posttoday

เจาะจิต ผ่าปริศนา โปเกมอนครองเมืองได้ไง?

15 สิงหาคม 2559

จาก 2499 อันธพาลครองเมือง สู่ 2559 โปเกมอน โก ครองเมือง หรือจะว่าครองโลกก็ยังได้ สังคม AR (Augmented Reality)

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

จาก 2499 อันธพาลครองเมือง สู่ 2559 โปเกมอน โก ครองเมือง หรือจะว่าครองโลกก็ยังได้ สังคม AR (Augmented Reality) แบบไทยๆ ของเรา บอกได้เลยว่า ดีกรีความบ้า(เห่อ)ไม่แพ้พิกัดแห่งใดในโลก ที่มาและที่ไป สังคมไทยและความจริงที่เพิ่มเข้ามา ก็ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นคือการรวมตัวกันระหว่างโลกดั้งเดิมและโลกออนไลน์ เกิดเป็นโลกใหม่เสมือนจริงที่จุดติดพรึ่บซะขนาดนี้ ประเด็นทางจิตวิทยาอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร ทำไมแก๊งโปเกมอนถึงครองเมือง

เหตุปัจจัยที่ทำให้เราติดโปเกมอนกันแบบโงหัวไม่ขึ้น อะไรที่ดึงดูดพวกเราให้ตามหาโปเกมอนกันตั้งแต่เช้ายันเย็นยันค่ำ เกิดอะไรขึ้นกับพวกเรากันแน่ Thematter.co สำนักข่าวครบเครื่องตอบเรื่องนี้ไว้น่าสนใจว่า เพราะทุกกิจกรรมที่ทำในโลกของโปเกมอน โก ล้วนมอบประสบการณ์เสริมแรงบวก (Positive Reinforcement) ให้แก่ผู้เล่นแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกนั่นเอง

ความสุขที่ได้รับการตอบสนองเมื่อจับโปเกมอนนั้น อธิบายว่า มนุษย์มีสมองส่วนที่ตอบสนองสิ่งเหล่านี้อยู่ เรียกว่า ระบบ Brain Reward System ซึ่งจะปล่อย โดปามีน (Dopamine) ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทและฮอร์โมน มอบความรู้สึกสุขและสนุกสนาน เมื่อการเล่นโปเกมอนเชื่อมโยงกับการให้รางวัล สมองจึงจดจำและเหนี่ยวนำให้เกิดการอยากได้รางวัลแบบนั้นซ้ำๆ ขึ้นอีก

เจาะจิต ผ่าปริศนา โปเกมอนครองเมืองได้ไง?

“เราต้องยอมรับว่า ระบบเกมสร้างแรงจูงใจที่ท้าทายให้กับผู้เล่น มันเป็นความท้าทายที่ถูกย่อส่วนลงมา ทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จเท่าเทียมกันภายใต้ระบบที่ออกแบบมาแล้ว ซึ่งความสำเร็จในโลกเสมือนนี้ มีปัจจัยร่วมน้อยกว่าชีวิตจริงๆ ที่เราต้องเผชิญ” ศ.รัสเซลล์ เบลค์ (Russell Belk) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด มหาวิทยาลัยยอร์ก ให้สัมภาษณ์ Forbes ถึงปรากฏการณ์ Pokemon Go

เมื่อทุกคนอยู่ในระบบที่มีความแฟร์เท่าเทียมกัน และความสำเร็จเป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ก็พร้อมกระโดดเข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้พวกเราก็ล้วนมีธรรมชาติของนักสะสม เกมกำหนดให้ผู้เล่นออกเดินทาง เพื่อสะสมมอนสเตอร์หรือสัตว์ประหลาดให้ได้เยอะๆ ธรรมชาติของนักสะสมอธิบายตัวตนของพวกเราอย่างไร

เบลค์แบ่งลักษณะการสะสมไว้ 2 จำพวก (Journal of Social Behavior and Personality) คือ

1.การสะสมเพื่อสุนทรียะ (Aesthetic)

2.การสะสมแบบจัดหมวดหมู่ (Taxonomic)

การสะสมแบบสุนทรียะ คือ การที่คุณเลือกสะสมอะไรก็ตามที่ต้องตาต้องใจตามรสนิยมของคุณเป็นหลัก และใช้สิ่งเหล่านั้นในการเสริมอัตลักษณ์เพื่อบ่งบอกตัวตนของคุณ คล้ายกับผู้คนที่ชื่นชอบสะสมชิ้นงานศิลปะ หรือวัตถุโบราณ

เจาะจิต ผ่าปริศนา โปเกมอนครองเมืองได้ไง?

 

ส่วนการสะสมแบบจัดหมวดหมู่ คือ กระบวนการที่คุณต้องกวาดล้างโปเกมอนมาให้ได้มากที่สุด โดยใช้รสนิยมตัดสินค่อนข้างน้อย (อย่างไรก็ตาม คุณก็อยากได้ตัวที่มี CP สูงๆ ไว้ประดับบารมี หรือตัวที่เคยผูกพันด้วยในวัยเด็ก) สรุปว่า การ์ตูนโปเกมอนไม่ว่ามันจะน่ารักหรือพิลึกขนาดไหนคุณก็อยากจับมันให้ได้มากๆ อยู่ดี

เบลค์ กล่าวว่า การสะสมโปเกมอนไม่ต่างจากการสะสมเหรียญหรือแสตมป์ หรือการค้นหาสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ต้องมีการจัดหมวดหมู่แบบอนุกรมวิธาน (Taxonomy) จากรูปร่างลักษณะ สายพันธุ์หรือธาตุ ยิ่งคุณมีมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งพบความหลากหลายของโลก Pokemon Go ได้มากเท่านั้น

หรืออีกนัยหนึ่ง คุณได้ยืมสัญชาตญาณนักชีววิทยาในการจัดจำพวก (Classification) สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในโลกออกเป็นหมวดหมู่ย่อยๆ อย่างมีระบบและหลักการตามวิชาอนุกรมวิธาน (ในเกมจะมีการมอบเหรียญตราและมอบค่าประสบการณ์เพื่อการนี้ด้วยนะ)

“การสะสม มันช่วยขยายตัวตนของพวกเรา (Extended Self) ทั้งทางร่างกายและจิตใจ คุณมีอีกตัวตนหนึ่งที่มีอำนาจ มีอีกตัวตนหนึ่งที่มีกำลังวังชา มีอีกตัวตนหนึ่งที่พร้อมช่วงชิงความเป็นผู้นำจากคนอื่น หรือการที่คุณมีฝั่งให้เข้า แดง ฟ้า เหลือง และได้อวดโฉมตัวเองเมื่อครอบครองยิมได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้คุณเล่นโปเกมอน”

เจาะจิต ผ่าปริศนา โปเกมอนครองเมืองได้ไง?

 

การสะสมในโลกดิจิทัลได้เปรียบกว่าในทางกายภาพ เมื่อแสตมป์และเหรียญที่แท้จริงต้องเก็บไว้ในตู้ แต่โปเกมอนนั้นผู้เล่นสามารถสะสมได้เป็นร้อยในมือถือของตัวเอง แถมแคปหน้าจอโชว์เพื่อนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กระบบ AR เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้โปเกมอนกลายเป็นปรากฏการณ์โลก มันมอบประสบการณ์เสมือนให้ซ้อนทับกับโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างน่าตื่นเต้น

“ทุกตรอกซอกซอยมีชีวิตชีวา ยิ่งคุณพบโปเกมอนหายาก มันเหมือนกับการพบหนังสือ Limited Edition ในร้านหนังสือหายาก ทำให้การเดินทางแต่ละครั้งถูกจดจำด้วยประสบการณ์การค้นพบที่การออกแรงเดินไม่สูญเปล่า”

พีรพล ภัทรนุธาพร จิตแพทย์ นักเขียนและเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” ให้ความเห็นถึงความคลั่งไคล้ในเกมโปเกมอน โก ว่า เนื่องจากเป็นเกมที่ทุกคนเข้าถึงง่าย คนส่วนใหญ่ยุคดิจิทัลใช้สมาร์ทโฟน แถมเป็นแอพฟรี วิธีการเล่นก็ง่าย มีขั้นตอนสำคัญแค่ “สะสม” (ตัวมอนสเตอร์) กับ “ต่อสู้” (ยึดยิม)

เป้าหมายต่อการจบรอบก็สั้นๆ ไม่เหมือนเกมส่วนใหญ่ที่กว่าจะฟินต้องผ่านด่าน ต้องใช้เวลานาน แต่เกมนี้แค่โยนบอลเก็บตัวสัตว์ประหลาดได้หนึ่งตัวก็เกิดความพึงพอใจ Positive Reinforcement กลไกเสริมแรงบวกที่ง่ายและเร็ว ตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ แค่ยืนรอรถเมล์หรือเข้าแถวซื้อของ ก็เล่นจบไปหลายรอบ

เจาะจิต ผ่าปริศนา โปเกมอนครองเมืองได้ไง?

 

สัตว์ประหลาดมีหลากหลายให้สะสม ทำให้ไม่เบื่อง่าย กระตุ้นผู้เล่นให้อยากสำรวจ อยากค้นหา และยุคนี้ไม่ได้ก้มหน้าก้มตาอยู่ที่หน้าจอคนเดียว แต่สื่อสารถึงกันตลอดเวลาด้วยโซเชียลมีเดีย สนับสนุนบรรยากาศของการแข่งขัน ความพิเศษถัดมาคือตัวของโปเกมอนเอง มันเป็นตัวละครที่โด่งดัง มีแฟนๆ ติดตามมายาวนาน ไม่เพียงเด็กรุ่นใหม่ แต่ผู้ใหญ่ที่โตมากับโปเกมอนก็สนใจเกมนี้ (Nostalgia)

พิเศษสุดคือความเป็น Augmented Reality ที่สร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เล่น ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความแฟนตาซีในโลกเกมกับโลกความเป็นจริงค่อยๆ เลือนราง การเล่นเกมนี้มีฉากหลังเป็นสิ่งแวดล้อมจริงๆ ที่อยู่ตรงหน้า การเล่นเกมเกิดขึ้นต่อเมื่อเราสนใจโลกจริงรอบตัวเพราะเราต้องเปิด GPS แล้วส่องกล้องมือถือออกไปรอบๆ

“การที่โปเกมอนได้รับความนิยมมาก เพราะความสนุกตื่นเต้นไม่ได้มาจากองค์ประกอบของเกมอย่างเดียว แต่ยังมาจากสมองของผู้เล่นเองที่ถูกกระตุ้นเร้าจากการออกไปพบสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ออกไปพบผู้คน เกมและโลกจริงจึงมีกระบวนการส่งเสริมกันและกัน”

พีรพล เล่าว่า ความสำเร็จมหาศาลของโปเกมอน คาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาเกมแนว AR ใหม่ๆ อีกมาก ที่สำคัญจะทำให้ได้มองเห็นสังคมในอีกหลายมิติ ได้มองเห็นแนวทางการปรับปรุงสังคมที่เราอยู่ให้ดีขึ้น อย่างบางคนในชีวิตจริงอาจไม่ค่อยได้ใช้กูเกิลแมป หรือ GPS แต่เมื่อเล่นเกมก็จะเริ่มคุ้นเคยมาปรับใช้กับชีวิต และพอไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเล่นเกม ก็เริ่มรับรู้ว่าผังเมืองที่ไหนดี ที่ไหนแย่ จุดไหนปลอดภัย จุดไหนอันตรายที่ควรแก้ไข

เจาะจิต ผ่าปริศนา โปเกมอนครองเมืองได้ไง?

ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล หรือคุณชายอดัม ผู้กำกับภาพยนตร์และเกมส์ดีไซเนอร์ เล่าว่า เกมสมัยใหม่ไม่เหมือนเกมสมัยก่อน การสร้างความผูกพันกับตัวละครในเกมคือสิ่งที่ขาดหายไป ทำให้เรารู้สึกว่าเราขาดตัวละครในดวงใจ นี่คือเหตุผลที่โปเกมอนได้ใจนักเล่นเกมทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่เป็นแฟนๆ ของโปเกมอน ซีรี่ส์การ์ตูน ที่เรียกได้ว่าโด่งดังและครองใจนักดูการ์ตูนทั้งเกาะญี่ปุ่นและของโลกในยุคหนึ่ง

 “ความสำเร็จของโปเกมอนถือเป็นจิตวิทยาที่เดินไปพร้อมกับเทคโนโลยี คือ การทำแบรนดิ้งตัวละครหรือตัวการ์ตูนในดวงใจจากยุคก่อน ตัวการ์ตูนในระดับตำนาน ซึ่งผู้เล่นในยุคก่อนผูกพันมาก่อน ทำตัวละครจากตัวละครที่คนจำนวนมากผูกพัน โปเกมอนคือหนึ่งในนั้น หรือก่อนหน้านี้ ก็เช่น มาริโอ้ และเซลด้า เป็นต้น ณ นาทีนี้ เขาเลือกตัวโปเกมอน ที่คนมากมายผูกพัน เพราะฉะนั้นก็ต่อติดได้ไม่ยาก เมื่อนำมารวมกันกับ AR จึงทำให้โปเกมอนเป็นปรากฏการณ์อยู่ในเวลานี้”

หลายคนอาจรู้แล้วว่า เกมแบบ AR ที่เป็นโลเกชั่น เบส เกมมิ่ง หรือเกมที่ใช้พิกัดเป็นฐาน ไม่ได้เริ่มต้นนับหนึ่งที่เกมโปเกมอน หากทั่วโลกคุ้นเคยมาระยะหนึ่งกับเกมอินเกรส (Ingress) ก่อนหน้านี้ อินเกรสมีฐานผู้เล่นในเมืองไทยพอสมควร ถือเป็นแต้มต่อของเกม AR บวกกันระหว่างความแปลกใหม่และวิธีการเล่นผ่านหรือใช้กายภาพทางภูมิศาสตร์

ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี กล่าวว่า เทคโนโลยี AR ไม่ได้จำกัดเฉพาะการใช้ประโยชน์ต่อวงการเกม หรือการออกแบบเกมเท่านั้น หากการนำมือถือมาใช้กับโลเกชั่นเบสยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ในอีกหลายสาขาและหลายอุตสาหกรรม เช่น การคำนวณพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ การปลูกพืชผลทางการเกษตร การวัดปริมาณน้ำฝน น้ำขึ้นน้ำลง พื้นที่และความสั่นสะเทือน ฯลฯ ข้อมูลทุกอย่างที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์

“อีกหน่อยเมื่อเราต้องการจะหาห้องน้ำทั่วประเทศ หรือเราต้องการแลกเปลี่ยนสินค้า วงการอุตสาหกรรมหนัง การเล่าเรื่องในภาพยนตร์ที่อาจเหมาะกับ AR สำหรับผมแล้วการเข้ามาของเกมจึงเป็นเรื่องที่ดีมากๆ สังคมของผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรเป็นเรื่องที่เราจะกำหนดขึ้นจากความคุ้นเคย เทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยมากขึ้น เราก็จะถ่ายเทเทคโนโลยีได้ดีขึ้น ‘ใช้’ มันได้ดีขึ้น”

มาถึงจุดนี้จึงไม่อาจประเมินโปเกมอน โก ต่ำเกินไป ว่ามันจะทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ หรือทำอะไรได้อีก โปเกมอนฟีเวอร์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ยัง...เกิดขึ้น ตั้งอยู่และจะยังตั้งอยู่ ยังไม่ดับไปง่ายๆ เพราะนี่เพิ่งเลเวล 1 เอง!