‘EF’ เครื่องมือพัฒนาทักษะสมองเพื่อคนรุ่นใหม่
จากรายงานของ World Economic Forum “Global Competitiveness Report 2014-2015” ที่บ่งชี้ว่า คุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่อันดับ 7 ของอาเซียน
โดย...พริบพันดาว
จากรายงานของ World Economic Forum “Global Competitiveness Report 2014-2015” ที่บ่งชี้ว่า คุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่อันดับ 7 ของอาเซียน และคุณภาพของระบบอุดมศึกษาอยู่ที่อันดับ 8 แม้ว่าดูโดยภาพรวมขีดความสามารถของไทยจะอยู่อันดับที่ 31 จาก 144 ประเทศ แต่ด้านคุณภาพการศึกษานั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ปัจจุบันมีอันดับที่ต่ำกว่าอย่างน่าเป็นห่วงถือได้ว่าการศึกษาไทยเข้าขั้นวิกฤต
ข้อมูลที่ได้จากกิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “หนังสือและการอ่าน เครื่องมือพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions-EF ในเด็กปฐมวัย...คำตอบการปฏิรูปการศึกษาไทย? จากงานของสถาบันอาร์แอลจี ในกลุ่มบริษัท อาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สนับสนุนโดย สสส.) และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยจัดขึ้น ทำให้รู้ว่าสังคมไทยต้องมีการปฏิวัติความคิดในการดูแลสั่งสอนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมและแนวทางการเลี้ยงดูพัฒนา และการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กไทยที่สอดคล้องกับธรรมชาติและพัฒนาการทุกด้านของเด็ก
โดยมีความรู้ EF เป็นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กไทยเข้มแข็งเป็นผู้ที่สามารถนำพาตนเองและสังคมประสบความสำเร็จดำรงชีวิตรอดอย่างมีคุณภาพในโลกศตวรรษที่ 21
Executive Functions (EF) ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ
สถาบันอาร์แอลจีได้ศึกษาและพัฒนาเรื่อง ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ EF-Executive Functions มาตั้งแต่กลางปี 2557 โดยมีองค์กรพันธมิตรคือ ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้รวบรวมค้นคว้าวิจัยข้อมูล
ทักษะ EF คือ กระบวนการทางความคิด (Mental Process) ในสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึกและการกระทำ เป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายในชีวิต รู้จักการวางแผน มีความมุ่งมั่น จดจำสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ สามารถยั้งคิดไตร่ตรอง ควบคุมอารมณ์ได้ ยืดหยุ่นความคิดเป็น สามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิต รวมทั้งรู้จักริเริ่มและลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องใช้และมีผลต่อความสำเร็จในชีวิต ทั้งการงาน การเรียน และการใช้ชีวิต
การวิจัยจำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็นว่า EF เริ่มพัฒนาขึ้นในเวลาไม่นานหลังปฏิสนธิ โดยช่วงวัย 3-6 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ด้านต่างๆ ให้กับเด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้าพัฒนามากที่สุด และทักษะนี้จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น แต่เป็นอัตราที่น้อยกว่าวัย 3-6 ขวบ และหลังจากนั้นก็จะลดการพัฒนาลง ดังนั้นหากช่วงวัย 3-6 ขวบ เด็กไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่ การพัฒนาทักษะ EF ก็อาจจะช้าหรือบกพร่องเสียหายไป ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมในเชิงลบหรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตได้
ทักษะ EF แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ทักษะพื้นฐาน ทักษะกำกับตัวเอง และทักษะปฏิบัติ โดยแต่ละกลุ่มจะแบ่งออกเป็น 3 ด้าน รวมเป็นทักษะ EF ทั้งหมด 9 ด้าน ซึ่งพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตล้วนมีทักษะทั้ง 3x3 ด้าน ดังต่อไปนี้
กลุ่มทักษะพื้นฐาน 1.Working Memory ความจำที่นำมาใช้งาน ทักษะในการจำหรือเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และดึงมาใช้ประโยชน์ตามสถานการณ์ที่พบเจอ ถือเป็นทักษะแรกที่นำไปสู่การสร้างทักษะอื่นๆ Working Memory จะดีหรือไม่ ไม่ใช่จากการท่องจำ หากแต่มีประสบการณ์หลากหลาย เด็กที่มี Working Memory ดี IQ ก็จะดีด้วย
2.Inhibitory Control การยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรอง ความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จนสามารถหยุดยั้งพฤติกรรมได้ในเวลาที่สมควร เด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจอาจทำสิ่งใดไปโดยไม่คิด หรือมีปฏิกิริยาตอบโต้สิ่งต่างๆ ในทางที่ก่อให้เกิดปัญหา
3.Shift/Cognitive Flexibility การยืดหยุ่นความคิด ความสามารถในการยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนความคิดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ยึดติดตายตัว ทำให้คิดนอกกรอบเป็น มองเห็นวิธีการและโอกาสใหม่ๆ เด็กที่มีปัญหาในการยืดหยุ่นความคิด มักจะติดอยู่กับเรื่องเดิมๆ ไม่สามารถพลิกแพลงหรือหาทางออกใหม่ๆ ได้
กลุ่มทักษะกำกับตนเอง 4.Focus/Attention การใส่ใจจดจ่อ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวก หรือถูกเร้าความสนใจจากปัจจัย ทั้งภายนอกหรือภายในตนเองที่เข้ามารบกวน
5.Emotional Control การควบคุมอารมณ์ ความสามารถในการควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถจัดการกับความเครียด หงุดหงิด และการแสดงออกที่ไม่รบกวนผู้อื่น เด็กที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มักกลายเป็นคนโกรธเกรี้ยวฉุนเฉียว ขี้กังวล อารมณ์แปรปรวน และอาจมีอาการซึมเศร้า
6.Self-Monitoring การติดตามประเมินตนเอง การสะท้อนการกระทำของตนเอง รู้จักตนเอง รวมถึงการประเมินการงานเพื่อหาข้อบกพร่องและหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น คนที่ไม่ค่อยประเมินตนเอง มักไม่รู้ว่าตนเองมีจุดบกพร่องตรงไหน และมักจะทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมๆ
กลุ่มทักษะปฏิบัติ 7.Initiating การริเริ่มและลงมือทำ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำตามที่คิด มีทักษะในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำสิ่งต่างๆ และลงมือทำให้ความคิดของตนเป็นจริง อาศัยความกล้า ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
8.Planning and Organizing การวางแผนและจัดระบบดำเนินการ ทักษะกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การวางแผน การมองเห็นภาพรวม การจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการจัดระบบเพื่อดำเนินการ และมีการประเมินผลว่าบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ เด็กที่ขาดทักษะนี้จะวางแผนไม่เป็น จับต้นชนปลายไม่ถูก และทำให้งานมีปัญหา
9.Goal-Directed Persistence การมุ่งเป้าหมาย ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจและลงมือทำสิ่งใดแล้ว ก็มีความมุ่งมั่นอดทน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ก็พร้อมฝ่าฟันสำเร็จ ทักษะนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กมีโอกาสคิดและลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง รู้จักความผิดพลาด และรู้เท่าทันความเป็นจริงของโลก
การพัฒนา EF ควรเหมาะสมกับช่วงวัย วัย 0-1 ขวบ เป็นวัยที่ต้องได้รับการตอบสนองทันที เมื่อได้รับการตอบสนองที่ดี เด็กจะมีความมั่นคงทางอารมณ์ วัยนี้จะเริ่มพัฒนาความสามารถเรื่องการตั้งเป้าหมาย พัฒนาความคิดได้ดี มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ มีพัฒนาการใช้ภาษาได้ดีขึ้น ซึ่งการใช้คำพูดจะเป็นพื้นฐานให้เด็กๆ ได้คิดและฝึกการวางแผนที่ดี
วัย 1-3 ขวบ วัยเริ่มเข้าโรงเรียนต้องมีการปรับตัวหลายอย่าง เจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ เด็กจะรู้จักควบคุมตัวเองได้มากขึ้น รู้จักรับผิดชอบงานที่ครูมอบหมาย และรู้จักยืดหยุ่นความคิดเพื่อแก้ปัญหา
วัย 3-6 ขวบ เป็นช่วงวัยที่พัฒนาทักษะ EF ได้ดีที่สุด เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้าพัฒนารวดเร็วที่สุด เด็กวัยนี้จะเริ่มคิดวางแผนได้มากขึ้น รู้จักจัดการตัวเอง ทำงานที่มีกติกาหรือเงื่อนไขได้ เกิดการตัดสินใจเองได้ ควบคุมการจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้มากขึ้น และเริ่มรู้จักรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
นักประสาทวิทยามอง EF
พฤติกรรมเด็กมีหลากหลายบางคนอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ เวลาครูสั่งงาน เด็กบางคนจำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งไม่ทำตามที่ครูสั่งสอน หรือความคิดไม่ค่อยยืดหยุ่นหลากหลาย คิดไม่ค่อยออก จำไม่ค่อยดี ลักษณะเช่นนี้เป็นปัญหาพฤติกรรมเด็ก ซึ่งบางทีอาจจะมองว่าเด็กก็มีลักษณะแบบนี้ แต่ไม่เคยมองลึกเข้าไปข้างในว่า ในสมองมีอะไรที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมบ้าง หรือเด็กบางคนดีหมดเลย สมองเขาเป็นอย่างไรบ้าง มีความรู้ทางด้านพัฒนาการเด็กมากมายว่ากี่ขวบจะต้องทำอะไรได้ แต่รู้น้อยมากว่าเด็กเริ่มคิดเป็น คิดซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรบ้าง เวลาคิดใช้สมองส่วนไหน
รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกถึง Executive Functions หรือ EF ที่เกี่ยวกับการคิดของเด็กว่า
“EF เป็นทักษะสมองที่ทำให้เรากำกับควบคุมตนเองไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการกระทำ แต่เป็นเรื่องการคิดด้วย การทำคือการจะไปสู่ความสำเร็จได้ ต้องรู้ว่าทำอะไร ทำอย่างไร ลงมือทำ แก้ปัญหา จนสำเร็จ ส่วนเรื่องการคิด คือ การกำกับควบคุมตนเอง ทั้งอารมณ์ ความคิด การกระทำ การจะทำสิ่งใดให้สำเร็จต้องอาศัยความมุ่งมั่น ต้องจดจ่อกับมันจนเสร็จ ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ไปทำอย่างอื่นจนงานไม่เสร็จ หรือกำกับตัวเองว่าเวลาไหนต้องทำอะไร EF จะไม่ใช่การสอนเรื่องเกี่ยวกับความรู้ เพราะความรู้เราสอนกันแล้วในโรงเรียน แต่ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะความชำนาญ (Skill) ที่มาจากสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู และการจัดประสบการณ์ที่จะทำให้เด็กได้มีโอกาสฝึกฝน”
รศ.ดร.นวลจันทร์ บอกต่อว่ามีงานวิจัยว่าการที่เด็กจะเข้าใจความคิดอื่นได้ต้องอาศัยทักษะ EF 3 อย่าง คือ จำได้ (Working Memory ความจำเพื่อใช้งาน) หยุดได้ (Inhibitory Control ยั้งคิด ไตร่ตรอง) และเปลี่ยนแปลงความคิดได้ ไม่ยึดติดความคิดเดียว (Shift/Cognitive Flexibility ยืดหยุ่นความคิด) เพราะฉะนั้น EF จึงเป็นพื้นฐานให้เราคิดซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ การคิดเชิงบริหารเกิดจากการฝึกฝนซ้ำๆ เพื่อให้วงจรประสาทเหล่านั้นยังคงอยู่
“เด็กที่มี EF ดี จะมีความพร้อมทางการเรียนมากกว่าเด็กที่มี EF ไม่ดี มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมน้อยกว่า และประสบความสำเร็จในการเรียนทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ประถมฯ มัธยมฯ มหาวิทยาลัย จนถึงการทำงาน เด็กที่หยุดได้ คิดไตร่ตรองเป็น ไม่หุนหันพลันแล่น มีเป้าหมายและทำตามเป้าให้สำเร็จ จะเป็นเด็กที่ประสบความสำเร็จเมื่อเขาโตขึ้น เด็กเหล่านี้ก็จะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคด้วย ไม่ทำผิดซ้ำซ้อน”
ทักษะ EF ในทางจิตวิทยาจะเป็นทักษะ 3 อย่าง รศ.ดร.นวลจันทร์ บอกว่า ได้แก่
1.Hill การตั้งเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ ต้องทำอะไรบ้าง จะฝึกฝนโดยให้เด็กตั้งเป้าหมาย ถ้าจะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จต้องใช้ทักษะอะไร
2.Skill ทักษะที่จำเป็นต้องมี เช่น การเรียน เล่นดนตรีกีฬา ต้องใช้ทักษะอะไรถึงจะไปถึงเป้าหมายตรงนั้นได้
3.Will มุ่งมั่นตั้งใจและไปให้ถึง
“สถานการณ์ EF ในเด็กไทยปี 2557 เด็กไทยบางส่วนก็มีปัญหาด้านพฤติกรรมเด็กไทยพบว่า 18.5% มีปัญหา EF โดยด้านที่มีปัญหามากที่สุดคือ Inhibit ความยั้งคิดไตร่ตรอง ตามด้วย Working Memory ความจำเพื่อนำไปใช้งาน และ Emotional Control การควบคุมอารมณ์”
EF กับทักษะการอ่าน
เพื่อพัฒนาการ
แน่นอน EF มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหนังสือและการอ่านโดยตรงในการพัฒนาเด็กขึ้นมา ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาพูดถึงเรื่องพฤติกรรมการอ่าน (Reading Behavior) ที่เกี่ยวข้องกับ EF มีด้วยกัน 3 วงจร วงจรแรก คือ Loop 1 : Decoding Skills/Loop 2 : Comprehension Skills และ Loop 3 : Learning Skills
“งานวิจัยก็ยังบอกอีกว่าเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ที่สามารถอ่านหนังสือได้มีความเข้าใจ ก็จะเป็นคนที่สามารถควบคุมตนเองได้ดีและพัฒนาตนเองด้วย เมื่อไรที่อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วต้องใช้ EF ในการอ่านเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง สังเกตได้ว่าจะกลายเป็นคนที่มีสมาธิดีขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้นเราอ่านไม่ได้ นั่นเป็นเพราะว่าระหว่างการอ่านสมองทำการย้ำในเครือข่ายที่มันมีอยู่ เครือข่ายยิ่งแข็งแรงทำให้เรากลายเป็นคนที่มี EF ค่อยๆ แข็งแรงขึ้น”
พื้นฐานของเด็กปฐมวัย 0-5 ขวบ ดร.ปนัดดา ชี้ว่า เพื่อให้เขามีทักษะที่เป็นฐานสำหรับการต่อยอดของการอ่านอย่างตอนเป็นเด็กเล็กๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 เดือน หรือ 1 ขวบ หากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการอ่านคือการที่เขานั่งตักเราได้ หรือนั่งฟังเราได้ แม้อ่านไม่ออกแต่พ่อแม่รู้ว่าเขาเรียนรู้การอ่านจากเสียง
“ควรพูดคุยอ่านนิทานให้ฟังต้องให้เขาเข้าใจธรรมชาติของภาษาก่อนว่ามันคืออะไร 1-2 ขวบ หนังสือเอาเข้าปากเป็นเรื่องธรรมดา วิธีการที่ผู้ใหญ่พูดว่าเอาหนังสือเข้าปากไม่อ่านให้แล้ว เป็นการไปสกัดกั้น ดังนั้นวิธีการถ้าเด็กหยิบหนังสือเข้าปากเป็นพฤติกรรมที่เด็กรู้ว่าหนังสือนี้มีไว้สื่อความหมาย ไม่ใช่
ตัวเขา เขาสามารถเอามาเปิดเอามากัดได้ ท้ายที่สุดเวลาที่เขาเริ่มพูดได้เป็นคำๆ ชี้บอกได้ เราก็อาจจะชี้รูปให้ดู แล้วก็ให้เขาบอกสิว่าอันนั้นคืออะไร อันนี้คืออะไร พอไปเรื่อยๆ เด็กมักขอให้อ่านซ้ำๆ อย่าเบื่อที่จะอ่านซ้ำๆ ให้เด็กฟัง แปลว่าวงจร EF ของเด็กเริ่มทำงาน เริ่มทำงานไปพร้อมกับจิตใจ การที่เด็กสามารถเดาเรื่องต่อไปได้ และถูกใจเขา ทำให้เขาสามารถท่องออกเสียงมาได้ จะทำให้เขารู้สึกมีความสามารถ และสนุกไปกับการอ่าน ให้รู้ว่าสมองเด็กจะถูก Register ไว้แล้ว ว่ากำลังจะพัฒนา EF ครั้งหน้าเวลาเขาขอให้อ่านอีก บอกว่าได้เลย ให้อ่านกี่ทีก็ได้ ในที่สุดเด็กจะเริ่มเปิดหนังสืออ่านเอง
“ฉะนั้นที่สำคัญที่อยากจะทิ้งท้ายไว้คือ พื้นฐานของการอ่านสำคัญอาจไม่ใช่ EF แต่เป็นพื้นฐานสำคัญที่เกิดขึ้นได้จากการที่เราแค่อ่านหรือพูดคุยให้เขาฟังเท่านั้น การตั้งคำถาม การเล่นกับเขา ล้วนมีความหมายทำให้เขารู้ว่าต่อไปเขาจะสามารถใช้ EF ในการสะกดคำ อ่านออก ไปจนถึงการที่วันหนึ่งเขาสามารถอ่านเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งของเขาได้”
เรื่องราวของเครื่องมือพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions-EF ยังมีมากมาย หากสนใจเพิ่มเติมสามารถติดต่อไปได้ที่สถาบันอาร์แอลจี โทร. 02-831-8400 ต่อ 3348