เยาวชนดีเด่น ไม่ใช่ว่าใครก็เป็นได้
วันเด็กทุกปีจะต้องมีรางวัลพิเศษที่มอบให้กับเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งมีกว่า 11 สาขาในสายวิชาต่างๆ
โดย...โยธิน อยู่จงดี
วันเด็กทุกปีจะต้องมีรางวัลพิเศษที่มอบให้กับเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งมีกว่า 11 สาขาในสายวิชาต่างๆ ซึ่งเคยสงสัยกันไหมว่า เยาวชนดีเด่นแห่งชาติเหล่านี้ เขาเก่งอย่างไรถึงได้รับรางวัลนี้มาเป็นเกียรติประวัติแห่งวงศ์ตระกูลกัน
เด็กอัจฉริยะ เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ 6 ปีซ้อน
รัชชานนท์ เพชรชู จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เจ้าของเหรียญเงินประเภทบุคคลและแชมป์ประเภททีม จากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ที่ประเทศจีน ในปีที่ผ่านมา คือหนึ่งในเด็กอัจฉริยะแห่งวงการคณิตศาสตร์ของไทยที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่ง ที่ฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่ระดับอนุบาล 2
คุณแม่วิภาวดี จันทร์ม่วง เล่าว่า รัชชานนท์ชอบบวกเลขมาตั้งแต่อยู่อนุบาล 2 “เวลานั่งรถเขาก็ชอบแข่งบวกเลขทะเบียนรถต่างๆ ด้วยกัน เลยลองให้เขาลงแข่งคณิตศาสตร์ ปรากฏว่าได้แชมป์คณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับอนุบาล เราจึงส่งเสริมด้านคณิตศาสตร์ให้ลูกอย่างเต็มตัว โดยการให้เรียนพิเศษด้านคณิตศาสตร์ หาซื้อหนังสือคณิตศาสตร์จากต่างประเทศมาให้ลูกทดลองทำ
รัชชานนท์ เพชรชู
จนถึงวันนี้เขาค่อนข้างมุ่งมั่นที่จะได้แชมป์โอลิมปิกคณิตศาสตร์โลก เราก็ตั้งเป้าให้เขาเป็นตัวแทนประเทศ เพราะเมื่อตอนที่น้องเรียนระดับประถมศึกษา ทางโรงเรียนก็ให้ข้ามไปเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมแล้ว เวลาถึงคาบเรียนคณิตศาสตร์ ก็จะไปเรียนรวมกับเด็กคณิตศาสตร์โอลิมปิก ส่วนรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติน้องได้ตั้งแต่ ป.2 จนถึง ม.1”
“การเตรียมตัวของผมก็คือ ซ้อมทำข้อสอบเก่าๆ และดูแนวข้อสอบที่คิดว่าจะออกใหม่ทุกวัน โดยให้เวลาในการทบทวนการเรียน หลังเลิกเรียนตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงสามทุ่ม ผมจะซ้อมทำข้อสอบคณิตศาสตร์ตลอด โดยนำข้อสอบคณิตศาสตร์โอลิมปิกย้อนหลังจากอินเทอร์เน็ตมาลองทำดู
การเตรียมตัวในเรื่องการเรียนของผม เวลาอ่านหนังสือต้องจับใจความสำคัญให้ได้ เวลาทำข้อสอบก็จะทำได้ง่าย เคล็ดลับในการจับใจความสำคัญของผมก็คือการดูภาพรวมของเนื้อหา และดูว่าเนื้อหาตรงจุดไหนมีที่มาที่ไปอย่างไร” รัชชานนท์ บอกด้วยน้ำเสียงนิ่งๆ ถึงเคล็ดลับในการเรียนจนประสบความสำเร็จ
ต้นป่าน โพธิ์แก้ว
เก่งทั้งเล่นกีฬาและการเรียน
ต้นป่าน โพธิ์แก้ว นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และนักกีฬาฟันดาบเยาวชนทีมชาติ เซเบอร์หญิง คือนักกีฬาหญิงรุ่นใหม่ที่เก่งทั้งด้านกีฬาและการเรียน โดยเกรดเฉลี่ย 3.9 เป็นตัวการันตีความเก่งรอบด้านของเด็กคนนี้ได้เป็นอย่างดี
“เล่นฟันดาบมาตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยเล่นตามพี่สาวที่เป็นนักกีฬาฟันดาบมาก่อน จากนั้นเราก็เล่นมาตลอด แล้วลงการฝึกซ้อม ลงแข่งจนฝีมือและอันดับเราพัฒนาขึ้น เคล็ดลับในการประสบความสำเร็จด้านกีฬาก็คือการซ้อมอย่างต่อเนื่องทุกวันหลังเลิกเรียนจนถึง 2 ทุ่ม และวันเสาร์ซ้อมตอนเช้าตามโปรแกรมที่โค้ชกำหนด
สำหรับเคล็ดลับในการเรียน ปกติแล้วจะไม่มีเวลาอ่านหนังสือมากนัก ดังนั้นช่วงที่เรียนหนังสือก็ต้องตั้งใจเรียนมากเป็นพิเศษ ทุ่มเทกับการตั้งใจเรียนฟังสิ่งที่ครูสอนอย่างเต็มที่ ฟังให้เข้าใจ และเวลาซ้อมก็ซ้อมให้เต็มที่เพราะเราจะไม่มีเวลากลับไปทบทวนหนังสือเรียนแล้ว แต่ความรู้ทั้งหมดเราจะจดจำและเข้าใจได้ตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน
จากนี้ไปคงตั้งเป้าอนาคตว่าอยากจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ แต่มีมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่โค้ชแนะนำว่าสะดวกต่อการซ้อมฟันดาบ ซึ่งตอนนี้ขออุบไว้ก่อน ซึ่งเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ต้องตัดสินใจกันอีกครั้ง
การที่ได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นฯ ทำให้เรารู้สึกภูมิใจมาก ต้องขอบคุณครอบครัว โค้ชและทุกฝ่าย ถ้าขาดคนใดคนหนึ่งไปก็คงไม่ได้รางวัลนี้มา จากนี้ก็คงตั้งใจฝึกซ้อมต่อไปและไม่ทิ้งเรื่องการเรียนเพื่ออนาคต”
เด็กเก่งที่พัฒนาด้วยตัวเอง
ยลลดา ยงพิศาลภพ นักเรียนชั้น ม.2 จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เจ้าของเหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิก ในระดับชั้นมัธยมต้น แม้จะไม่ได้รับการพัฒนาด้านคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เล็กๆ แต่ด้วยความสามารถและพรสวรรค์ในการคิดคำนวณ เธอจึงสามารถคว้าชัยในการแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับประถม ตั้งแต่รายการแรกที่ลงแข่งขัน
ยลลดา ยงพิศาลภพ
คุณแม่กาญจนา ยงพิศาลภพ เล่าว่า เห็นแววของลูกตั้งแต่ตอน ป.4 ที่ไปสอบแข่งขันกับ สสวท.ได้รางวัลกลับมา “ก็เลยรู้ว่าเขาพอจะมีหัวทางนี้ก็เลยเริ่มติวคณิตศาสตร์อย่างเต็มตัว แล้วเขาก็ได้อันดับหนึ่งในการแข่งขันหลายๆ สนาม แล้วก็ได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติตั้งแต่ลงแข่งขันครั้งแรกมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา”
เคล็ดลับการเรียนเก่งของน้องยลลดาก็คือ ต้องทบทวนทุกครั้งที่เรียน เคล็ดลับในการเรียนการจัดการ เคล็ดลับการเรียนก่อนอื่นต้องตั้งใจฟังสิ่งที่คุณครูบอก ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องถามทันที การแบ่งเวลาบางส่วนไปทบทวนและทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง พอหลัง 2 ทุ่มจะทบทวนทำข้อสอบโอลิมปิกวันละ 5-6 ข้อ เพราะการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไม่ได้ใช้การอ่านอย่างเดียว ต้องมีการฝึกหัดทบทวนโจทย์ด้วย
เก่งอย่างเดียงไม่พอต้องมีวินัยรู้จักหน้าที่
นิจวดี เจริญเกียรติบวร รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สังกัดสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อธิบายเกณฑ์ในการคัดเลือก
เยาวชนดีเด่นแห่งชาติด้านวิชาการว่า เริ่มต้นจากกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานภายใต้สังกัดยื่นรายชื่อเยาวชนดีเด่นของแต่ละสาขา ซึ่งมีทั้งสาขาวิชาการ กีฬาและนันทนาการ ผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติและสาขาอื่นๆ ซึ่งแต่ละสาขาก็จะมีลิสต์รายชื่อมา
อย่างสายวิชาการเอง หลักๆ แล้วจะคัดเลือกจากนักเรียนที่มีผลงานดีเด่นในระดับประเทศและนานาชาติเช่นเด็กนักเรียนที่ได้รางวัลจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก แต่โดยหลักการแล้วเด็กที่จะรับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ จะต้องเป็นเด็กที่มีความสามารถ มีวินัย ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา สามารถสร้างแรงจูงใจและมีเจตคติที่ดีต่อการเรียน
ส่วนมากแล้วเด็กเก่งๆ จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง แต่ก็ต้องรู้จักหน้าที่ของความเป็นผู้นำและผู้ตาม เพื่อจะได้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี สามารถนำเอาความรู้มาพัฒนาประเทศและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขด้วย