วิถีแห่งเบงกอล
หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาประเทศบังกลาเทศ ก็คือเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุหรือน้ำท่วม
โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]
หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาประเทศบังกลาเทศ ก็คือเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุหรือน้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ ปี และการเกิดขึ้นแต่ละครั้งก็มีความรุนแรง จนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้ จึงเรียกได้ว่าธรรมชาติเป็นหนึ่งในตัวสร้างปัญหาให้กับประเทศนี้ แต่ในขณะเดียวกันผู้คนที่นี่ก็มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพิงธรรมชาติ
ธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้บังกลาเทศปลูกพืชเพื่อการบริโภคได้น้อย ผู้คนที่นี่จำนวนไม่น้อยก็เลยหันมาปลูกปอกระเจาแทน เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการทอกระสอบ จนกลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ ส่วนความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทำให้ต้นไม้ในผืนป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศนี้อย่าง “ป่าซันดาร์บานส์” ถูกพัดทำลายเสียหาย
แต่นั่นก็ทำให้เมล็ดพันธุ์ของต้นไม้เหล่านั้นกระจายไปในพื้นที่กว้างขวาง ฟื้นตัวกลับมากลายเป็นป่าผืนกว้างใหญ่กว่าเดิม มากไปกว่านั้นน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ท้ายที่สุดแล้วน้ำเหล่านั้นก็ไหลลงไปเติมในแม่น้ำลำคลองหนองบึงจนก่อเกิดเป็นแหล่งสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากมาย ที่กลายเป็นแหล่งอาหารกลับมาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนอีกครั้ง และนี่คือตัวอย่างที่เรากำลังจะบอกว่า คนบังกลาเทศนั้นต้องต่อสู้กับธรรมชาติ และในขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ จนกลายเป็นอีกหนึ่งวิถีที่น่าสนใจในประเทศนี้
ปลาถือเป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ให้กับบังกลาเทศอย่างมาก
วิถีชีวิตผู้คนทางตอนใต้ของบังกลาเทศดูเหมือนว่าจะเห็นภาพชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะด้วยสภาพพื้นที่ราบต่ำ ตั้งอยู่ปากแม่น้ำบริเวณอ่าวเบงกอล ทำให้เมื่อฤดูมรสุมผู้คนที่นี่จะต้องเผชิญกับพายุเป็นกลุ่มแรกสุด ซึ่งผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่แล้วประกอบอาชีพประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองท่าริมฝั่งแม่น้ำและเมืองท่าชายทะเล ในอดีตที่ผ่านมาผู้คนที่นี่ก็อาศัยจับปลากันตามห้วยหนองคลองบึง เพื่อทำกินกันในครัวเรือนเท่านั้น แต่เมื่อทรัพยากรเริ่มมีจำกัดและประชากรเริ่มแก่งแย่งกันมากขึ้น จึงเริ่มมีการทำประมงในเชิงพาณิชย์ กระทั่งมีการพัฒนาทักษะ และขีดความสามารถ จนเป็นหนึ่งในชาติที่มีความเก่งกาจเรื่องทำประมงอย่างเช่นทุกวันนี้
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ธุรกิจประมงของบังกลาเทศสร้างรายได้ คิดเป็นสัดส่วน 6% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี มีโรงงานแปรรูปปลาที่ได้มาตรฐานอยู่ประมาณ 130 แห่ง ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในเขตจิตตะกองและเขตคุลนา มีตัวเลขประมาณการว่าบังกลาเทศมีเรือประมงน้ำลึกขนาดใหญ่อยู่ประมาณ 130 ลำ และประมาณ 2.2 หมื่นลำ เป็นเรือขนาดกลางที่ติดเครื่องยนต์ และอีกกว่า 2.5 หมื่นลำ เป็นเรือหาปลาที่ไม่มีเครื่องยนต์ ลูกเรือประมงพาณิชย์ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชาวฮินดูที่อยู่ในวรรณะต่ำ และชาวมุสลิมที่มีฐานะยากจน ส่วนเจ้าของเรือส่วนมากจะได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี แต่ก็จะมีรายใหญ่ๆ เพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่คุมธุรกิจในแต่ละพื้นที่
เมืองมงกลา (Mongla) นอกจากจะเป็นเมืองหน้าด่านก่อนเข้าสู่เขตผืนป่าซันดาร์บานส์แล้ว ยังเป็นเมืองท่าสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำชั้นใน ซึ่งที่นี่มีความสำคัญในฐานะจุดพักเรือประมง ที่จะต้องล่องเรือลัดเลาะพื้นที่ป่าซันดาร์บานส์เพื่อไปออกทะเลที่อ่าวเบงกอล เรือที่มาจอดพักที่นี่ลูกเรือส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่บนเรือ เพราะต่างเดินทางมาจากเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปเพื่อมาทำมาหากินที่นี่ดังนั้นเวลาเรือมาจอดเทียบท่าพวกเขาก็ยังต้องอาศัยหลับนอนบนเรือ จะลงจากเรือบ้างก็ตอนที่เอาปลาไปขาย และตอนที่ไปซื้อข้าวของเครื่องใช้บนเรือ เมืองนี้ก็เลยเป็นเมืองของชาวประมง ดังนั้นแน่นอนบรรยากาศบนฝั่งของเมืองนี้ก็จะเต็มไปด้วยสีสันของผู้คนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของชาวประมงที่รีบเร่งเอาปลามาขายที่ตลาด กลุ่มของพ่อค้ารับซื้อปลาที่ตะโกนต่อรองราคา กลุ่มชาวบ้านที่รีบมาหาซื้อปลาสดๆ และกลุ่มของพ่อค้าเร่ที่นำเอาพืชผักอาหารแห้งมาวางจำหน่ายอยู่ตลอดสองข้างทาง
การจับปลาด้วยตัวนาก ภูมิปัญญาที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่มีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างไปจากชาวกรุงธากาเมืองหลวงของประเทศอย่างสิ้นเชิง แม้ใบหน้าจะเคร่งขรึม แต่พวกเขาก็เป็นคนยิ้มง่ายและเป็นกันเอง ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะความเงียบเหงาและภาระหน้าที่บนเรือ ทำให้พวกเขาเครียดมามากพอแล้ว ดังนั้นเวลาที่ขึ้นฝั่งมา พวกเขาก็เลยใช้ชีวิตกันอย่างสนุกสนานเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งก็เลยกลายมาเป็นธรรมชาติของคนที่นี่ นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเราจึงได้รับการต้อนรับอย่างดี ด้วยอัธยาศัยไมตรีรอยยิ้มและการเชื้อเชิญให้เข้ามานั่งดื่มน้ำชา พร้อมกับถ่ายรูปพวกเขาอย่างสนุกสนาน
อีกหนึ่งวิถีที่น่าสนใจของเมืองนี้ นั่นก็คือวิถีประมงโบราณที่หาชมได้ยาก นั่นก็คือ Otter fishing หรือการจับปลาโดยใช้ตัวนาก เป็นภูมิปัญญาของชาวบังกลาเทศทางใต้ถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการฝึกนากจะต้องเริ่มตั้งแต่ลูกนากมีอายุ 3-4 เดือน และต้องเป็นสายพันธุ์ที่ฝึกได้เท่านั้น แต่ด้วยสัญชาตญาณของสัตว์ก็มีโอกาสสูงที่ผู้ฝึกสอนจะต้องโดนกัด ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ชาวประมงก็ต้องดูแลเอาใจใส่เสมือนว่านากพวกนี้เป็นสมาชิกในครอบครัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ดังนั้นการฝึกตัวนากจึงไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่ต้องเป็นคนที่มีความอดทนและเอาใจใส่จริงๆ เท่านั้น โดยปกติแล้ว การจับปลาด้วยนาก จะเป็นเทคนิคที่สอนกันเฉพาะในครอบครัว และก็จะเป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จึงทำให้การจับปลาด้วยวิธีนี้ค่อยๆ ลดน้อยลง
สีสันส่าหรีของสตรีแดนใต้
ปัจจุบันนี้มีตัวนากที่ยังทำงานจับปลาอยู่แค่ร้อยกว่าตัวเท่านั้น เนื่องจากมีเครื่องมือหาปลาใหม่ๆ มาแทนที่ และชาวประมงยุคใหม่ก็เลือกที่จะออกไปหาปลาไกลขึ้น ซึ่งคุ้มค่ามากกว่าการลงทุนมาฝึกตัวนาก ทำให้เทคนิคการจับปลาด้วยวิธีนี้กำลังจะเลือนหายไป จะเหลือก็แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวที่ยังเป็นแรงดึงดูดให้เจ้าของนากยังอยากอนุรักษ์วิถีแบบนี้ไว้
ชาวบังกลาเทศทางใต้หรือชาวเบงกอล มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำและธรรมชาติมาช้านานแล้ว แม้กระทั่งทุกวันนี้พวกเขาก็ยังต้องอาศัยแม่น้ำและท้องทะเลเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ดินแดนแห่งนี้จะผันเปลี่ยนชื่อจากดินแดนเบงกอลไปเป็นประเทศปากีสถานตะวันออก จนกระทั่งกลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศในปัจจุบัน แต่วิถีแห่งเบงกอลก็ยังซึมซับอยู่ในสายเลือดของพวกเขา เป็นชาวบังกลาเทศลูกหลานเบงกอลที่ยังคงมีเลือดของนักสู้ยังคงอยู่กับวิถีแห่งสายน้ำ ยังคงต้องต่อสู้และพึ่งพิงธรรมชาติต่อไป
แม้ใบหน้าที่ดูเคร่งขรึม แต่ผู้คนที่นี่ก็เป็นกันเองกับผู้มาเยือนเสมอ