ไปแล้วต้องกิน อาหารถิ่น ‘สตูล’
เคยได้ยินมาว่า ถ้าไม่ไปตรงนี้ ถือว่าไปไม่ถึงตรงนั้น แต่ไม่ใช่กับ “สตูล” จังหวัดที่มีของกินมากมายจนต้อง
โดย...กาญจน์ อายุ
เคยได้ยินมาว่า ถ้าไม่ไปตรงนี้ ถือว่าไปไม่ถึงตรงนั้น แต่ไม่ใช่กับ “สตูล” จังหวัดที่มีของกินมากมายจนต้องเปลี่ยนคำท้าใหม่เป็น ถ้าไม่ไปกิน ถือว่าไปไม่ถึง
อาหารใต้มีขายทั่วประเทศไทย แต่เชื่อเถิดว่ารสชาติอร่อยของแท้มีอยู่แค่ในท้องถิ่นเท่านั้น อย่างที่ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล อำเภอดังเรื่องฟอสซิลช้างสเตโกดอนในถ้ำเลสเตโกดอน และกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาให้สตูลเป็น “อุทยานธรณี” (Geopark) โดยยูเนสโก
เตรียมนึ่งข้าวเหนียว
สตูลมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาถึง 72 แห่ง ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ทางธรณี (ฟอสซิล) แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล-หมู่เกาะ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้นายกโอเล่-ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า และผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล ที่ปลุกปั้นฟอสซิลช้างให้โด่งดัง ได้ทำงานร่วมกับนักธรณีวิทยาค้นหาความลับของแผ่นดินย้อนกลับไป 500 ล้านปีก่อน จนวันนี้ถ้ำเลสเตโกดอนกลายเป็นไฮไลต์ของทุ่งหว้าที่สามารถโม้ได้ว่า ถ้าไม่ไป ถือว่าไปไม่ถึง
ทุ่งหว้ามีขนาด 452.3 ตร.กม. เป็นอำเภอเล็กๆ ที่มีแยกไฟแดงเพียงที่เดียวแถวตลาดสด ซึ่งไม่ต้องถามว่าตลาดไหนเพราะมีตลาดอยู่แห่งเดียว มีเซเว่นอีเลฟเว่นที่เดียวแต่ก็ขายไม่ดีเท่าร้านโรตีชาชัก และไม่มีโรงแรม เกสต์เฮาส์ หรือรีสอร์ท มีเพียงโรงแรมให้เช่ารายชั่วโมงซึ่งตอนที่ไปเจ้าของใจดีให้เช่าแบบ 2 วัน
ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง สวนควนข้อง
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวในเมือง (ไม่รวมถ้ำเลฯ) ก็มีเพียงแห่งเดียว คือ เมืองสุไหงอุเป หรือเมืองปีนังน้อยหรือย่านเมืองเก่า ที่หลงเหลือตึกเก่าสไตล์โคโลเนียลแบบปีนังไม่มากแต่ก็ยังมีเสน่ห์ คำว่า สุไหง-อุเป เป็นภาษายาวี ซึ่ง สุไหง แปลว่า คลองและ อุเป แปลว่า กาบหมาก เมื่อก่อนได้มีต้นไม้ชนิดหนึ่งคล้ายต้นหมากเรียกกันว่า ไม้หลาวชะโอน ขึ้นอยู่ริมคลองมีกาบใบแก่ร่วงหล่นลงในลำคลองเป็นจำนวนมาก ชาวต่างชาติที่มาค้าขายเห็นจึงเรียกว่า คลองสุไหงอุเป แต่ก่อนคนไทยมีการค้าขายกับคนหลายเชื้อชาติ ชุมชนทุ่งหว้าจึงมีทั้งคนไทยพุทธ คนไทยมุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีนอยู่รวมกันอย่างสันติ
กลับมาเรื่องอาหาร (สักที) อย่างที่บอกไปว่า รสชาติอร่อยที่แท้มีอยู่แค่ในท้องถิ่น ตรงกับแคมเปญ อาหารถิ่นตะลุยกินทั่วไทย ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปรับประทานอาหารทั้ง 77 จังหวัด สำหรับสตูลได้คัดเลือกให้ “ขนมผูกรัก” เป็นอาหารถิ่นไว้ผูกใจนักท่องเที่ยว
ขนมบ้า ขนมประจำวันสำคัญของชาวจีน
ขนมผูกรัก
คำแรกที่ได้ชิมต้องสารภาพว่า ตกหลุมรักเข้าอย่างจัง ทั้งรูปร่างเหมือนริบบิ้นผูกเป็นโบและรสชาติเข้มข้นในชิ้นเดียว ขนมผูกรักทำจากแป้งขนมเปี๊ยะที่มีความเหนียวให้ม้วนเป็นเกลียวแล้วไม่แตกและไม่อมน้ำมัน ตรงกลางเป็นไส้เนื้อสัตว์ทั้งเนื้อปลากุ้ง ปู ผสมสมุนนไพร นำไปทอดให้เหลืองกรอบ รสชาติออกคล้ายปั้นขลิบ แต่แป้งบางกว่า ถ้าได้กินคู่กับชาชักสักแก้วจะอร่อยครบบริบูรณ์ โม้ได้เต็มปากได้ว่า มาถึงสตูลแล้ว
ข้าวเหนียวในหม้อข้าวหม้อแกงลิง
อะเมซิ่งทุ่งหว้าต้องยกให้อาหารจานพิเศษที่สวนควนข้อง สวนหม้อข้าวหม้อแกงลิงหนึ่งเดียวในตำบล ที่นำต้นของมันมาทำเป็นหม้อข้าวจริงๆ โดยเลือกเฉพาะต้นที่แห้งตาย นำมาล้างให้สะอาดแล้วตากแดดให้แห้ง อีกฝั่งให้หุงข้าวเหนียวมูนในหม้อทั่วไป โดยใช้ข้าวเหนียวผสมกะทิกับงาดำ ตั้งไฟอ่อนรอจนข้าวเหนียวมูนสุกแล้วยกขึ้นรออุ่น จากนั้นใช้ช้อนเล็กๆ กรอกข้าวใส่ในหม้อข้าวหม้อแกงลิง ใส่จนเต็มแต่ไม่ต้องแน่นมาก แล้วนำไปอุ่นในซึ้งต่ออีกรอบ คราวนี้ข้าวเหนียวจะแห้งกำลังพอดี ส่วนเปลือกภายนอกก็เปลี่ยนจากเหนียวเป็นกรอบกินได้
แม่ค้าขายไก่ทอด ร้านเล็กๆ แต่คนต่อคิวยาวมาก
ช่างเป็นข้าวเหนียวหน้าตาแปลกประหลาด แต่รสชาติมีความคุ้นเคยไม่ต่างจากข้าวหลาม ซึ่งผิวของหม้อข้าวหม้อแกงลิงสามารถกินได้ทั้งอัน ให้ความรู้สึกเหมือนกินข้าวหลามติดเยื่อไผ่แบบหนองมน ทว่าเมนูนี้ไม่มีขายทั่วไปในท้องตลาด ต้องไปกินที่สวนควนข้องเท่านั้น (โทร. 08-6284-2008 และ 08-1097-1684)
ข้าวยำหัวข่า
เมนูเพื่อสุขภาพแบบชาวใต้เน้นผัก ไม่เน้นเนื้อสัตว์ เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วงอก ตะไคร้ กระถิน ยอดมะม่วงหิมพานต์ใบยอ ถั่วพู ซึ่งทั่วไปจะราดน้ำบูดู แต่สตูลจะมีเอกลักษณ์เฉพาะคือไม่ใส่น้ำบูดู แต่จะนำข้าวมาคลุกกับเครื่องแกงและผัก มีเครื่องปรุงหลักเป็นข่า เรียกว่าข้าวยำหัวข่า ข้าวยำคล้ายสลัดของฝรั่ง หาซื้อได้ตามร้านอาหารทั่วไป ถ้าตอนเช้าเดินเข้าร้านไหนก็มีขาย เพราะคนใต้มักกินเป็นอาหารเช้าคู่กับโจ๊กกับชากาแฟร้อน
ขนมผูกรัก อาหารประจำจังหวัดสตูล
ไก่ทอดหอมเจียว
ไม่ใช่หาดใหญ่เท่านั้นที่มีไก่ทอดรสเด็ด ที่ทุ่งหว้าก็มีร้านไก่ทอดหลายร้าน แต่ที่ดูจะป๊อปปูลาร์ที่สุดคงเป็นไก่ทอดมอเตอร์ไซค์พ่วงที่แล่นขายในย่านเมืองเก่าสุไหงอุเป พอรถจอดปุ๊บก็มีลูกค้าก็มาต่อคิวปั๊บ ถามมะ (แม่) คนหนึ่งที่ยืนต่อคิวอยู่ว่าทำไมชอบไก่ร้านนี้ มะตอบว่า เพราะหอมเจียว คนฟังอึ้ง! เกือบโพล่งหัวเราะออกมา แต่พอได้ยินทุกคนขอหอมเจียวแยกกลับบ้านก็น่าจะเป็นเรื่องจริง
หอมเจียวเป็นเครื่องเคียงสำคัญของไก่ทอด สำคัญกว่าน้ำจิ้ม สำคัญกว่าแป้งทอดไก่ บนรถขายจึงมีถังใส่หอมเจียวขนาดใหญ่ไว้แถมไปกับไก่แบบไม่อั้น ทั้งนี้ไม่ใช่ว่ารสชาติไก่เป็นรอง ความจริงคือ ถ้ากินไก่ทอดตอนร้อนๆ ร้านไหนก็อร่อย แต่รสชาติหอมเจียวต่างหากที่ต่างกันแล้วแต่ฝีมือ
ข้าวยำ อาหารเพื่อสุขภาพของคนใต้
ขนมบ้า
ขนมบ้าหากินยาก เพราะจะมีขายเฉพาะช่วงพิธีไหว้ผีโบ๋เท่านั้น ลักษณะเป็นแป้งผสมน้ำตาลทรายแดงและงาขาว ทอดเป็นก้อนกลม ไว้กินเล่นกับชาชักเข้มๆ จะเข้ากันดี บางบ้านใช้ขนมบ้าไหว้เจ้า เหมือนกับไหว้ขนมเทียนในวันตรุษจีน ซึ่งหลังจากวันไหว้จะหาซื้อไม่ได้ หรือถ้าพูดให้หวือหวาก็บอกได้ว่า ขนมบ้ากินได้แค่ปีละครั้ง (รู้สึกพิเศษขึ้นมาทันที)
คนเมืองกินส้มตำที่คนอีสานแท้ๆ บอกว่านั่นไม่ใช่ส้มตำ คนเมืองกินข้าวซอยที่คนเหนือการันตีได้ว่านั่นไม่ใช่ข้าวซอย หรือคนเมืองกินแกงเหลืองที่คนใต้ต้องเถียงว่านั่นไม่ใช่แกงเหลืองของจริง นั่นเพราะคนเมืองกินแต่อาหารที่ถูกกลายร่างให้เข้ากับจริต แต่รสชาติที่แท้จริงยังอยู่ตามร้านข้าวแกงธรรมดาในท้องถิ่นนั้น พอได้ไปชิมถึงแหล่งกำเนิด ทำให้รู้ว่าอาหารไม่ได้ให้แค่ความอิ่มอร่อย แต่บทสนทนาและบรรยากาศระหว่างมื้ออาหารต่างหากที่เป็นส่วนผสมสำคัญทำให้อาหารออกรสแท้ อันเป็นรสชาติที่คนเมืองต้องออกไปตามหาถึงจะเข้าใจ
เด็กๆ เชิดสิงโตในงานไหว้ผีโบ๋
กองทัพหน้ากากสร้างสีสันในงาน
ชาชักแบบชาวใต้
มัดขนมผูกรัก
ถนนสุไหงอุเป ศูนย์กลางอำเภอทุ่งหว้า
ไก่ทอดริมถนนสุไหงอุเป
บ้านเก่าสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส