posttoday

เด็กไทยในระบบการศึกษายุคนี้

02 มีนาคม 2559

เสียงพึมพำระบายความทุกข์จากคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่เรื่องระบบการศึกษาไทยในยุคปัจจุบันเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ

โดย...โยธิน อยู่จงดี/พุสดี สิริวัชระเมตตา

เสียงพึมพำระบายความทุกข์จากคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่เรื่องระบบการศึกษาไทยในยุคปัจจุบันเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ จากการเคี่ยวเข็ญให้เด็กอนุบาลต้องเรียน บวก ลบ คูณและหาร และคณิตคิดเร็ว เพื่อเตรียมสอบเข้าในโรงเรียนสาธิต จนถึงระดับประถมศึกษาที่เด็กๆ ต้องเรียนวิชา การเงินและเศรษฐกิจที่รุ่นพ่อแม่ เพิ่งได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย แต่เมื่อพวกเขาเปิดหนังสือเรียนระดับประถมไปพร้อมๆ กับข้อสอบที่เด็กๆ ทำ ก็พบสิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ คำถามในข้อสอบไม่มีสอนในเนื้อหาหนังสือเรียนของเด็กๆ มีกระทั่งคำถามเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปจนถึงจริยธรรมทางการเมืองแล้วอย่างนี้เด็กไทยจะต้องเก่งแค่ไหนถึงจะเพียงพอกับระบบการศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน

เด็ก ป.4 กับวิชาพฤติกรรมผู้บริโภค

“จำได้ว่าวิชานี้เคยเรียนตอนอยู่มหาวิทยาลัย แต่ไม่คิดว่าลูกของเราจะได้เรียนเรื่อง หลัก 4 พี สิทธิของผู้บริโภค แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการสินค้าและพฤติกรรมผู้บริโภคตั้งแต่ ป.4” คุณแม่บี (นามสมมติ) ผู้มีอาชีพคร่ำหวอดในวงการโฆษณา เล่าถึงวิชาเรียนของน้องไนน์ (นามสมมติ) ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งให้ฟัง ที่ดูแล้วเป็นวิชาที่ค่อนข้างไกลตัวเด็กอย่างมาก

แม่บีเล่าถึงเส้นทางการเรียนของเด็กไทยยุคโซเชียลมีเดีย ผ่านตัวอย่างเรื่องราวของน้องไนน์จากประสบการณ์จริงของเธอว่า ย้อนกลับสมัยน้องไนน์ยังเรียนอยู่ในระดับอนุบาล ครอบครัวของเธอวางแผนเรื่องโรงเรียนของลูกไว้แล้วว่า จะให้ลูกเรียนต่อที่ไหน

เด็กไทยในระบบการศึกษายุคนี้

 

 

“พอดีทางครอบครัวสามีทั้งตระกูลเรียนที่โรงเรียนนี้มาโดยตลอด แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วย แต่ด้วยหลายเหตุผลทั้งตัวคุณครูรู้จักครอบครัวของเราดี สามารถเป็นหูเป็นตาดูแลลูกเราเวลาอยู่ที่โรงเรียนได้ และเป็นโรงเรียนที่สอนตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงมัธยมปลาย จึงเป็นทางเลือกที่ไม่เลวสำหรับครอบครัว แม้จะได้ยินว่าโรงเรียนแห่งนี้เน้นด้านวิชาการเป็นเลิศ เด็กต้องเรียนหนักมาก แต่เราก็ทำใจในเบื้องต้นไว้แล้ว เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีพอสำหรับลูกและคนในครอบครัว

โชคดีอย่างหนึ่งว่าตอนที่น้องไนน์สอบเข้าเรียนต่อระดับประถม ยังใช้การสอบรูปแบบเก่าคือสอบการช่วยเหลือตัวเองในฐานต่างๆ เช่น ใส่เสื้อผ้าและทำกิจกรรมที่กำหนด แต่เด็กที่เข้าหลังจากนั้นจะเป็นการสอบเข้าประถมแบบใหม่ ที่เด็กอนุบาลต้องสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนประถมด้วยข้อเขียน 150 ข้อ นั่งสอบในเวลา 2 ชั่วโมง เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่ต้องสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนสาธิตต่างๆ ซึ่งโชคดีว่าลูกเราไม่ต้องไปทรมานกับการสอบแบบนั้น

ทราบจากเพื่อนๆ ที่ส่งลูกเข้าเรียนอนุบาลว่ามีบางโรงเรียนที่เตรียมวิชาสำหรับสอบเข้าโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะ ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะฝึกฝนเด็กอนุบาลฝึกภาษาอังกฤษ เรียนเลข บวก ลบ คูณ หาร และคณิตคิดเร็ว และความรู้สำคัญที่เด็กๆ จะต้องสอบเข้า รวมทั้งฝึกให้เด็กสามารถนั่งทำข้อสอบ 150 ข้ออีกด้วย

พอน้องไนน์เข้ามาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้แล้วถึงเข้าใจว่า เด็กๆ ยุคใหม่เขาเรียนกันหนักมาก โดยเฉพาะหลักสูตรที่ต้องเรียนแบบดับเบิ้ล โดยเพิ่มหนังสือภาษาอังกฤษพิเศษเข้าไปในทุกวิชา อย่างเช่นวิชาสังคมก็มีหนังสือเรียนของกระทรวงและหนังสือสังคมภาษาอังกฤษเฉพาะกลุ่มโรงเรียนของเขาอีก เป็นการเรียนดับเบิ้ลแทบทุกวิชา และบางวิชาเราก็ตกใจเหมือนกันอย่างวิชาการเงิน เรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ ความสำคัญของการเงินระดับประเทศ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง วิชาพฤติกรรมผู้บริโภค ความพึงพอใจของผู้บริโภค ผู้บริโภคจะต้องดูสินค้าด้วยตัวเองอย่างไร และสิทธิของผู้บริโภค ว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ซึ่งดูไกลตัวสำหรับเด็กไปนิด

เด็กไทยในระบบการศึกษายุคนี้ สรีญา โชคชัยนิรันดร์

 

เด็กทั้ง 50 คนในห้อง ก็จะมีเด็กประมาณ 15 คน ที่มีผลการเรียนดีเลิศ เพราะเด็กกลุ่มนี้เตรียมความพร้อมเรื่องวิชาการตั้งแต่อนุบาลเพื่อเข้าเรียนต่อในโรงเรียนนี้โดยเฉพาะ แต่สำหรับเราๆ ไม่ได้คาดหวังให้ลูกมีผลการเรียนดีเลิศเอาให้แค่พอผ่าน เรียนแล้วไม่เครียดมีความสุขกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนเท่านั้นก็พอ เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าเรากำลังส่งลูกเรียนในโรงเรียนที่ยากเกินไปสำหรับเขา เทียบกับรุ่นเราแล้วเรารู้สึกสงสารลูกมากๆ เพราะรุ่นเราไม่ต้องทำอะไรเยอะขนาดนี้ แต่ความรู้สึกเหมือนโลกมันเปลี่ยนไป ถ้าเทียบในรุ่นของเขาก็อาจจะเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งที่เราพอทำได้ก็คือไม่เคี่ยวเข็ญให้ลูกต้องเป็นเด็กเรียนเก่งสอบได้ที่ 1 เพื่อเอาไปอวดใครๆ ว่าลูกเรียนเก่ง ขอให้เขามีความสุขกับการเรียน มีวินัย มีความรับผิดชอบเพียงแค่นี้ก็พอใจแล้ว”

ความเก่งของเด็กไทยในมุมมองของนักพัฒนาเด็ก

สรีญา โชคชัยนิรันดร์ ผู้จัดการทั่วไปและเจ้าของมาสเตอร์แฟรนไชส์ เบรนสคูล แสดงทัศนคติจากประสบการณ์ในการพัฒนาเด็กไทยมากกว่า 12 ปี ว่า เด็กไทยที่เป็นอยู่เวลานี้พูดได้เลยว่าเก่งมากๆ แล้ว แต่ดูจะเป็นการเก่งแบบผิดวัยไปสักหน่อย ซึ่งควรจะมองในเรื่องพัฒนาการและระบบความคิดของเด็กให้เป็นไปตามวัย มากกว่าที่จะยัดเยียดความเก่งของผู้ใหญ่ใส่ลงไปในตัวเด็ก จึงอยากให้เปลี่ยนมุมมองของผู้ใหญ่เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด

“ตอนนี้เราพยายามจะสร้างเด็กเก่ง แต่เด็กก็ไม่เก่งสักทีเพราะมีความคิดของผู้ใหญ่เข้าไปครอบ และพยายามทำให้เด็กเก่งผิดวัยของเขา ปัญหาของเด็กไทยมีความพยายามในการแก้ปัญหาอยู่หลายครั้ง แต่ติดปัญหาในระบบการศึกษาทำให้เราไม่สามารถแก้ไข พัฒนาเท่าที่ควร ตั้งแต่ทำงานกับเด็กในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเลย ทั้งที่ผ่านมารัฐบาลเคยมีความคิดที่พัฒนาในรูปแบบสากลตามธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าตัวข้อสอบหรือแม้แต่ตำรา สุดท้ายเราก็กลับเข้าสู่วังวนเดิมของการศึกษาทั้งที่ในต่างประเทศจะปรับการเรียนการสอนให้เป็นธรรมชาติการเรียนรู้ของวัย ให้เด็กเรียนแล้วรู้สึกสนุกในการเรียนรู้มากกว่าท่องจำ

เด็กไทยในระบบการศึกษายุคนี้

 

 

เทรนด์การเรียนการสอนของโรงเรียนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเด็กอนุบาลถึงประถม 6 จะเป็นเทรนด์ของการเรียนรู้อย่างมีความสุข ฝึกความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่เด็กคนไหนท่องจำได้มากกว่าก็จะเป็นเด็กที่เรียนเก่งแต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมายเข้าถึงง่าย การท่องจำอาจจะไม่จำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่ ปล่อยให้หน้าที่การจำกลายเป็นหน้าที่ของคอมพิวเตอร์ และมุ่งเน้นการสอนให้เด็กรู้จักการแยกแยะข้อมูลที่อยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต นำมาปรับใช้ให้เกิดความสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แก่ตัวพวกเขามากกว่า

ดังนั้น สิ่งที่ชี้วัดความฉลาดของเด็กจะเปลี่ยนเป็นวิธีการคิดและเลือกรับข้อมูลที่เหมาะสม และรู้จักการแยกแยะและตัดสินใจเรื่องข่าวสารในยุคใหม่ สำหรับพ่อแม่การเลี้ยงดูในเด็กยุคใหม่ต้องปรับตัวในเรื่องการสอน ซึ่งแต่เดิมเรามักจะสอนให้เขาเชื่อและจดจำในสิ่งที่ผู้ใหญ่คิด เปลี่ยนมาเป็นเพื่อนช่วยคิดกับเด็กๆ สอนให้เขาลองคิดเรื่องข้อมูลในมุมมองต่างๆ จะดีกว่า

พอเข้าโรงเรียนระบบการศึกษาไทยไม่ได้เอื้อกับพัฒนาการตามวัย ต้องมีการเตรียมความพร้อมสอบเข้าอนุบาล ซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่วัยที่เด็กจะต้องสอบแข่งขันเข้าโรงเรียน เพราะเมื่อเปิดข้อสอบเข้าอนุบาลมาดูแล้ว พบว่าข้อสอบบางข้อผู้ออกไม่ได้คิดเผื่อทางเลือกสร้างสรรค์ของเด็กๆ เช่น ข้อสอบถามว่าข้อไหนไม่เข้าพวก (คำถามยอดฮิตในข้อสอบระดับอนุบาล) มีให้เลือกระหว่าง โลก ดวงดาว มะนาว และพระจันทร์

เด็กไทยในระบบการศึกษายุคนี้

ถ้าเป็นผู้ใหญ่คิดก็จะรู้ว่าคำตอบนั้นคือมะนาว แต่ผลปรากฏว่าข้อสอบข้อนี้มีเกณฑ์เฉลี่ยคำตอบของเด็กๆ เท่ากันทุกข้อ เด็กบางคนเลือกตอบโลกด้วยเหตุผลว่าสีไม่เหมือนข้ออื่น บางคนเลือกตอบดวงดาว เพราะรูปทรงไม่เหมือนคนอื่น เด็กมีกระบวนการคิดสร้างสรรค์มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะพวกเขายังไม่ยึดติดกับหลักเหตุผล ผู้ออกข้อสอบเองก็ไม่ได้เผื่อกระบวนการคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยเลยกับการให้เด็กสอบเข้าโรงเรียนอนุบาล ไปจนถึงการสอบเข้าโรงเรียนประถม เพราะเด็กในวัยนี้ยังไม่พร้อมรับกับสภาพการสอบในระบบที่ค่อนข้างจำกัดในเรื่องการท่องจำ”

ติดเกราะเสริมความแกร่งให้เด็ก

ครูต้อย-วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบางกอกแดนซ์ บอกว่า ก่อนที่ผู้ปกครองจะพาเด็กเล็กเข้าโรงเรียนเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิชาการ ควรเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ ให้เด็กด้วย เพราะธรรมชาติของคนเรามีสมอง 2 ด้าน ที่ต้องได้รับการพัฒนาไปควบคู่กันอย่างสมดุล ซึ่งเด็กควรได้รับการเตรียมความพร้อมและพัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ไปพร้อมกัน

“อยากให้คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้เข้าใจว่ายิ่งโลกในยุคนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความกดดัน เรายิ่งต้องหาทางให้ลูกเราพร้อมจะออกไปต่อสู้ การกดดันให้ลูกเครียดเกินไป ไม่ใช่ทางออก แต่ถ้าให้เขาเติบโตมาแบบมีความสุข โอกาสจะชนะยังพอมี ยิ่งเราบอกว่าอนาคตเทคโนโลยีจะยิ่งก้าวล้ำ

เราอาจไม่ใช่แค่ต้องเดินเร็วขึ้น แต่ต้องวิ่ง เพราะฉะนั้นเราจะพัฒนาเด็กอย่างไรให้เขาวิ่งได้เร็วโดยไม่สะดุดขาตัวเอง ช่วง 3 ขวบปีแรกถึง 6 ขวบ หรือช่วงก่อนที่เด็กจะเข้าเรียนในระดับชั้น ป.1 ถือเป็นช่วงที่เด็กฉลาดที่สุด สมองมีศักยภาพสูงสุด ร่างกายของเด็กๆ ในวัยนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นนี่คือช่วงวัยสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มเตรียมความพร้อมทั้ง 3 ด้าน ให้กับเขา

เด็กไทยในระบบการศึกษายุคนี้

 

ยกตัวอย่างศาสตร์การเต้นสามารถตอบโจทย์ในการพัฒนาเด็กทั้ง 3 ด้าน ครบทั้งในด้านร่างกาย เด็กสามารถเรียนรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายตัวเอง ฝึกการใช้ร่างกายอย่างถูกต้อง ด้านอารมณ์ การที่เด็กได้ออกไปยืนหน้าเวที ได้ก้าวข้ามคำว่าเขินอาย มาสู่ความมั่นใจ ได้สัมผัสความรู้สึกว่าทำได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีความสุขและเป็นคนที่คิดบวก มีความแข็งแกร่งทางจิตใจ ต่อให้สังคมบีบคั้นเท่าไร มีการแข่งขันมากแค่ไหน เด็กกลุ่มนี้จะยังมีเกราะป้องกันตัวเองที่เข้มแข็ง นอกจากนี้การเต้นยังฝึกให้เด็กได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมเวิร์ก รู้จักคำว่า “เรา” มากกว่า “ฉัน” ได้เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น “สุดท้ายคือด้านสติปัญญา เวลาที่ได้ทำในสิ่งที่เขาสนใจหรือมีความสุข จะเหมือนได้พาตัวเองไปอีกโลก ได้จดจ่อกับสิ่งที่ทำ ไม่วอกแวก เหมือนเป็นการได้ฝึกสมาธิไปในตัว

อีกอย่างหนึ่งสมองของเด็กเปรียบเหมือนฟองน้ำ พวกเขาพร้อมจะซึมซับทุกอย่าง แต่พอวันหนึ่งที่ฟองน้ำซับน้ำจนเต็ม จนรับอะไรอีกไม่ไหวจะกลายเป็นความเครียด เพราะฉะนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำอะไรที่มีความสุข ได้จดจ่อกับสิ่งนั้นโดยที่ไม่ถูกบังคับ สมองของเขาจะได้พัก เหมือนฟองน้ำที่ได้บีบน้ำออก และพร้อมจะซึมซับกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาใหม่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะไม่ได้อัดแน่นทางวิชาการ เพราะหลายครั้งสิ่งที่พยายามอัดแน่น เด็กๆ อาจไม่ได้ให้ความสำคัญ สู้ให้เขาเกิดความรู้สึกสนใจอยากจะทำเองด้วยการพาเขาออกไปเปิดโลกทัศน์ ได้เห็นศักยภาพของคนอื่น จนเกิดความรู้สึกกระหายในการเรียนรู้ อยากจะกลับมาพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกด้วยสมัครใจของเขาเอง ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า”