืบสวน สอบสวน คลี่คลายปมในการหายตัวไปของเด็ก
ขั้นตอนการเริ่มคัดคนของผม เริ่มจากการให้พวกเขาทำงานเอกสาร อ่านข้อมูลของเคสเด็กหายรายต่างๆ และกรอกรายละเอียดข้อมูลคนหายลงในฐานข้อมูล
มันเป็นงานที่สุดแสนน่าเบื่อ อาสาสมัครส่วนใหญ่ที่เข้ามาจึงเริ่มหายออกไปทีละคน เพราะส่วนใหญ่มักคิดว่ามาเป็นอาสาสมัครแล้วจะได้ลงไปลุยในพื้นที่ทันที
ท้ายสุดไม่มีใครอยู่เป็นอาสาสมัครในการติดตามคนหายได้สักราย
ผมใช้วิธีการนี้เพื่อคัดกรองคน จริงๆ แล้วการลงพื้นที่ในการติดตามหาเด็กหาย จะต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญ ใช้ประสบการณ์มาประยุกต์และแก้ไขปัญหาตลอดเวลา
การที่ผมให้อาสาสมัครทำงานเอกสารก่อน เพราะการลงพื้นที่ต้องแม่นข้อมูล รู้รายละเอียดของคดี มีทักษะการจับประเด็นและจดบันทึก ดังนั้น งานเอกสารจึงถือเป็นงานข้อมูลสำคัญที่จะได้ฝึกทักษะการเรียบเรียงประเด็น และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ
อีกทั้งงานลงพื้นที่ต้องใจเย็น เพราะอยู่ภายใต้แรงกดดันและข้อจำกัดจำนวนมาก ความอดทนในการเรียนรู้และรับฟัง จึงเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นต้องมี สุดท้ายไม่เกิน 2 วัน เหล่าอาสาสมัครเริ่มไม่สนุกกับงานเอกสารที่จะต้องทำ เพราะทุกคนอยากลงพื้นที่ไปลุยกันแล้ว ซึ่งทำให้ผมประเมินได้โดยทันทีว่า เขายังไม่พร้อมร่วมลงพื้นที่ไปติดตามหาเด็กหาย
ผมเห็นทีมอดัมของ NCMEC มีความคิดว่าในอนาคตทีมสืบสวนติดตามเด็กหายของประเทศไทย อาจเป็นผู้ปลดเกษียณจากงานประจำ แต่ยังเป็นผู้มีไฟ มีทักษะประสบการณ์ ที่ยังไม่สูญเปล่าไป น่าจะเป็นประโยชน์สำคัญในการติดตามหาเด็กหาย โดยอาสาสมัครที่ทรงคุณค่าและมีคุณภาพเหล่านี้
อยากมีทีมอดัมแบบนี้ในประเทศไทยครับ เพื่อนๆ ลองนึกภาพทีมอาสาสมัครติดตามหาเด็กหายในประเทศไทยดูสิครับ พวกเขาน่าจะมีชื่อทีมว่าอะไรดีครับ?