posttoday

บทบาทวัดและสำนักพุทธฯ ที่พึงปรารถนา

10 กรกฎาคม 2559

ใกล้วันเข้าพรรษา ชาวพุทธอาวุโส เสนอว่า วัดควรทำหน้าที่ในการเป็นผู้นำชุมชนในด้านต่างๆ นอกเหนือจากวัฒนธรรมประเพณี

โดย...สมาน สุดโต และชาลี ศิลปรัศมี

ใกล้วันเข้าพรรษา ชาวพุทธอาวุโส เสนอว่า วัดควรทำหน้าที่ในการเป็นผู้นำชุมชนในด้านต่างๆ นอกเหนือจากวัฒนธรรมประเพณี ดังที่ คุณชาลี ศิลปรัศมี อุปนายกพุทธสมาคมนครศรีธรรมราช และวุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอเรื่องรัฐบาลควรทำอย่างไรกับศาสนาพุทธ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2552 ซึ่งยังไม่ล้าสมัยหากวัดและรัฐบาลจะทำตามที่เสนอ

บทบาท อำนาจ และหน้าที่ของวัด

1.เป็นสถาบันทางศาสนาพุทธ

2.สั่งสอน อบรม ตักเตือน ชี้นำชุมชนให้เข้ามาอยู่ในขอบข่ายของศีลธรรมอันดีงามตามที่สังคมไทยคาดหวัง

3.เป็นสื่อนำด้านจิตใจแก่เยาวชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีวัด บ้าน โรงเรียน ชุมชน สิ่งแวดล้อมและกลุ่มเพื่อน

4.วัดต้องรองรับหมาและแมว หรือสัตว์อื่นที่ชาวบ้านไม่ต้องการมาทิ้งไว้กับวัดให้วัดรับภาระโดยจำยอม

5.วัดเป็นที่แก้ปัญหาให้ชุมชน เช่น เป็นหอประชุม เป็นสถานที่ประกอบพิธีงานศพ งานประเพณี งานเทศกาลอื่นๆ

6.วัดเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งวัฒนธรรมชุมชน

7.วัดเป็นสถานที่สืบทอดทายาทพระศาสนา เช่น การบวชสามเณร พระภิกษุ ชี เนกขัมมจารี และอุบาสก อุบาสิกา

8.วัดต้องสะอาดอยู่เสมอ มีห้องสุขาเพียงพอกับชาวบ้านที่มาบำเพ็ญบุญ รวมทั้งมีไม้ดอกไม้ประดับสวยงามเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ

9.วัดต้องเป็นเขตปลอดจากความชั่วทุกอย่างในทางโลก เช่น เรื่องเพศ เหล้า บุหรี่ การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมในวัดต้องไม่มี 100% รวมทั้งวัดต้องเป็นเขตอภัยทาน

บทบาทวัดและสำนักพุทธฯ ที่พึงปรารถนา สาธิต

 

หน้าที่ของเจ้าอาวาส

หน้าที่ของเจ้าอาวาสของแต่ละวัดมีหน้าที่โดยอัตโนมัติดังนี้

1.เป็นผู้บริหารและผู้จัดการบุคลากรภายในวัดทั้งพระภิกษุ สามเณร แม่ชี เด็ก วัด คนงาน ภารโรง ช่างก่อสร้าง

2.เป็นผู้บริหารอาคารสถานที่ โบสถ์ วิหาร เสนาสนะภายในวัดทุกหลัง

3.เป็นผู้บริหารจัดการการเงินและการพัสดุของวัด

4.เป็นผู้สร้างงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรม ให้เกิดขึ้นในวัดตามแต่อาคารใดจะเอื้ออำนวย

5.เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้กับชุมชนทั้งจิตวิญญาณชุมชนและจิตวิญญาณที่แท้จริงเฉพาะตัวของปัจเจกบุคคลที่มาเรียนรู้กับวัด

6.เป็นผู้นำชุมชนในด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทย

7.เป็นผู้เปิดกว้างและเชื่อมประสานกับสังคมภายนอกโดยเฉพาะราชการไทย

ฐานะและสมณศักดิ์

จากบทบาท อำนาจ หน้าที่ของวัดและหน้าที่ของเจ้าอาวาส จะเห็นได้ว่า หนักหนาสาหัสมากในตัวของคนคนเดียวที่ไม่ได้เล่าเรียนมาในชั้นสูงโดยเฉพาะ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเจ้าอาวาสที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก แล้วก็ตาม รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยใส่ใจกับวัดและเจ้าอาวาสเลย นอกจากสั่งให้วัดและเจ้าอาวาสทำตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ลานวัดลานกีฬา หรืออะไรต่างๆ หากรัฐบาลนี้ (พ.ศ. 2552) ทำได้จะลองดูไหม กล่าวคือ

1.ให้สมณศักดิ์ เจ้าคุณชั้นสามัญแก่เจ้าคณะอำเภอทั่วประเทศ

2.ให้สมณศักดิ์ พระครูชั้นตรีแก่เจ้าอาวาสทุกวัด หากพรรษา 20 ขึ้นไป และมีผลงานผ่านเกณฑ์ประเมินมากมาย อาจจะให้พระครูชั้นโทหรือชั้นเอกไปเลย โดยไม่ต้องผ่านชั้นตรีอะไรเหล่านี้

3.หากเจ้าอาวาสวัดใดจบปริญญาเอกหรือปริญญาโท และมีผลงานอายุ 10 พรรษาขึ้นไป ก็ให้สมณศักดิ์ “เจ้าคุณ” ชั้นสามัญไปเลย ไม่ยากใช่ไหม

ทั้ง 3 ข้อนี้จะเป็นการพัฒนาบุคลากรพระด้านศาสนาที่ดี เพราะจะเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนที่จะต้องช่วยกันพัฒนาวัดของตน และปกป้องรักษา “เจ้าคุณ” ของตนให้อยู่ในฐานะที่น่าเคารพกราบไหว้อยู่เสมอ

ปัญหาที่เหมือนกัน

วัดทุกวัดที่ผู้เขียนไปพบปะ แม้ว่าจะเป็นเจ้าอาวาสวัดดังๆ ในตัวจังหวัดและวัดทั่วไป เจ้าอาวาสตอบไม่ได้ว่า ประวัติของวัดมีความเป็นมาอย่างไร ใครเป็นผู้ตั้ง นี่คือหน้าที่โดยตรงของเจ้าอาวาส ชุมชนและสำนักพระพุทธฯ จังหวัดต้องเข้าไปศึกษาและ “เขียน” ประวัติวัดไว้เป็นมาตรฐาน กรมการศาสนา (ศน.) อาจจะตอบว่าเคยทำ แล้วทำไมเจ้าอาวาสไม่รู้ นี่คือปัญหา

หน้าที่ของสำนักพระพุทธฯ

หน้าที่ของสำนักพระพุทธฯ จังหวัด ควรทำสิ่งต่อไปนี้

1.เขียนประวัติวัดทุกวัดในจังหวัดไว้เผยแผ่ ไม่ใช่เก็บไว้ดังที่ผ่านมา

2.ต้องมีข้อมูลตอบได้ทันทีถึงจำนวนพระภิกษุ สามเณร และบุคคลในวัดและความสามารถพิเศษ (ที่มี)

3.ถวายความรู้พระคุณเจ้าทั้งระดับเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และพระนักเทศน์

4.เน้นส่งเสริมทุกระดับให้มีกิจกรรมเด่นด้านศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน

5.เข้าไปช่วยทุกปีว่าวัดจะก้าวต่อไปอย่างไรหลังกฐินแล้ว เช่น กำหนดแบบแปลนแผนผังของวัดที่ปรับปรุง

6.นอกจากโบสถ์และโรงธรรมในวัด สิ่งที่รัฐควรสนับสนุนคือสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ของวัด

7.เข้าไปสอดส่องดูแลเงินทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ว่าวัดได้ใช้ให้เกิดประโยชน์กับวัดหรือไม่ สำนักพระพุทธฯ จะต้องเข้าไปสอดส่องดูแลให้วัดใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับวัดและชุมชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะการฝึกอบรมเยาวชนและนักบวช

8.กระทรวงศึกษาธิการ ควรยกเลิกการสอนวิชาศีลธรรมที่ซ้ำซากในระดับมัธยมต้นและชั้นอื่นๆ โดยให้เรียนธรรมศึกษาตรี โท เอก แทน โดยสำนักพระพุทธฯ จะต้องจัดการ

9.สำนักพระพุทธฯ จังหวัดจะต้องเข้าไปดูแลและให้ความคิดเห็นว่า วัดจะต้องมีพระพุทธรูปสำคัญประจำวัด หรือโบราณสถานประจำวัด ต้นไม้อายุมากที่ต้องอนุรักษ์และต้นไม้ในพระพุทธศาสนาครบครัน ไม่ใช่โค่นต้นไม้ใหญ่แล้วปลูกต้นเทียนและกระถินเทพาดังปัจจุบัน

10.สำนักพระพุทธฯ จังหวัดต้องบอกได้ว่าวัดใดมีแหล่งเรียนรู้อะไร เบอร์โทรศัพท์ ใครเป็นวิทยากรอธิบายได้ เส้นทางคมนาคมอย่างไร

ข้อมูลจาก จ.ระยอง

ทั้งหมดเป็นข้อเสนอแนะของอาจารย์ชาลี ศิลปรัศมี เมื่อ พ.ศ. 2552

ส่วนข้อมูลต่อไปนี้ผู้เขียนสัมภาษณ์ สาธิต เกียรติ์สุพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประจำจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2559 ซึ่งผู้อำนวยการบอกว่า สำนักพุทธฯประจำจังหวัดระยอง สนองนโยบายส่วนกลาง เช่น จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และกิจกรรมในระหว่างพรรษา นอกจากนั้นทำหน้าที่ เช่น ประสานงาน จัดแผนพัฒนาการศึกษาของสงฆ์ การประสานงานการตั้งวัด การขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ทำให้วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน และการจัดการวัดร้าง ศาสนสมบัติกลาง เป็นต้น

นอกจากนั้น ก็ส่งเสริมให้วัดจัดกิจกรรมปฏิบัติประจำวันสำคัญๆ แต่ก็มีปัญหาที่มีพระจำพรรษาน้อย บางวัดมีหลวงตารูปเดียว เจ้าคณะตำบลต้องไปรักษาการเจ้าอาวาสก็มี นี่คือปัญหาทั่วไป ที่คนบวชพระเพื่อเอาพรรษามีจำนวนน้อย

วัดใน จ.ระยอง มีทั้งสิ้น  273 วัด ที่เป็นสำนักมีชื่อเสียงทางด้านปฏิบัติ เช่น วัดมาบจันทร์ ซึ่งเป็นวัดสายหลวงพ่อชา วัดนี้จึงมีพระและญาติโยมนานาชาติปฏิบัติธรรมกันมาก เชิดชูให้ จ.ระยอง ได้ทีเดียว