posttoday

ความกตัญญูคือหัวใจหลักของวัฒนธรรมจีน

06 ธันวาคม 2558

ความกตัญญูไม่ใช่แค่ยึดถือเป็นธรรมเนียมในครอบครัวเท่านั้น ในสมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมายังถือเป็นคุณสมบัติในการคัดเลือกข้าราชการในรั้วในวัง ใครกตัญญูสุดๆ จนเป็นที่เล่าลือจะถูกแนะนำและคัดเลือกให้เข้าระบบราชการ

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ความกตัญญูคือหัวใจหลักของวัฒนธรรมจีนมาโดยตลอด ความกตัญญูไม่ใช่แค่ยึดถือเป็นธรรมเนียมในครอบครัวเท่านั้น ในสมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมายังถือเป็นคุณสมบัติในการคัดเลือกข้าราชการในรั้วในวัง ใครกตัญญูสุดๆ จนเป็นที่เล่าลือจะถูกแนะนำและคัดเลือกให้เข้าระบบราชการ

ชื่อตำแหน่งข้าราชการขั้นต้นในราชสำนักยุคฮั่นก็ใช้ชื่อว่า “เสี้ยวเหลียน” ซึ่งแปลว่า “กตัญญูซื่อสัตย์” หรือแม้แต่ระดับเบื้องบน เช่น ฮ่องเต้ ก็มีหลายพระองค์ที่พระนามประกอบด้วยตัวอักษร “กตัญญู”

จากเบื้องบนถึงเบื้องล่าง กตัญญูคือมาตรฐานวัดคน

เรื่องลกเจ๊กขโมยส้มให้มารดาที่กล่าวถึงในวรรณกรรมสามก๊กที่เราๆ รู้จักกัน ก็คือหนึ่งในตัวอย่างเรื่องความกตัญญู

ลกเจ๊กขโมยส้มให้แม่เป็นหนึ่งเรื่องย่อยของหนังสือ “24 ยอดกตัญญู” ซึ่งเป็นเรื่องราวและตัวแทนแสดงแนวคิดของความกตัญญูในวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ลูกคัดลูกหม่อนเปรี้ยวไว้ทานเองส่วนที่หวานเก็บไว้ให้พ่อแม่ ลูกชายวัยกลางคนยอมแต่งตัวเป็นเด็กเล็กเพื่อให้พ่อแม่หัวเราะสบายใจ ลูกเสียสละทาเหล้าทั่วตัวล่อยุงกัดตนให้พ่อนอนสบาย ลูกสาวใจกล้าสู้กับเสือด้วยมือเปล่าเพื่อปกป้องพ่อ ลูกชายปลูกบ้านข้างหลุมศพแม่เพื่อไม่ให้แม่เหงา หรือลูกสาวขายตัวเพื่อฝังศพพ่อ จนถึงขั้นสามีภรรยาฝังลูกตัวเอง เพื่อให้พ่อแม่ได้มีกิน (ไม่ต้องให้ลูกมาแย่งกิน)

หลู่ซวิ่น นักคิดนักเขียนยุคปฏิวัติจีนใหม่วิจารณ์ว่า หลายเรื่องใน 24 ยอดกตัญญูออกแนวซาดิสต์เสียมากกว่า ตัวอย่างความกตัญญูในยุคก่อน จึงขัดแย้งกับแนวคิดยุคใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน แต่หากตัดเปลือกออกไปแล้วจับใจความมาใช้ในปัจจุบัน “24 ยอดกตัญญู” บอกให้ลูกๆ ทั้งหลาย อย่าเหินห่างและให้คิดถึง ดูแล ทำให้พ่อแม่สบายกายสบายใจ ไม่ว่าพ่อแม่จะอยู่หรือจากไปก็ให้เคารพรักตลอดเวลา โดยผ่านการกระทำ

แนวคิดยังสะท้อนอยู่ในตัวอักษร “กตัญญู” ในภาษาจีนตัวอักษรนี้คือ การรวมตัว “อาวุโส” และ “ผู้เยาว์” ไว้ด้วยกัน ด้านบนเป็น “ผู้อาวุโส” ด้านล่างคือ “ผู้เยาว์” นัยคือ ผู้เยาว์เชิดชู เคารพ หรือแม้แต่ค้ำจุนผู้อาวุโส ซึ่งอาจดูเป็นภาพ คุณลูกจูงมือคุณยาย คุณลูกแบกคุณแม่ไว้ที่หลัง สรุป ตัวอักษรนี้คือภาพความสัมพันธ์ที่เชื่อมระหว่างผู้อาวุโสและผู้เยาว์ให้ ประหนึ่งเป็นบุคคลคนเดียว ที่ค้ำจุนกันเรื่อยไป

ความรู้สึกเป็นบุคคลเดียวกัน เช่น เมื่อพ่อแม่เจ็บ เราย่อมรู้สึกเจ็บตาม เช่นเดียวกับเมื่อลูกเจ็บ พ่อแม่ย่อมรู้สึกเจ็บด้วย เรื่องพวกนี้อธิบายทางวิทยาศาสตร์คงซับซ้อนยืดยาว แต่หากคิดถึงประสบการณ์ในชีวิตจริงที่เราสัมผัส คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกแบบนี้เป็นประสบการณ์ร่วมของเราทุกคน และเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่จริง

นอกเหนือจากความรู้สึกที่มีอยู่จริง ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงพ่อแม่ลูกไว้ด้วยกันหลายๆ ด้าน ยังทำให้ต้องร่วมชะตากรรมไปด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น

สำนวนจีนว่าไว้ “พ่อแม่สุขภาพดีคือโชคดีของลูกๆ” ใครที่เคยผ่านประสบการณ์ที่พ่อแม่ต้องป่วยไข้ คงรู้สึกได้ถึงความจริงของประโยคนี้ ส่วนคนที่ไม่เคยต้องผ่านประสบการณ์นี้ ขอให้คิดไว้เลยว่าท่านกำลัง
โชคดีอยู่

จากประสบการณ์สู่วิธีคิดและการกระทำ วัฒนธรรมจีน จึงค่อยๆ สร้างสิ่งที่ช่วยผูกพันให้ความรู้สึกนี้แน่นหนา มองเห็นและสัมผัสได้มากขึ้น และนิยามสิ่งนั้นว่าความกตัญญู

การแสดงออกอย่างหนึ่งซึ่งความกตัญญูตามประเพณีปฏิบัติของจีนโบราณคือ เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ลูกๆ ต้องไว้ทุกข์ให้กับบิดามารดา ด้วยการแต่งกายด้วยผ้าดิบ งดกิจกรรมบันเทิงต่างๆ นานา รวมถึงกิจกรรมทางเพศ ในเดือนแรกทานแต่ข้าวต้ม และหากเป็นข้าราชการยังต้องออกจากราชการมาเพื่อไว้ทุกข์ด้วย ซึ่งระยะเวลาไว้ทุกข์แบบนี้กินเวลานานถึง 3 ปี เรียกได้ว่า หยุดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเพื่อการไว้ทุกข์

ดูผิวเผินเหมือนเป็นสิ่งไร้สาระที่จะต้องทุ่มเทชีวิตไปกับการแสดงออก ซึ่งความกตัญญูขนาดนี้ถึง 3 ปี

เรื่องนี้มีคำอธิบาย

สาเหตุที่เป็นเวลา 3 ปี ก็เพื่อให้เป็นการรำลึกเปรียบเทียบถึงช่วงเวลาในช่วงต้นของชีวิตเราที่บิดามารดาต้องคอยประคบประหงมดูแลเราอย่างน้อยกว่า 3 ปี เราจึงสามารถเดินเหิน พูดจา และเริ่มต้นทำสิ่งต่างๆ เองได้ ปราศจากการดูแลอย่างเสียสละของบิดามารดาใน 3 ปีแรก ก็ปราศจากเรา เมื่อพ่อแม่จากไป จึงให้ลูกทุกคนได้รำลึกถึงสิ่งที่ท่านได้มอบให้กับเราเมื่อเริ่มต้นชีวิต โดยเฉพาะในวัย 3 ปีแรกที่เราได้ลืมเลือนความสัมพันธ์กับท่านไปแล้ว

แม้แต่ในยุคปัจจุบัน พ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกด้วยตัวเองโดยไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีเนิร์สเซอรี่คงจะสัมผัสประสบการณ์นี้ได้ว่า ก่อนที่ลูกๆ จะดูแลตัวเองได้ พ่อแม่จะต้องลดความต้องการ ความสวยงาม การพักผ่อน ของตัวเองสักเท่าไร เพื่อทุ่มเทให้กับการดูแลลูก เผลอๆ ถ้าใช้มาตรฐานการดูแลเด็กของสังคมยุคนี้ ลูกๆ อาจต้องเพิ่มระยะเวลาไว้ทุกข์นานเกือบ 10 ปี

การตีความออกมาเป็นความประพฤติตรงไปตรงมาคงลำบากในการกระทำในโลกยุคนี้ แต่การตีความเปรียบเทียบแบบตรงไปตรงมาแบบนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงคลิปวิดีโอหนึ่งของฝรั่ง ที่ฉายถึงลูกชายวัยหนุ่มนั่งอยู่กับพ่อวัยชราตาพร่ามัวในสวนหลังบ้าน พ่อชี้ไปที่นกกระจอก แล้วถามว่า “นี่มันตัวอะไร” ลูกชายตอบ “นกกระจอก” เจ้านกกระโดดเหยงไปอีกที่ พ่อก็ถามอีกครั้ง “นี่มันตัวอะไร” ลูกชายตอบตามเดิม พ่อถามอีกลูกชายก็ตอบอีกด้วยน้ำเสียงไม่พอใจขึ้นเรื่อยๆ ถามไปอีก 2-3 ครั้ง ลูกชายโมโหตวาดพ่อ “บอกกี่ครั้งแล้วว่านกกระจอก จะถามอะไรอยู่นั่น! นก! กระ! จอก!” พ่อเดินเข้าบ้านไปเงียบๆ แล้วกลับออกมาพร้อมสมุดเล่มหนึ่ง พลิกหน้าหนึ่งให้ลูกชายอ่าน

ลูกดูหน้าหนังสือนั้น เขียนไว้ว่า

เมื่อ 3 ขวบ อุ้มลูกไปเที่ยวสวนสาธารณะ ลูกชี้ไปที่นกกระจอกแล้วถามว่า “พ่อ นี่ตัวอะไร”

“นกกระจอกไงครับ ลูก”

 “พ่อ นี่ตัวอะไร”

“นกกระจอก ลูก”

ลูกถามอย่างนี้อยู่ 21 ครั้ง แต่ละครั้งที่ถามคำถามเดิม เรายิ้มให้เขาและกอดเขาแน่นทุกครั้ง”

ชายหนุ่มนิ่งงัน แล้วหันไปกอดพ่อผู้ชรานั้น

เราอาจมีความรักให้พ่อแม่แน่นอน แต่อีกคำถามคือ เรากตัญญูต่อท่านแล้วหรือยัง

“รัก” คืออารมณ์ ส่วน “กตัญญู” คือการตระหนักรู้และการกระทำ