โปสต์การ์ดรอบโลก ทำด้วยใจเพื่อในหลวง
ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน หากใครคิดจะ “บินรอบโลก” ช่างภาพอิสระชาวไทย วัย 35 ปี “ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์” ทำมาแล้ว
โดย...แจนยูอารี ภาพ ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์
ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน หากใครคิดจะ “บินรอบโลก” ช่างภาพอิสระชาวไทย วัย 35 ปี “ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์” ทำมาแล้ว เขาผนึกพลังกับเพื่อน ที่ปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ชาวอังกฤษ วัย 48 ปี “เอ็ดวาลโด ลอยกอร์รี” สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการบินรอบโลก เพียงเพื่อเป้าหมาย รวบรวมโปสต์การ์ดถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคนไทยในต่างแดนและชาวต่างประเทศที่เคยมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
พวกเขาก้าวย่ำไปในทุกแห่งหนตามแผนที่ที่วางไว้ แม้จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ สภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย สภาพภูมิอากาศที่ไม่เป็นใจ แล้วไหนจะข้อจำกัดเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ประเพณี และวัฒนธรรมอันแตกต่าง แต่เพราะคำว่า “เพื่อในหลวง” เป็นสิ่งเหนี่ยวนำหัวใจ ภารกิจนี้จึงลุล่วงและราบรื่น
บินรอบโลกเพื่อในหลวง ครั้งที่ 1
ปี 2551 โลกต้องจารึก ประเทศไทยต้องจดจาร เมื่อชายสองคนนี้ขอสวมวิญญาณเป็น “บุรุษไปรษณีย์อาสา” ออกเดินทางด้วยเครื่องบินขนาดเล็ก 6 ที่นั่ง ทั้งคู่ตั้งใจแสดงความจงรักภักดี โดยใช้เงินทุนส่วนตัวซื้อเครื่องบินมือสอง หลังส่งมอบพาหนะกันเสร็จสรรพ ธีระฉัตรในฐานะผู้ร่วมเดินทาง เอ็ดวาลโดทำหน้าที่กัปตัน ก็บ่ายหน้ามุ่งสู่ประเทศและเมืองที่พวกเขาศึกษาเส้นทาง
เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา ที่นั่นพวกเขาได้รับการ์ดใบแรกจากคนไทยที่ทำธุรกิจร้านอาหารอยู่ในเมืองกอร์ตัน รัฐคอนเนกทิคัต ทั้งคู่ไม่รีรอที่จะเข้าไปสั่งอาหารรับประทานเช่นลูกค้ารายอื่น ก่อนจะแนะนำตัวและบอกจุดประสงค์ถึงการเดินทาง
“ตอนแรกสิ่งที่พวกเรากังวลคือ เพราะไม่รู้ว่าการเป็นคนแปลกหน้าเดินไปหาคนแปลกหน้าจะมีปฏิกิริยายังไง แต่พอพวกเราแนะนำตัวและบอกจุดประสงค์ ผลตอบรับก็ดีเกินคาดครับ เจ้าของร้านดีใจมาก โทรศัพท์เรียกเพื่อนและชาวต่างชาติที่เคยไปเที่ยวประเทศไทยมาร่วมกันเขียนโปสต์การ์ดให้”
ออกจากสหรัฐอเมริกา เข้าสู่แคนาดา กรีนแลนด์ สกอตแลนด์ แน่นอนว่าเอ็ดวาลโดไม่พลาดที่จะขอแวะบ้านเกิดอังกฤษ ที่นั่นพวกเขาได้รับความสนใจจากญาติมิตร ยิ่งเมื่อรู้ว่าทั้งคู่กำลังทำภารกิจสำคัญ ทุกคนต่างพร้อมใจแสดงความจงรักภักดีด้วยการลงนามถวายพระพรผ่านโปสต์การ์ดที่เตรียมไว้
“ที่บ้านคุณเอ็ด (เอ็ดวาลโด) เราได้เจอกับครูแอ๊ว ซึ่งเป็นครูสอนภาษาไทยคุณเอ็ด รวมทั้งพ่อแม่คุณเอ็ดก็มาร่วมเขียนโปสต์การ์ดด้วย เพราะท่านเคยมาเมืองไทยและรู้จักในหลวง”
ถึงอย่างนั้น มีคนไทยบางคนที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ และคิดว่าพวกเขาเป็นสิบแปดมงกุฎ แต่เมื่อทั้งคู่แสดงเจตจำนงด้วยใจบริสุทธิ์ อธิบายถึงภารกิจ ปฏิกิริยาตอบรับจากทุกคนกลับพร้อมหยิบยื่นความเป็นกันเองให้ เขียนข้อความลงบนโปสต์การ์ดอย่างไม่มีเงื่อนไข
เครื่องบินเข้าสู่หลายประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ ผ่านอียิปต์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ รวมระยะเวลา 28 วัน 16 ประเทศ 22 เมือง โปสต์การ์ดจำนวน 81 ใบ
“เป้าหมายหลักของพวกเราคือนำโปสต์การ์ดไปให้คนไทยที่ทำงาน หรือพำนักในประเทศนั้นๆ เขียนอวยพรถึงในหลวง แล้วพวกเราก็ไม่ลืมที่จะให้ชาวต่างชาติที่รู้จักประเทศไทย ไม่ว่าจะเคยมาท่องเที่ยวประเทศไทย หรือเคยทำงานในประเทศไทย ร่วมเขียนอวยพรถึงในหลวงด้วยครับ บางที่พวกเราต้องเข้าไปเป็นลูกค้าของร้านอาหารก่อน สั่งอาหารแล้วค่อยแนะนำตัวว่าจุดประสงค์ของพวกเราคืออะไร ส่วนใหญ่ทุกคนน่ารักครับ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ที่กรีซ พวกเรามีโอกาสเจอคนไทยคุณป้าสองคน ทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารไทย พอคุณป้าเจอพวกเราก็ถึงกับหลั่งน้ำตา เพราะคุณป้าไม่ได้กลับประเทศไทยเลย พวกเราก็แนะนำตัวและบอกว่าทำอะไร ด้วยความที่คุณป้าไม่ได้เขียนภาษาไทยมานาน คุณป้าก็เลยใช้วิธีพูดให้ผมฟัง แล้วผมก็เป็นคนเขียนข้อความนั้นลงโปสต์การ์ด
อุปสรรคก็มีนะครับ อย่างตอนจะเอาเครื่องลงจอดที่กรีนแลนด์ มืดและแถมมีพายุหิมะ มองไม่เห็นรันเวย์ ผมถามคุณเอ็ดว่าเคยเจอสภาพอากาศแบบนี้มั้ย คุณเอ็ดบอก ไม่เคย ผมก็เริ่มกลัว กลัวจะชนภูเขาน้ำแข็งหรือลงทะเล สุดท้ายก็ลงจอดได้และปลอดภัย หรือตอนเครื่องบินบินอยู่แถวอียิปต์ ความสูง 2.6 หมื่นฟุต จู่ๆ เครื่องบินเกิดอาการเหมือนตกหลุมอากาศ เปลือกส้ม โน้ตบุ๊ก รองเท้า อาหาร ลอยเลยละครับ แต่พวกเราไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร พอเอาเครื่องลงจอด คุณเอ็ดไปตรวจสอบพบว่าออโตไพลอตมีน้ำแข็งเกาะ ส่วนผมนั่งร้องไห้ ยอมรับว่ากลัวครับ คุณเอ็ดถามจะกลับเครื่องบินปกติมั้ย ผมตอบไปว่าไม่กลับ จะไปต่อ เพราะไหนๆ ก็มาด้วยกันแล้วก็กลับด้วยกันสิ”
บินรอบโลกเพื่อในหลวง ครั้งที่ 2
เป็นอีกครั้งที่โลกต้องจารึก ประเทศไทยต้องจดจาร ปี 2554 เมื่อชายสองคนพาเครื่องบินส่วนตัวเหินฟ้าด้วยจุดประสงค์ดังเดิม รวบรวมโปสต์การ์ดถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคนไทยในต่างแดนและชาวต่างประเทศที่เคยมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นและฮึกเหิม บวกกับประสบการณ์ครั้งแรก ความกล้าและความกลัวที่เคยมีจึงแปรเปลี่ยนให้พวกเขาสานต่อความฝันอย่างไม่ลดละ ครั้งนี้การเดินทางเริ่มต้นที่ จ.เชียงใหม่ กับเป้าหมายโปสต์การ์ด 984 ใบ 36 เมือง 22 ประเทศ ระยะเวลา 120 วัน
ทั้งคู่ทำสำเร็จและเกินเป้าหมาย เพราะจำนวนโปสต์การ์ดที่พวกเขารวบรวมได้กว่า 1,000 ใบ แม้จะผ่านมาเกือบ 4 ปีเต็ม แต่ภาพเหล่านั้นยังอยู่ เป็นความประทับใจที่มิอาจลืมเลือน ยิ่งเฉพาะหมุดหมายแรก บังกลาเทศ อันเป็นความหวังการที่จะได้พบคนไทยใกล้ริบหรี่ ทว่าความโชคดีก็เข้าข้าง พวกเขาได้พบกับ 4 คนไทย และรอยยิ้มแห่งความปลาบปลื้ม
“พวกเราไปที่เมืองจิตตะกอง บังกลาเทศ ค้นหาธุรกิจคนไทย แต่ไม่พบ ลองสอบถามคนท้องถิ่น ก็บอกว่าไม่มี พวกเราก็เริ่มถอดใจ แต่ขณะที่พวกเรากำลังเดินเข้าพักโรงแรมแห่งหนึ่ง สายตาผมก็เหลือบไปเจอป้ายร้านนวดแผนไทยพอดี ด้วยความดีใจผมก็พุ่งไปที่นั่นเลยเพื่อสำรวจว่ามีคนไทยอยู่มั้ย แล้วพวกเราก็เจอพนักงานร้านนวด 4 คนไทย เป็นผู้หญิง ทั้งพวกเราและพนักงานร้านนวดต่างก็ดีใจมาก พอผมหาร้านขายโปสต์การ์ด ปรากฏว่าไม่มีขาย ผมเลยใช้วิธีถ่ายรูปคนไทยเพื่อทำเป็นโปสต์การ์ดแล้วก็ให้พวกเขาเขียนอวยพรถึงในหลวง”
สำเร็จหนึ่งหมุดหมาย จากลาคนไทยที่บังกลาเทศทั้งคู่มุ่งสู่ภูฏาน เนปาล โอมาน จอร์แดน เข้ายุโรปเยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สเปน สิ่งที่ไม่พลาดคือแวะบ้านเกิดของเอ็ดวาลโด ความที่มีข่าวว่าทั้งคู่เดินทางมาอีกครั้ง ประจวบกับที่นั่นจัดงานไทยแฟร์ ผู้คนก็หลั่งไหลมาร่วมกันลงนามถวายพระพรกันอย่างเนืองแน่น เห็นถึงความเป็นมิตรไมตรีและความจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
งานนี้ความสุขเบ่งบานกันถ้วนหน้า สะท้อนถึงความรักที่สุดจะหาใดเปรียบปาน ก่อนที่พวกเขาจะย้อนกลับมาทางเดิม โดยแวะกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บังกลาเทศ และจบลงที่ จ.เชียงใหม่
“ถ้าบนเครื่องหน้าที่และการตัดสินใจจะเป็นคุณเอ็ด แต่พอเครื่องจอดผมจะเป็นคนดูแลทั้งหมด ไม่ว่าจะเอกสาร การประสานงาน ที่พัก อาหารการกิน พวกเราแบ่งหน้าที่กันชัด สำหรับผมการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว ความปลอดภัยต้องมาก่อน การวางแผนว่าจะไปแต่ละที่ก็ต้องดี ซึ่งการไปแต่ละที่ผมกับคุณเอ็ดถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ เป็นการเปิดโลกอีกโลก เพราะแต่ละที่ก็มีระเบียบ มีวัฒนธรรมและภาษาไม่เหมือนกัน ผมกับคุณเอ็ดในฐานะเป็นแขกก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับแต่ละที่ การเดินทางไปแต่ละที่ เรื่องข่าวสารก็สำคัญ ต้องเช็กเพื่อความแน่ใจว่าสถานการณ์เป็นยังไง เกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยง
ผมคิดว่าการเตรียมตัวและการวางแผนก็สำคัญนะครับ แต่ภารกิจสำเร็จไม่ได้เลยถ้าคนไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกนี้ แม้แต่คนต่างประเทศที่เคยมาเที่ยวหรือรู้จักประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีความผูกพันกับประเทศไทย แต่เพราะพวกเขามีศูนย์รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน คือความรักที่มีต่อในหลวง ความรักในประเทศไทย มันเลยช่วยให้อะไรยากๆ ของพวกเราสำเร็จ ยิ่งไปเจอที่คอเดียวกัน พวกเขาก็พร้อมช่วยเต็มที่ คนไทยเองก็เหมือนกัน บางคนชวนผมกับคุณเอ็ดไปที่บ้านไปที่พัก ทำอาหารให้กิน ให้คำแนะนำถึงการใช้ชีวิตที่นั่น ผมว่านี่ละคือเสน่ห์ของคนไทย ยังไงก็ยังคงความเป็นไทยและความน่ารักเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง”
โปสต์การ์ดแต่ละใบมีความหมาย
จบการเดินทางรอบโลก จบภารกิจบุรุษไปรษณีย์อาสา โปสต์การ์ดที่เขียนโดยคนไทยในต่างแดนและชาวต่างประเทศที่เคยมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งคู่รวบรวมมาได้ทั้งหมดถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ครั้งแรกพวกเราทูลเกล้าฯ ผ่านผู้แทนพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ครั้งที่สองพวกเราได้จดหมายจากสำนักพระราชวังให้นำโปสต์การ์ดเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ สำหรับผม การจะได้เข้าเฝ้าฯ หรือไม่ได้เข้าเฝ้าฯ นั้น อาจไม่สำคัญเท่าการได้ทำตามฝันหรอกครับ อย่างภารกิจนี้ ผมกับคุณเอ็ดทำสำเร็จ นั่นก็แปลว่าพวกเราได้ทำตามความฝันแล้ว ว่าครั้งหนึ่งอยากจะทำอะไรเพื่อในหลวง เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ทำและทำจนสำเร็จ เพราะยังไงผมคิดว่าในหลวงก็ยังจะอยู่ในใจผมกับคุณเอ็ดตลอดไป
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเลือกโปสต์การ์ด คือผมไปส่งของที่ไปรษณีย์ เห็นเด็กคนหนึ่งกำลังเขียนโปสต์การ์ด ผมก็ถามจะส่งไปที่ไหน เด็กคนนั้นบอกส่งกลับไปหาพ่อ มันทำให้ผมปิ๊งไอเดียว่าควรจะเป็นโปสต์การ์ดนี่ละ ที่จะใช้เป็นสื่อกลางที่คนไทยทั่วโลกสามารถเขียนส่งกลับมาหาในหลวงได้ เพราะผมว่าก่อนที่คนเราจะเริ่มเขียนอะไรลงไปในโปสต์การ์ด ข้อความนั้นต้องผ่านการคิดและถูกกลั่นกรองแล้ว จะเป็นความห่วงใย หรือคำพูดสวยงาม ถ้าได้อ่านข้อความที่อยู่ในโปสต์การ์ด ก็จะสัมผัสได้ถึงความรักที่คนไทยมีต่อในหลวง ต่อประเทศไทย เป็นความรู้สึกเดียวกันเลยครับ”
ธีระฉัตร ยังบอกอีกว่า การแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นมีหลายวิธี หากไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียวกับเขาและคู่หู อาจจะเป็นใช้ความรู้ความสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคม กระทั่งน้อมนำพระราชดำรัส หรือนำแนวคิดในโครงการพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ นั่นก็เป็นการแสดงความจงรักภักดีอย่างหนึ่ง
“คนเรามีแรงบันดาลใจที่จะทำดีเพื่อในหลวงต่างกัน ผมว่าเล็กใหญ่ไม่สำคัญ บางคนแค่ถ่ายกับรูปในหลวงที่ติดอยู่ที่บ้าน ผมว่าก็ทำเพื่อในหลวงได้แล้วนะ ถ้าจะนำคำสอนหรือแนวคิดโครงการต่างๆ ของในหลวงไปปรับใช้ เลือกที่เหมาะกับตัวเอง ผมว่าก็เป็นการทำเพื่อในหลวงเหมือนกัน อย่างตัวผมตอนนี้ ผมก็ใช้ความรู้ ความสามารถ ความชอบเรื่องการถ่ายภาพ สร้างผลงานที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ผมว่าผมก็ได้ทำเพื่อในหลวงแล้วละครับ”