posttoday

Challenging Tanzania

06 สิงหาคม 2559

ในยุคสมัยนี้ ภาพลักษณ์ของทวีปแอฟริกา ต้องบอกว่าไม่ได้เป็นทวีปล้าหลังเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

ในยุคสมัยนี้ ภาพลักษณ์ของทวีปแอฟริกา ต้องบอกว่าไม่ได้เป็นทวีปล้าหลังเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว จะเห็นได้จากสถิติในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของทวีปแอฟริกานั้นขยายตัวถึงร้อยละ 3.7 และในปีนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.5 นั่นก็เป็นเพราะว่าทวีปแอฟริกามีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อีกทั้งยังมีความมั่งคั่งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เพชร ดีบุก หรือโลหะหนักต่างๆก็สามารถหาได้ที่นี่ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นข่าวคราวการเคลื่อนไหวของชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนที่ทวีปแอฟริกา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศไทย

นับเป็นโชคดีของประเทศที่ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยในสายตาชาวแอฟริกันนั้นเป็นสินค้าคุณภาพและอยู่ในระดับดีเยี่ยม โดยเฉพาะสินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญในทวีปนี้ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและอาหารแปรรูป เรียกว่าสินค้าเหล่านี้สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละเกือบ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

มากไปกว่านั้น นโยบายธุรกิจของหลายประเทศในทวีปนี้ยังเปิดกว้างให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติอีกด้วย โดยเฉพาะที่แทนซาเนียแต่การที่จะเข้าไปลงทุนในแทนซาเนียนั้นผู้ประกอบการหรือนักลงทุนก็ควรที่จะศึกษาข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ให้ดีเสียก่อน ที่คิดและตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานหรือลงทุนทำธุรกิจในด้านต่างๆ ของประเทศนี้ ซึ่งน่าจะสรุปได้ 3-4 ประการดังนี้

ประการแรก คือ ผู้ประกอบการหรือนักลงทุน ต้องทำความรู้จักกับกลุ่มพ่อค้าสำคัญในตลาดการลงทุนของแทนซาเนีย ได้แก่ พ่อค้าชาวจีน และพ่อค้าชาวอินเดีย โดยกลุ่มชาวจีนส่วนมากจะเดินทางมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างเช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ สะพานข้ามฟาก เป็นต้น

Challenging Tanzania แทนซาเนียต้องการเป็นประเทศกึ่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่ทันสมัย ภายในปี 2568

 

การลงทุนในลักษณะนี้เน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นในช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับกลุ่มพ่อค้าชาวอินเดีย เรียกได้ว่า คนเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับชาวแทนซาเนียเลยทีเดียว เพราะชาวอินเดียเริ่มอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำการค้าที่แทนซาเนีย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จึงทำให้ในปัจจุบันมีชาวแทนซาเนียเชื้อสายอินเดียอาศัยอยู่ที่นี่มากถึง 5 หมื่นคน และส่วนใหญ่จะนิยมทำธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน โครงการสัมปทานของรัฐ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังนั้นหากใครต้องการเข้ามาลงทุนที่นี่ก็คงต้องผูกมิตรกับชาวอินเดียไว้ก่อนเป็นอันดับแรก

ประการที่สอง คือ การทำความเข้าใจกับระบบราชการของแทนซาเนีย เพราะว่า ระบวนการและขั้นตอนในการติดต่อกับหน่วยงานราชการต้องใช้เวลาและอาจช้าเอามากๆ เนื่องจากมีการดำเนินงานหลายขั้นตอน อีกทั้งกฎข้อบังคับในการลงทุนสำหรับชาวต่างชาติก็ยังเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ อีกด้วย ฉะนั้นการติดต่อค้าขายหรือลงทุนทำธุรกิจของที่นี่จึงนิยมให้ชาวต่างชาติทำผ่านศูนย์กลางการลงทุน ซึ่งมีลักษณะเป็นบริการที่ครบวงจรเสียมากกว่า

ประการที่สาม ก็คือเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศในทวีปแอฟริกานั้นขึ้นชื่อในเรื่องของโรคระบาดที่ร้ายแรงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้เหลือง อีโบลา เท้าช้าง และเอดส์ เนื่องจากในบางพื้นที่ยังห่างไกลความเจริญ การรักษาด้วยวิทยาการสมัยใหม่ต่างๆ ก็ยังเข้าไม่ถึงเท่าที่ควร จึงส่งผลให้โรคเหล่านี้สามารถแพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อย่าเพิ่งรู้สึกกลัวกับการเดินทางไปแทนซาเนีย เพราะว่าจริงๆ แล้วต้นกำเนิดของโรคเหล่านี้อยู่ในประเทศอื่นของทวีปแอฟริกา และหลายๆ โรคก็ไม่ได้ระบาดในประเทศแทนซาเนีย

Challenging Tanzania โรงไฟฟ้าอูบุงโก โรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในเมืองดาเอสซาลาม

 

ประการสุดท้าย นั่นก็คือ ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งภาวะขาดแคลนไฟฟ้าของแทนซาเนียนับว่าเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ในการพัฒนาประเทศ โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลักๆ อยู่ 2 อย่างด้วยกัน

ปัจจัยที่หนึ่ง คือ พลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ากว่า 1 ใน 3 ของประเทศ มาจากไฟฟ้าพลังงานน้ำ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง แทนซาเนียก็มักจะประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากเขื่อนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ในสมัยที่แทนซาเนียยังไม่ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติของตัวเอง โรงไฟฟ้าต่างๆ ก็มักจะใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เมื่อเขื่อนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ภาครัฐจึงต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ประชาชนก็มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ด้วยเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้จึงส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่ภายหลังจากที่แทนซาเนียพบแหล่งก๊าซธรรมชาติทางตอนใต้ของประเทศ และรัฐบาลแทนซาเนียได้ลงทุนด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อสร้างท่อส่งก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าต่างๆ ภายในประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าอูบุงโก (Ubungo) ในกรุงดาเอสซาลาม (Dar es Salaam) โรงไฟฟ้าหลักของภูมิภาคตะวันออกซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 210 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าก็ยังมีข้อจำกัด เพราะว่าในทุกๆ ปีท่อส่งก๊าซเหล่านี้จะถูกปิดซ่อมบำรุง จึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับตามมา

ปัจจัยที่สอง ก็คือ ระบบส่งไฟฟ้าที่ยังไม่ทั่วถึง จากข้อมูลที่เคยมีการสำรวจพบว่าประมาณร้อยละ 40 ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีไฟฟ้าใช้ ส่วนผู้คนในเขตชนบทส่วนมากยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงทำให้ค่าเฉลี่ยการเข้าถึงไฟฟ้าของประเทศแทนซาเนีย คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 20% ซึ่งก็ทำให้แทนซาเนียต้องประสบปัญหาไฟฟ้าดับอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในลักษณะนี้ ก็เคยส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง (Black Out) ครั้งใหญ่มาแล้วถึง 4 ครั้ง นั่นคือ ในปี 2549, 2551, 2555 และล่าสุดในเดือน ต.ค. 2558 โดยดับเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 3 อาทิตย์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจเท่ากับ 2.3 แสนเหรียญสหรัฐ

Challenging Tanzania ร้านค้าอินเดียตามท้องถนน

 

จะว่าไปแล้ว รัฐบาลของแทนซาเนียก็ไม่ได้นิ่งดูดายที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องไฟฟ้า จึงมีโครงการที่จะเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ในเมืองมัทวารา(Mtwara) เมืองท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญทางตอนใต้ของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและพลังงานสะอาด อย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อรองรับการขยายตัวของสังคมเมืองที่จะทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังกำหนดนโยบายวิสัยทัศน์การพัฒนา

แทนซาเนีย ปี 2568 (The Tanzania Development Vision 2568) ซึ่งมีคุณลักษณะอยู่ 5 ประการด้วยกันที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน ได้แก่ 1) คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 2) มีความมั่นคงและเป็นหนึ่งเดียวกัน 3) ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน 4) ภาครัฐและเอกชนจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีหรือมีหลักธรรมาภิบาล และ 5) ประเทศจะต้องมีศักยภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจมากขึ้นอีกด้วย

การเดินทางของทีมงานโลก 360 องศา ในแทนซาเนียครั้งนี้ ให้ความรู้สึกทั้งแปลกและใหม่ เพราะพวกเราไม่เคยคิดว่าประเทศในทวีปแอฟริกาจะมีความน่าสนใจอยู่มากมาย หลายคนอาจจะยังมองว่าประเทศเหล่านี้ยังไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องของพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข แต่สำหรับคนในประเทศแทนซาเนีย สถานการณ์พลังงานในทุกวันนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นมากแล้ว ดังนั้นถ้าหากใครถามว่าประเทศนี้น่าลงทุน น่าทำธุรกิจหรือไม่ เห็นทีเราคงต้องตอบไปว่า
ทั้งน่าลงทุน และมีโอกาสให้ไขว่คว้ามากเลยทีเดียว