‘ดอกบัวจะบาน เมื่อพร้อมที่จะบาน’
ในทางคติพุทธศาสนาแห่งมหายานนั้น ได้มีการเผยแพร่คำสอนว่า “ใจ ของเรานั้น สะอาด สงบ งดงามอยู่แล้ว นั่นแล คือ จิตเดิมแท้”
โดย...ราช รามัญ
ในทางคติพุทธศาสนาแห่งมหายานนั้น ได้มีการเผยแพร่คำสอนว่า
“ใจ ของเรานั้น สะอาด สงบ งดงามอยู่แล้ว นั่นแล คือ จิตเดิมแท้”
เป็นคำสอนที่ดูเหมือนในฝ่ายเถรวาทก็มีอยู่ด้วยเช่นกันแม้ว่าจะไม่โดดเด่นและนำเอามาสอนอย่างแพร่หลาย แต่ทางมหายานยึดคตินี้มาก เพราะเป็นการให้กำลังใจกับมนุษย์ผู้มุ่งในสัมมาปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง
ทางเถรวาทสอนว่า ที่เราไม่สามารถบรรลุซึ่งธรรมได้นั้นอาจจะเป็นเพราะว่า เรามีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นอนุสัยที่ฝังรากลึก เอาออกยากถอนออกได้ยาก พอได้อ่านได้ยินแบบนี้คนที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นย่อมเกิดอาการท้อใจเอาง่ายๆ แต่ในทางมหายาน เน้นสอนแบบให้กำลังใจแล้วบอกว่า ใจที่สงบ สะอาด งดงาม มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่เรามีกิเลสซึ่งเป็นเหมือนเพื่อนเข้ามาจร แล้วก็จากไป
ฟังโดยเนื้อหา เราอาจจะได้กำลังใจจากคำสอนของมหายาน เป็นกำลังใจที่ให้เรามีความหวังว่าเราสามารถเข้าถึงได้ ไม่ต้องรอแบบข้ามภพข้ามชาติ เพื่อการปฏิบัติธรรมใดๆ เลย
นักปฏิบัติธรรมหลายคนหลงประเด็น เชื่อตามการขีดเขียนของเรื่องเล่าในเชิงวรรณคดี ที่ผู้บรรลุธรรมนั้นจะต้องอาศัยการบำเพ็ญหลายภพชาติจึงจะสำเร็จ โดยยึดจากกรอบเรื่องเล่าที่มาจาก พระพุทธเจ้า 500 ชาติ ที่พระองค์ทรงไปอุบัติในแต่ละชาติกว่าที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า
แต่มุมมองอีกมุมเป็นไปได้ไหมว่า ผู้ที่จะบำเพ็ญตั้งจิตไว้เพื่อเป็นพระพุทธเจ้า โดยมาจากรากแห่งความเป็นโพธิสัตว์นั้นจะต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดแบบนี้ไปก่อน สุดท้ายจึงได้มาเป็นพระพุทธเจ้า แต่สำหรับชนรุ่นหลังๆ ถ้าศึกษาในวิธีการแล้วดึงเอาหัวใจหลักสำคัญๆ ที่พระพุทธเจ้าค้นพบ นำเอามาปฏิบัติเลยก็อาจจะไม่ต้องไปเสียเวลาในการแสวงหาแบบพระองค์
เคยถามนักบวชหลายๆ ท่านที่อยู่ปฏิบัติว่า...การปฏิบัติแบบสมาธิต้องอาศัยเวลาอยู่กับตัวเอง และมุ่งเน้นการปฏิบัติเพียงอย่างเดียวแบบทุ่มเท วันละแปดชั่วโมง หรือหกชั่วโมง ในช่วงแรกของชีวิตเป็นปฏิบัติก็ย่อมเกิดความสุข เกิดความปีติ แต่ผ่านพ้นไประยะหนึ่ง ทุกอย่างจะจมดิ่งนิ่งทึบ หลีกลี้หนีผู้คน ไม่อยากพบใคร ต้องการก็แค่ความสงบ อยากอยู่คนเดียว เป็นแบบนี้อยู่นานปี เรียกได้ว่า มีอารมณ์สมาธิมากกว่ามีตัวสติและสัมปชัญญะ
แต่เมื่อหันมาอยู่กับปัจจุบัน ให้มีสมาธิทั้งๆ ที่ลืมตาอยู่ และมีสติกำกับ มีความรู้สึกตัวร่วมอยู่ด้วย การทำงานต่างๆ ทั้งหลายก็ทำได้ไม่เบื่อโลก ไม่เบื่องานเหมือนตอนที่อารมณ์สมาธิสูง อันนี้ต่างหากที่เหมาะกับการที่จะนำเอามาใช้กับปุถุชน ที่เป็นนักปฏิบัติ
เพราะการมีสติ มีสัมปชัญญะความรู้สึกตัวตลอดเวลานั้นจะมีสมาธิเข้าไปเจืออยู่ร่วมด้วยโดยธรรมชาติเป็นสมาธิแบบกัมมนิโย ที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านเคยพูดอยู่บ่อยครั้ง ว่าคนที่ต้องการเข้าถึงธรรมชาติจริงๆ ต้องอาศัยวิธีแบบนี้ เพราะตัวหลวงพ่อพุทธทาสเอง เมื่อครั้งที่อยู่ในสวนโมกข์ก็ได้ฝึกสมาธิมาอย่างยาวนานจึงสามารถเข้าใจได้ดีว่าสมาธิควรมีประมาณไหน ที่จะทำให้ชีวิตของเราเกิดประโยชน์มีคุณค่าแก่การงาน
ที่สำคัญวิธีการฝึกจิตแบบนี้ สามารถทำให้เข้าถึง ซึ่งจิตเดิมแท้ได้ทั้งๆ ที่ลืมตามองโลก และทำการงานทุกชนิดอยู่ จึงมีคำว่า “ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง” ของหลวงพ่อพุทธทาส
เพราะคนธรรมดาที่เป็นปุถุชน ที่ไม่ใช่นักบวช ย่อมมีเวลาน้อย ต้องทำมาหากิน ดูแลครอบครัว ครั้นจะไปนั่งนานๆ คงจะทำได้ยาก เมื่อรู้แบบนี้แล้วลองหันมาฝึกจิตกันใหม่ แบบที่กล่าวมา คือ มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่กับภาวะอารมณ์ปัจจุบันบ้างจะทำให้เรามองเห็นอะไรมากมายของโลกธรรมใบนี้ โดยที่ไม่ต้องไปนั่งแบบโยคีที่คนอินเดียนิยมมาแต่สมัยพุทธกาล
แต่สำหรับผู้ที่มาใหม่อย่างไรก็ดี ควรที่จะต้องมีรากฐานหรือพื้นฐานของการฝึกสมาธิเอาไว้บ้างก่อนแล้ว แต่ก็ต้องเป็นรากฐานสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ โดยที่ไม่ต้องเข้าฌานใดๆ ใช้สมาธิเพียงแค่ระดับเริ่มต้นก็เพียงพอแล้ว
คนที่ฝึกจิตในลักษณะนี้ย่อมจะทำให้จิตตื่นรู้ดีกว่า ทำให้จิตไวต่อภาวะอารมณ์ปัจจุบัน เมื่อมีอะไรมากระทบทางหู ตา ลิ้น กาย ใจ แม้ว่าจะออกอาการบ้างแต่ไม่นานก็จางคลายไปอย่างรวดเร็วไม่เก็บฝังจำเอาไว้ในจิต เมื่อฝึกบ่อยๆ ไม่นานเท่าไหร่ ชีวิตจะเข้าถึงจิตเดิมแท้ได้เอง เรียกว่าเข้าถึงธรรมชาติโดยอาศัยวิธีการธรรมชาติ และนี่เป็นวิธีฝึกจิตที่ถูกต้องที่สุด พระกรรมฐานหลายรูปเมื่อในอดีต หลวงพ่อชา สุภัทโท หลวงปู่ชอบ หลวงพ่อพุธ หลวงปู่ดูลย์ เมื่อถึงระดับหนึ่งต่างทิ้งสมาธิลึกๆ แล้วมาฝึกจิตแบบนี้ทั้งสิ้น เพราะเป็นภาวะที่เหมาะสมกับการเข้าถึงธรรมชาติแห่งธรรมะได้ง่ายโดยแท้ ดังที่มีการกล่าวว่า
“ดอกบัวจะบาน เมื่อพร้อมที่จะบาน” แต่ถ้าน้ำและดินโคลน ไม่เหมาะสมอีกทั้งขาดซึ่งแสงแดดอันพอดี ดอกบัวนั้นก็หาใช่ที่จะผลิบานได้อย่างง่ายดายเช่นกัน...