คุยเฟื่อง เรื่องดนตรี
กว่า 35 ปีแล้ว ที่วงการเพลงไทยได้จดบันทึกชื่อวง “เฉลียง” ไว้ ในฐานะวงดนตรีที่เกิดจากการรวมกันของ
โดย...ตุลย์ จตุรภัทร
กว่า 35 ปีแล้ว ที่วงการเพลงไทยได้จดบันทึกชื่อวง “เฉลียง” ไว้ ในฐานะวงดนตรีที่เกิดจากการรวมกันของกลุ่มนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในวงถึง 3 ครั้ง 3 ครา และมีอัลบั้มเพลงมากมายถึง 6 อัลบั้ม
รายนามดังต่อไปนี้ คือบุคคลสำคัญของวงเฉลียง นิติพงษ์ ห่อนาค วัชระ ปานเอี่ยม เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ ภูษิต ไล้ทอง ศุ บุญเลี้ยง ฉัตรชัย ดุริยประณีต พวกเขาเหล่านี้ได้ร้องรำทำเพลงให้พวกเราได้ฟังกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะเพลงฮิตอื่นๆ อีกมากมาย รู้สึกสบายดี เข้าใจ กล้วยไข่ เที่ยวละไม ต้นชบากับคนตาบอด เร่ขายฝัน นายไข่เจียว นิทานหิ่งห้อย เอกเขนก แบกบาล ไม่คิดถาม ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า ฯลฯ
ศุ บุญเลี้ยง
ว่ากันว่า 17-18 ก.ย.นี้ พวกเขาจะมีคอนเสิร์ต “ปรากฏการณ์เฉลียง” ที่จัดขึ้น ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ และก็เกิดปรากฏการณ์เฉลียงขึ้นมาจริงๆ เมื่อบัตรกว่าหมื่นใบจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็วเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนเปิดงานแถลงข่าวถึง 3 สัปดาห์ ไม่น่าเชื่อว่าพลังความรักของแฟนเพลงวงเฉลียงจะมีมากมายถึงเพียงนี้
วันนี้ ผมมีนัดพูดคุยแบบเอกเขนกกับวงเฉลียง ที่เฉลียง เพื่อมาคุยเฟื่องเรื่องดนตรี วงการเพลงบ้านเรา ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และความแตกต่างของวงการเพลงในยุค 80 และยุคสมัยนี้ โดยฉัตรชัยเริ่มต้นพูดถึงความแตกต่างไว้อย่างน่าสนใจ “ความแตกต่าง หลักๆ เลยคือเรื่องผลประโยชน์ ยุคสมัยนั้น แต่งเพลงหนึ่งเพลง ถ้าขายดี มูลค่าต่อเพลงมันมีมากมายถึง 2-3 ล้านบาท ซึ่งใน 1 อัลบั้มมีเพลงกว่า 10 เพลง ถ้าขายดีสัก 4-5 เพลง มันก็ทำให้ 1 อัลบั้มประสบความสำเร็จได้ แต่ในยุคสมัยนี้ ขายกันทีละเพลง ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็เทเงินทิ้งไปแบบเปล่าๆ แต่ถ้าเอาเพลงไปลงยูทูบ แล้วมียอดวิวสูง ก็ทำรายได้จากยอดวิวนั้นๆ ได้”
ภูษิต
เมื่อย้อนกลับมาพูดกันที่เรื่องเพลง ภูษิตเล่าให้ผมฟังว่า เพลงไม่มีวันตายไปจากโลกใบนี้ ตราบใดที่ยังมีมนุษย์ที่มีความสามารถทางดนตรี “แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือรูปแบบของคนทำเพลง และคนฟังเพลง เมื่อก่อนคนแต่งเพลง เมื่อแต่งเสร็จ ก็หานักดนตรีมาเล่น หานักร้องมาร้อง หาห้องอัดมาอัดเสียงร้องและดนตรี อัดเสร็จแล้ว ก็ปั๊มใส่ตลับเทปเพื่อขายตามที่ต่างๆ และนำเพลงไปฝากที่สถานีวิทยุเพื่อเปิดเพลง แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น นักร้องนักดนตรีที่ทำเพลงเองได้ สามารถทำเพลงได้อย่างง่ายดาย เพราะมีเทคโนโลยีมาช่วย สามารถทำเพลงที่บ้าน ทำคนเดียวให้เสร็จได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง และสามารถเผยแพร่ทางยูทูบได้เลยทันที ซึ่งในส่วนคนฟัง ระยะเวลาในการฟังเพลงก็สั้นลงด้วย ทำเพลงเร็ว เผยแพร่เร็ว การฟังเพลงของคนฟังก็รวดเร็วประเดี๋ยวเดียว”
ภูษิต ยังบอกเล่าต่อว่า ปัจจุบัน เพลงไม่ใช่ตัวทำรายได้หลัก แต่คอนเสิร์ตคือที่มาของรายได้หลักของนักร้องในยุคสมัยนี้ รวมทั้งการทำคอนเสิร์ตแบบรียูเนี่ยนของนักร้องรุ่นเก่าๆ ที่เคยโด่งดัง “ที่เราเห็นมีแต่คอนเสิร์ตรียูเนี่ยน หรือคอนเสิร์ตที่มีแต่นักร้องรุ่นเก่าๆ มาร้องเพลงบนเวที เป็นเพราะยุคสมัยนี้ไม่ค่อยมีนักร้องเกิดใหม่ และเมื่อมีความต้องการอยากดูอยากฟังคอนเสิร์ต
รียูเนี่ยนจากนักร้องรุ่นเก่าๆ ก็เลยมีคอนเสิร์ตแบบรียูเนี่ยนเกิดขึ้นมากมายตามมา เช่นเดียวกับวงเฉลียง หากไม่มีคนอยากดูอยากฟัง เรามารวมตัวกันขึ้นเวทีคอนเสิร์ต มันก็คงไม่ประสบความสำเร็จ”
นิติพงษ์
ในฐานะที่นิติพงษ์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอย่างถล่มทลายของนักร้องนักดนตรีหลายคนหลายวงหลายเบอร์ บอกเล่าให้เราฟังว่า ยุคสมัยนี้ไม่ต้องเฟ้นหานักร้อง นักดนตรี หรือทำอะไรกับพวกเขามากมายนักเหมือนยุคสมัยก่อน “ยุคสมัยนี้ เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการใครกำหนดทิศทางการทำเพลงให้พวกเขา พวกเขาสามารถทำเพลงกันเองได้ หาสไตล์ให้กับเพลงได้ ให้กับเสื้อผ้าหน้าผมได้ รวมทั้งหามู้ดและโทนของเพลง ของตัวเอง หรือของวงได้ พวกเขาสามารถใช้ยูทูบหรือสื่อโซเชียลต่างๆ เผยแพร่ผลงานเพลงหรือสร้างฐานแฟนคลับของตัวเองได้ พวกเขาสามารถดังได้ด้วยระยะเวลาไม่นานด้วยสื่อโซเชียล และสามารถรับงานจ้างได้ด้วยตัวของตัวเอง ยิ่งดังในสื่อโซเชียล ยิ่งมีคนอยากจ้าง”
หากเด็กรุ่นใหม่ได้มาอ่านจนถึงบรรทัดนี้ หากทำเพลงเอง และอยากให้เพลงของตัวเองประสบความสำเร็จ นิติพงษ์ แนะนำว่า จงอย่าประมาท เพราะยุคสมัยนี้ คนทำเพลงจะทำเพลงที่ง่ายขึ้น รวดเร็วมากขึ้น ตรงไปตรงมามากขึ้น เพราะคนฟังเพลงมีความอดทนต่อการฟังน้อยลง “ไม่ว่าจะอย่างไร ขอให้ทำเพลงอย่างประณีต ไม่ว่าจะเป็นเพลงสไตล์ไหนก็ตาม เพลงที่ประณีตจะอยู่ได้นาน ดังไม่ดังค่อยว่ากันอีกเรื่อง อย่าลืมว่า เพลงดังอาจไม่ใช่เพลงที่ดี แต่เพลงที่ดี มีความประณีต ไม่ดัง มันก็ยังเป็นเพลงที่ดี แต่ยิ่งดังก็ยิ่งดี”
ฉัตรชัย
ในส่วนของการทำเพลง วงเฉลียง เผยว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน แน่นอนว่าการทำเพลงย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การทำเพลงตามยุคสมัยของตนเองจึงไม่มีถูกไม่มีผิด วัชระเผยว่า “เหมือนวงสุนทราภรณ์ที่ก็โดนคนทำเพลงดนตรีไทยวิจารณ์ ตอนที่เกิดวงเฉลียงขึ้นมา ก็มีนักร้องนักดนตรีรุ่นก่อนหน้าวิจารณ์ทำนองว่านี่มันเพลงอะไรวะ ทำเพลงแบบนี้ออกมาได้อย่างไร เราเชื่อว่า การสร้างสิ่งใหม่ต้องไม่สนใจคำวิจารณ์ของคนรุ่นเก่า ถ้าให้แนะนำ เราต้องถามใจตัวเองว่า เราชอบเพลงแบบไหน เพลงที่เราชอบมีคนทำแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็ให้ทำเลย แต่ถ้ามีแล้ว เราจะทำให้แตกต่างได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม วงการเพลงมันก็เหมือนแฟชั่น ที่ทุกสิบปีมันจะวนกลับมา เพียงแต่เป็นการวนกลับมาที่มีความทันสมัยมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีในการทำเพลงมากขึ้น”
ศุ เผยว่า ในฐานะที่เราเป็นนักร้องนักดนตรี หรือนักแต่งเพลง เรื่องของความชอบหรือไม่ชอบ มันเป็นเรื่องของรสนิยม เราห้ามคนให้ไม่ชอบเพลงของเราไม่ได้ ในขณะเดียวกัน เราอยากให้คนมาชอบเพลงของเราก็ไม่ได้ “เรื่องของการฟังเพลง มันคือเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ละคนเกิดและโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน เรียนรู้ หรือรับอะไรมาไม่เหมือนกัน”
ท้ายสุด เกียรติศักดิ์ เผยถึงคอนเสิร์ตที่จะเกิดขึ้นบนเวทีว่า แฟนเพลงจะได้รำลึกความหลังด้วยการฟังเพลงของวงเฉลียง ทั้งเพลงฮิตและเพลงไม่ฮิต รวมทั้งมีเพลงแต่งใหม่ด้วย “แน่นอนว่า แฟนเพลงวงเฉลียงจะได้ฟังเพลงในแบบอารมณ์เดิมๆ ที่เคยฟังกันมา แต่มีความหนาแน่นของเครื่องดนตรี และมีความไพเราะมากขึ้น และที่สำคัญ จะได้เห็นสมาชิกของวงเฉลียงเอนเตอร์เทนคนดูให้ได้หัวเราะ และมีความสุขไปกับการพูดคุยของพวกเราด้วยครับ ส่วนแขกรับเชิญจะเป็นใครบ้าง ต้องติดตามตอนต่อไป (หัวเราะ)”
เกียรติศักดิ์
วัชระ