posttoday

คามิน คมนีย์ ผู้ขีด(เขียน) ทางเลือกยิ่งใหญ่ของเด็กชาย(ตัว)จ้อย

07 สิงหาคม 2559

ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชายชื่อ คามิน คมนีย์ หรือ นิกร เภรีกุล คงยากที่จะฟันธงไปเลยว่า ชายผู้นี้เป็น “นักกีฬา”

โดย...นกขุนทอง ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชายชื่อ คามิน คมนีย์ หรือ นิกร เภรีกุล คงยากที่จะฟันธงไปเลยว่า ชายผู้นี้เป็น “นักกีฬา” หรือ “นักเขียน” เพราะคามินเป็นทั้งนักวิ่งระยะไกล นักตะกร้อวง และนักชินลง (กีฬาประจำชาติของเมียนมา) หากแต่เขาสามารถรวม 2 อย่างไว้จนเป็นตัวตนที่เด่นชัด งานเขียนหลายเล่มของคามินสะท้อนประสบการณ์และความหลงใหลในกีฬา ส่วนงานเขียนเรื่องอื่นๆ นับตั้งแต่ลาออกจากงานประจำที่ใช้ทุนรัฐบาลเรียนระดับมหาบัณฑิตด้านนิติศาสตร์ (Master of Laws) ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาก็ทำอย่างมุ่งมั่น ขึ้นชื่อสุดในการเขียนแนวสารคดี

ผลงานเล่มล่าสุดของคามิน คือ ลูกนกจากคอน วรรณกรรมภาคต่อจากเรื่อง ลูกยางกลางห้วย ที่ได้รับรางวัลดีเด่น หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น (บันเทิงคดี) ในการประกวดหนังสือดีเด่น ปี 2556 และลูกยางกลางห้วย เป็นหนึ่งในรายชื่อหนังสือเกียรติยศ ประจำปี 2557

คามิน เป็นชาว จ.นครศรีธรรมราช ต้นเรื่องของเด็กชายจ้อย ในวรรณกรรมลูกยางกลางห้วยและลูกนกจากคอน “ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องต่อกัน เกี่ยวกับวัยเยาว์ของเด็กคนหนึ่งเติบโตในชนบท เขาสับสนในชีวิตว่าเขาจะเรียนต่อ หรือเขาจะอยู่บ้านทำมาหากินตามประสาเด็กบ้านนอก การเรียนดีของเขาทำให้แม่อยากส่งให้เขาไปเรียนต่อ แต่เขาสับสนว่าแม่ผลักไสเขาไปหรือเปล่า ทั้งสองเรื่องผมสอดแทรกการละเล่นขนบธรรมเนียมทางภาคใต้ลงไปด้วย เพราะมีบางอย่างที่หาของจริงยากแล้ว เลยอยากเขียนไว้

จริงๆ ตอนแรกกะมีแค่เล่มเดียว แต่แฟนๆ นักอ่านอยากเห็นความเป็นไปของจ้อยต่อ เพราะเล่มแรกจบในลักษณะให้ผู้อ่านตีความเองว่าตัวละครตกลงเขาจะเรียนต่อหรือไม่ ดังนั้นภาค 2 เริ่มชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกันยังสอดแทรกเกร็ดการละเล่นของภาคใต้เข้ามาเหมือนเดิม เช่น งานเดือนสิบ วันสงกรานต์ การละเล่นภาคอื่นไม่มี เช่น การเอาเม็ดมะม่วงหิมพานต์มาทอยหลุม เอามาวางไว้บนราวเขวี้ยงให้มันหล่น”

หากไม่เคยอ่านเรื่องลูกยางกลางห้วยก็สามารถอ่านและเข้าใจเนื้อหาเรื่องลูกนกจากคอนได้ แต่ถ้าจะให้ได้อรรถรส รู้ที่มาที่ไป ประหนึ่งได้ติดตามและเติบโตตามเด็กชายจ้อย การได้อ่านทั้งสองเรื่องตามลำดับจะดียิ่งกว่า

คามิน คมนีย์ ผู้ขีด(เขียน) ทางเลือกยิ่งใหญ่ของเด็กชาย(ตัว)จ้อย

 

“ภาคแรกเด็กจบ ป.6 แล้วสอบ ม.1 ได้ ลังเลว่าต้องมาเรียนไกลจากบ้าน จากความรักของแม่ ภาค 2 ยังย้ำที่เดิมว่า เขาตัดสินใจไม่เรียน อยากทำมาหากินเช่นคนโตมากรีดยาง ทำไร่ทำสวน แต่เวลาเขาทำจริงๆ เขาเจอแต่ความล้มเหลว ก็เลยย้อนกลับไปนึกถึงว่า สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดคืออะไร ก็คือการเรียน ก็เล่าไปอีกหนึ่งปี พอตอนจบเขาก็ต้องตัดสินใจอีกรอบ ในภาคแรกก็เขียนเล่าด้วยศัพท์สำนวนธรรมดา พอภาค 2 ผมอยากให้มีศัพท์ภาษาภาคใต้เข้ามา แต่ใส่มาพอประมาณ คนใต้อ่านก็ได้รสชาติ คนภาคอื่นอ่านก็ได้เรียนรู้คำไม่ยากอ่านเข้าใจ”

คามินเขียนเรื่องขึ้นจากเหตุการณ์สภาพแวดล้อมใกล้ตัว ซึ่งเขาบอกว่าเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีที่สุด แล้วการเขียนเรื่องวัยเยาว์ของเด็กคนหนึ่งในวันที่เขาเติบโตผ่านร้อนผ่านหนาวมานั้น ทำให้เขาสะท้อนความสับสนของเด็กในวัยที่ต้องเลือกทางชีวิตได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

“ที่คิดพล็อตนี้ขึ้นมา อยากเล่าถึงเรื่องของการเดินทางหรือการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง การตัดสินใจครั้งใหญ่ของเด็กคนหนึ่ง ไม่ชัดเจน สับสน แต่สุดท้ายเด็กเขาจะได้เรียนรู้จากการกระทำของตัวเอง จากเพื่อนฝูง ครอบครัว ภาคแรกชื่อ ลูกยางกลางห้วย ถ้าเอ่ยถึงลูกไม้เรามักคิดว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น แต่ลูกยางเวลาหล่นเจอลมพัดไป มันก็ไกลต้น เป็นลูกยางที่หล่นกลางห้วย สายน้ำจะนำพาเขาไปทางไหน มาภาค 2 อยากให้ล้อกับชื่อเดิม ก็เปรียบเทียบเป็น ลูกนกจากคอน มีหลายความหมาย ลูกนกเริ่มจะเติบโตแต่บินก็อาจจะปีกหัก พลัดตกรัง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มบิน กล้าๆ กลัวๆ แต่ก็ต้องบิน คอนก็คือที่ยึดเหนี่ยว หรือคอนมาจากเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ ผมอยากเปรียบเทียบเด็กเมื่อถึงจุดหนึ่งอยากเติบโต อยากเจออะไรที่ดีกว่าในชีวิต เราต้องโบยบินไปจากรังที่เราเคยสุขสบาย จริงๆ เขียนส่วนหนึ่งก็มาจากชีวิตของเรา อีกส่วนมาจากจินตนาการ บางช่วงเราอยากสื่อปรัชญาการดำเนินชีวิต ก็ไม่เลือกให้เด็กพูด แต่ผ่านทางครู ญาติมาถ่ายทอด ไม่ทำอะไรให้ซับซ้อนเกินไป เพราะเป็นเรื่องของเด็ก ก็ใช้ลูกยางนี่แหละเป็นสัญลักษณ์ในการเติบโตของเด็ก ภาคสองใช้ลูกนก”

การเดินทางและการตัดสินใจของจ้อยยังไม่จบเพียง 2 ภาค แต่นักเขียนกำลังจะให้จ้อยได้ตัดสินใจอีกครั้งในภาค 3 “จ้อยควรได้เรียน ม.1 เพราะเขาสอบได้ แต่ผมอยากสื่ออะไรอีกเยอะในท้องถิ่นใต้ ถ้าเขาเข้าเมืองไปเรียนเราจะสื่ออะไรที่เป็นท้องถิ่นยากแล้ว เลยต่ออายุให้เขาไปอีกหนึ่งปี เล่มที่ 3 กำลังจะต่อให้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเมืองกับชนบท เปรียบเทียบสิ่งที่เจอในเมืองกับบ้านนอก ตอนนี้กำลังวางโครงเรื่องอยู่”

ชีวิตของจ้อยจะเดินไปในทิศทางใด และการตัดสินใจของเขาจะออกมาเป็นเช่นไร รอติดตามเล่ม 3